กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๔
กฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยความเสียหาย
แก่ผู้เสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัย
พ.ศ. ๒๕๕๔[๑]
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
“การบำบัดภยันตราย” หมายความว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อเป็นผลให้สาธารณภัยที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดได้รับการแก้ไขให้บรรเทาลงโดยฉับพลัน
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า ผู้ซึ่งทรัพย์สินของตนได้รับความเสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัยของเจ้าหน้าที่และมิใช่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการบำบัดภยันตราย จากสาธารณภัยนั้น
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ข้อ ๒ เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการบำบัดภยันตรายของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ รายงานต่อผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความเสียหาย เพื่อให้ผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายและจำนวนค่าชดเชยความเสียหาย
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน โดยให้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดหรือในเขตกรุงเทพมหานครที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี และให้ข้าราชการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหรือข้าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ
การรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ ๓ ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายต่อเนื่องกันหลายจังหวัดหรือต่อเนื่องกันระหว่างจังหวัดกับกรุงเทพมหานคร ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ ๒ ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการ
ข้อ ๔ ในกรณีที่ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการกลาง ผู้อำนวยการจังหวัด หรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการหรือมีส่วนร่วมดำเนินการบำบัดภยันตรายตามข้อ ๒ ให้นายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแลบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ ๒ โดยให้มีองค์ประกอบคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร และมิให้นำข้อ ๒ วรรคสอง มาใช้บังคับ
ข้อ ๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) สำรวจและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เสียหายและทรัพย์สินที่เสียหายไว้เป็นหลักฐานโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รับฟังพยานบุคคล และคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่และผู้เสียหาย หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบเอกสาร วัตถุ หรือสถานที่
(๒) พิจารณาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ และได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือไม่
(๓) กำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย
ข้อ ๖ ในการประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่แทน
มติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมอาจทำความเห็นแย้งมติที่ประชุมรวมไว้ในความเห็นของคณะกรรมการได้
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือนับแต่วันที่ได้รับเรื่องที่ส่งมาตามข้อ ๑๑ วรรคสอง หากไม่อาจดำเนินการได้ทันภายในกำหนดจะต้องรายงานปัญหาและอุปสรรคให้ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการทราบ เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวัน
ข้อ ๘ ในการพิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย ให้คณะกรรมการคำนึงถึงสภาพของทรัพย์สินนั้น ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด หรือเทียบราคาที่อ้างอิงจากราคากลางที่ทางราชการกำหนดตามที่เป็นอยู่ในวันที่เกิดความเสียหายนั้น การเสื่อมราคาจากการใช้ตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่กระทรวงการคลังกำหนดในการเรียกให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ความเสียหายให้แก่ทางราชการ การที่ทางราชการได้บรรเทาหรือแก้ไขความเสียหายไปแล้ว และปัจจัยอื่นที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม
ข้อ ๙ เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายเสร็จแล้ว ให้เสนอความเห็นไปยังผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้าผู้แต่งตั้งคณะกรรมการขอให้ทบทวนหรือสอบสวนเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนด
ความเห็นของคณะกรรมการต้องมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แจ้งชัด และต้องมีพยานหลักฐานที่สนับสนุนประกอบด้วย
ความเห็นของคณะกรรมการไม่ผูกมัดผู้แต่งตั้งคณะกรรมการที่จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๑๐ เมื่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการได้มีความเห็นให้ชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศบัญชีรายชื่อผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับการชดเชยความเสียหาย ณ ศาลากลางจังหวัดหรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีความเห็นของผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ
ข้อ ๑๑ ผู้เสียหายผู้ใดที่มิได้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อตามข้อ ๑๐ ผู้เสียหายนั้นอาจยื่นคำร้องขอชดเชยความเสียหายต่อผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้เสียหายตามข้อ ๑๐
ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครออกใบรับคำขอแก่ผู้เสียหายตามวรรคหนึ่งไว้เป็นหลักฐาน แล้วส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการตามข้อ ๒ โดยไม่ชักช้า และให้นำข้อ ๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำร้องขอและใบรับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ ๑๒ ให้ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการแจ้งผลการวินิจฉัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายพร้อมกับแจ้งสิทธิการอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ผู้เสียหายทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
ผู้เสียหายมีสิทธิอุทธรณ์ผลการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งโดยยื่นต่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยดังกล่าว
ข้อ ๑๓ การจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่หรือกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย โดยให้ใช้เงินจากงบประมาณรายได้ หรือเงินนอกงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่หรือกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี หากไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ ให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ในการขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ยกเว้นเมืองพัทยา ให้แจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
(๒) กรณีกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณโดยตรง
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔
ฐานิสร์ เทียนทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ใดซึ่งมิใช่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัยนั้น ให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ปณตภร/ผู้ตรวจ
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๘๐ ก/หน้า ๑/๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔