คลังหมวดหมู่ : ‘คำพิพากษาศาลฎีกา’

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2513

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ เป็นที่สาธารณะและที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์
ที่พิพาทหมาย 1 เป็นหนองที่ราษฎรร่วมกันซื้อจากมารดาโจทก์ ส่วนที่หมาย 2, 3 เป็นที่ที่ ม. ยกให้เป็นที่สาธารณะทำเลเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2465 เมื่อราษฎรซื้อและรับยกให้แล้ว ราษฎรเข้าครอบครองใช้ที่พิพาทเป็นประโยชน์ร่วมกันตลอดมา กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการสละเจตนาครอบครองโดยส่งมอบทรัพย์ที่ครอบครองแล้ว นับแต่รับมอบที่พิพาทแล้วราษฎรเป็นจำนวนร้อย ๆ ได้ร่วมกันทำทำนบกั้นน้ำประตูระบายน้ำ ขุด ลอก หนอง โดยถือว่าเป็นที่สาธารณะที่ราษฎรได้ใช้เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้หนองและที่พิพาทหมาย 1, 2, 3เป็นหนองและทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ราษฎรใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาสิบ ๆ ปีแล้ว จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 และการเป็นหนองสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น กฎหมายไม่บังคับว่าต้องขึ้นทะเบียนเพราะจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามสภาพของที่นั้นเองว่าเป็นทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่

ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 117, 122 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะต้องรักษาดูแลที่ดินลำน้ำอันเป็นสาธารณประโยชน์ได้ ไม่ให้ผู้ใดทำให้เสียหายหรือกีดกันเอาเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว จำเลยในฐานะนายอำเภอจึงมีอำนาจสั่งห้ามโจทก์ไม่ให้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ตลอดจนมีอำนาจฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 287/2517

จำเลยปลูกสร้างอาคารและเขื่อนถมดินรุกล้ำเขตคลองบางโพงพางซึ่งเป็นที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ นายอำเภอเจ้าของท้องที่คลองบางโพงพางย่อมมีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารและเขื่อนถมดินที่รุกล้ำนั้นออกไปได้ โดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 วรรค 3
จำเลยปลูกสร้างอาคารและเขื่อนถมดินรุกล้ำเขตคลองบางโพงพางซึ่งเป็นที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ นายอำเภอเจ้าของท้องที่คลองบางโพงพางย่อมมีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารและเขื่อนถมดินที่รุกล้ำนั้นออกไปได้ โดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 วรรค 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2500

คำสั่งผู้รักษาการแทนนายอำเภอเมื่อ พ.ศ.2496 ห้ามมิให้จำเลยทำนาในหนองสาธารณะ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยเข้าทำนาเมื่อ พ.ศ.2498 ศาลลงโทษจำเลยฐานขัดคำสั่งตาม มาตรา334(2) กฎหมายลักษณะอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา94 ไม่ถือความผิดลหุโทษเป็นความผิดเพื่อเพิ่มโทษ ศาลอุทธรณ์ลงโทษและเพิ่มโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา76 ถูกต้องตามกฎหมายในเวลานั้นเมื่อจำเลยฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาแก้เป็นไม่เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
หนองสาธารณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใครจะอ้างอายุความครอบครองยันต่อแผ่นดินไม่ได้

ศาลฎีกาที่ 7193/2547

พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73 ให้สิทธิแก่ผู้ถือประทานบัตรใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดทำเหมืองเพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตรได้ การที่โจทก์ปลูกต้นยางพาราลงในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตเหมืองแร่ เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือประทานบัตร ไม่ทำให้ต้นยางพาราที่ปลูกสร้างไว้เป็นส่วนควบของที่ดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 และยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ การที่จำเลยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยเข้าไปกรีดเอาน้ำยางพาราภายหลังประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วเพื่อการยังชีพมิได้มีเถยจิตเป็นโจรผู้ร้ายแต่อย่างใด กับทั้งภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้รับอนุญาตจากรัฐให้มีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท กรณีมีเหตุอันสมควรให้ความปรานีแก่จำเลยโดยรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56

ศาลฎีกาที่ 302/2527

เขตเหมืองแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 4หมายความถึงเขตพื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรเท่านั้น หาหมายรวมถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งใช้เป็นที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายด้วยไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยมีแร่จำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเก็บไว้ในเขตซึ่งเป็นที่ทิ้งมูลดินทรายนอกเขตพื้นที่ในประทานบัตร จึงมีความผิดตามมาตรา 105

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2486

กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 324, 63, 64

พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 115, 117

กรมการอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งรื้อถอนสิ่งซึ่งมีผู้กระทำการขัดขวางต่อทางน้ำสาธารณประโยชน์ได้ตามมาตรา 117 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ 2457

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227 – 229/2504

หนองสาธารณะที่ทางราชการหวงห้ามไว้เพื่อสาธารณประโยชน์สำหรับคนและสัตว์ใช้อาบกินร่วมกัน นั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะดูแลรักษาตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ.2457 มาตรา 122 ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2495 มาตรา 40 วรรคสาม นายอำเภอจึงมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้บุกรุกหนองสาธารณประโยชน์ออกไปจากหนองนั้นได้ผู้ใดขัดขืนย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 122 มิได้ถูกยกเลิกหรือขัดแย้งกับประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 และไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  227/2551

จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยการเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าเพื่อให้พวกของจำเลยที่ดักซุ่มรออยู่ใช้อาวุธปืนยิงล่าสัตว์ป่าดังกล่าวซึ่งดำรงชีพอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า “ล่า” หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิงฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้น การเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ล่า” ตามคำนิยาม ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดและเป็นความผิดสำเร็จฐานล่าสัตว์ป่าตามฟ้อง มิใช่เป็นความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่า

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2020/2497

ข้าหลวงประจำจังหวัดและหัวหน้าการชลประทานตาม พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์มีอำนาจที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดที่กระทำแก่เหมืองฝายที่อยู่ในเขตอำนาจของตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1953/2494

หนองน้ำที่เป็นที่สาธารณะประโยชน์สำหรับราษฎรใช้ด้วยกันและอยู่ในหน้าที่กรมการอำเภอตรวจตรารักษาไม่ให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัวตามความในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 นั้น นายอำเภอย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่ทำการบุกรุกหนองน้ำนั้นให้เลิกทำการบุกรุกได้ ถ้าผู้นั้นขัดขืน ก็ต้องมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334 ข้อ 2

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง