กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (ฉบับ Update ณ วันที่ 12/11/2551)

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕ )

ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน

พ.ศ. ๒๕๓๕[๑]

                  

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๘) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

หมวด ๑

ที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ลักษณะอาคารและลักษณะภายในของโรงงาน

                  

 

ข้อ ๑  ห้ามตั้งโรงงานจำพวกที่ ๑ และโรงงานจำพวกที่ ๒ ในบริเวณ ดังต่อไปนี้

(๑) บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย

               (๒) ภายในระยะ ๕๐ เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐ และให้หมายความรวมถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ข้อ ๒  ห้ามตั้งโรงงานจำพวกที่ ๓ ในบริเวณดังต่อไปนี้

(๑) บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย

               (๒) ภายในระยะ ๑๐๐ เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐ และให้หมายความรวมถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

                ข้อ ๓  สถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐตามข้อ ๑ (๒) หรือข้อ ๒ (๒) ไม่หมายความรวมถึงสถานที่ทำการงานโดยเฉพาะเพื่อการควบคุม กำกับ ดูแล อำนวยการสะดวก หรือให้บริการแก่การประกอบกิจการของโรงงานแห่งนั้นๆ

ในกรณีมีเหตุอันสมควร รัฐมนตรีจะกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ร่นหรือขยายระยะทางที่กำหนดในข้อ ๑ (๒)  หรือข้อ ๒ (๒) หรือมิให้ใช้บังคับข้อ ๑ (๒) แก่โรงงานประเภทใดตามเงื่อนไขที่กำหนดก็ได้

                 ข้อ ๔  โรงงานจำพวกที่ ๓ นอกจากห้ามตั้งในบริเวณตามข้อ ๒ แล้ว ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามขนาดและประเภทหรือชนิดของโรงงาน โดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย

ข้อ ๕  อาคารโรงงานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) มั่นคง แข็งแรง เหมาะสมและมีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๒) มีการระบายอากาศที่เหมาะสม โดยให้มีพื้นที่ประตู หน้าต่าง และช่องลมรวมกันโดยไม่นับที่ติดต่อระหว่างห้องไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ส่วนของพื้นที่ของห้อง หรือมีการระบายอากาศไม่น้อยกว่า ๐.๕ ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ต่อคนงานหนึ่งคน

                (๓) มีประตูหรือทางออกให้พอกับจำนวนคนในโรงงานที่จะหลบหนีภัยออกไปได้ทันท่วงทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้นอย่างน้อยสองแห่งอยู่ห่างกันพอสมควร บานประตูเปิดออกได้ง่ายมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๑๑๐ เซนติเมตร และสูงไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เซนติเมตร แต่ถ้ามีคนในโรงงานที่จะต้องออกตามทางนี้มากกว่า ๕๐ คน ต้องมีขนาดกว้างเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนไม่น้อยกว่า ๒ เซนติเมตรต่อหนึ่งคน และมีบันไดระหว่างชั้นอย่างน้อยสองแห่งอยู่ห่างกันพอสมควร

(๔) บันไดต้องมั่นคงแข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และจำนวนที่เหมาะสมกับอาคารโรงงานและการประกอบกิจการอุตสาหกรรมนั้นๆ ขั้นบันไดต้องไม่ลื่นและมีช่วงระยะเท่ากันโดยตลอด

                บันไดและพื้นทางเดินที่อยู่สูงจากระดับพื้นตั้งแต่ ๑.๕๐ เมตร ขึ้นไป อย่างน้อยต้องมีราวที่มั่นคง แข็งแรง และเหมาะสม ทั้งนี้ รัฐมนตรีอาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีส่วนประกอบอื่นเพื่อป้องกันอันตรายหรือยกเว้นการจัดให้มีราวดังกล่าวได้

(๕) ระยะดิ่งระหว่างพื้นถึงเพดานโดยเฉลี่ยต้องไม่น้อยกว่า ๓.๐๐ เมตร เว้นแต่จะมีการจัดระบบปรับอากาศหรือมีการระบายอากาศที่เหมาะสม แต่ระยะดิ่งดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่า ๒.๓๐ เมตร

(๖) พื้นต้องมั่นคง แข็งแรง ไม่มีน้ำขัง หรือลื่น อันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

(๗) บริเวณหรือห้องทำงานต้องมีพื้นที่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า ๓ ตารางเมตร ต่อคนงานหนึ่งคน โดยการคำนวณพื้นที่ให้นับรวมพื้นที่ที่ใช้วางโต๊ะปฏิบัติงาน เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่เคลื่อนไปตามกระบวนการผลิตด้วย

(๘) วัตถุที่ใช้ในการก่อสร้างต้องเหมาะสมกับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามขนาด ประเภท หรือชนิดของโรงงาน รวมทั้งที่ไม่ก่อให้เกิดการลุกลามของอัคคีภัย

(๙) จัดให้มีสายล่อฟ้าตามความจำเป็นและเหมาะสม

(๑๐) จัดให้มีที่เก็บรักษาวัตถุหรือสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออัคคีภัยได้ง่ายไว้ในที่ปลอดภัย

               (๑๑) ในกรณีมีลิฟต์ ลิฟต์ต้องมีส่วนปลอดภัยไม่น้อยกว่าสี่เท่าของน้ำหนักที่กำหนดให้ใช้ ทั้งนี้ โดยถือว่าคนที่บรรทุกมีน้ำหนัก ๗๐ กิโลกรัมต่อหนึ่งคน และต้องเป็นแบบที่จะเคลื่อนที่ได้ก็ต่อเมื่อประตูได้ปิดแล้ว รวมทั้งต้องมีระบบส่งสัญญาณเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ลิฟต์ต้องมีป้ายระบุจำนวนคนหรือน้ำหนักที่จะบรรทุกได้ ให้เห็นได้ง่ายและชัดเจน

(๑๒)[๒] มีห้องน้ำและห้องส้วมในโรงงานตามแบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วมที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

หมวด ๒

เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงาน

                  

 

ข้อ  ๖  เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงานต้องเป็นดังต่อไปนี้

                (๑) มั่นคง แข็งแรง และเหมาะสม และในกรณีมีเหตุอันควรรัฐมนตรีจะกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้การนำเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงานชนิดใดต้องมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ได้

(๒) ใช้เครื่องจักรที่มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือน เสียง หรือ คลื่นวิทยุ รบกวนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

(๓) มีเครื่องป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจากส่วนที่เคลื่นไหวของเครื่องจักรตามความจำเป็นและเหมาะสม

                (๔) บ่อหรือถังเปิดที่ทำงานสนองกันกับเครื่องจักรที่อาจเป็นอันตรายในการปฏิบัติงานของคนงาน ต้องมีขอบหรือราวกั้นแข็งแรงและปลอดภัยทางด้านที่คนเข้าถึงได้ สูงไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เซนติเมตรจากระดับพื้นที่ติดกับบ่อหรือถังนั้น

(๕)[๓] (ยกเลิก)

(๖)[๔] (ยกเลิก)

             (๗) ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย เช่น วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด วัตถุเคมี หรือของเหลวอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมที่มีขนาดของภาชนะบรรจุตั้งแต่ ๒๕,๐๐๐ ลิตรขึ้นไป ต้องมั่นคง แข็งแรง เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องสร้างเขื่อน หรือกำแพงคอนกรีตโดยรอบให้มีขนาดที่สามารถจะกักเก็บปริมาณของวัตถุดังกล่าวได้ทั้งหมด เว้นแต่กรณีที่มีภาชนะบรรจุมากกว่าหนึ่งถัง ให้สร้างเขื่อนที่สามารถเก็บกักวัตถุอันตรายนั้นเท่ากับปริมาตรของถังเก็บขนาดใหญ่ที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของวัตถุที่บรรจุได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีเมื่อเกิดวิบัติแก่ภาชนะดังกล่าว และต้องจัดให้มีวัตถุหรือเคมีภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการระงับหรือลดความรุนแรงของการแพร่กระจายได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ

ในกรณีที่ภาชนะบรรจุนั้นตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้องมีสายล่อฟ้าให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และภาชนะบรรจุที่อาจเกิดประจุไฟฟ้าสถิตย์ได้ในตัวต้องต่อสายดิน

               (๘) เครื่องยก (crane and hoist) และส่วนที่รับน้ำหนักต่อเนื่องกันต้องมั่นคงและแข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และจำนวนที่เหมาะสม และต้องมีป้ายระบุน้ำหนักปลอดภัยสูงสุดที่จะใช้ยกของได้ให้เห็นได้ง่ายและชัดเจน กับต้องมีที่ห้ามล้อซึ่งสามารถจะหยุดน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของน้ำหนักปลอดภัยสูงสุด และถ้าเป็นเครื่องยกที่ใช้ไฟฟ้าต้องมีอุปกรณ์สำหรับหยุด ยก และตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อยกน้ำหนักถึงตำแหน่งสูงสุดที่กำหนด

                (๙) เครื่องลำเลียงขนส่ง (conveyer) ซึ่งมีสายลำเลียงผ่านเหนือบริเวณซึ่งมีคนปฏิบัติงานหรือทางเดิน ต้องมีเครื่องป้องกันของตกแบบแผ่นหรือตะแกรงกันด้านข้างและรองรับของตกตลอดใต้สายลำเลียงนั้น โดยให้อยู่ในลักษณะที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงานสำหรับเครื่องลำเลียงขนส่งที่มีสายลำเลียงต่างไปจากแนวระดับ ต้องมีเครื่องบังคับที่ทำให้สายลำเลียงหยุดได้เองเมื่อเครื่องหยุดปฏิบัติงาน

(๑๐) การติดตั้งท่อและอุปกรณ์สำหรับส่งวัตถุทางท่อต้องเป็นไปตามหลักวิชาการที่ยอมรับกัน

(๑๑)[๕] (ยกเลิก)

               ข้อ ๗[๖]  ในกรณีที่มีเหตุอันควร รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบความปลอดภัยของเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงานตามข้อ ๖ (๒) (๓) (๗) (๘) (๙) หรือ (๑๐) ก็ได้

หมวด ๓

คนงานประจำโรงงาน

                  

 

ข้อ  ๘[๗]  (ยกเลิก)

ข้อ  ๙[๘]  (ยกเลิก)

                ข้อ ๑๐  โรงงานต้องมีวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลและผู้ปฏิบัติงานประจำสำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษซึ่งมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ  ๑๑  โรงงานที่มีการใช้สารกัมมันตรังสีต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาสำหรับดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ข้อ ๑๒  คนงานประจำโรงงานตามที่กำหนดในหมวดนี้ จะต้องไม่เป็นผู้ที่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่เป็นกรณีที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๔

การควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

                  

 

ข้อ ๑๓  การกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล และวัสดุที่ไม่ใช้

(๑) ต้องรักษาโรงงานให้สะอาดปราศจากขยะและสิ่งปฏิกูลอยู่เสมอ และจัดให้มีที่รองรับ หรือที่กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลตามความจำเป็นและเหมาะสม

               (๒) ต้องแยกเก็บสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งมีวัตถุมีพิษปนอยู่ด้วย หรือสำลีผ้า หรือเศษด้ายที่เปื้อนวัตถุไวไฟ ไว้ในที่รองรับต่างหากที่เหมาะสมและมีฝาปิดมิดชิด และต้องจัดให้มีการกำจัดสิ่งดังกล่าวโดยเฉพาะด้วยวิธีการที่ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนรำคาญ

                (๓) ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วดังต่อไปนี้

                (ก) ห้ามมิให้นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมมอบหมายให้นำออกไปเพื่อการทำลายฤทธิ์ กำจัด ทิ้ง หรือฝังด้วยวิธีการและสถานที่ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(ข) ต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด ปริมาณ ลักษณะคุณสมบัติและสถานที่เก็บสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนั้นๆ พร้อมทั้งวิธีการเก็บทำลายฤทธิ์ กำจัด ทิ้ง ฝัง เคลื่อนย้ายและการขนส่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๔  ห้ามระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน เว้นแต่ได้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างจนน้ำทิ้งนั้นมีลักษณะเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช้วิธีทำให้เจือจาง (dilution)

ข้อ ๑๕  ในกรณีที่มีระบบบำบัดน้ำเสีย  ผู้ประกอบกิจการต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ต้องติดตั้งมาตรวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียโดยเฉพาะไว้ในที่ที่ง่ายต่อการตรวจสอบ และต้องมีการจดบันทึกเลขหน่วยและปริมาณการใช้ไฟฟ้าประจำวันด้วย

(๒) ในกรณีมีการใช้สารเคมีหรือสารชีวภาพในระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องมีการบันทึกการใช้สารเคมีหรือสารชีวภาพในการบำบัดน้ำเสียประจำวัน และมีหลักฐานในการจัดหาสารเคมีหรือสารชีวภาพดังกล่าวด้วย

                ข้อ ๑๕ ทวิ[๙]  ในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ โรงงานที่ผู้อนุญาตกำหนดให้ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษนอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อ ๑๕ แล้ว โรงงานดังกล่าวจะต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพื่อรายงานการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ด้วย

                 (๑) ติดตั้งเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำทิ้งออกจากโรงงาน โดยเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำทิ้งออกจากโรงงานและมาตรวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียจะต้องสามารถให้สัญญาณไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และใช้งานวิเคราะห์โดยระบบคอมพิวเตอร์ได้

การติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจากที่กำหนดในวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประเภท ขนาด และสถานที่ตั้งของโรงงาน

               (๒) ติดตั้งระบบปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าจากเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำทิ้งออกจากโรงงานและมาตรวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นสัญญาณที่สามารถจัดส่งไปได้ไกลด้วยระบบเครือข่ายคมนาคมประเภทต่างๆ เช่น โทรศัพท์ วิทยุ หรือสัญญาณดาวเทียม เพื่อส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

               (๓) จัดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์และการส่งสัญญาณของค่าวิเคราะห์หรือค่าที่วัดได้ตาม (๒) ทางโทรศัพท์ วิทยุ หรือสัญญาณดาวเทียมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานที่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

               ข้อ ๑๖  ห้ามระบายอากาศเสียออกจากโรงงาน เว้นแต่ได้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างจนอากาศที่ระบายออกนั้นมีปริมาณของสารเจือปนไม่เกินกว่าค่าที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช้วิธีทำให้เจือจาง (dilution)

ข้อ ๑๖ ทวิ[๑๐]  ในกรณีที่มีระบบฟอกอากาศ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ต้องติดตั้งมาตรวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบฟอกอากาศโดยเฉพาะไว้ในที่ที่ง่ายต่อการตรวจสอบ และต้องมีการจดบันทึกเลขหน่วยและปริมาณการใช้ไฟฟ้าประจำวันด้วย

(๒) ในกรณีที่มีการใช้สารเคมีในระบบฟอกอากาศ ต้องมีการจดบันทึกการใช้สารเคมีในการฟอกอากาศประจำวันและมีหลักฐานในการจัดหาสารเคมีดังกล่าวด้วย

              ข้อ ๑๖ ตรี[๑๑]  ในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โรงงานที่ผู้อนุญาตกำหนดให้ต้องมีระบบฟอกอากาศต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อ ๑๖ ทวิ แล้ว โรงงานดังกล่าวจะต้องติดตั้งเครื่องมือ หรือเครื่องอุปกรณ์เพื่อรายงานการระบายอากาศเสียออกจากโรงงานเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้ด้วย

                (๑) ติดตั้งเครื่องวัดอัตราการไหลของอากาศเสียออกจากโรงงาน โดยเครื่องวัดอัตราการไหลของอากาศเสียออกจากโรงงานและมาตรวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบฟอกอากาศจะต้องสามารถให้สัญญาณไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และใช้งานวิเคราะห์โดยระบบคอมพิวเตอร์ได้

การติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจากที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประเภท ขนาด และสถานที่ตั้งของโรงงาน

               (๒) ติดตั้งระบบปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าจากเครื่องวัดอัตราการไหลของอากาศเสียออกจากโรงงานและมาตรวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบฟอกอากาศเป็นสัญญาณที่สามารถจัดส่งไปได้ไกลด้วยระบบเครือข่ายคมนาคมประเภทต่างๆ เช่น โทรศัพท์ วิทยุ หรือสัญญาณดาวเทียม เพื่อส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

                (๓) จัดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์และการส่งสัญญาณของค่าวิเคราะห์ หรือค่าที่วัดได้ตาม (๒) ทางโทรศัพท์ หรือวิทยุ หรือสัญญาณดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

ข้อ ๑๗  เสียงดังที่เกิดจากการประกอบกิจการต้องไม่เกินมาตรฐานที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๕

ความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงาน

                  

 

ข้อ ๑๘  โรงงานประเภทใดต้องมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงานอย่างไร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๙  เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงานประเภทใด ต้องมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างไร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บทเฉพาะกาล

                  

 

ข้อ ๒๐  ความในข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ ของหมวด ๑ มิให้นำมาใช้บังคับกับโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕

สิปปนนท์ เกตุทัต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน ๒๕๓๕ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้งโรงงาน สภาพแวดล้อม ลักษณะอาคาร หรือลักษณะภายในของโรงงาน และลักษณะ ประเภท หรือชนิดของเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงาน คนงานประจำโรงงาน การกำหนดวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงาน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕[๑๒]

 

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการโรงงานจำนวนมากได้ระบายน้ำทิ้งและอากาศเสียออกจากโรงงานโดยไม่ผ่านระบบบำบัดหรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและกำกับดูแลโรงงานต่างๆ มิให้มีการระบายน้ำทิ้งและอากาศเสียดังกล่าว สมควรกำหนดวิธีการควบคุมการระบายน้ำทิ้งและการระบายอากาศเสียออกจากโรงงาน  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

กฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และภาชนะรับแรงดันในโรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๙[๑๓]

 

ข้อ ๒  ในกฎกระทรวงนี้

“หม้อน้ำ (boiler)” หมายความว่า

                (๑) ภาชนะปิดสำหรับบรรจุน้ำที่มีปริมาณความจุเกิน ๒ ลิตรขึ้นไป เมื่อได้รับความร้อนจากการสันดาปของเชื้อเพลิงหรือแหล่งพลังงานความร้อนอื่น น้ำจะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอน้ำภายใต้ความดันมากกว่า ๑.๕ เท่าของความดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเล หรือ

(๒) ภาชนะปิดสำหรับบรรจุน้ำซึ่งใช้ในการผลิตน้ำร้อนที่มีพื้นที่ผิวรับความร้อนตั้งแต่ ๘ ตารางเมตรขึ้นไป

                “หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน” หมายความว่า ภาชนะปิดที่ภายในบรรจุของเหลว ซึ่งมีคุณสมบัติในการรับและถ่ายเทความร้อนได้ โดยรับความร้อนจากการสันดาปของเชื้อเพลิงหรือแหล่งพลังงานความร้อนอื่น เพื่อนำไปถ่ายเทความร้อนให้กับอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนโดยของเหลวจะไหลเวียนตลอดเวลาเพื่อรับและถ่ายเทความร้อนได้อย่างต่อเนื่อง

“ภาชนะรับแรงดัน (pressure vessel)” หมายความว่า

(๑) ภาชนะปิดที่มีความกดดันภายในภาชนะและภายนอกภาชนะแตกต่างกันมากกว่า ๑.๕ เท่าของความดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเล และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๑๐๓ มิลลิเมตร หรือ

(๒) ถังปฏิกิริยา (reactor)

หมวด ๑

การออกแบบ การผลิต และการตรวจสอบการผลิต

                  

 

ข้อ ๓  ผู้ประกอบกิจการโรงงานผลิต ประกอบ ดัดแปลง หรือสร้างหม้อน้ำหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดัน ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) จัดให้มีการออกแบบ การผลิต และการตรวจสอบการผลิต

(๒) จัดทำเอกสารคู่มือการใช้งาน การตรวจสอบ และการบำรุงรักษา และ

(๓) จัดทำรายงานข้อมูลการผลิต การตรวจสอบ และการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด  ๒

การติดตั้ง

                  

 

               ข้อ ๔  ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ใช้หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดัน ต้องติดตั้งหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดันที่ได้รับการออกแบบ การผลิต และการตรวจสอบการผลิตตามข้อ ๓

                หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดันที่ติดตั้งตามวรรคหนึ่ง หากนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะใหม่หรือภาชนะที่ผ่านการใช้งานแล้ว ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๕  หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดันที่ติดตั้งเพื่อใช้งาน ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

              ข้อ ๖  สถานที่ติดตั้ง การติดตั้ง การตรวจสอบและทดสอบหลังการติดตั้ง และการเคลื่อนย้ายหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดัน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

             ข้อ ๗  ระบบท่อต้องได้รับการออกแบบ การคำนวณ และควบคุมการติดตั้งตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยวิศวกรที่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

               ข้อ ๘  โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ ต้องติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการบำบัดหรือปรับสภาพน้ำในระบบหม้อน้ำ หรือปรับสภาพน้ำเข้าหม้อน้ำ เพื่อให้น้ำมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               ข้อ ๙  โรงงานที่มีการติดตั้งหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดัน ต้องจัดทำรายงานข้อมูลการติดตั้ง การตรวจสอบและทดสอบหลังการติดตั้ง และการเคลื่อนย้ายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด  ๓

การใช้งาน

                  

 

                 ข้อ ๑๐  ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดัน ต้องจัดทำและดำเนินการตามแผนการบำรุงรักษาหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดัน รวมถึงอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๑  ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หรือภาชนะรับแรงดัน ต้องใช้งานที่ความดันไม่เกินกว่าความดันอนุญาตให้ใช้งานสูงสุด (maximum allowable workingpressure)

สำหรับหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนต้องใช้งานที่อุณหภูมิไม่เกินกว่าอุณหภูมิอนุญาตให้ใช้งานสูงสุด

ข้อ ๑๒  หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน ถังพักไอน้ำ ระบบท่อและอุปกรณ์ต่างๆ ต้องหุ้มฉนวนกันความร้อน

               ข้อ ๑๓  หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดันที่โครงสร้างรับแรงดันหรืออุปกรณ์ความปลอดภัยชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ หรือไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานต้องหยุดการใช้งานทันทีและแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่พบความชำรุดเสียหาย

กรณีที่โครงสร้างรับแรงดันหรืออุปกรณ์ความปลอดภัยชำรุดและจะนำกลับมาใช้งานใหม่ ต้องได้รับการซ่อมแซมและตรวจสอบตามวิธีการที่กำหนดในข้อ ๑๖

ข้อ ๑๔  ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดัน ต้องจัดให้มีการตรวจสอบหรือทดสอบความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               ข้อ ๑๕  ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดัน ต้องจัดส่งรายงานผลการตรวจสอบความปลอดภัยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทำการตรวจสอบหรือทดสอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด  ๔

การซ่อมแซมและดัดแปลง

                  

 

                ข้อ ๑๖  การดำเนินการซ่อมแซมและดัดแปลง การตรวจสอบและทดสอบหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดัน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                ข้อ ๑๗  ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดส่งรายงานผลการดำเนินการซ่อมแซม และดัดแปลงและผลการตรวจสอบและทดสอบหลังจากที่ได้ซ่อมแซมและดัดแปลงหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดัน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนการใช้งาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด  ๕

การยกเลิกการใช้งาน

                  

 

ข้อ ๑๘  การยกเลิกการใช้งานหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดัน ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด  ๖

บุคลากรประจำโรงงาน

                  

 

                ข้อ ๑๙  คนงาน วิศวกร หรือสถาปนิกที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม การออกแบบการผลิต การใช้งาน การตรวจสอบหรือทดสอบ หรือการซ่อมแซมหรือดัดแปลงหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับแรงดัน ต้องมีคุณสมบัติและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และภาชนะรับแรงดัน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕[๑๔]

              หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงานยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยนำไปกำหนดเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงานในกฎกระทรวงอีกฉบับหนึ่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๕๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕[๑๕]

               ข้อ ๒  ความในข้อ ๕ (๑๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปกับโรงงานที่ได้เริ่มประกอบกิจการโรงงานแล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับจนกว่าจะมีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้ห้องน้ำหรือห้องส้วมในโรงงานให้แตกต่างไปจากเดิมหรือที่ได้รับอนุญาตไว้ แล้วแต่กรณี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีกฎหมายหลายฉบับกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วมในโรงงาน ทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่อาคารทุกประเภท จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับแบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วมในอาคารทุกประเภทซึ่งรวมถึงในโรงงานด้วย สมควรยกเลิกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีห้องส้วมที่ปัสสาวะ และสถานที่ทำความสะอาดร่างกายในอาคารโรงงานและกำหนดให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับห้องน้ำและห้องส้วมในโรงงานเป็นไปตามแบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วมที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

ฐาปนี/ พิมพ์

๒๔ กันยายน ๒๕๔๕

A+B(C)

สุนันทา/ผู้จัดทำ

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ณัฐพร/ผู้ปรับปรุง

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๐๘/หน้า ๓/๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๕

[๒] ข้อ ๕ (๑๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๕๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

[๓] ข้อ ๖ (๕) ยกเลิกโดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และภาชนะรับแรงดันในโรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๙

[๔] ข้อ ๖ (๖) ยกเลิกโดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และภาชนะรับแรงดันในโรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๙

[๕] ข้อ ๖ (๑๑) ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

[๖] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

[๗] ข้อ ๘ ยกเลิกโดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และภาชนะรับแรงดันในโรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๙

[๘] ข้อ ๙ ยกเลิกโดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และภาชนะรับแรงดันในโรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๙

[๙] ข้อ ๑๕ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

[๑๐] ข้อ ๑๖ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

[๑๑] ข้อ ๑๖ ตรี เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

[๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๓๓ ก/หน้า ๓๒/๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๙

[๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๖๕ ก/หน้า ๒๘/๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙

[๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๓๔ ก/หน้า ๒๙/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐

[๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๐ ก/หน้า ๑/๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑