พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2490

พระราชบัญญัติ

การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘)

พ.ศ. ๒๔๙๐

                  

 

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รังสิต กรมชนชัยนาทนเรนทร

พระยามานวราชเสวี

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐

เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๘  ในพระราชบัญญัตินี้แห่งใดมีบัญญัติว่าด้วยการออกอนุญาตอย่างใด ๆ ตามซึ่งเจ้าท่าเห็นจำเป็นจะต้องออกเป็นหนังสือ ท่านว่าเจ้าท่ามีอำนาจชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตเช่นนั้นตามอัตราซึ่งเจ้าท่าจะได้ประกาศไว้แต่อย่างมากไม่เกินกว่าสี่บาท”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๔๕  ใบอนุญาตนั้นจะสับเปลี่ยนกันใช้ไม่ได้ แต่ถ้าในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ เรือนั้นได้เปลี่ยนเจ้าของกันไปแล้วก็ให้จัดการโอนกรรมสิทธิกันได้ แต่ต้องแจ้งความให้เจ้าท่าทราบด้วย เพื่อเจ้าท่าจะได้แก้ใบอนุญาตเปลี่ยนชื่อในบัญชีทะเบียนไว้เป็นสำคัญ โดยเรียกค่าธรรมเนียมถ้าเป็นเรือเล็ก เรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเป็ดทะเล ฯลฯ เป็นเงินสองบาท ถ้าเป็นเรือนอกจากที่ว่ามานี้เป็นเงินยี่สิบบาท”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๙  การออกสำเนาใบอนุญาตนั้น ให้ออกโดยเรียกเงินค่าธรรมเนียม

ถ้าสำหรับเรือเล็ก เรือบรรทุกสินค้า หรือเรือเป็ดทะเล ฯลฯ เป็นเงินหนึ่งบาท ถ้าเป็นเรือนอกจากที่ว่ามานี้เป็นเงินสิบบาท”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๗๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๗๔  ค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตสำหรับเรือที่ว่ามาในหมวดนี้ ให้เรียกตามพิกัด ดังต่อไปนี้ คือ

สำหรับขนาดเกินกว่า ๕๐๐ ตันกรอสส์ ปีละ ๒๕๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๕๐๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ตันกรอสส์ ปีละ ๒๐๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๒๐๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตันกรอสส์ ปีละ ๑๕๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๑๐๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ ตันกรอสส์ ปีละ ๑๐๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๕๐ ตันกรอสส์ แต่ไม่ต่ำกว่า ๒๕ ตันกรอสส์ ปีละ ๘๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๒๕ ตันกรอสส์ ปีละ ๖๐ บาท”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๘๐  ค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตสำหรับเรือที่ว่ามาในหมวดนี้ ให้เรียกตามพิกัดดังต่อไปนี้ คือ

ชั้นที่ ๑ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ตั้งแต่ ๖,๐๐๐ หาบ ขึ้นไปปีละ ๑๕๐ บาท

ชั้นที่ ๒ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ หาบ ปีละ ๑๒๐ บาท

ชั้นที่ ๓ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ หาบ ปีละ ๑๐๐ บาท

ชั้นที่ ๔ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ หาบ ปีละ ๖๐ บาท”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๘๘  ค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตสำหรับเรือที่ว่ามาในหมวดนี้ ให้เรียกตามพิกัดดังต่อไปนี้ คือ

ชั้นที่ ๑ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ตั้งแต่ ๘๐๐ หาบขึ้นไป ปีละ ๔๐ บาท

ชั้นที่ ๒ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๘๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๔๕๐ หาบ ปีละ ๓๐ บาท

ชั้นที่ ๓ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๔๕๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ หาบ ปีละ ๒๐ บาท

ชั้นที่ ๔ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๑๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ หาบ ปีละ ๑๐ บาท

ชั้นที่ ๕ สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๕๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๒๕ หาบ ปีละ ๕ บาท”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๕  ในการพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับเรือกลไฟและเรือยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร หรือสินค้า หรือจูงเรือนั้น ถ้าเป็นเรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อการจดทะเบียนมีอำนาจที่จะ

(๑) กำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขเกี่ยวกับเขตหรือทางที่จะใช้เรือนั้นเดิน

(๒) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับขนาดและชนิดของเรือที่จะใช้เดินจากตำบลหนึ่งถึงตำบลหนึ่ง ตลอดถึงการสับเปลี่ยนเรือใช้แทนกันชั่วครั้งคราวด้วย

(๓) สั่งงดการอนุญาตเรือลำใด ๆ หรือของเจ้าของใด ๆ มิให้เดินเรือประจำทางที่เห็นว่ามีเรืออื่นเดินอยู่เพียงพอแล้ว หรือเมื่อเห็นว่าถ้าให้อนุญาตจะมีการแข่งขันกันจนจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียความปลอดภัยของประชาชน

                (๔) ตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเป็นครั้งคราว เพื่อกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าจูงเรือ จำนวนเรือที่จะใช้เดินเวลาออกเรือ และให้อนุญาตเดินเรือประจำทาง คณะกรรมการนั้นให้รวมทั้งเจ้าของเรือหรือผู้แทนด้วย

ถ้าไม่ใช่เรือเดินประจำทาง เมื่อมาขออนุญาตเดินรับจ้างในสายทางที่มีเรือประจำทางเดินอยู่แล้ว เจ้าท่าจะต้องให้อนุญาตโดยไม่ชักช้า แต่ในการอนุญาตนั้น เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกำหนดเวลาให้เดินเรือเพื่อมิให้พ้องกับกำหนดเวลาของเรือประจำทางและกำหนดให้เรือนั้น ๆ ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ใช้กับเรือประจำทางทุกประการ”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๖  การรับใบอนุญาตตามมาตรา ๕ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๘๐ และมาตรา ๑๘๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่เรือกลขนาดต่ำกว่า ๓ ตันกรอสส์ และเรือที่ใช้ทำการประมงโดยเฉพาะให้เสียค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตเพียงกึ่งอัตราปกติ

เรือกลของกสิกรที่ใช้เพื่อประโยชน์เฉพาะในการกสิกรรมของตนเองซึ่งมีขนาดต่ำกว่า ๓ ตันกรอสส์ ใช้เครื่องยนต์กำลังไม่เกิน ๗ แรงม้า ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต แต่ต้องรับใบอนุญาต”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๐  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมอันเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยได้ ค่าธรรมเนียมนั้นนอกจากที่มีอำนาจกำหนดได้ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ อยู่แล้ว ให้กำหนดได้ในอัตราไม่เกินสิบบาท

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเรือตรี ถ.  ธำรงนาวาสวัสดิ์

นายกรัฐมนตรี

วศิน/แก้ไข

๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓/หน้า ๖๗/๑๔ มกราคม ๒๔๙๐