คลังหมวดหมู่ : ‘การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม’

พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการของพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สอดคล้องกับพันธกรณีว่าด้วยความตกลงขององค์การการค้าโลกในเรื่องความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ในส่วนที่เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนต้องห้าม กำหนดให้มีการประกอบกิจการบริการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปได้ กำหนดให้คณะกรรมการเป็นผู้ประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว และกำหนดให้การจัดสรรที่ดินในเขตพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายนอกจากนี้ ได้กำหนดให้การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมประเภทเขตประกอบการเสรี รวมทั้งการนำของหรือวัตถุดิบเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรเช่นเดียวกับของที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ชั้นน้ำบาดาล ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทรุดตัวของแผ่นดิน การแพร่กระจายของน้ำเค็มเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล ตลอดจนทำให้ระดับน้ำในชั้นน้ำบาดาลลดลง สมควรกำหนดให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐที่มีการเจาะน้ำบาดาลและใช้น้ำบาดาลต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล และการให้เอกชนจัดเก็บค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล และจัดตั้งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล และกำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันปรากฏว่าการทำเกลือด้วยวิธีการสูบน้ำเกลือใต้ดินได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องควบคุมมิให้มีการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินเพิ่มมากขึ้น และวางมาตรการกำหนดให้การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินและการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดินต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และป้องกันมิให้มีผลกระทบทางสภาวะสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินดังกล่าว สมควรกำหนดให้น้ำเกลือใต้ดินอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยแร่ แต่ได้วางมาตรการเป็นพิเศษให้ผ่อนคลายลงสำหรับการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน เพื่อให้แตกต่างไปจากวิธีการทำเหมืองโดยทั่วไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ บางอย่างไม่เหมาะสมและซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปรับปรุงใหม่แล้ว สมควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง