คลังคำสำคัญ ‘พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484’

พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช2484 (Update ณ วันที่ 11/04/2515)

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ บางมาตรา มีข้อความไม่รัดกุมเหมาะสมกับกาลสมัย โดยเฉพาะบทกำหนดโทษ กำหนดไว้ต่ำมากไม่ทำให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว หรือเข็ดหลาบ เป็นช่องทางให้มีการลักลอบตัดฟันไม้ทำลายป่ารวมทั้งลักลอบทำการแผ้วถางป่ามากขึ้น เพราะไม้หรือของป่าทุกชนิดมีราคาสูงขึ้นจึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายป่าไม้ อันเป็นทรัพยากรของชาติ ให้มีสภาพอันจะอำนวยประโยชน์แก่รัฐและประชาชนด้วยดีสืบไป

พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยป่าไม้บางมาตรามีข้อความไม่รัดกุม และไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองและบำรุงรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 (Update ณ วันที่ 09/01/2518)

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยป่าไม้บางมาตรามีข้อความไม่รัดกุม และไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองและบำรุงรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 (Update ณ วันที่ 05/03/2525)

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากว่าขณะนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ยังมีประชาชนในชนบทอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินจะไปซื้อไม้และอุปกรณ์ต่าง ๆ มาสร้างบ้านอยู่อาศัย ก็เนื่องจากความยากจนเป็นเหตุ จึงได้กระทำผิดไปด้วยความจำเป็น โดยไปตัดไม้ในป่ามาสร้างบ้านของตนเองบ้าง ซ่อมแซมบ้านของตนเองบ้าง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีบ้านอยู่อาศัยหรือมีไม้ไว้ในความครอบครองเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อซ่อมแซมบ้านก็ดี หรือมีไม้ไว้เพื่อทำเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ บ้างก็ดี จึงเป็นกรณีที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง แม้บางครั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมจะให้ความปราณีอย่างไรก็ยังทำให้ประชาชนผู้ยากไร้ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอยู่ดี เพราะติดขัดอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย เพื่อให้ศาลสถิตย์ยุติธรรมได้มีโอกาสพินิจพิเคราะห์ถึงความหนักเบาของข้อเท็จจริงแต่ละคดี ในการที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ดีและมากขึ้น จึงสมควรแก้ไขโทษขั้นต่ำของมาตรา ๖๙, ๗๓ บางกรณี เสียใหม่ให้ต่ำลงเล็กน้อย ส่วนโทษขั้นสูงก็เพิ่มให้สูงขึ้น บางกรณีเช่นเดียวกัน เพื่อลงโทษผู้ที่ทำลายป่าไม้ให้หนัก

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พ.ศ. 2532

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันสภาพป่าไม้ของประเทศได้ถูกทำลายจนทำให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติขาดความสมดุล อันจะยังผลให้ภัยพิบัติสาธารณะดังเช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑ อาจเกิดขึ้นอีกได้ จำเป็นต้องระงับยับยั้งมิให้มีการทำไม้ออกจากป่าและเร่งรัดฟื้นฟูสภาพป่าขึ้นโดยเร็ว แต่โดยที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มิได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในอันที่จะยับยั้งการทำไม้ออกจากป่าที่ได้เปิดการทำไม้โดยให้สัมปทานไปแล้วได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้อำนาจดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการกำหนดให้สัมปทานที่มีพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสิ้นสุดลง ทั้งนี้ โดยให้ผู้รับสัมปทานที่สัมปทานต้องสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงินชดเชยความเสียหายภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมทั้งแก่ประโยชน์ของส่วนรวมและประโยชน์ของเอกชน และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะและเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 (ฉบับ Update ณ วันที่ 30/09/2546)

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดให้กรมป่าไม้เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาการบริหาร ทั้งในด้านนโยบาย วิชาการ บุคลากร และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นเหตุให้ระบบการบริหารงานและการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบูรณาการตามกลุ่มภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและนโยบายของรัฐบาล สมควรโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง ตำแหน่งและอัตรากำลัง ไปเป็นกรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมควรที่จะได้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งโอนอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ไปเป็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีขอบเขตที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน นอกจากนี้ สมควรแก้ไขการใช้อำนาจของรัฐมนตรีและการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าวด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง