กฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558

กฎกระทรวง

กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๕๕๘

                  

                  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑[๑]  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

         ข้อ ๒  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นลำดับที่ ๒๐๒ ของสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๕๔๖

ลำดับที่

สัตว์ป่าคุ้มครอง

“๒๐๒

ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana)

ข้อ ๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นลำดับที่ ๙๒ ของสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๕๔๖

ลำดับที่

สัตว์ป่าคุ้มครอง

“๙๒

เต่านามลายู (Malayemys macrocephala)

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘

พลเอก ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกาจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาค้าหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการค้าโดยผิดกฎหมาย ประกอบกับการจำแนกชนิดทางอนุกรมวิธานพบว่าเต่านาจำแนกออกได้เป็นสองชนิด คือ เต่านาอินโดจีน (Malayemys subtrijuga) และเต่านามลายู (Malayemys macrocephala) แต่เนื่องจากเต่านามลายูเป็นสัตว์ชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์และยังมิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES)) จึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๑๙ มกราคม ๒๕๕๘

นุสรา/ผู้ตรวจ

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๒ ก/หน้า ๑๐/๑๓ มกราคม ๒๕๕๘