กฎกระทรวงกำหนดส้วมที่ต้องด้วยสุขลักษณะในร้านจำหน่ายอาหารและหรือเครื่องดื่มและสถานีบริการการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซสำหรับยานพาหนะ พ.ศ. ๒๕๕๕

กฎกระทรวง

กำหนดส้วมที่ต้องด้วยสุขลักษณะในร้านจำหน่ายอาหารและหรือเครื่องดื่ม

และสถานีบริการการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซสำหรับยานพาหนะ

พ.ศ. ๒๕๕๕

                  

                  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑[๑]  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒  ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕

ข้อ ๓  ในกฎกระทรวงนี้

                  “ส้วมที่ต้องด้วยสุขลักษณะ” หมายความว่า ส้วมที่สร้างด้วยวัสดุทนทาน ทำความสะอาดง่ายมีระบบการขับเคลื่อนอุจจาระและปัสสาวะลงสู่ที่เก็บกักที่ป้องกันสัตว์และแมลงซึ่งเป็นพาหะนำโรคได้และไม่มีกลิ่นเหม็นหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้ใช้รวมทั้งผู้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และต้องไม่ซึม หรือปนเปื้อนแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินทุกขั้นตอน

ข้อ ๔  ห้องส้วมที่ต้องด้วยสุขลักษณะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

                  (๑) มีขนาดพื้นที่ภายในของห้องไม่น้อยกว่า ๐.๙๐ ตารางเมตรต่อหนึ่งที่นั่ง และต้องมีความกว้างภายในไม่น้อยกว่า ๐.๙๐ เมตร แต่ถ้าห้องอาบน้ำและห้องส้วมรวมอยู่ในห้องเดียวกัน ต้องมีขนาดพื้นที่ภายในของห้องไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ ตารางเมตร

(๒) มีระยะดิ่งระหว่างพื้นถึงส่วนต่ำสุดของคานหรือเพดานหรือสิ่งอื่นที่ติดกับคานหรือเพดานต้องไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ เมตร ทั้งที่มีและไม่มีระบบปรับอากาศ

(๓) มีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศในจำนวนที่สามารถระบายอากาศได้อย่างเพียงพอ

(๔) มีแสงสว่างไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ลักซ์

(๕) มีความลาดเอียงของพื้นห้องไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐๐ ส่วน และมีจุดระบายน้ำทิ้งอยู่ในตำแหน่งต่ำสุดของพื้นห้อง

(๖) มีน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ ถ้ามีภาชนะเก็บกักน้ำ ต้องดูแลให้สะอาดและมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

(๗) มีสายฉีดน้ำชำระหรือภาชนะตักน้ำ หรือจัดให้มีกระดาษชำระอย่างเพียงพอ

(๘) มีสบู่หรือน้ำยาล้างมือ

(๙) ที่ปัสสาวะต้องมีระบบการดักกลิ่น

(๑๐) มีอ่างล้างมือที่สะอาดและต้องมีระบบการดักกลิ่น พร้อมก๊อกน้ำ

                   (๑๑) มีโถส้วมแบบนั่งยองหรือแบบนั่งราบ ถ้าเป็นโถส้วมแบบนั่งยอง ให้ที่วางเท้าของโถส้วมสูงกว่าพื้นห้องได้ไม่เกิน ๕ เซนติเมตร ในกรณีมีความจำเป็น ให้ที่วางเท้าของโถส้วมสูงกว่าพื้นห้องเกิน ๕ เซนติเมตร และให้มีพื้นที่ด้านข้างของโถส้วมอย่างเพียงพอ

(๑๒) ในกรณีที่มีท่อระบายอุจจาระ ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร และมีความลาดเอียงไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ส่วน

(๑๓) มีท่อระบายก๊าซขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๒.๕๐ เซนติเมตรที่ฐานส้วม หรือที่ท่อส่งสิ่งปฏิกูลซึ่งอยู่ใกล้กับโถส้วม โดยให้เดินท่อออกไปด้านนอกผนัง

                   (๑๔) มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่ หรือมีท่อรับสิ่งปฏิกูลส่งไปยังระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวม  ทั้งนี้ ให้ประเภทและขนาดของระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่และระยะเวลาในการสูบตะกอนจากระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่ และค่ามาตรฐานของน้ำทิ้งและกากตะกอนที่ออกจากระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่หรือระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวม เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

                  ข้อ ๕  เจ้าของร้านจำหน่ายอาหารและหรือเครื่องดื่มซึ่งจัดสถานที่ไว้สำหรับบริการลูกค้าได้ในขณะเดียวกันไม่ต่ำกว่ายี่สิบคน และเจ้าของสถานีบริการการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซสำหรับยานพาหนะ ต้องจัดให้มีส้วมที่ต้องด้วยสุขลักษณะซึ่งเปิดให้ประชาชนผู้ใช้บริการใช้ได้ตลอดระยะเวลาที่ให้บริการ และต้องจัดให้มีเครื่องสุขภัณฑ์ตามจำนวนอันสมควร แต่ต้องไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

(๑) สำหรับร้านจำหน่ายอาหารและหรือเครื่องดื่ม

จำนวนที่นั่งสำหรับลูกค้า

(ที่นั่ง)

ห้องส้วมชาย

ห้องส้วมหญิง

ส้วม

(ที่)

อ่างล้างมือ

(ที่)

ที่ปัสสาวะ

(ที่)

ส้วม

(ที่)

อ่างล้างมือ

(ที่)

๒๐ - ๓๐

๓๑ - ๕๐

๕๑ - ๗๐

๗๑ - ๑๐๐

ให้มีส้วม ๑ ที่ อ่างล้างมือ ๑ ที่ และที่ปัสสาวะ ๑ ที่

ใช้ร่วมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง

มากกว่า ๑๐๐

ให้เพิ่มส้วม อ่างล้างมือและที่ปัสสาวะ อย่างละ ๑ ที่ ทั้งห้องส้วมชายและห้องส้วมหญิง ต่อจำนวนที่นั่ง สำหรับจำนวนที่นั่งสำหรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ๓๐ ที่นั่ง

(๒) สำหรับสถานีบริการการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซสำหรับยานพาหนะ

จำนวนตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง

หรือก๊าซ

(ตู้จ่าย)

ห้องส้วมชาย

ห้องส้วมหญิง

ส้วม

(ที่)

อ่างล้างมือ

(ที่)

ที่ปัสสาวะ

(ที่)

ส้วม

(ที่)

อ่างล้างมือ

(ที่)

๑ - ๔

๕ - ๘

ตั้งแต่ ๙ ตู้จ่ายขึ้นไป

                     ข้อ ๖  ให้ร้านจำหน่ายอาหารและหรือเครื่องดื่มซึ่งจัดสถานที่ไว้สำหรับบริการลูกค้าได้ในขณะเดียวกันไม่ต่ำกว่ายี่สิบคน และสถานีบริการการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซสำหรับยานพาหนะซึ่งประกอบกิจการอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

วิทยา  บุรณศิริ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานสมควรปรับปรุงการกำหนดสุขลักษณะของส้วมในร้ายจำหน่ายอาหารและหรือเครื่องดื่ม ซึ่งจัดสถานที่ไว้สำหรับบริการลูกค้าได้ในขณะเดียวกันไม่ต่ำกว่ายี่สิบคนและในสถานีบริการการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าชสำหรับยานพาหนะให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕

ชาญ/ผู้ตรวจ

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๖๒ ก/หน้า ๑๕/๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕