พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545

พระราชบัญญัติ

แร่ (ฉบับที่ ๕)

พ.ศ. ๒๕๔๕

                  

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

เป็นปีที่ ๕๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแร่

                พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                มาตรา ๓  ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ทำเหมืองใต้ดิน” ระหว่างคำว่า “ทำเหมือง” และคำว่า “ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ ดังต่อไปนี้

““ทำเหมืองใต้ดิน” หมายความว่า การทำเหมืองด้วยวิธีการเจาะเป็นปล่องหรืออุโมงค์ลึกลงไปใต้ผิวดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ใต้ผิวดิน”

มาตรา ๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๔/๑) ของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

“(๔/๑) การกำหนดเงื่อนไขประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินเฉพาะรายตามมาตรา ๘๘/๗”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๖) ของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

“(๖) เรื่องอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๓  ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรพิเศษ ให้ยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่

                 ผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษต้องกำหนดข้อผูกพันสำหรับการสำรวจโดยระบุจำนวนเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อการสำรวจสำหรับแต่ละปีตลอดอายุของอาชญาบัตรพิเศษ และต้องเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ผลประโยชน์พิเศษดังกล่าวมีผลผูกพันผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต่อไปเมื่อผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษนั้นได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองในเขตพื้นที่ที่ตนได้รับอาชญาบัตรพิเศษนั้น

คำขออาชญาบัตรพิเศษแต่ละคำขอให้ขอได้ไม่เกินเนื้อที่ที่สามารถดำเนินการสำรวจจนแล้วเสร็จครบถ้วนได้ภายในห้าปีตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้ ให้ขอได้ไม่เกินคำขอละหนึ่งหมื่นไร่

รัฐมนตรีเป็นผู้ออกอาชญาบัตรพิเศษ

อาชญาบัตรพิเศษมีอายุห้าปี นับแต่วันออก

ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อผูกพันสำหรับการสำรวจของแต่ละปีที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรพิเศษ

                ถ้าผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อผูกพันตามวรรคหกของแต่ละปีแล้วผลการสำรวจในปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองในเขตคำขออาชญาบัตรพิเศษมีไม่เพียงพอในเชิงพาณิชย์ที่จะเปิดการทำเหมืองได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษอาจขอเวนคืนอาชญาบัตรพิเศษหรือขอคืนพื้นที่บางส่วนก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่และให้อาชญาบัตรพิเศษนั้นสิ้นอายุหรือการคืนพื้นที่บางส่วนนั้นมีผลนับแต่วันที่ยื่นคำขอ และให้มีผลสิ้นข้อผูกพันสำหรับปีที่เหลืออยู่หรือข้อผูกพันสำหรับพื้นที่ส่วนที่คืน แล้วแต่กรณี”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“การขอประทานบัตรจะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินคำขอละสามร้อยไร่ เว้นแต่การขอประทานบัตรทำเหมืองในทะเลและการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๕  รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอประทานบัตรสำหรับทำเหมืองใต้ดินได้ไม่เกินรายละหนึ่งหมื่นไร่ และสำหรับทำเหมืองในทะเลได้ไม่เกินรายละห้าหมื่นไร่

ในกรณีเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอประทานบัตรสำหรับทำเหมืองใต้ดิน หรือสำหรับทำเหมืองในทะเลเกินที่กำหนดในวรรคหนึ่งก็ได้

การกำหนดเขตเหมืองแร่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

               (๑) ถ้าการขอประทานบัตรนั้นเป็นผลจากการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตรพิเศษ ซึ่งผู้ขอประทานบัตรได้สำรวจตามเงื่อนไขของอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวจนพบแหล่งแร่ภายในพื้นที่ที่สำรวจ รัฐมนตรีต้องกำหนดเขตเหมืองแร่ตามแหล่งแร่ และจำนวนพื้นที่ตามที่ผู้ขอระบุไว้ในคำขอประทานบัตร

(๒) ถ้าการขอประทานบัตรนั้นเป็นกรณีอื่นนอกจาก (๑) ให้รัฐมนตรีกำหนดเขตเหมืองแร่ตามคำแนะนำของคณะกรรมการ

การออกประทานบัตรตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เป็นพิเศษตามที่เห็นสมควรให้ผู้ถือประทานบัตรปฏิบัติก็ได้”

มาตรา ๑๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

               “มาตรา ๔๖/๑  เพื่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ห้ามมิให้ออกประทานบัตรทำเหมืองหรือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินในลักษณะที่ทำให้มีเขตเหมืองแร่ซ้อนกันในระดับความลึกที่ต่างกันไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน”

มาตรา ๑๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“มาตรา ๔๘/๑  ในกรณีขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องสร้างหมุดหลักฐานการแผนที่หรือหลักหมายเขตเหมืองแร่ให้ปรากฏชัดเจนบนผิวดิน โดยผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๐  ถ้าเขตพื้นที่ซึ่งขอประทานบัตรมิใช่เป็นที่ว่างทั้งหมด ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตนั้นได้”

มาตรา ๑๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“ความใน (๒) และ (๓) มิให้ใช้บังคับกับผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน เว้นแต่เป็นการกระทำในเขตพื้นที่ที่ตนมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง”

มาตรา ๑๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๔/๑ การทำเหมืองใต้ดิน มาตรา ๘๘/๑ ถึงมาตรา ๘๘/๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“หมวด ๔/๑

การทำเหมืองใต้ดิน

                  

 

ส่วนที่ ๑

บททั่วไป

                  

 

มาตรา ๘๘/๑  ให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับการทำเหมืองใต้ดินเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้

มาตรา ๘๘/๒  การทำเหมืองใต้ดินต้องทำในระดับความลึกที่ปลอดภัย โดยพิจารณาจากโครงสร้างทางธรณีวิทยารวมทั้งวิธีการทำเหมืองตามหลักวิศวกรรมเหมืองแร่ในแต่ละพื้นที่และความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิต

มาตรา ๘๘/๓  การทำเหมืองใต้ดินผ่านใต้ดินของที่ดินใดที่มิใช่ที่ว่าง หากอยู่ในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่ดินนั้นได้

มาตรา ๘๘/๔  เขตเหมืองแร่ตามประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องไม่รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ในกรณีที่พบว่าการทำเหมืองใต้ดินบริเวณใดในเขตเหมืองแร่ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญโดยมิอาจแก้ไขหรือฟื้นฟูได้ ให้รัฐมนตรีกำหนดเป็นเงื่อนไขในประทานบัตรมิให้ทำเหมืองใต้ดินในบริเวณนั้น

มาตรา ๘๘/๕  การออกประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

(๑) ผู้ขอประทานบัตรเสนอคำขอโดยถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๘๘/๖

(๒) รัฐมนตรีได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๘๘/๗ วรรคหนึ่ง โดยถูกต้อง

(๓) รัฐมนตรีได้กำหนดเงื่อนไขในประทานบัตรตามมาตรา ๘๘/๗ วรรคสอง โดยถูกต้อง

ส่วนที่ ๒

การกำหนดเงื่อนไขในประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน

                  

 

                มาตรา ๘๘/๖  คำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ต้องประกอบด้วยรายละเอียดการทำเหมือง แผนผัง โครงการที่ครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดในประกาศกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้

(๑) ข้อมูลโดยสังเขปแสดงความลึกและมาตรการทางเทคนิค ตามมาตรา ๘๘/๒

(๒) แผนที่แสดงเขตเหมืองแร่โดยสังเขป พร้อมข้อมูลประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาตามมาตรา ๘๘/๔ วรรคสอง

(๓) ข้อมูลทางเทคนิคในวิธีการทำเหมืองและแต่งแร่โดยสังเขป ทั้งทางเลือกทางวิศวกรรมเหมืองแร่ที่มีอยู่โดยทั่วไป และทางเลือกที่ผู้ขอประทานบัตรเห็นสมควรจะนำมาใช้พร้อมเหตุผลของทางเลือกดังกล่าว

(๔) ข้อมูล แผนผัง ขั้นตอน วิธีการในการทำเหมือง การแต่งแร่ และการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองใต้ดินโดยสังเขป ที่แสดงถึงมาตรการในการลดผลกระทบ หรือรักษาไว้ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่อาจกระทบต่อการดำรงอยู่ของธรรมชาติ และชุมชน

               (๕) ข้อเสนอเพื่อการมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินของตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ (๒) ที่ระบุถึงจำนวนกองทุนสนับสนุน และระเบียบการตรวจสอบการทำเหมืองที่ผู้ขอประทานบัตรจะเสนอให้ผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองได้เข้าร่วมตรวจสอบการทำเหมืองตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘๘/๑๑

(๖) เส้นทางขนส่ง และแหล่งน้ำที่จะใช้ในโครงการ ทั้งที่มีอยู่แล้ว และที่จะพัฒนาขึ้นพร้อมรายละเอียดการใช้สอยตลอดโครงการ ที่เพียงพอจะประเมินให้เห็นได้ว่าการทำเหมืองใต้ดินในโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ทั้งของชุมชน และธรรมชาติ

(๗) ข้อเสนอเอาประกันภัยความรับผิด ตามมาตรา ๘๘/๑๓ ที่ระบุถึงวงเงินและระยะเวลาเอาประกันไว้โดยชัดเจน

                มาตรา ๘๘/๗  เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินใดได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้วให้รัฐมนตรีประมวลข้อมูลต่อไปนี้ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการกำหนดเงื่อนไขอันจำเป็นในประทานบัตรต่อไป

(๑) ข้อมูลโครงการที่ยื่นประกอบคำขอประทานบัตร ตามมาตรา ๘๘/๖

(๒) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบกับความเห็นของผู้พิจารณารายงาน

เมื่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสิ้นสุดลงและได้รับรายงานจากคณะกรรมการจัดการรับฟังแล้วให้รัฐมนตรีพิจารณารายงานนั้นแล้ววินิจฉัยกำหนดเงื่อนไขในประทานบัตรไว้ตามเกณฑ์ต่อไปนี้

(๑) เงื่อนไขในประทานบัตรต้องครอบคลุมโครงการ อย่างน้อยในทุกรายการตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงที่ออกประกาศตามมาตรา ๘๘/๖

               (๒) ในกรณีที่ปรากฏความแตกต่างของข้อมูลหรือความคิดเห็นในการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ แต่หากพบว่ารายงานหรือข้อมูลในปัญหาใดยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ หรือการจัดรับฟังไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดในสาระสำคัญก็ให้สั่งการแก้ไข แล้วแต่กรณี เพื่อวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติต่อไป

               (๓) นอกจากคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตาม (๑) แล้ว เงื่อนไขในประทานบัตรต้องครอบคลุมถึงรายละเอียดในโครงการทั้งหมด ที่ผู้ขอประทานบัตรได้เสนอไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานประกอบคำขอประทานบัตรตามมาตรา ๘๘/๖ และให้รวมถึงเงื่อนไขหรือมาตรการเพิ่มเติมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

                มาตรา ๘๘/๘  การแก้ไขเงื่อนไขในประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่กำหนดขึ้นตามมาตรา ๘๘/๗ ให้นำบทบัญญัติในส่วนนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองตามมาตรา ๘๘/๑๑ วรรคหนึ่ง เป็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๘/๗ วรรคหนึ่ง

ส่วนที่ ๓

สิทธิมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

                  

 

                มาตรา ๘๘/๙  เมื่อผู้ประสงค์จะขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินรายใด เห็นสมควรให้มีการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อพัฒนาโครงการทำเหมืองใต้ดินของตน ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการรับไปดำเนินการจัดประชุมปรึกษาตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศกระทรวงโดยค่าใช้จ่ายของผู้ขอ

ประกาศกระทรวงตามวรรคหนึ่งในระบุถึงกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่อไปนี้

(๑) ความสมบูรณ์ของรายงานเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่การปรึกษาจะต้องประกอบด้วยข้อมูลอันจำเป็นและประเด็นปัญหาโดยชัดเจน

               (๒) หลักเกณฑ์รับรองกลุ่มหรือองค์กรอันเกิดจากการรวมตัวของผู้มีส่วนได้เสียและการได้มาซึ่งตัวแทนที่จะเข้าร่วมปรึกษา ที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้บริหาร และสมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้มีสิทธิในที่ดินหรืออยู่อาศัยในเขตเหมืองแร่นั้น

(๓) องค์ประกอบของคณะกรรมการจัดการประชุมปรึกษาเบื้องต้นซึ่งจะต้องมีตัวแทนราชการส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐร่วมอยู่ด้วย

               (๔) ขั้นตอนการประชุมปรึกษา รวมทั้งการประกาศเชิญโดยทั่วไปให้ผู้มีส่วนได้เสียส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม การลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม และระยะเวลาล่วงหน้าที่ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ (๒) ศึกษาข้อมูลตามสมควร

                 มาตรา ๘๘/๑๐  เมื่อต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๘๘/๗ วรรคหนึ่ง ครั้งใด ให้อธิบดีจัดตั้งกองทุนขึ้นสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในโครงการทำเหมืองใต้ดินตามมาตรา ๘๘/๙ (๒) โดยมีแหล่งเงินทุนมาจาก

(๑) ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ขอประทานบัตรตามอัตราที่กำหนดในประกาศกระทรวง

(๒) เงินอุดหนุนจากกองทุนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

อัตราค่าใช้จ่ายตาม (๑) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขไนการเสนอและรับรองโครงการและระเบียบการรับและจ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศกระทรวง

                มาตรา ๘๘/๑๑  ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ออกประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินรายใดให้อธิบดีเรียกประชุมตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ (๒) เพื่อตกลงกำหนดตัวบุคคลผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองตามระเบียบที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขประทานบัตร

ให้ผู้ถือประทานบัตรจัดสรรเงินกองทุนสนับสนุนการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือผู้มีสิทธิตรวจสอบ เป็นอัตราตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขประทานบัตร ภายในสามสิบวันนับแต่ได้ผู้มีสิทธิตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง

เมื่อได้รับแจ้งสัญญาและรายละเอียดการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากผู้มีสิทธิตรวจสอบแล้วให้อธิบดีจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้เชี่ยวชาญได้ ต่อเมื่อได้รับคำรับรองในเนื้องานจากผู้มีสิทธิตรวจสอบแล้ว

                วาระการทำงานของผู้มีสิทธิตรวจสอบ เงื่อนไขและวิธีการเพิกถอนผู้มีสิทธิตรวจสอบที่ประพฤติมิชอบโดยที่ประชุมตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ (๒) การเก็บรักษากองทุน คุณสมบัติมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญ ลักษณะสัญญาว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ และระเบียบการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศกระทรวง

ส่วนที่ ๔

การคุ้มครองสิทธิในอสังหาริมทรัพย์

                  

 

               มาตรา ๘๘/๑๒  การทำเหมืองใต้ดินบริเวณใดในเขตเหมืองแร่ในลักษณะดังต่อไปนี้ถือเป็นการทำให้เสียหายซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นั้น ผู้เสียหายย่อมเรียกให้ผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินระงับการกระทำและจัดการแก้ไขตามที่จำเป็นเพื่อป้องปัดภยันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้

(๑) การทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกจากผิวดินน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน และไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร

(๒) การทำเหมืองใต้ดินไม่ว่าในระดับความลึกใด ที่มีวิธีการทำเหมืองตามหลักวิศวกรรมเหมืองแร่เพื่อประกันความมั่นคงของชั้นดิน ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน

                มาตรา ๘๘/๑๓  ในกรณีที่พื้นดินบริเวณใดในเขตเหมืองแร่ของประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินทรุดตัวลง จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ให้นำหลักความรับผิดต่อไปนี้มาใช้บังคับกับความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้น

(๑) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า การทรุดตัวของพื้นดินนั้นเกิดขึ้นจากการทำเหมืองใต้ดิน

                (๒) หากเป็นที่ยุติว่าการทำเหมืองใต้ดินเป็นต้นเหตุแห่งการทรุดตัวของพื้นที่ดินนั้น ให้ผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินและหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบการทำเหมืองร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายทุกกรณี และหากหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้วให้ใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินได้”

มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑๑/๑ ความรับผิด มาตรา ๑๓๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐

“หมวด ๑๑/๑

ความรับผิด

                  

 

               มาตรา ๑๓๑/๑  ผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน ต่อความเสียหาย หรือความเดือดร้อนรำคาญใดอันเกิดขึ้นแก่บุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

               ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นในเขตที่ได้รับอนุญาต ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้น”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เทคโนโลยีเหมืองแร่ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถขุดหาแร่ที่อยู่ในระดับลึกมากและมีสายแร่คลุมพื้นที่กว้างมากได้ การทำเหมืองใต้ดินตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหมืองแร่ และความจำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการทำเหมืองให้มีหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับการทำเหมืองใต้ดินได้อย่างเหมาะสม โดยกำหนดระดับความลึกของการทำเหมืองใต้ดิน และกำหนดให้ประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินคลุมพื้นที่กว้างขึ้นโดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการมีสิทธิทำเหมืองในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร  ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหมืองแร่ และเอื้ออำนวยต่อการลงทุนและพัฒนาแหล่งแร่ใต้ดิน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณพต/พิมพ์

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

พงษ์พิลัย/ตรวจ

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

ฐิติพร/ปรับปรุง

๒๑ มกราคม ๒๕๕๖

พจนา/ตรวจ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๒๘ ก/หน้า ๑/๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕