กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558

กฎกระทรวง

การขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า

พ.ศ. ๒๕๕๘

                  

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๔ วรรคสอง มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ และมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑[๑]  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๒  ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าด้วยการแผ้วถางป่า

 

ข้อ ๓  ในกฎกระทรวงนี้

“ทำประโยชน์ในเขตป่า” หมายความว่า การทำประโยชน์ในเขตป่า ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้

“เกษตรกรรม” หมายความว่า การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรรมอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการทำสวนป่า

“การทำสวนป่า” หมายความว่า การปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้เพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้เป็นหลัก

“ศาสนสถาน” หมายความว่า วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มัสยิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม วัดบาทหลวงตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจในนิกายหรือศาสนาอื่น

“โบราณสถาน” หมายความว่า โบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ

“เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า

“เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพป่า” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพป่าเพื่อการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า

“หน่วยตรวจสภาพป่า” หมายความว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมป่าไม้

 

ข้อ ๔  ให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามมาตรา ๕๔

 

หมวด ๑

การขออนุญาต

                  

 

ข้อ ๕  การขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า ต้องมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อการสำรวจแร่ การทำเหมืองแร่ การขุดหาแร่รายย่อยและการร่อนแร่ การสร้างทางขนแร่ออกจากพื้นที่ประทานบัตร หรือกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่

(๒) เพื่อการสำรวจปิโตรเลียม การผลิตปิโตรเลียม การเก็บรักษา การขนส่ง หรือกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

(๓) เพื่อการขุด เก็บ ซึ่งทราย ลูกรัง หรือดิน ที่มิใช่การทำเหมืองแร่หรือการขุดหาแร่รายย่อยและการร่อนแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่

(๔) เพื่อการอยู่อาศัย หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม

(๕) เพื่อการปลูกป่าหรือการทำสวนป่า

(๖) เพื่อจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

(๗) เพื่อการเพาะเลี้ยงหรือขยายพันธุ์สัตว์ป่า

(๘) เพื่อสร้างศาสนสถาน

(๙) เพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ

(๑๐) เพื่อประโยชน์ในทางราชการ

 

ข้อ ๖  ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีกรมป่าไม้ โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตให้ชัดเจน พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ

การขออนุญาตเพื่อสร้างวัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ ต้องยื่นผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ลงนามในคำขออนุญาต

เมื่อได้รับคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขออนุญาตไว้เป็นหลักฐาน

 

ข้อ ๗  ผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีบุคคลธรรมดา

(ก) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย

(ข) มีสัญชาติไทย

(ค) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(ง) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

(๒) กรณีผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ นิติบุคคลนั้นต้องจดทะเบียนในประเทศไทย และต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของคนต่างด้าวโดยเฉพาะหรือเป็นส่วนใหญ่ในกรณีที่นิติบุคคลนั้นมีผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้นต้องมีสัญชาติไทยเกินสองในสามของจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนโดยต้องถือหุ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดและผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๑)

นิติบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ตาม (๒) ที่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อการสำรวจแร่หรือการทำเหมืองแร่ตามข้อ ๑๓ หรือเพื่อการสำรวจปิโตรเลียมหรือการผลิตปิโตรเลียมตามข้อ ๑๔ ให้ยื่นเรื่องต่อหน่วยงานซึ่งมีอำนาจพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเว้นหลักเกณฑ์ตาม (๒) ได้ ในกรณีที่เห็นว่าการอนุญาตดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

 

ข้อ ๘  ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานตามข้อ ๖ หากเห็นว่าเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนและถูกต้อง ให้แจ้งผู้ขออนุญาตเป็นหนังสือเพื่อให้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอกำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากผู้ขออนุญาตไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคำขออนุญาตนั้นเป็นอันยกเลิกนับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตทราบ

กรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอตรวจสอบแล้วเห็นว่าเอกสารหลักฐานครบถ้วนและถูกต้องให้ส่งสำเนาคำขอพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้หน่วยตรวจสภาพป่าภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนและถูกต้อง และให้หน่วยตรวจสภาพป่าจัดทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเบื้องต้นเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารดังกล่าว

 

หมวด ๒

หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสภาพป่า

                  

 

ข้อ ๙  การขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าในจังหวัดใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจสภาพป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพป่าภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรายงานตามข้อ ๘ วรรคสอง

สำหรับการขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ ๑ หรือชั้นที่ ๒ หรือในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินสามสิบห้าองศาเพื่อการสำรวจแร่หรือการทำเหมืองแร่ หรือเพื่อการสำรวจปิโตรเลียม หรือการผลิตปิโตรเลียม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบดีกรมป่าไม้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับอาวุโส หรือประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการตรวจสอบประทานบัตรเหมืองแร่ออกไปทำการตรวจสภาพป่าร่วมกันภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง

 

ข้อ ๑๐  ในการตรวจสภาพป่า ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพป่าเป็นผู้นัดวันและเวลาที่จะตรวจสภาพป่าพร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตทราบ และให้ผู้ขออนุญาตนำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสภาพป่าตามวันและเวลาที่กำหนด หากผู้ขออนุญาตไม่นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสภาพป่าตามกำหนดเวลาดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพป่ากำหนดวันและเวลาในการตรวจสภาพป่าใหม่โดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตทราบหากผู้ขออนุญาตไม่นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสภาพป่าตามกำหนดเวลาดังกล่าวอีก ให้ถือว่าคำขออนุญาตนั้นเป็นอันสิ้นผล และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพป่าแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตทราบ

 

ข้อ ๑๑  ให้เจ้าหน้าที่ตามข้อ ๙ ร่วมกันตรวจสภาพป่าให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าตรวจสภาพป่าตามข้อ ๑๐ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจตรวจสภาพป่าให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้แจ้งเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว

เมื่อได้ตรวจสภาพป่าตามวรรคหนึ่งเสร็จแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพป่ารายงานผลการตรวจสภาพป่า ให้หน่วยตรวจสภาพป่าทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตรวจสภาพป่าแล้วเสร็จ

ให้หน่วยตรวจสภาพป่าพิจารณาและจัดทำความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเสนอความเห็นประกอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสภาพป่า ก่อนเสนออธิบดีกรมป่าไม้เพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับการขออนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่ ให้หน่วยตรวจสภาพป่าส่งสำเนาเอกสารตามวรรคสามให้อุตสาหกรรมจังหวัดด้วย

รายงานผลการตรวจสภาพป่าตามวรรคสองต้องมีข้อมูลตามที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด

 

หมวด ๓

การอนุญาต

                  

 

ข้อ ๑๒  พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่เป็นพื้นที่ป่าที่มีสภาพป่าไม้สมบูรณ์

(๒) ไม่เป็นพื้นที่ที่ควรรักษาไว้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

(๓) ไม่เป็นพื้นที่ที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ห้ามใช้ประโยชน์ไว้เป็นการเฉพาะ

หลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีการอนุญาตเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพพื้นที่ป่าและการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าตามข้อ ๒๑

 

ข้อ ๑๓  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องไม่เป็นเขตพระราชฐาน ศาสนสถาน หรือโบราณสถาน และให้พิจารณาอนุญาตได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการสำรวจแร่ ให้พิจารณาอนุญาตตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ไม่เกินพื้นที่ที่ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินห้าปี

(๒) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการทำเหมืองแร่ ให้พิจารณาอนุญาตตามความจำเป็นและเหมาะสมตามโครงการที่เสนอพร้อมคำขออนุญาตได้ไม่เกินสามร้อยไร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

(๓) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการขุดหาแร่รายย่อยและการร่อนแร่ ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสม และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสองปี

(๔) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการสร้างทางขนแร่ออกจากเขตพื้นที่ประทานบัตร ให้มีความกว้างของเขตทางได้ไม่เกินแปดเมตร และต้องสร้างทางกับบำรุงรักษาทางตามมาตรการที่กรมป่าไม้กำหนดและมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

(๕) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่ ได้แก่ ที่เททิ้งมูลดินทราย ที่พักคนงาน ที่กองเก็บแร่ ที่ตั้งโรงโม่ บด และย่อยหิน หรือโรงแต่งแร่หรือโลหกรรม รวมทั้งที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองแร่ ตลอดจนกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามที่ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยแร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

 

ข้อ ๑๔  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมพื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องไม่เป็นเขตพระราชฐาน ศาสนสถาน หรือโบราณสถาน และให้พิจารณาอนุญาตได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการสำรวจปิโตรเลียม ให้พิจารณาอนุญาตตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ไม่เกินพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน และมีกำหนดระยะเวลาตามที่ได้รับสัมปทานแต่ไม่เกินเก้าปี

(๒) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการผลิตปิโตรเลียม ให้พิจารณาอนุญาตตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ไม่เกินพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

(๓) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการเก็บรักษา การขนส่ง หรือกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามที่ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

 

ข้อ ๑๕  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อทำการขุด เก็บ ซึ่งทราย ลูกรัง หรือดินที่มิใช่การทำเหมืองแร่หรือการขุดหาแร่รายย่อยและการร่อนแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องไม่เป็นเขตพระราชฐาน ศาสนสถาน หรือโบราณสถาน และต้องมีระยะห่างจากทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ไม่น้อยกว่าห้าร้อยเมตร จากจุดกึ่งกลางของเขตทางโดยให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ไม่เกินสิบไร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินห้าปี

 

ข้อ ๑๖  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่กิจการที่ขออนุญาต และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

 

ข้อ ๑๗  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการปลูกป่าหรือการทำสวนป่า ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่กิจการที่ขออนุญาต และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสามสิบปี

 

ข้อ ๑๘  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ไม่เกินห้าร้อยไร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปีเว้นแต่กรณีการอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ ๒๒

 

ข้อ ๑๙  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการเพาะเลี้ยงหรือขยายพันธุ์สัตว์ป่า ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ไม่เกินหนึ่งพันไร่ และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสิบปี

 

ข้อ ๒๐  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อสร้างศาสนสถาน ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ได้ไม่เกินสิบห้าไร่ ตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสามสิบปี

 

ข้อ ๒๑  การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพพื้นที่ป่าและการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสม และมีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกินสองปี

 

ข้อ ๒๒  การอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตป่า ให้พิจารณาอนุญาตในจำนวนพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่กิจการที่ขออนุญาต

 

ข้อ ๒๓  ในการพิจารณาอนุญาต ให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสภาพป่าตามข้อ ๑๑ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้อธิบดีกรมป่าไม้แจ้งเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว

การพิจารณาอนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติให้อธิบดีกรมป่าไม้รายงานความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสภาพป่าตามข้อ ๑๑ และให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาอนุญาตภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบ

การอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพิจารณาอนุญาตจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับทราบผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

หมวด ๔

การทำไม้และการนำเคลื่อนที่

                  

ข้อ ๒๔  การทำประโยชน์ในเขตป่าที่ได้รับอนุญาต หากมีกรณีที่จำเป็นต้องทำไม้และนำเคลื่อนที่ออกจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือต่อหน่วยตรวจสภาพป่าเพื่อแจ้งให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ดำเนินการทำไม้และนำเคลื่อนที่ออกตามระเบียบที่กรมป่าไม้กำหนด

 

หมวด ๕

การต่ออายุใบอนุญาต

                  

 

ข้อ ๒๕  ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ

ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอออกใบรับรองคำขอต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตไว้เป็นหลักฐาน

เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำประโยชน์ตามที่ได้รับอนุญาตต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต

 

ข้อ ๒๖  ในการต่ออายุใบอนุญาต หากผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๗ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต และไม่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาต ให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาอนุญาต โดยนำบทบัญญัติตามข้อ ๘ และข้อ ๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตตามข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ นอกจากหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสภาพป่า มาใช้บังคับด้วย

 

ข้อ ๒๗  การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ให้กระทำโดยวิธีสลักหลังใบอนุญาตเดิมหรือจะออกใบอนุญาตให้ใหม่ก็ได้ โดยระบุคำว่า “ต่ออายุ” กำกับไว้ด้วย

 

หมวด ๖

การโอนใบอนุญาต

                  

 

ข้อ ๒๘  ผู้ใดประสงค์จะขอรับโอนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ

 

ข้อ ๒๙  ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตตาย ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของบุคคลดังกล่าวสามารถทำประโยชน์ในเขตป่าต่อไปได้ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ได้รับใบอนุญาตตาย และหากทายาทหรือผู้จัดการมรดกของบุคคลดังกล่าวประสงค์จะทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้รับอนุญาตไว้ต่อไปแทนผู้ได้รับใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามข้อ ๒๘ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ได้รับใบอนุญาตตายหากไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นสุดลง

 

ข้อ ๓๐  ผู้ขอรับโอนใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๗

 

ข้อ ๓๑  เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอได้รับคำขอรับโอนใบอนุญาต ให้ส่งสำเนาคำขอพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้หน่วยตรวจสภาพป่าภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง

ให้หน่วยตรวจสภาพป่าพิจารณาและจัดทำความเห็นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารตามวรรคหนึ่ง เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ความเห็นประกอบก่อนเสนออธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาต่อไป

 

ข้อ ๓๒  ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๘ วรรคหนึ่ง และข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาโอนใบอนุญาตโดยอนุโลม

 

ข้อ ๓๓  ให้ผู้รับโอนใบอนุญาตรับโอนไปซึ่งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ได้รับใบอนุญาตเดิม

 

หมวด ๗

ใบแทนใบอนุญาต

                  

 

ข้อ ๓๔  ในกรณีที่ใบอนุญาตชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีกรมป่าไม้ โดยให้ส่งคืนใบอนุญาตฉบับเดิมที่ชำรุดหรือยื่นหลักฐานการแจ้งความกรณีสูญหายหรือถูกทำลาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเสนอให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาออกใบแทนใบอนุญาตต่อไป

การออกใบแทนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้แบบใบอนุญาตเดิม โดยเขียนหรือประทับตราคำว่า “ใบแทน” ด้วยหมึกสีแดงไว้ด้านบนของใบอนุญาต และให้ระบุวัน เดือน ปีที่ออกใบแทนใบอนุญาต พร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้ออกใบแทนใบอนุญาตกำกับไว้ด้วย

 

ข้อ ๓๕  ให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาออกใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอตามข้อ ๓๖

 

หมวด ๘

เบ็ดเตล็ด

                  

 

ข้อ ๓๖  การยื่นคำขออนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้ยื่น ณ หน่วยตรวจสภาพป่าหรือสถานที่ที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ข้อ ๓๗  คำขออนุญาต ใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ข้อ ๓๘  ค่าธรรมเนียมแบบพิมพ์คำขอค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาตให้เรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

 

ข้อ ๓๙  ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องชำระเงินอันเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าตามอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในวันที่มารับใบอนุญาต

 

บทเฉพาะกาล

                  

 

ข้อ ๔๐  บรรดาใบอนุญาตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าด้วยการแผ้วถางป่า ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นจะสิ้นอายุ

 

ข้อ ๔๑  บรรดาคำขออนุญาตที่ได้ยื่นไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าด้วยการแผ้วถางป่า ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าตามกฎกระทรวงนี้ และให้พิจารณาอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้และกรณีที่คำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือให้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

พลเอก ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้บุคคลทำประโยชน์ในเขตป่าตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าด้วยการแผ้วถางป่า ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและขาดความชัดเจน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๔ กันยายน ๒๕๕๘

วิศนี - วิชพงษ์/ผู้ตรวจ

๘ กันยายน ๒๕๕๘

 

 

 

 

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๘๓ ก/หน้า ๑๖/๑ กันยายน ๒๕๕๘