กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกคำสั่ง การยกเลิกคำสั่ง การทำและการยกเลิกเครื่องหมายห้ามใช้ยานพาหนะ และการใช้ยานพาหนะในขณะที่มีเครื่องหมายห้ามใช้ยานพาหนะ พ.ศ. ๒๕๕๐

กฎกระทรวง

กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข

ในการออกคำสั่ง การยกเลิกคำสั่ง การทำและการยกเลิกเครื่องหมาย

ห้ามใช้ยานพาหนะ และการใช้ยานพาหนะในขณะที่มีเครื่องหมายห้ามใช้ยานพาหนะ

พ.ศ. ๒๕๕๐[๑]

                       

 

                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ และมาตรา ๖๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิก

(๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

(๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

                   ข้อ ๒  ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๕๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวและทำเครื่องหมาย“ห้ามใช้ชั่วคราว” ไว้ที่ยานพาหนะนั้น

                ข้อ ๓  เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่ถูกสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวต้องแก้ไขปรับปรุงยานพาหนะมิให้ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามข้อ ๒ และนำยานพาหนะดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราว

                 ข้อ ๔  ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่ถูกสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวได้แก้ไขปรับปรุงและนำยานพาหนะดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในกำหนดเวลาตามข้อ ๓ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่ายานพาหนะนั้นยังคงก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามข้อ ๒ เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะอาจนำยานพาหนะดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงและนำมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้อีกจนกว่ากำหนดเวลาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะจะนำยานพาหนะไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดทำการตรวจสอบก็ได้

                  ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า ยานพาหนะที่นำไปแก้ไขปรับปรุงตามวรรคหนึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามข้อ ๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวและเอาเครื่องหมาย “ห้ามใช้ชั่วคราว” ออกจากยานพาหนะนั้น

                  ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งดำเนินการตามวรรคสามมิใช่ผู้ออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวแจ้งการยกเลิกคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ยกเลิกคำสั่งและเอาเครื่องหมาย “ห้ามใช้ชั่วคราว” ออก

                   ข้อ ๕  เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามข้อ ๓ หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะได้นำยานพาหนะที่ถูกสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวไปใช้โดยไม่นำมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบที่ใดและปรากฏว่ายานพาหนะนั้นได้แก้ไขปรับปรุงจนไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามข้อ ๒ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวและเอาเครื่องหมาย “ห้ามใช้ชั่วคราว” ออกจากยานพาหนะนั้น แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการลบล้างความผิดในการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวที่ได้กระทำไปแล้ว และให้นำความในข้อ ๔ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                 ข้อ ๖  เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามข้อ ๓ ยานพาหนะใดที่ถูกสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวตามข้อ ๒ ยังไม่สามารถแก้ไขสภาพที่ก่อให้เกิดมลพิษดังกล่าวได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะเด็ดขาดและทำเครื่องหมาย “ห้ามใช้เด็ดขาด” ไว้ที่ยานพาหนะนั้นแทนเครื่องหมาย “ห้ามใช้ชั่วคราว” ทั้งนี้ ไม่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบพบที่ใด

                  ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่ถูกสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราวไม่นำยานพาหนะนั้นมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจนพ้นกำหนดเวลาตามข้อ ๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษมอบหมายเพื่อแจ้งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือนายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย แล้วแต่กรณี ทราบต่อไป

                  ข้อ ๗  ห้ามเจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะใช้ยานพาหนะที่ถูกสั่งห้ามใช้ยานพาหนะเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำยานพาหนะนั้นไปแก้ไขปรับปรุงและให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ

                  ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เคลื่อนย้ายยานพาหนะออกจากสถานที่ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและทำเครื่องหมาย “ห้ามใช้เด็ดขาด” ภายในหกชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายยานพาหนะเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำยานพาหนะนั้นไปแก้ไขปรับปรุง หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้เคลื่อนย้ายยานพาหนะโดยวิธีการลากจูงหรือ โดยวิธีการอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด

                  ข้อ ๘  ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่ถูกสั่งห้ามใช้ยานพาหนะเด็ดขาดได้แก้ไขปรับปรุงยานพาหนะแล้ว มีความประสงค์จะใช้ยานพาหนะนั้นต่อไป ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดเพื่อขอให้ทำการตรวจสอบก็ได้

                  การตรวจสอบยานพาหนะตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะนำยานพาหนะนั้นไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบยังสถานที่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

                  ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า ยานพาหนะที่นำไปแก้ไขปรับปรุงตามวรรคหนึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามข้อ ๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะเด็ดขาดและเอาเครื่องหมาย “ห้ามใช้เด็ดขาด” ออกจากยานพาหนะนั้น ทั้งนี้ ให้นำความในข้อ ๔ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                  ข้อ ๙  แบบเครื่องหมาย “ห้ามใช้ชั่วคราว” แบบเครื่องหมาย “ห้ามใช้เด็ดขาด” และการติดเครื่องหมายดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องเป็นเครื่องหมายที่เห็นปรากฏเด่นชัดเป็นตัวอักษรที่มีข้อความว่า “ห้ามใช้ชั่วคราว” หรือ “ห้ามใช้เด็ดขาด”

                   ข้อ ๑๐  คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๒ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ การอนุญาตตามข้อ ๗ และคำร้องขอให้ทำการตรวจสอบและคำสั่งตามข้อ ๘ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   ข้อ ๑๑  ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราว หรือคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะเด็ดขาดและทำเครื่องหมาย “ห้ามใช้ชั่วคราว” หรือ “ห้ามใช้เด็ดขาด” หรือยกเลิกคำสั่งและเครื่องหมายดังกล่าวแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษมอบหมายเพื่อแจ้งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือนายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย แล้วแต่กรณีทราบต่อไป

                      ข้อ ๑๒  คำร้อง คำสั่ง หรือเครื่องหมาย “ห้ามใช้ชั่วคราว” หรือเครื่องหมาย “ห้ามใช้เด็ดขาด” ที่ได้ยื่น สั่งการ หรือดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าเป็นคำร้องที่ยื่นตามกฎกระทรวงนี้หรือใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๘(พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และการป้องกันปัญหาจราจรติดขัดในระหว่างที่ทำการตรวจสอบยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษ ประกอบกับได้มีการปฏิรูประบบราชการโดยกำหนดให้มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น และให้ภารกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โอนไปเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สมควรแก้ไขให้เหมาะสมเสียในคราวเดียวกัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

โสรศ/ผู้จัดทำ

๒๐ เมษายน ๒๕๕๐

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๒๐ ก/หน้า ๕/๑๒ เมษายน ๒๕๕๐