คลังสำหรับ 10/05/2016

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2542

คำร้องขอบรรยายว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของ แผ่นดิน ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าเป็นที่ดินของผู้คัดค้านปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดี การพิจารณาว่าประเด็นแห่งคดี มีอย่างไร ต้องพิจารณาข้ออ้างและข้อเถียงทั้งจากคำฟ้อง และคำให้การ แม้ผู้ร้องจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอ แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ก็ต้องดำเนินคดี อย่างคดีมีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยคดี ไม่มีความจำเป็นต้อง ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน เมื่อปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ย่อมเพียงพอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีไปได้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและเอกสารในสำนวน ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาให้ผู้ร้องที่ 2 ใช้ร่วมกับคูคลองและลำห้วยซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ อยู่เดิมเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการของ ผู้คัดค้านและเพื่อประโยชน์ของราษฎรในบริเวณนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ประกอบกับการที่ผู้คัดค้านแจ้งแก่ผู้ร้องว่า ยินดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องเป็นการยืนยันเจตนาว่าจะให้ใช้ที่ดินพิพาทเพื่อสาธารณประโยชน์ถือว่าผู้คัดค้านมีเจตนาสละที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันที ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ผู้คัดค้านไม่อาจ ยกเงื่อนไขที่ตนมีต่อผู้ร้องขึ้นอ้างเพื่อลบล้างสภาพของที่ดิน ซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่ อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9308/2539

คลองเปรมประชากรเป็นคลองประเภท2ตามพระราชบัญญัติ การชลประทานหลวงพ.ศ.2485มาตรา5ซึ่งประชาชนสามารถขับเรือหางยาวที่ไม่ใช่เรือโดยสารในคลองได้และในปัจจุบันเรือหางยาวก็สามารถแล่นในคลองดังกล่าวได้เพราะสภาพคลองมีน้ำเต็มคลองเปรมประชากรจึงเป็นทางน้ำที่ราษฎรทั่วไปมีสิทธิใช้สัญจรไปมาได้และเป็นทางสาธารณะตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1349,1350แม้พระราชบัญญัติ การชลประทานหลวงพ.ศ.2485มาตรา15จะบัญญัติให้อธิบดีกรมชลประทานมีอำนาจปิดขุดลอกห้ามจำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการนำเรือแพผ่านทางน้ำชลประทานก็ตามแต่อำนาจดังกล่าวก็เป็นการกำหนดไว้เพื่อให้อธิบดีกรมชลประทานจัดการดูแลรักษาทางน้ำชลประทานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเพื่อประโยชน์ของการชลประทานเท่านั้นหาทำให้ทางน้ำที่ราษฎรใช้ในการคมนาคมกลายสภาพเป็นทางน้ำที่ไม่ใช่ทางสาธารณะไม่ เมื่อที่ดินของโจทก์มีทางออกไปสู่คลองเปรมประชากรซึ่งเป็นทางสาธารณะได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5768/2530

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านพักอาศัยรุกล้ำที่ดินราชพัสดุเขตชานคลองชลประทานโดยละเมิดกฎหมายและคำขอท้ายฟ้องได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช2485 มาตรา 23 วรรค 1 ซึ่งเป็นบทความผิดและมาตรา 37 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษกับอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 17 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 ทั้งได้ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำนั้นด้วย เพียงแต่โจทก์มิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2507 มาตรา 12 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 ทั้งมิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 7 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2507 แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้น ตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ ยังคงเรียกว่ามาตรา 23 และมาตรา 37 อยู่นั่นเองการที่จำเลยกระทำความผิดหลังจากใช้กฎหมายซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แล้ว แต่โจทก์มิได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จึงมิทำให้ฟ้องโจทก์ขาดความสมบูรณ์

เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2507 มาตรา 12 และมีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาตรา37 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ.2518 มาตรา 7 ศาลก็ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 7 ได้ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำนั้นได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3532/2524

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในเขตทางน้ำชลประทานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากเขตชลประทานภายใน 1 เดือน คดีถึงที่สุด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องรื้อถอนโรงเรือนซึ่งจำเลยรับว่าได้ปลูกสร้างรุกล้ำโดยผิดกฎหมายออกไป จำเลยจะอ้างสิทธิของบุคคลภายนอกมาเป็นข้อแก้ตัวในการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการโต้แย้งว่าจำเลยมิได้ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเขตทางน้ำชลประทานอันเป็นการโต้เถียงขัดกับข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้ว แม้จะเป็นในชั้นบังคับคดีก็ไม่อาจกระทำได้ ข้ออ้างของจำเลยมิใช่ข้อแก้ตัวอันดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2524

ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากเขตชลประทาน คำพิพากษาดังกล่าวเป็นยุติว่าที่พิพาทเป็นทางน้ำชลประทาน จำเลยถูกผูกพันมิให้โต้แย้งว่าที่พิพาทเป็นของผู้อื่น จำเลยไม่สามารถแสดงข้อแก้ตัวที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2495

ขุดคลองทำประตูน้ำ เก็บเงินแก่เรือที่ผ่านไปมา ย่อมเป็นการขุดคลองเพื่อกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลก็ย่อมเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณชนพ.ศ.2471 มาตรา 4,5,8 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2495 มาตรา 3 และเมื่อการกระทำดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้น้ำในทางชลประทานรั่วไหลออก โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานก็ย่อมเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติชลประทานหลวงพ.ศ.2485 มาตรา 26 อีกบทหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959/2535

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำชานคลองเขตคันคลองชลประทานว่า อยู่บริเวณถนนสุขุมวิท หลักกิโลเมตรที่ 40 จำนวนเนื้อที่ 60 ตารางเมตรตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการเป็นการบรรยายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพ.ศ. 2485 มาตรา 23 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2507 มาตรา 12 ส่วนพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485มาตรา 37 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507มาตรา 17 และพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 เป็นมาตราที่กำหนดโทษในการกระทำความผิดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์จะต้องบรรยายไว้ในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707 – 1708/2506

บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงฯ มีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชน ส่วนพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองเอกชนเป็นรายๆไป กฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชนจึงมีผลบังคับเหนือกว่ากฎหมายที่คุ้มครองเอกชน การที่พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง บัญญัติห้ามปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำคันคลอง ชานคลองนั้นแม้จำเลยจะเช่าที่ดินกรมชลประทานปลูกเรือนอยู่อาศัยมาก่อนก็ตาม ก็ย่อมไม่ได้รับยกเว้นที่จะคงอยู่ต่อไป และไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2511

ตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 ที่ว่า เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน ถ้าไม่สามารถจะทำได้โดยวิธีอื่น ให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำหรือแหล่งน้ำใดมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ ในเมื่อนายช่างชลประทาน ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอได้อนุญาตและกำหนดให้โดยกว้างรวมทั้งที่ทิ้งดินด้วยไม่เกินสิบเมตร แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ทางน้ำผ่านนั้น หมายความว่าต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเสียก่อน จึงจะมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินได้

แม้ที่ดินของโจทก์จะถูกนายช่างชลประทานใช้รถขุดดินทำทางน้ำผ่านเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำ โดยยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่เมื่อมีกฎหมายเวนคืนที่ดินของโจทก์ให้แก่กรมชลประทานแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้บังคับนายช่างชลประทานหรือกรมชลประทานกลบที่ดินที่ถูกขุดให้กลับคงคืนตามสภาพเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2497

ปลูกห้องแถวรุกล้ำเข้าไปบนชานคลองภาษีเจริญ และปักเสาทำเขื่อนรุกล้ำลงไปในทางน้ำคลองภาษีเจริญ โดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายช่างชลประทานย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง