พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติ

การประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๕๒๒

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒

เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประปานครหลวง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                 มาตรา ๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นบทนิยามระหว่างบทนิยามคำว่า “การประปานครหลวง” กับคำว่า “พนักงาน” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐

                  ““ประปาเอกชน” หมายความว่า การผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาโดยเอกชน ให้แก่ผู้อยู่ในบ้านที่มีทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่ห้าบ้านขึ้นไป โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖  ให้จัดตั้งการประปาขึ้นเรียกว่า “การประปานครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) สำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบ และจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปา

                (๒) ผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ และควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับระบบประปาเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าว

(๓) ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปา”

               มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๔ ทวิ) ของมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

“(๔ ทวิ) กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบประปาเอกชนในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๘  ให้การประปานครหลวงเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๒๔  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของการประปานครหลวง อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๓

(๒) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ

(๓) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงาน ระเบียบวินัย การลงโทษพนักงาน และการร้องทุกข์

               (๔) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการประปานครหลวง ถ้าข้อบังคับมีข้อความจำกัดอำนาจผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา

(๕) วางข้อบังคับว่าด้วยจำนวนอัตราตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของพนักงาน

(๖) วางข้อบังคับเกี่ยวกับลูกจ้าง

(๗) วางข้อบังคับว่าด้วยบำเหน็จและกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง และการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว”

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐

                “มาตรา ๔๐ ทวิ  เพื่อประโยชน์ในการผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ใดประสงค์จะดำเนินการสร้างระบบประปาเอกชน หรือขยายระบบประปาเอกชนที่มีอยู่ในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒) จะต้องได้รับความเห็นชอบของการประปานครหลวงและจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ)

                 ในกรณีที่การประปานครหลวงไม่ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ผู้ซึ่งประสงค์จะดำเนินการสร้างระบบประปาเอกชน หรือขยายระบบประปาเอกชนที่มีอยู่มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของการประปานครหลวง แจ้งการไม่ให้ความเห็นชอบ

ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด”

มาตรา ๙  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐

                 “มาตรา ๔๑ ทวิ  ผู้ใดดำเนินการตามมาตรา ๔๐ ทวิ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากการประปานครหลวง หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”

                 มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๓  การประปานครหลวงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้

(๑) เพิ่มหรือลดทุน

(๒) กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินสิบล้านบาท

(๓) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินห้าแสนบาท

(๔) จำหน่ายทรัพย์สินอันมีราคาเกินห้าแสนบาทจากบัญชีเป็นศูนย์

(๕) กำหนดอัตราราคาขายน้ำประปาของการประปานครหลวง

(๖) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๔๕  รายได้ที่การประปานครหลวงได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของการประปานครหลวง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการ ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา กองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานและการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวตามมาตรา ๒๔ ประโยชน์ตอบแทนตามมาตรา ๒๗ โบนัสตามมาตรา ๓๕ เงินสำรองตามมาตรา ๑๖ และเงินลงทุนตามงบลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๔๔

รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่งๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระดังกล่าวในวรรคหนึ่งแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

                 ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าภาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง นอกจากโบนัสตามมาตรา ๓๕ และเงินสำรองตามมาตรา ๑๖ และการประปานครหลวงไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่การประปานครหลวงเท่าจำนวนที่ขาด”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๘  ให้การประปานครหลวงจัดให้มีกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานและการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวงและครอบครัวตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”

              มาตรา ๑๓  ผู้ที่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๔๐ ทวิ อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มาแจ้งต่อการประปานครหลวงภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อแจ้งแล้วให้ถือว่าผู้นั้นได้รับความเห็นชอบจากการประปานครหลวงสำหรับการดำเนินการดังกล่าว และในกรณีที่การดำเนินการของบุคคลดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขให้การดำเนินการของบุคคลนั้นเป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ตามที่การประปานครหลวงเห็นสมควร

มาตรา ๑๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส.  โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติงานของการประปานครหลวง และในปัจจุบันเอกชนในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ได้ดำเนินการสร้างระบบการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาหรือขยายระบบดังกล่าวที่มีอยู่โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สมควร ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำประปานั้นได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวให้การประปานครหลวงสามารถปฏิบัติงานได้โดยคล่องตัวในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และให้การประปานครหลวงสามารถควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาของเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าวได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

 

ละออง/แก้ไข

๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔

พัชรินทร์/แก้ไข

๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

วศิน/แก้ไข

๗ เมษายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๕

พจนา/ตรวจ

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๕๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕/๒๐ เมษายน ๒๕๒๒