คลังหมวดหมู่ : ‘คำพิพากษาศาลฎีกา’

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2494

นายอำเภอได้ประกาศและมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำนาหรือทำประโยชน์ใดรุกล้ำเข้าไปในเขตบึงแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์และหวงห้ามรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำนั้น ถือว่าเป็นคำสั่ง อันชอบด้วยกฎหมายตามความในพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 122 ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมเป็นผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1095/2477

อย่างไรเรียกว่าคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ +นายอำเภอมีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ฉะนั้น+สั่งนายอำเภอที่ห้ามมิให้+ทำนารุกล้ำเข้าไปในเขตต์ที่สาธารณจึงเป็นคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ใดไม่เชื่อฟังยังขืนทำนารุกล้ำเข้าไปต้องมีผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอันชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2540

สิทธิและหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2534มาตรา58สิทธิในการมีอากาศสะอาดบริสุทธิ์หายใจเพื่อสุขภาพพลานามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีสิทธิในการได้รับความรื่นรมย์ตามธรรมชาติสิทธิที่จะปลอดจากความเสียหายและเดือดร้อนอันเกิดจากปัญหาน้ำท่วมปัญหาการจราจรติดขัดปัญหามลพิษทางอากาศปัญหาความร้อนที่ระบายจากตึกอาคารสูงล้วนเป็นสิทธิตามปกติธรรมดาของคนทั่วไปซึ่งมีสิทธิได้รับตามกฎหมายที่กำหนดอยู่แล้วจึงไม่ใช่เป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสาม การที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอทราบข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับรายงานการประชุมและมติในการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยราชการในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลักรวมทั้งแบบแปลนการจัดพื้นที่การก่อสร้างอาคารและแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากจำเลยที่3แต่จำเลยที่3ไม่ให้ความร่วมมือและไม่แจ้งเหตุขัดข้องว่าเป็นข้อมูลหรือข่าวสารที่ถือว่าเป็นความลับเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติหรือเข้าข้อยกเว้นข้ออื่นที่ไม่ต้องเปิดเผยแต่อย่างใดจึงเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ.2535มาตรา6และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯมาตรา48ทวิโจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2553

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เบิกถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไป อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และมาตรา 269/7 เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยได้ลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและธนาคาร ซ. และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ดังนั้น ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัตินั่นเอง จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5481/2548

พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117? ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท" ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท มิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนให้ปรับรวมกันตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใด ซึ่ง ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" เมื่อ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลตาม ป.อ. มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคนในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล" ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6770/2551

จำเลยก่อสร้างเขื่อนเรียงหินล่วงล้ำเข้าไปในทะเลภายในน่านน้ำไทยตั้งแต่ปี 2546 เจ้าท่ามีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนเขื่อนเรียงหินออกจากทะเลให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 เมื่อครบกำหนดจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและเป็นความผิดต่อเนื่องจนถึงวันฟ้อง จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7537/2551

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า พื้นที่น่านน้ำทะเลไทยที่จำเลยปลูกสร้าง ล่วงล้ำเข้าไปอันเป็นสถานที่เกิดการกระทำความผิดนั้น อยู่ในบริเวณพื้นที่น่านน้ำทะเลไทย ซึ่งพอสมควรที่จะทำให้จำเลย เข้าใจข้อหาได้ดี และครบองค์ประกอบ ความผิดฐานปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใด ล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำทะเล ภายในน่านน้ำไทย ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 ประกอบ ป.วิ.อ. 158 (5) หาจำต้องบรรยายเพิ่มเติมว่าปลูกสร้างห่างจากฝั่งเพียงใดไม่ ฟ้องของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11414/2556

จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลอันมีฐานะเป็นนิติบุคคล และตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 เตรส กำหนดให้นายกเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนของเทศบาลจำเลยที่ 1 ความประสงค์ของเทศบาลจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยผ่านจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อเทศบาลจำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยเกิดจากการแสดงออกของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าการกระทำอันเป็นความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วยและไม่อาจปัดความผิดไปให้ผู้อื่นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2545

จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ห้ามเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดเท่านั้น ความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่จำเลยใช้เครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งหาทำให้เครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ไม่

การริบทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด แต่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ห้ามเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น ความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่จำเลยใช้เครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งหาทำให้เครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2544

จำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่กำหนดโดยเด็ดขาดและก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษแต่ชุดเกียร์ปั่นน้ำชุดแกนเหล็กติดใบพัดใช้ตีน้ำทุ่นรองแกนเหล็กล้วนเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทั่วไป มิใช่เครื่องมือที่มีไว้จะเป็นความผิดในตัวโดยตรงซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ไว้โดยเฉพาะจึงต้องอาศัยบทบัญญัติการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง