คลังคำสำคัญ ‘พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558’

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยชื่อเครื่องมือในพิกัดออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีอวนสำหรับใช้จับสัตว์น้ำเฉพาะประเภทเพื่อให้การจับสัตว์น้ำไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์สัตว์น้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สมควรกำหนดประเภทอวนที่จะใช้จับสัตว์น้ำบางประเภทให้ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๙๐)ว่าด้วยที่ว่าประมูลออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยผู้มีอาชีพทำการประมงในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเพราะภัยธรรมชาติวิปริตในบางปี เช่น ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ และ ๒๕๐๑ ดินฟ้าอากาศแห้งแล้งมาก ในน่านน้ำจืดน้ำเข้าทุ่งน้อย ปลาเข้าวางไข่ไม่ได้ผล ในทะเลก็เช่นเดียวกันปลาวางไข่น้อย จึงทำให้ชาวประมงผู้ว่าประมูลจับปลาไม่ได้ผล ผู้ว่าประมูลได้ต้องเสียเงินอากรให้แก่รัฐบาลในอัตราสูง ก็ได้รับความเสียหายและเดือนร้อนมาก อนึ่ง ที่จับสัตว์น้ำประเภทที่ว่าประมูลบางแห่ง มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นสหกรณ์การประมง แล้วอนุญาตให้สหกรณ์การประมงที่ได้จัดตั้งขึ้นมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูลแห่งนั้นได้

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากรออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากรการประมงได้ประกาศใช้มาเป็นเวลา ๑๕ ปีแล้ว การเรียกเก็บเงินอากรแก่เครื่องมือการประมงบางชนิดยังไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันนี้การประมงทะเลได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ชาวประมงได้นำเอาเครื่องมือประมงแบบใหม่ ๆ มาใช้ทำการประมงอีกหลายชนิด เช่น อวนลอยไนล่อน เป็นต้น อวนแบบใหม่ ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดเล็ก แต่ต้องเสียเงินอากรค่าอาชญาบัตรในอัตราสูงเกินรายได้ของชาวประมง ซึ่งนับว่าไม่เป็นธรรมแก่ชาวประมงผู้ใช้อวนลอยไนล่อน เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือขนาดใหญ่อื่น ๆ ซึ่งเสียเงินอากรน้อยกว่าอวนลอยไนล่อนหลายเท่า แต่สามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่าอวนลอยไนล่อนหลายสิบเท่า เพื่อส่งเสริมอาชีพชาวประมงผู้ใช้อวนลอยไนล่อนให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงแก้ไขปรับปรุงอัตราเงินอากรการประมงเสียใหม่

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้อาชีพผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือคราดหอย ประกอบกับเรือ มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อทราบจำนวนเรือประมงคราดหอย และเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบไร่ขึ้นไปมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้อยกว่าห้าสิบไร่มาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้รัฐสามารถดูแลและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ และให้การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน อีกทั้งให้รัฐสามารถดูแลและควบคุมระบบกำจัดน้ำเสีย การใช้ยาและสารเคมีในนากุ้ง มิให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ตลอดจนเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลการเลี้ยงกุ้งสำหรับนำมาใช้ในการวางแผนการเลี้ยง การผลิตและการตลาด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งทะเลมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทราบจำนวนผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวความต้องการพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล และจำนวนผลผลิตลูกกุ้งทะเลตลอดจนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพันธุ์กุ้งทะเล กับให้การรับรองพันธุ์กุ้งทะเลที่ได้มาตรฐาน และกระจายพันธุ์กุ้งทะเลให้ถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ทำการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดความยาวไม่เกินสิบสี่เมตร มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง