กฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) (Update ณ วันที่ 29/01/2517) (ฉบับที่ 11)

กฎกระทรวงเศรษฐการ

ว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา ๔

แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยามแก้ไขเพิ่มเติม

พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๑]

                  

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการนำร่อง ไว้ดังต่อไปนี้

 

หมวด ๑

การออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง

                  

ข้อ ๑[๒]  ผู้นำร่องทั่วไปภายในน่านน้ำไทย แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น และมีหน้าที่ทำการนำร่องเรือต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้นำร่องชั้นอาวุโส ทำการนำร่องเรือได้ทุกขนาด

(๒) ผู้นำร่องชั้น ๑ ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๕๖๕ ฟุต (๑๗๒.๒๖ เมตร)

(๓) ผู้นำร่องชั้น ๒ แบ่งออกเป็น

ชั้น ๒ ก.  ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๕๐๐ ฟุต (๑๕๒.๔๔ เมตร)

ชั้น ๒ ข.  ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๔๕๐ ฟุต (๑๓๗.๒๐ เมตร)

ชั้น ๒ ค.  ทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๔๐๐ ฟุต (๑๒๑.๙๒ เมตร)

ในกรณีจำเป็นที่ไม่มีผู้นำร่องที่เหมาะสมกับหน้าที่ตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ที่จะทำการนำร่องเรือลำหนึ่งลำใดเป็นพิเศษ เจ้าท่าอาจสั่งให้ผู้นำร่องที่อยู่ในชั้นต่ำกว่าเกณฑ์ข้างต้นทำการนำร่องเรือลำนั้นได้

(๔)   ผู้นำร่องพิเศษ ทำการนำร่องเรือเฉพาะลำที่ระบุชื่อไว้ในใบอนุญาต

 

ข้อ ๒[๓]  ผู้ที่จะสมัครเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ค. ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

(๑) เป็นนายทหารเรือยศเรือเอกขึ้นไปซึ่งเป็นหรือเคยเป็นผู้บังคับการเรือมาแล้ว

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินสี่สิบห้าปีบริบูรณ์

เว้นแต่ถ้าไม่มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตาม (๑) ก็ให้รับสมัครจากผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นนายเรือของเรือเดินต่างประเทศ

 

ข้อ ๓[๔]  การยื่นใบสมัครขอรับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ค. และผู้นำร่องพิเศษ ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครตามแบบที่กรมเจ้าท่ากำหนด พร้อมด้วยเอกสารดังต่อไปนี้ต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า คือ

(๑) ใบรับรองแพทย์ที่ออกให้โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้น ๑ สาขาเวชกรรม ซึ่งแสดงว่าผู้สมัครเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์และมีสายตาดี

(๒) ประกาศนียบัตรหรือใบรับรองแสดงความรู้หรือประกาศนียบัตรนายเรือของเรือเดินต่างประเทศ และ

(๓) ใบรับรองความประพฤติซึ่งแสดงว่าผู้สมัครเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยและไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

 

ข้อ ๔[๕]  เมื่อได้รับใบสมัครตามข้อ ๓ ไว้แล้ว เฉพาะกรณีผู้สมัครขอรับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ค. ให้กรมเจ้าท่าจัดให้เข้ารับการฝึกการนำร่องต่อไป

 

ข้อ ๕[๖]  ให้หัวหน้าผู้นำร่องซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมายเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกและควบคุมดูแลการฝึกการนำร่อง

การฝึกการนำร่องให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่อธิบดีกรมเจ้าท่าเห็นสมควรตามคำแนะนำของหัวหน้าผู้นำร่อง จะกำหนดระยะเวลาการฝึกให้น้อยหรือมากกว่าระยะเวลาดังกล่าวก็ได้

เมื่อผู้ฝึกการนำร่องได้ทำการฝึกการนำร่องครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสองแล้ว ให้หัวหน้าผู้นำร่องรายงานผลการฝึก ความประพฤติ พร้อมทั้งเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ฝึกการนำร่องเป็นรายบุคคล เสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณารับเข้าสอบไล่เป็นผู้นำร่องต่อไป

 

ข้อ ๖[๗]  ในการสอบไล่เป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ค. ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าตั้งคณะกรรมการสอบไล่ขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนสามคนประกอบด้วย

(๑) หัวหน้าผู้นำร่อง

(๒) ผู้อำนวยการกองตรวจท่า

(๓) นายเรือของเรือต่างประเทศ

 

ข้อ ๗[๘]  หลักสูตรการสอบไล่เป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ค. ให้เป็นไปดังนี้

(๑) ความรู้เกี่ยวกับวิชาการเรือทั่วไป ซึ่งได้แก่การบังคับเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๔๐๐ ฟุต (๑๒๑.๙๒ เมตร) ได้ทุกสภาพและเหตุการณ์ ความสามารถในการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวดังกล่าวข้างต้นเข้าและออกระหว่างเขตที่กำหนดไว้ รวมทั้งการจอดเรือและการนำเรือออกจากที่จอด

(๒) ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางในการเดินเรือและร่องน้ำ ซึ่งได้แก่ระยะทาง ตำบลทองที่ทุ่นไฟ ที่ตื้น ที่หัวโค้ง เขตท่าและที่จอดเรือ รวมทั้งเขื่อนเทียบเรือและสะพานเทียบเรือ

(๓) ความรู้เกี่ยวกับกระแสน้ำขึ้นและกระแสน้ำลงตลอดฤดูต่าง ๆ และระดับความลึกตามช่วงตอนของแม่น้ำและร่องน้ำ

(๔) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้นำร่อง

(๕) วิธีใช้และการใช้ประมวลสัญญาณสากล

 

ข้อ ๘[๙]  วิธีการสอบไล่เป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ค. ให้เป็นไปดังนี้

(๑) ภาคปฏิบัติการ ให้ทำการสอบเกี่ยวกับการบังคับเรือในเขตที่คณะกรรมการสอบไล่กำหนด โดยมอบให้ผู้นำร่องประจำเรือลำหนึ่งลำใดเป็นผู้ทำการสอบและเป็นผู้ให้คะแนนภาคปฏิบัติการ

(๒) ภาควิชาการ ให้ทำการสอบปากเปล่าต่อหัวหน้าคณะกรรมการสอบไล่

(๓) ผู้สมัครสอบที่จะถือว่าเป็นผู้สอบไล่ได้ต้องสอบไล่ภาคปฏิบัติการได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ และภาควิชาการได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐

 

ข้อ ๙[๑๐]  เมื่อทำการสอบไล่เสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการสอบไล่รายงานผลการสอบไล่เสนอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาประกาศผลผู้สมัครสอบที่สอบไล่ได้ และออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องให้ต่อไปสำหรับผู้สมัครสอบที่สอบไล่ตก คณะกรรมการสอบไล่จะได้ให้ทำการฝึกการนำร่องต่อไปอีกสองเดือน แล้วจึงให้สอบไล่เพื่อแก้ตัวเป็นครั้งที่สอง ถ้าผู้สมัครสอบสอบไล่ตก จะไม่มีสิทธิทำการฝึกนำร่อง และสอบไล่เป็นผู้นำร่องอีก แต่ถ้าผู้สมัครสอบไล่ได้ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป

 

ข้อ ๑๐[๑๑]  ผู้นำร่องชั้น ๒ ค. ซึ่งได้ทำการนำร่องมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ถ้าหัวหน้าผู้นำร่องพิจารณาเห็นว่าเป็นผู้มีความประพฤติ ความรู้ และความสามารถสมควรที่จะเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ข. ได้ ให้เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ข. ต่อไป

ผู้นำร่องชั้น ๒ ข. ซึ่งได้ทำการนำร่องมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องครั้งแรก ถ้าหัวหน้าผู้นำร่องพิจารณาเห็นว่าเป็นผู้มีความประพฤติ ความรู้ และความสามารถ สมควรที่จะเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ก. ได้ ก็ให้เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น ๒ ก. ต่อไป

ผู้นำร่องชั้น ๒ ก. ซึ่งได้ทำการนำร่องมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องครั้งแรก และได้เคยทำการนำร่องเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำตั้งแต่ ๕๐๐ ฟุต (๑๕๒.๔๔ เมตร) ขึ้นไป ภายในเขตท่าที่กำหนดให้ทำการนำร่องไม่น้อยกว่า ๖๐ เที่ยว (ขาเข้าไม่น้อยกว่า ๓๐ เที่ยว ขาออกไม่น้อยกว่า ๓๐ เที่ยว) ทั้งนี้ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้นำร่องชั้น ๑ หรือผู้นำร่องชั้นอาวุโส ถ้าผู้นำร่องชั้น ๒ ก. ดังกล่าวมีความประสงค์ที่จะขอเป็นผู้นำร่องชั้น ๑ ให้รายงานเสนอตามลำดับชั้นถึงหัวหน้าผู้นำร่อง เมื่อได้รับรายงานแล้วให้หัวหน้าผู้นำร่องขอความเห็นจากผู้นำร่องชั้น ๑ และผู้นำร่องอาวุโสทั้งหมดในเขตท่าหรือน่านน้ำเดียวกัน ถ้าความเห็นส่วนมากเห็นว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมให้หัวหน้าผู้นำร่องเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาชี้ขาด และออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น ๑ ให้

 

ข้อ ๑๑[๑๒]  ผู้นำร่องชั้น ๑ ซึ่งได้ทำการนำร่องมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสิบปี โดยได้รับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้น ๑ มาแล้วห้าปี ถ้าประสงค์จะขอเป็นผู้นำร่องชั้นอาวุโส ให้รายงานเสนอตามลำดับชั้นถึงหัวหน้าผู้นำร่อง เมื่อได้รับรายงานแล้วให้หัวหน้าผู้นำร่องเสนอความเห็นเกี่ยวกับประวัติการทำงานของผู้นำร่องชั้น ๑  ดังกล่าวต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาชี้ขาด และออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องชั้นอาวุโสให้

 

ข้อ ๑๒[๑๓]  สำหรับผู้นำร่องซึ่งได้รับอนุญาตเป็นผู้นำร่องก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้หัวหน้าผู้นำร่องเสนอรายชื่อผู้นำร่องดังกล่าวต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าเพื่อออกใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องตามกฎกระทรวงนี้ให้ใหม่

 

ข้อ ๑๓[๑๔]  ผู้สมัครสอบเป็นผู้นำร่องพิเศษนั้น จะต้องเคยเป็นนายเรือหรือผู้บังคับการเรือของเรือเดินทะเลที่ชักธงไทยและเดินติดต่อกับท่าเรือที่บังคับการนำร่องนั้นมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี และต้องเป็นนายเรือที่ชักธงไทยลำที่จะสมัครสอบไล่นั้น โดยเคยนำเรือเข้าออกหรือใช้ผู้นำร่องมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบเที่ยว การสอบไล่ให้อนุโลมสอบตามชั้นและตามขนาดเรือที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ถ้าบุคคลใดสอบไล่ได้รับในอนุญาตให้เป็นผู้นำร่องพิเศษเฉพาะเรือลำใดลำหนึ่งแล้ว ภายหลังจะขอย้ายไปเป็นผู้นำร่องพิเศษของเรือลำอื่นที่ชักธงไทยโดยได้รับตำแหน่งเป็นนายเรือลำที่ขอย้ายใหม่ ทั้งได้เคยนำเรือลำนั้นเข้าออกหรือใช้ผู้นำร่องในน่านน้ำนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เที่ยว ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าพิจารณาเปลี่ยนใบอนุญาตให้ใหม่ตามขนาดเรือโดยไม่ต้องสอบไล่ แต่บุคคลนั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราในข้อ ๑๖ ในกรณีเช่นนี้ อธิบดีกรมเจ้าท่าจะให้แพทย์ตรวจร่างกาย สายตา เสียก่อนก็ได้ หรือจะเปลี่ยนใบอนุญาตให้โดยไม่ต้องให้แพทย์ตรวจก็ได้

ถ้าบุคคลใดเคยมีใบอนุญาตนำร่องและเคยเป็นนายเรือลำใดลำหนึ่งมาแล้ว ขอใบอนุญาตนำร่องพิเศษเฉพาะเรือลำที่เป็นนายเรือนั้น จะให้ทำการสอบไล่ตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง หรืออธิบดีกรมเจ้าท่าจะพิจารณาเปลี่ยนใบอนุญาตนำร่องนั้นเป็นใบอนุญาตนำร่องพิเศษให้โดยไม่ต้องสอบไล่ก็ได้ แต่บุคคลนั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราในข้อ ๑๖ ในกรณีเช่นนี้ อธิบดีกรมเจ้าจะให้แพทย์ตรวจร่างกาย สายตา เสียก่อนก็ได้ หรือจะออกหรือเปลี่ยนใบอนุญาตให้โดยไม่ต้องให้แพทย์ตรวจก็ได้

 

ข้อ ๑๔[๑๕]  ใบอนุญาตผู้นำร่อง ให้ทำตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้

 

ข้อ ๑๕  ผู้ใดมีประกาศนียบัตรและใบอนุญาตสำหรับทำการนำร่องภายในน่านน้ำสยามมาแล้วก่อนประกาศใช้กฎนี้ และสมัครจะทำการนำร่องต่อไป ให้รายงานเสนอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ผ่านทางหัวหน้ากองตรวจท่า ถ้าอธิบดีกรมเจ้าท่าพิจารณาเห็นเป็นการสมควรให้แพทย์ตรวจร่างกาย สายตา เสียก่อนก็ได้ หรือจะออกใบอนุญาตให้ใหม่ตามคุณวุฒิของผู้นั้น โดยไม่ต้องให้แพทย์ตรวจก็ได้ และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามข้อ ๑๖ แห่งกฎนี้

 

หมวด ๒

ค่าธรรมเนียมสอบไล่ผู้นำร่อง

                  

 

ข้อ ๑๖[๑๖]  ผู้สมัครเข้าสอบไล่เป็นผู้นำร่อง ต้องเสียค่าธรรมเนียมพร้อมกับใบยื่นสมัครตามอัตราดังต่อไปนี้

สำหรับนำร่องชั้น ๒                                                           ๕๐  บาท

สำหรับนำร่องชั้น ๑ หรือนำร่องพิเศษ                                       ๖๐  บาท

เมื่อได้ค่าธรรมเนียมแล้ว ถึงแม้ตนจะหมดสิทธิหรือไม่ได้ทำการสอบไล่ด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม จะไม่คืนค่าธรรมเนียมให้

 

ข้อ ๑๗  เมื่อผู้สมัครได้ทราบกำหนดวันสอบไล่แน่นอนแล้ว ต้องนำเงินคนละ ๒๐ บาทมามอบให้หัวหน้ากองตรวจท่า ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในการนั้นไว้เสียก่อนวันสอบไล่ เพื่อจ่ายเป็นรางวัลแก่กรรมการ ซึ่งอยู่นอกราชการ

 

ข้อ ๑๘  ผู้สมัครสอบเป็นผู้นำร่องของรัฐบาลหรือเทศบาล ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสอบไล่และเงินรางวัลสำหรับกรรมการตามข้อ ๑๖ และ ๑๗ แต่ให้เจ้าท่าเป็นผู้จ่าย

 

หมวด ๓

มรรยาทและหน้าที่ของผู้นำร่อง

                  

 

ข้อ ๑๙  ผู้นำร่องทุกคนจะต้องอยู่ในบังคับบัญชาและเชื่อฟังคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของหัวหน้าผู้นำร่องและผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งจะต้องประพฤติตนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอ

 

ข้อ ๒๐  อธิบดีกรมเจ้าท่ามีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้นำร่องลาพักหรือลาป่วยได้ แต่ถ้าอธิบดีกรมเจ้าท่าไม่อยู่ ก็ให้หัวหน้ากองตรวจท่าอนุญาตให้ลาได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ป่วยในเมื่อมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑

(๒) กิจธุระส่วนตัวอันจำเป็นในเมื่อหัวหน้าผู้นำร่องรับรองว่าจะไม่เสียการงานในรอบเวรของผู้นั้น

 

ข้อ ๒๑  ผู้นำร่องคนใดได้รับอนุญาตให้ลาป่วยแล้ว จะกลับมาทำงานอีกไม่ได้จนกว่าจะมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑ มาแสดงว่าร่างกายสมบูรณ์พอที่จะปฏิบัติการงานได้ต่อไป

 

ข้อ ๒๒  ผู้นำร่องที่กลับจากการลาจะต้องรายงานแสดงตนต่อหัวหน้าผู้นำร่องและเจ้าท่า

 

ข้อ ๒๓  ผู้นำร่องคนใดได้หยุดงานในหน้าที่ติดต่อกันมีกำหนดตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป จะกลับเข้าทำงานนำร่องอีกทันทีได้หรือไม่นั้น แล้วแต่พฤติการณ์เกี่ยวกับการนำร่องซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่าจะเป็นผู้สั่งโดยพิจารณาตามคำแนะนำของหัวหน้าผู้นำร่อง

 

ข้อ ๒๔  ผู้นำร่องทุกคนจะออกไปพ้นเขตท่าที่บังคับการนำร่องในหน้าที่ของตนตามลำพังไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากหัวหน้าผู้นำร่อง และจะต้องรายงานวันที่ออกไปจากเขตท่านั้นให้เจ้าท่าทราบไว้ด้วย

 

ข้อ ๒๕  ห้ามมิให้ผู้นำร่องประพฤติตนดังต่อไปนี้

(๑) นอนหลับในเวลานำร่อง

(๒) เมาสุราในเวลานำร่อง

(๓) ปฏิเสธที่จะนำเรือตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุชี้แจงอันสมควร

(๔) ขัดคำสั่งหรือขาดคารวะต่อผู้บังคับบัญชา

(๕) รับสินน้ำใจโดยตรงหรือโดยปริยาย

(๖) จงใจรายงานเท็จในเรื่องพฤติการณ์เกี่ยวกับการนำร่อง เช่น เรือติดตื้นเรือโดนกัน ฯลฯ

(๗) กระทำหรือสมรู้ในการฉ้อโกงใด ๆ หรือละเมิดกฎหมายอันเกี่ยวกับการท่า การศุลกากร หรือสรรพสามิต

(๘) จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับหน้าที่และมรรยาทของผู้นำร่อง

 

ข้อ ๒๖  ในกรณีที่อธิบดีกรมเจ้าท่าสั่งเพิกถอน ยึด หรือลดชั้นใบอนุญาตนำร่องใดตามบทพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗(ฉบับที่ ๒) ผู้นำร่องนั้นจะต้องรีบส่งใบอนุญาตคืนให้หัวหน้ากองตรวจท่า

 

ข้อ ๒๗  ผู้นำร่องทุกคนจะต้องใฝ่ใจให้ทราบระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวด้วยหน้าที่ของตนอยู่เสมอ

 

ข้อ ๒๘  ผู้นำร่องทุกคนต้องร่วมมือกันและเข้าประจำเวรให้สม่ำเสมอกันเสมอในกิจการนำร่อง

ผู้นำร่องจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการนำร่องตามบัญชีเวรซึ่งหัวหน้าผู้นำร่องได้กำหนดไว้ และจะสับเปลี่ยนเวรกันตามลำพังไม่ได้ เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากหัวหน้าผู้นำร่องและบัญชีรายนามตามรอบเวรนั้นได้แก้แล้ว

ถ้ามีเหตุที่จะต้องใช้ผู้นำร่องไปทำการนำร่องเรือใดเป็นพิเศษ ให้หัวหน้าผู้นำร่องพิจารณาคัดเลือกผู้นำร่องไปทำการนอกเวรของผู้นั้นได้ โดยความเห็นชอบของกรมเจ้าท่าหรือเจ้าท่า

 

ข้อ ๒๙  ผู้นำร่องทุกคนจะต้องรีบเดินทางไปคอยรับเรือตามระเบียบ และรอบเวรของตน หรือตามคำสั่งซึ่งหัวหน้าผู้นำร่องจัดไว้ ถ้าป่วยไม่สามารถจะไปทำการตามหน้าที่ได้ต้องรายงานด่วนเสนอให้หัวหน้าผู้นำร่องทราบทันที

 

ข้อ ๓๐  เรือผู้นำร่องทุกลำเมื่อเวลาคอยทำการนำร่องต้องชักธงอักษร H (เอช)ตามประมวลสัญญาณสากลขึ้นไว้เป็นสำคัญ

 

ข้อ ๓๑  ผู้นำร่องทุกคน เมื่อขึ้นบนเรือลำใดเพื่อทำการนำร่อง ต้องขอทราบจากนายเรือก่อน ว่ามีวัตถุระเบิดหรือสิ่งที่น่ากลัวอันตรายอย่างใด ๆ ในเรือลำนั้นหรือไม่ ถ้าหากมีก็ให้แจ้งแก่นายเรือว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร

 

ข้อ ๓๒  เมื่อจะทำการนำร่องเรือกลไฟไปลำใด ผู้นำร่องต้องขอทราบจากนายเรือว่าเครื่องจักรของเรือลำนั้นใช้ได้เป็นปกติและถอยหลังได้คล่องแคล่วรวดเร็วดี ตัวสมออยู่พ้นน้ำพร้อมเพรียงที่จะใช้ได้ทันทีและเครื่องถือท้ายเรียบร้อยไม่มีสิ่งใดกีดขวางและใช้ได้คล่องดีเป็นปกติหรือไม่ ถ้าเรือลำนั้นมีกำลังไอน้ำไม่พอ หรือเครื่องประกอบเรือดังกล่าวแล้วไม่เรียบร้อยพอที่จะป้องกันมิให้เกิดภยันอันตรายได้แล้ว จะงดการนำเรือลำนั้นไว้จนกว่านายเรือจะจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อนก็ได้ และถ้านายเรือขืนจะให้นำเรือในขณะนั้นจงได้ ก็ให้รายงานต่อหัวหน้ากองตรวจท่า หรือเจ้าท่า ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยและสั่งการโดยเด็ดขาด

 

ข้อ ๓๓  ผู้นำร่องทุกคน เมื่อขึ้นบนเรือลำใดเพื่อทำการนำร่อง ต้องขอทราบจากนายเรือลำนั้นเสียก่อนว่า มีไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค หรือโรคติดต่อ อันตรายอย่างอื่นในเรือ หรือได้มีโรคที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเช่นนั้นในเรือเมื่อเวลามาตามทางนั้นหรือไม่ ถ้าหากมีหรือได้มีโรคติดต่ออันตราย หรือโรคที่น่าสงสัยเช่นนั้น ให้ผู้นำร่องแจ้งให้นายเรือแสดงสัญญาณสำหรับบอกว่ามีโรคติดต่ออันตรายขึ้นไว้ แล้วนำเรือไปทอดสมออยู่ที่สถานีป้องกันโรคติดต่ออันตราย และอยู่ที่นั่นจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะอนุญาตปล่อยให้ไปได้

ถ้าเรือได้ผ่านสถานีป้องกันโรคติดต่ออันตรายเข้ามาแล้ว และเกิดโรคติดต่ออันตรายขึ้นภายหลัง ต้องแจ้งให้นายเรือแสดงสัญญาณสำหรับบอกว่ามีโรคติดต่ออันตรายขึ้นไว้แล้วนำเรือไปทอดสมอและคอยอยู่ ณ ด่านป้องกันโรคติดต่ออันตรายจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะอนุญาตปล่อยให้ไปได้

ในระหว่างเวลาที่เจ้าพนักงานแพทย์ยังไม่ได้ขึ้นไปตรวจบนเรือ ห้ามมิให้มีการไปมาติดต่อกันในระหว่างเรือที่ต้องกักด่านเช่นนั้นกับฝั่งเป็นอันขาด

 

ข้อ ๓๔  เมื่อเรือใดต้องถูกกักด่านป้องกันโรคติดต่ออันตราย ถ้าเจ้าพนักงานแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องกักผู้นำร่องเรือลำนั้นไว้ในเรือ เพราะเหตุที่ได้ขึ้นไปอยู่บนเรือที่มีโรคติดต่ออันตรายเช่นนั้น ผู้นำร่องนั้นต้องปฏิบัติตามความเห็นของแพทย์ จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ไปได้

 

ข้อ ๓๕  เมื่อเวลาออกกระทำการนำร่อง ผู้นำร่องต้องมีใบอนุญาตไว้กับตัวพร้อมทั้งกฎข้อบังคับสำหรับการนำร่องและพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม ฯ ถ้านายเรือหรือผู้ควบคุมเรือลำใดที่ตนขึ้นไปบนเรือแล้วนั้นขอดูต้องให้ดูตามประสงค์

 

ข้อ ๓๖  ผู้นำร่องทุกคนเมื่อกำลังทำการนำร่อง ในเวลากลางวันจะต้องชักธงประจำตัวขึ้นไว้ ณ ที่ซึ่งแลเห็นได้โดยชัดเจน ธงนี้ใช้อักษร H (เอช) ตามประมวลสัญญาณสากลแต่มีหมายเลขประจำตัวเป็นเลขอารบิคสีดำขนาดสูงเพียง ๓/๔ ของธง ขนาดกว้างพองามอยู่กลางธงนั้น

 

ข้อ ๓๗  ผู้นำร่องที่กระทำการนำร่องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม ฯ พระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกัน ฯ และพระราชบัญญัติอื่น ๆ ตลอดจนกฎข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกัน

 

ข้อ ๓๘  เมื่อผู้นำร่องเห็นหรือทราบว่าเรือลำใดจะทำการละเมิดพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม ฯ ว่าด้วยการทิ้งอับเฉาลงในแม่น้ำเขตท่า หรือ ในทำเลทอดสมอจอดเรือ ผู้นำร่องนั้นต้องตักเตือนนายเรืออย่าให้ทำเช่นนั้น ถ้านายเรือไม่เชื่อฟังให้รายงานด่วนต่อเจ้าท่าในโอกาสแรก

 

ข้อ ๓๙  ผู้นำร่องจะต้องคอยระวังมิให้เรือใดทำการหยั่งน้ำภายในเขตท่าเรือหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่อง เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากผู้นำร่อง

ถ้าเป็นน่านน้ำนอกเขตที่บังคับการนำร่อง ให้ผู้นำร่องพยายามให้ได้มีการหยั่งน้ำ ณ ที่และเวลาตามต้องการ

 

ข้อ ๔๐  ผู้นำร่องที่กำลังทำการนำร่องเรือใดอยู่ จะต้องไม่ยอมให้เรืออื่นที่ไม่มีผู้นำร่องอยู่บนเรือนั้นมาจูงเรือของตน เว้นไว้แต่เรือนั้นจะมาพ่วงข้างเรือหรือเป็นเรือซึ่งฝ่ายการนำร่องจัดไว้สำหรับจูงโดยเฉพาะ หรือนายเรือลำนั้นได้รับใบอนุญาตนำร่องพิเศษ จึงจะยอมให้ทำได้

 

ข้อ ๔๑  ผู้นำร่องของเรือจูง เมื่อกำลังทำการนำร่องเรือจูงลำใดอยู่จะต้องฟังบังคับบัญชาผู้นำร่องของเรือที่ถูกจูงนั้น ในเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม ฯ และพระราชบัญญัติอื่น ๆ ตลอดจนกฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับการนำเรือ

 

ข้อ ๔๒  ถ้าผู้นำร่องคนใดพบหรือมีเหตุสมควรจะสงสัยว่า ทุ่นที่ทอดเป็นเครื่องหมายทุ่นหนึ่งทุ่นใดเคลื่อนจากที่ ๆ เคยทอดอยู่ตามปกติ หรือหลุดจากที่นั้นลอยอยู่ หรือเป็นอันตรายลง หรือหายไปจากที่ก็ดี หรือสังเกตเห็นโคมไฟ เครื่องหมายสำหรับการเดินเรือแห่งใดผิดปกติ หรือบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อกลับมายังที่ทำการในคราวนั้น ผู้นำร่องคนนั้นต้องมีหนังสือแจ้งความนั้น ๆ ให้เจ้าท่าทราบภายในสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่กลับมาถึงแล้ว

 

ข้อ ๔๓  ถ้าผู้นำร่องคนใดสังเกตเห็นว่ามีสิ่งกีดขวางหรือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่องน้ำใด ๆ ก็ดี หรือสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏหรือน่าสงสัยว่าได้มีขึ้นแก่ที่หมายบนบกแห่งใด ๆ ซึ่งเป็นที่เคยสังเกตสำหรับการเดินเรือก็ดี ผู้นำร่องนั้นต้องรายงานเป็นหนังสือให้เจ้าท่าทราบโดยมิชักช้า

 

ข้อ ๔๔  ผู้นำร่องที่นำเรือเข้ามาในท่าเรือใด จะต้องนำเรือไปทอดสมอหรือเทียบท่าตามคำสั่งของเจ้าพนักงานกองตรวจท่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของท่า

 

ข้อ ๔๕  ผู้นำร่องจะนำเรือซึ่งจะออกไปพ้นเขตน่านน้ำสยามจากท่าหรือตำบลใดได้ ต่อเมื่อเรือนั้นได้มีใบปล่อยเรือแล้ว และจะเคลื่อนเรือภายในเขตท่าที่บังคับการนำร่องได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตรวจท่า หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของท่าหรือตามระเบียบการนำร่อง

 

ข้อ ๔๖  ผู้นำร่องที่นำเรือลำใดเข้าหรือออกไปส่ง ณ ที่ใด ๆ ก็ตาม ต้องอยู่ต่อไปในเรือจนกว่าเรือลำนั้นได้ทอดสมอหรือเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว หรือนำเรือไปพ้นเขตบังคับการนำร่องแล้ว จึงจะไปจากเรือลำนั้นได้ เว้นไว้แต่มีเหตุอันสมควรหรือได้ทำความตกลงกับนายเรือไว้โดยหลักฐานเป็นหนังสือ

 

ข้อ ๔๗  ผู้นำร่องทุกคนที่นำร่องเรือลำใด ต้องใช้ความระมัดระวังและพยายามให้มากที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดอันตราย หรือเสียหายขึ้นแก่เรือลำนั้น หรือเรือลำอื่นหรือแก่ทรัพย์สิ่งของอย่างใด ๆ และถ้ามีเหตุอันตรายเกิดในระหว่างที่ตนกำลังเป็นผู้นำร่องเรือลำใดอยู่ผู้นำร่องนั้นต้องรายงานเป็นหนังสือแจ้งเหตุไปยังเจ้าท่าตามข้อ ๔๘-๔๙ แห่งกฎนี้โดยอนุโลม

 

ข้อ ๔๘  เรือลำใดสมอขาด ถ้ามีผู้นำร่องไปกับเรือต้องรีบรายงานเหตุการณ์นั้นต่อเจ้าท่า ในรายงานนั้นจะต้องให้นายเรือลำนั้นลงนามร่วมมาด้วย แสดงรายการดังต่อไปนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การค้นหาสมอที่หายนั้น

(๑) ที่เกิดเหตุ

(๒) ทิศเล็งของที่หมายประจำที่ต่าง ๆ ซึ่งแลเห็นได้

(๓) ลักษณะของกระแสน้ำและความลึกของน้ำขณะเกิดเหตุ

(๔) น้ำหนักของสมอและรายการอื่น ๆ ที่ควรบอก

 

ข้อ ๔๙  เรือลำใดที่กำลังอยู่ในความควบคุมของผู้นำร่อง เกยที่ตื้นโดนเรือหรือทุ่นหรือประสพอันตรายอย่างใด ๆ ก็ดี ผู้นำร่องต้องรายงานด่วนเสนอต่อเจ้าท่า ดังรายการต่อไปนี้

(๑) ที่เกิดเหตุ

(๒) ทิศเล็งของที่หมายประจำที่ต่าง ๆ ซึ่งแลเห็นได้

(๓) อัตรากินน้ำลึกของเรือขณะนั้น

(๔) ลักษณะของกระแสน้ำและท้องทะเล

(๕) ทิศและกำลังของลม

(๖) กำลังเร็วที่แล่นขณะเกิดเหตุ

(๗) เวลาที่เกิดเหตุ

(๘) พฤติการณ์ซึ่งเกิดเหตุนั้น

(๙) ความเสียหายเท่าที่ตรวจได้ในเวลานั้น

(๑๐) เวลาที่เรือนั้นเกยที่ตื้นนานเท่าใด

(๑๑) เรือหลุดออกจากที่ตื้นได้ด้วยวิธีใด

(๑๒) ปริมาณของน้ำที่ถูกผลักเท่าที่ทราบได้จากการหยั่งน้ำระหว่างเวลาที่เรือเกยตื้นนั้น

(๑๓) รายการอื่น ๆ ที่ควรบอก

(๑๔) แสดงแผนที่สังเขป ถ้าสามารถจะทำได้

ผู้นำร่องจะต้องขอให้นายเรือลำนั้นลงนามร่วมในรายงาน หรือแยกทำรายงานต่างหาก เพื่อประกอบรายงานของตนก็ได้ กฎข้อนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้นำร่องเรือจูงในกรณีที่เรือถูกจูงไม่มีผู้นำร่องด้วย

 

ข้อ ๕๐  ถ้าผู้นำร่องคนใดไม่พอใจในมรรยาทของนายเรือลำใด ก็ให้ทำรายงานเสนอจนถึงหัวหน้ากองตรวจท่าหรือเจ้าท่า

 

ข้อ ๕๑  เมื่อเสร็จสิ้นการนำร่องเรือหรือเคลื่อนเรือครั้งหนึ่งครั้งใดแล้ว ผู้นำร่องต้องให้นายเรือตรอกข้อความและลงนาในใบสำคัญตามแบบ น.๑ ต่อท้ายกฎนี้ เพื่อรับรองว่าผู้นำร่องได้นำเรือไปโดยเรียบร้อย แล้วเสนอต่อหัวหน้าผู้นำร่องในโอกาสแรกที่ตนกลับถึงที่ทำการนำร่อง ถ้าปรากฏว่าใบรับรองนั้นไม่เป็นที่พอใจ ให้หัวหน้าผู้นำร่องเสนอตามลำดับชั้น เพื่อจัดการสอบสวนหรือสั่งการต่อไปตามที่เห็นสมควร

 

หมวด ๔

เขตท่าเรือหรือน่านน้ำซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง ขนาดและชนิดของเรือทียกเว้นไม่ต้องบังคับใช้ผู้นำร่อง การเพิ่มหรือลดหย่อนค่าจ้างนำร่อง

                       

 

ข้อ ๕๒  เขตท่าหรือน่านน้ำซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่องนั้น ให้กำหนดเขตไว้ดังต่อไปนี้

(๑) ตั้งแต่เขตน้ำลึกประมาณ ๘ เมตรนอกสันดอน ซึ่งปรากฏในแผนที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ใกล้กับเรือที่พักผู้นำร่อง ผ่านเขตท่าเรือกรุงเทพ ฯ ตลอดจนสุดเขตด้านเหนือของท่าเรือกรุงเทพ ฯ

(๒) เขตท่าเรือหรือน่านน้ำอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ใน (๑) นั้นตามแต่จะได้ออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมต่อไป

 

ข้อ ๕๓[๑๗]  เรือดังต่อไปนี้ ไม่ต้องใช้ผู้นำร่องภายในเขตที่กำหนดในข้อ ๕๒

(๑) เรือของรัฐบาลไทย

(๒) เรือของรัฐบาลต่างประเทศ

(๓) เรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำต่ำกว่า ๑๖๕ ฟุต (๕๐.๒๙ เมตร)

เรือตามวรรคหนึ่งนี้จะใช้ผู้นำร่องก็ได้ แต่ต้องเสียค่าจ้างนำร่องตามอัตราที่กำหนดไว้ในพิกัดค่าจ้างนำร่อง รัฐมนตรีจะลดหย่อนค่าจ้างนำร่องให้เฉพาะรายก็ได้

 

ข้อ ๕๔[๑๘]  เรือที่ชักธงไทยซึ่งมีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๔๐๐ ฟุต (๑๒๑.๙๒ เมตร) นั้น นายเรือจะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องพิเศษเพื่อทำการนำร่องภายในเขตที่กำหนดในข้อ ๕๒ (๑) ก็ได้

 

ข้อ ๕๔ ทวิ[๑๙]  เรือที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐ ซึ่งรัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐนั้นเป็นผู้ประกอบกิจการเดินเรือเอง ให้เสียค่าจ้างนำร่องสำหรับทุกกรณีเพียงกึ่งอัตราของพิกัดค่าจ้างนำร่องตามหมวด ๙

 

ข้อ ๕๕  ในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับให้ใช้ผู้นำร่อง ถ้าเรือใดฝ่าฝืนไม่ใช้ผู้นำร่องเรือลำนั้นต้องเสียค่าจ้างนำร่องเป็นเงินสองเท่าอัตราแห่งพิกัดที่กำหนดไว้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการที่ไม่ใช้ผู้นำร่องนั้น เกิดขึ้นเพราะข้อหนึ่งข้อใดในกรณีต่อไปนี้ จึงให้เสียค่าจ้างนำร่องตามพิกัด คือ

(๑) ได้รับคำสั่งจากผู้นำร่องให้แล่นตามเรือลำหนึ่งลำใด ซึ่งมีผู้นำร่องอยู่แล้ว

(๒) ไม่มีผู้นำร่อง

ในกรณีแรก เป็นหน้าที่ของผู้นำร่องต้องรายงานตามลำดับชั้นจนถึงหัวหน้ากองตรวจท่า หรือเจ้าท่า ส่วนกรณีหลังเป็นหน้าที่ของนายเรือต้องชี้แจงเหตุผลให้เจ้าท่าทราบโดยด่วนถ้าเจ้าท่าไม่พอใจในเหตุผลนั้น จะไม่ยอมผ่อนผันลดให้และคงเก็บสองเท่าก็ได้

 

ข้อ ๕๖  เรือใดซึ่งอยู่ในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับให้ใช้ผู้นำร่อง ถ้าต้องเคลื่อนเรือให้เดินหรือนำเรือเข้าออกจากท่าเรือในเขตใด เวลาใด ซึ่งกำหนดไว้ในหมวดพิกัดค่าจ้างนำร่องของเขตท่าหรือน่านน้ำใด ว่าเป็นการนอกเวลาทำงานตามปกติแล้ว จะต้องยอมเสียค่าจ้างนำร่องนอกเวลาเพิ่มขึ้นอีกกึ่งอัตราของพิกัดค่าจ้างนำร่องตามปกติ

ความในวรรคก่อน ให้ยกเว้นไม่ต้องใช้บังคับถึงเรือซึ่งใช้ผู้นำร่องพิเศษ

 

หมวด ๕

แบบบัญชีและรายงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการนำร่อง

                  

 

ข้อ ๕๗  เพื่อให้กิจการนำร่องภายในน่านน้ำสยาม ซึ่งอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลดำเนินไปโดยสมรรถภาพและแบบอย่างอันเดียวกัน ให้ใช้เอกสารในการนำร่องดังต่อไปนี้

(๑) บันทึกการงาน

(๒) บัญชีรายได้รายจ่าย

(๓) รายงาน

 

ข้อ ๕๘  บันทึกการงานซึ่งต้องมีไว้สำหรับที่ทำการนำร่องทุกแห่งนั้น ให้แยกทำเล่มสมุดไว้อย่างละ ๑ เล่ม ดังต่อไปนี้

(๑) สมุดรายนามผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง ให้แยกรายนามไว้ให้ชัดเจนในสมุดเดียวกัน โดยมีรายการ เลขที่ นาม (ถ้ามีบรรดาศักดิ์ให้ลงนามเดิมกำกับไว้ด้วย) วันเกิดวันที่ประจำการนำร่องแห่งนั้น หมายเหตุ และถ้ามีเพิ่มจำนวนหรือลดจำนวนลงเพราะเหตุใดเมื่อใด ต้องลงหมายเหตุตามความจริงไว้ให้ชัดเจน

(๒) สมุดนำร่องเรือประจำวัน ให้มีรายการแสดงวันเดือนปี ชื่อเรือ ธงชาติจำนวนตันริยิสเตอร์ เจ้าของหรือผู้แทน นามผู้นำร่อง หมายเหตุ

(๓) สมุดนำร่องเรือประจำเดือนและประจำปี ซึ่งรวบรวมรายการจากสมุดนำร่องเรือประจำวัน เพื่อทำเป็นสถิติเก็บรักษาไว้ บัญชีประจำเดือนนั้นให้แสดงรายการแยกตามสัญชาติดังต่อไปนี้

เลขที่ รายการ (ชื่อเรือ) จำนวนตันริยิสเตอร์ เจ้าของหรือผู้แทน หมายเหตุ แล้วรวมยอดประจำเดือนไว้ให้ชัดเจนตามแบบ น.๒ ต่อท้ายกฎนี้

เมื่อสิ้นปีหนึ่ง ๆ ให้รวบรวมทำสถิติประจำปีแสดงรายการ สัญชาติ จำนวนเรือจำนวนตันริยิสเตอร์ แล้วรวมยอดประจำปีต่อท้ายสถิติประจำเดือนที่สิ้นปีนั้นไว้ในสมุดเล่มเดียวกัน

 

ข้อ ๕๙  บัญชีรายได้รายจ่ายซึ่งต้องมีไว้สำหรับที่ทำการนำร่องทุกแห่งนั้น ให้แยกทำเป็นเล่มสมุดไว้อย่างละ ๑ เล่ม ดังต่อไปนี้

(๑) สมุดบัญชีรายได้ประจำวันการนำร่อง ให้แสดงรายการวันเดือนปี รายการ(ชื่อเรือ) จำนวนตันริยิสเตอร์ เจ้าของหรือผู้แทน ประเภทเงินรายได้ แบ่งออกเป็นรายได้ตามพิกัดรายได้เรือมีผู้นำร่องพิเศษ รายได้นอกเวลา แล้วรวมเงินและทำงบเดือนนั้นไว้ตามแบบ น.๓ ต่อท้ายกฎนี้

(๒) สมุดบัญชีรายจ่ายประจำวันการนำร่อง ให้แสดงรายการวันเดือนปี รายการ(จ่าย)ประเภทเงินรายจ่ายแบ่งออกเป็นเงินเดือนหรือเงินปันผล น้ำมันเชื้อเพลิง เบ็ดเตล็ด แล้วรวมเงินและทำงบเดือนไว้ตามแบบ น.๔ ต่อท้ายกฎนี้

(๓) สมุดรายได้รายจ่ายประจำปี ให้มีรายการแสดงยอดเงินรายได้ รายจ่ายเป็นเดือน ๆ ไปจนครบปี แล้วรวมยอดเงินงบปีหักแล้วคงเหลือเท่าใด จัดแบ่งไว้เป็นเงินสำรองและเงินปันผลอีกเท่าใด ทั้งนี้ต้องแสดงรายการให้เห็นโดยชัดเจน

 

ข้อ ๖๐  รายงานซึ่งต้องมีไว้สำหรับที่ทำการนำร่องทุกแห่ง ต้องเสนอถึงกรมเจ้าท่าเพื่อรวบรวมทำเป็นสถิตินั้น ให้ทำเป็นหนังสือนำส่งเอกสาร ดังต่อไปนี้

(๑) รายนามผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง ซึ่งคัดจากสมุดในข้อ ๕๘ (๑) บัญชีนี้ต้องส่งถึงกรมเจ้าท่าในวารแรกตั้งที่ทำการนำร่อง และส่งเพิ่มเติมเป็นครั้งคราวในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายนาม

(๒) สถิตินำร่องเรือประจำเดือน  ซึ่งคัดจากสมุดในข้อ ๕๘ (๓) ตามแบบ น.๒สถิตินี้ต้องส่งถึงกรมเจ้าท่าภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป ถ้าที่ทำการนำร่องแห่งใดไม่สามารถจะปฏิบัติได้ตามกำหนดนี้ ให้ชี้แจงขอทำความตกลงต่อกรมเจ้าท่าเป็นพิเศษ ถ้ากรมเจ้าท่ายินยอมตกลงเป็นอย่างอื่นก็อนุญาตให้ทำได้ และถ้าเป็นเดือนสิ้นปี ให้ส่งสถิติประจำปีตามความในวรรคท้ายแห่งข้อ ๕๘ (๓) มาพร้อมกับสถิตินำร่องเรือประจำเดือนนั้นด้วย

(๓) งบรายได้รายจ่ายประจำเดือน ซึ่งคัดจากสมุดรายได้รายจ่ายในข้อ ๕๙ มีรายการแสดงตามแบบ น.๕ ต่อท้ายกฎนี้ กำหนดการส่งถึงกรมเจ้าท่าให้ปฏิบัติตามความในข้อ ๖๐ (๒) โดยอนุโลม

(๔) งบรายได้รายจ่ายประจำปี ซึ่งคัดจากสมุดในข้อ ๕๙ (๓) กำหนดการส่งถึงกรมเจ้าท่าให้ปฏิบัติตามความในข้อ ๖๐ (๒) โดยอนุโลม

 

หมวด ๖

การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการลงทัณฑ์แก่ผู้นำร่อง

                  

 

ข้อ ๖๑  ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการลงทัณฑ์แก่ผู้นำร่องขึ้นคณะหนึ่งดั่งต่อไปนี้

(๑) นายทหารเรือประจำการ ๑

(๒) หัวหน้ากองตรวจท่า ๑

(๓) หัวหน้าผู้นำร่องหรือผู้นำร่องอาวุโส ๑

(๔) นายเรือของเรือต่างประเทศ ๑

องค์ประชุมสำหรับคณะกรรมการนี้กอปร์ด้วยกรรมการสามนาย

ข้าราชการประจำการในคณะกรรมการซึ่งกล่าวแล้วนั้น ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีอาวุโสให้ได้รับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ

ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้นำร่องใดบกพร่องในทางวิชาชีพ ให้คณะกรรมการนี้มีหน้าที่พิจารณาและเสนอความเห็นว่าผู้นำร่องนั้นควรได้รับทัณฑ์ตามมาตรา ๔ (๙) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) หรือไม่ และในสถานใด พร้อมด้วยสำนวนการพิจารณาต่ออธิบดี ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการโดยเด็ดขาด

 

ข้อ ๖๒  บุคคลใดนอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหรือเทศบาลจะยื่นคำร้องขอให้ตั้งกรรมการดังกล่าวแล้ว จักต้องนำเงิน ๑๐๐ บาทมามอบให้หัวหน้ากองตรวจท่ายึดไว้เป็นประกันพร้อมกับคำร้องนั้น

ในกรณีที่ผู้นำร่องซึ่งถูกกล่าวหาไม่ถูกลงทัณฑ์ ให้ริบเงินประกันนั้นเสียแต่ถ้าผู้นำร่องซึ่งถูกกล่าวหามีความผิดถูกลงทัณฑ์ ก็ให้คืนเงินประกันแก่ผู้กล่าวหา

 

หมวด ๗

เขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องโดยใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และข้อบังคับต่าง ๆ

                  

 

ข้อ ๖๓  ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้นไป บรรดาเรือกลไฟและเรือเดินทะเลที่เคลื่อนเดินหรือเข้าออกในเขตท่าหรือน่านน้ำตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕๒ (๑) นั้น ต้องใช้ผู้นำร่องของรัฐบาลโดยเฉพาะ เว้นไว้แต่จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องบังคับใช้ผู้นำร่องหรืออนุญาตให้ใช้ผู้นำร่องพิเศษตามบทบังคับในหมวด ๔ แห่งกฎนี้

 

ข้อ ๖๔  บรรดาเรือที่อยู่ในบังคับให้ใช้ผู้นำร่อง จะต้องพยายามเข้าไปให้ใกล้เรือพักผู้นำร่องภายในระยะ ๖๐๐ เมตร ในการนี้จะต้องรอเรือหรือหยุดเครื่อง หรือถ้าจำเป็นก็ต้องทอดสมอเพื่อให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานนำร่องขึ้นเรือของตนเท่าที่จะสามารถทำได้

 

ข้อ ๖๕  ภายในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องทุกแห่ง ห้ามมิให้เรือใด ๆใช้ดิ่งหยั่งน้ำหรือใช้เครื่องมือสำหรับหยั่งน้ำ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากผู้นำร่อง ซึ่งกำลังควบคุมเรือนั้น หรือได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยาม หรือเป็นเรือแห่งราชนาวีสยาม

 

ข้อ ๖๖  บรรดาสัญญาณทุกชนิดซึ่งมิได้บังคับไว้ในกฎนี้โดยเฉพาะแล้ว ถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ให้ผู้ควบคุมเรือใช้ตามประมวลสัญญาณสากล

 

ข้อ ๖๗  เรือทุกลำที่จะเคลื่อนเดินหรือเข้าออกระหว่างเขตท่าเกาะสีชังกับท่าเรือกรุงเทพ ฯ หรือเขตท่าใด ๆ ซึ่งบังคับการนำร่องจะต้องอนุญาตให้ผู้นำร่องโดยสารจากที่แห่งหนึ่งไปถึงที่แห่งหนึ่งโดยไม่คิดค่าโดยสาร และให้เรือที่ต้องใช้ผู้นำร่องให้ที่พักและอาหารตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนั้นตามควรแก่ฐานะของผู้นำร่องนั้นโดยไม่คิดค่า

 

ข้อ ๖๘  เรือลำใดซึ่งอยู่ในเกณฑ์บังคับให้ใช้ผู้นำร่องก็ดี หรือนายเรือได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำร่องพิเศษก็ดี จะต้องมีสมุดปูมเรือ แสดงรายการและเวลาเคลื่อนเรือโดยแท้จริงไว้ในสมุดปูมนั้น การนี้ผู้นำร่องพิเศษนั้นจะต้องปฏิบัติตามความในข้อ ๕๓ แห่งกฎนี้โดยจดรายการเคลื่อนเรือทุกครั้งภายในเขตที่บังคับการนำร่องลงในใบสำคัญตามแบบ น.๑ที่ฝ่ายการนำร่องมอบหมายให้แล้วลงนามกำกับไว้ และจัดการส่งใบสำคัญนั้นให้ถึงที่ทำการนำร่องก่อนที่เรือนั้นจะออกไปพ้นเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องนั้น

ในกรณีที่จะผ่อนผันและให้ความสะดวกแก่บรรดาเรือซึ่งใช้ผู้นำร่องพิเศษในเรื่องส่งใบสำคัญตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าเจ้าของหรือนายเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือจะขอทำความตกลงเป็นพิเศษ และถ้าฝ่ายการนำร่องตกลงยินยอมวางระเบียบเป็นหลักฐานไว้แล้วก็อนุญาตให้ทำได้

 

ข้อ ๖๙  เรือทุกลำซึ่งอยู่ในบังคับให้ใช้ผู้นำร่อง และกำลังเดินอยู่ภายในเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่องนั้น จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบของผู้นำร่อง เพื่อให้การนำร่องดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามบทบังคับแห่งกฎนี้

 

ข้อ ๗๐  บรรดาข้อความหรือบทบังคับแห่งกฎนี้ ถ้าเกิดเป็นปัญหาโต้แย้งหรือไม่ชัดเจนอย่างใด ให้เจ้าท่าแห่งน่านน้ำนั้นเป็นผู้พิจารณาตีความในปัญหานั้น ๆ ถ้าผู้ใดไม่พอใจต่อคำชี้แจงหรือข้อความที่เจ้าท่าสั่งในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมเจ้าท่าภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของอธิบดีกรมเจ้าท่านั้นเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่อธิบดียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งของเจ้าท่ามีผลบังคับได้

 

หมวด ๘

จำนวนผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง

                  

 

ข้อ ๗๑[๒๐]  ภายในเขตที่กำหนดในข้อ ๕๒ จะมีผู้นำร่องที่จะอนุญาตให้ทำการนำร่องได้ไม่เกิน ๕๐ คน และมีผู้ฝึกการนำร่องของรัฐบาลได้ไม่เกิน ๑๐ คน ทั้งนี้ไม่รวมผู้นำร่องพิเศษ

 

ข้อ ๗๒  ถ้าอธิบดีกรมเจ้าท่าเห็นว่าควรเพิ่มหรือลดจำนวนผู้นำร่องหรือผู้ฝึกนำร่อง แตกต่างไปจากจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ ๗๑ เป็นครั้งคราวด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ก็อนุญาตให้ทำได้ในเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีหรือสภาการท่าและรักษาฝั่งซึ่งจะแต่งตั้งขึ้น

 

หมวด ๙

ขนาดเรือและพิกัดค่าจ้างนำร่อง

                  

 

ข้อ ๗๓[๒๑]  จากสถานีนำร่องที่จอดเรือพักผู้นำร่องนอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาถึงด้านใต้ของเขตท่าเรือกรุงเทพ ฯ เขตที่ ๓ ต้องเสียค่าจ้างนำร่องรวมทั้งขาเข้าและขาออก แม้ว่าจะใช้ผู้นำร่องเพียงขาเดียว ตามขนาดของเรือและอัตรา ดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๑๖๕ ฟุต (๕๐.๒๙ เมตร) คิดค่าจ้างนำร่อง ๑,๖๐๐ บาท  ถ้าเกิน ๑๖๕ ฟุต  (๕๐.๒๙ เมตร)  ส่วนที่เกินฟุตละ ๑๐ บาท  เศษของ ๑ ฟุต ให้คิดเป็น ๑ ฟุต

(๒) เรือที่กินน้ำลึกเกิน ๑๐ ฟุต (๓.๐๕ เมตร) คิดค่าจ้างนำร่องเพิ่มจาก (๑) สำหรับส่วนที่เกินในอัตราร้อยละ  ๑๐ ของอัตราค่าจ้างนำร่องที่คิดได้จาก (๑) ต่อ ๑ ฟุต เศษของ ๑ ฟุต ให้คิดเป็น ๑ ฟุต

ส่วนกินน้ำลึกของเรือให้ถือเอาส่วนของเรือที่กินน้ำลึกมากที่สุดในขาเข้าขณะที่เรือเข้า จอดที่ทอดจอดเรือเรียบร้อยแล้ว และในขาออกขณะที่เรือเข้าจอดที่ทอดจอดเรือก่อนออกเดินทาง

(๓) เรือที่เข้าหรือออกเพียงขาเดียวให้เสียค่าจ้างนำร่องกึ่งอัตรา

 

ข้อ ๗๔[๒๒]  การเลื่อนที่จอดเรือภายในเขตที่กำหนดในข้อ ๕๒ (๑) ต้องเสียค่าจ้างนำ ร่องตามขนาดของเรือและอัตราดังต่อไปนี้

(๑) ภายในเขตหนึ่งเขตใดของเขตท่าเรือกรุงเทพ ฯ เรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน ๑๖๕ ฟุต (๕๐.๒๙ เมตร) คิดค่าจ้างนำร่อง ๕๐๐ บาท ถ้าเกิน ๑๖๕ ฟุต (๕๐.๒๙ เมตร) ส่วนที่เกินฟุตละ ๕ บาท เศษของ ๑ ฟุต ให้คิดเป็น ๑ ฟุต

(๒) ถ้าเลื่อนข้ามเขต ต้องเสียค่าจ้างนำร่องเพิ่มอีกเขตละ ๓๐๐ บาท

(๓) ถ้าเลื่อนออกนอกเขตท่าเรือกรุงเทพ ฯ แต่ยังไม่ออกไปพ้นร่องน้ำสันดอน

ปากน้ำเจ้าพระยา ต้องเสียค่าจ้างนำร่องเพิ่มอีกไมล์ละ ๓๐๐ บาท เศษของ ๑ ไมล์ ให้คิดเป็น ๑ ไมล์

(๔) ถ้าเลื่อนเรือจากที่หนึ่งที่ใดในร่องน้ำสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ต้องเสียค่าจ้างนำร่องภายในระยะทาง ๑ ไมล์แรกตามอัตราที่กำหนดใน (๑) และไมล์ต่อไปอีกไมล์ละ ๓๐๐ บาท เศษของ ๑ ไมล์ ให้คิดเป็น ๑ ไมล์ ถ้าเข้าสู่เขตท่าเรือกรุงเทพ ฯ ต้องเสียค่าจ้างนำร่องเพิ่มอีกเขตละ ๓๐๐ บาท ตามที่กำหนดใน (๒)

(๕) ถ้าผ่านสะพานข้ามแม่น้ำต้องเสียค่าจ้างนำร่องเพิ่มอีกครั้งละ ๕๐๐ บาท

 

ข้อ ๗๕[๒๓]  การนำเรือเข้าและออกเขตท่าหรือน่านน้ำอื่น ซึ่งมิใช่เขตที่กำหนดในข้อ ๕๒ (๑) ถ้าเรือใดใช้ผู้นำร่องทำการนำร่องต้องเสียค่าจ้างนำร่องกึ่งหนึ่งของพิกัดค่าจ้างนำร่องตามที่กำหนดในข้อ ๗๓ สำหรับระยะทางขาเข้าหรือขาออกที่ไม่เกิน ๑ ไมล์ สำหรับระยะทางที่เกิน ๑ ไมล์ ต้องเสียค่าจ้างนำร่องเพิ่มขึ้นอีกไมล์ละ ๓๐๐ บาท เศษของ ๑ ไมล์ ให้คิดเป็น ๑ ไมล์

 

ข้อ ๗๖[๒๔]  (ยกเลิก)

 

ข้อ ๗๗[๒๕]  การเลื่อนที่จอดเรือในเขตท่าหรือน่านน้ำอื่นซึ่งมิใช่เขตที่กำหนดในข้อ ๕๒ (๑) ถ้าเรือใดใช้ผู้นำร่องทำการเลื่อนเรือ ต้องเสียค่าจ้างนำร่องภายในระยะทาง ๑ ไมล์แรกตามอัตราที่กำหนดในข้อ ๗๔ (๑) และไมล์ต่อไปไมล์ละ ๓๐๐ บาท เศษของ ๑ ไมล์ ให้คิดเป็น ๑ ไมล์

 

ข้อ ๗๘[๒๖]  เรือใดใช้ผู้นำร่องทำการนำร่องหรือเลื่อนที่จอดเรือตามวันและเวลาดังนี้

(๑) วันหยุดราชการ ไม่ว่าเวลาใด

(๒) วันปกติ เฉพาะนอกเวลาราชการ

ต้องเสียค่าจ้างนำร่องล่วงเวลาเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่งของจำนวนค่าจ้างนำร่องที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

ทั้งนี้ให้ถือขณะเมื่อสมอพ้นน้ำ หรือเชือกทุกเส้นหลุดจากฝั่งหรือที่ผูกเรือเป็นเกณฑ์

 

ข้อ ๗๙[๒๗]  พิกัดค่าจ้างนำร่องตามข้อ ๗๓ ถึงข้อ ๗๘ นั้น ใช้สำหรับเรือที่สามารถจะเคลื่อนเดินโดยใช้เครื่องจักรของเรือนั้นได้เอง แต่ถ้าเรือนั้นเป็นเรือที่จะต้องใช้เรืออื่นจูงหน้าหรือจูงข้างหรือดันให้เรือนั้นเคลื่อนเดินอันเป็นความประสงค์ของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือแล้ว ต้องเสียค่าจ้างนำร่องตามขนาดความยาวตลอดลำของเรือนั้น และของเรืออื่นที่ใช้เป็นเรือจูงหรือเรือดัน โดยคิดรวมความยาวของเรือนั้นเข้ากับความยาวของเรือทุกลำที่ใช้ในการจูงหรือดัน ส่วนกินน้ำลึกของเรือที่ใช้ในการคิดค่าจ้างนำร่องให้ถือเอาส่วนของเรือที่กินน้ำลึกที่มากที่สุดของบรรดาเรือดังกล่าว

เรือที่จะใช้จูงหรือดันนั้น จะต้องมีกำลังขับเคลื่อนที่เพียงพอและมีคุณสมบัติสมบูรณ์ตามที่กำหนดในข้อ ๓๒ ในการนี้ ให้นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือตกลงกับผู้นำร่อง และทำหนังสือไว้เป็นหลักฐานทุกรายไป

 

ข้อ ๘๐[๒๘]. ถ้าผู้นำร่องต้องเสียเวลาในเรือ ต้องคิดค่าเสียเวลาให้แก่ผู้นำร่องเป็นเงิน ๓๐๐ บาท ต่อหนึ่งวันหรือเศษของวัน เว้นแต่เป็นเพราะเหตุต้องคอยคราวน้ำ อากาศวิปริตหรือคนประจำเรือหนีซึ่งพ้นความสามารถของนายเรือตามปกติ ทั้งนี้เป็นเวลาไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง

 

หมวด ๑๐

วิธีการเก็บและแบ่งเงินผลประโยชน์

ที่ได้มาเนื่องในการนำร่อง[๒๙]

                  

 

ข้อ ๘๑  ผู้มีหน้าที่เก็บเงินค่าจ้างนำร่องของรัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่ตำแหน่งประจำแผนกขึ้นไป ซึ่งทางราชการมอบหมายเป็นหนังสือให้เป็นผู้เก็บเงินประจำหรือชั่วคราว

 

ข้อ ๘๒  การเก็บเงินค่าจ้างนำร่องสำหรับเรือลำหนึ่งลำใดนั้น ให้แยกใบสำคัญออกเป็นประเภท คือ ค่าจ้างนำร่องตามพิกัดประเภทหนึ่ง และค่าจ้างนำร่องนอกเวลาตามข้อ ๗๘อีกประเภทหนึ่ง แล้วรวมยอดเงินตามประเภทลงในแบบ น.๑ มอบให้ผู้เก็บเงินคอยรับเงินจากบุคคลผู้รับผิดในการชำระเงินค่าจ้างนำร่องตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)

ทั้งนี้ต้องชำระเงินค่าจ้างนำร่องให้เสร็จก่อนที่เรือลำนั้นจะออกไปพ้นเขตท่าหรือน่านน้ำที่บังคับการนำร่อง

 

ข้อ ๘๓  ผู้มีหน้าที่เก็บเงินจะต้องออกใบรับเงินของทางราชการให้ไว้แก่บุคคลที่ชำระเงินค่าจ้างนำร่องนั้นเป็นหลักฐานใบรับเงินนั้นโดยปกติต้องมีลายมือชื่อหัวหน้าผู้นำร่องหรือผู้ซึ่งได้รับมอบให้เป็นผู้แทน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้เก็บเงินนั้นไว้ด้วย

 

ข้อ ๘๔  เมื่อผู้มีหน้าที่เก็บเงินได้รับเงินค่าจ้างนำร่องไม่ว่าประเภทใด ให้รีบนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

 

ข้อ ๘๕[๓๐]  เงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาที่เก็บเพิ่มขึ้นอีกกึ่งอัตราปกติตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๗๘ ให้เจ้าหน้าที่กองนำร่องนำส่งแผนกผลประโยชน์เป็นจำนวนหนึ่งในสี่ของเงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาทั้งหมดที่ได้รับไว้แต่ละวันทุกวัน ส่วนจำนวนเงินที่เหลืออีกสามในสี่ให้เก็บไว้แบ่งเฉลี่ยให้แก่ผู้นำร่องเดือนละครั้งตามหลักเกณฑ์ดั่งต่อไปนี้

(ก) ผู้นำร่องที่มาปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งเดือน ให้ได้รับเงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาเท่ากับสามในสี่ของเงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาทั้งหมดที่เก็บได้ในเดือนนั้นหารด้วยจำนวนผู้นำร่องทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ และบวกด้วยจำนวนเงินทั้งหมดที่ตัดออกจากเงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาของผู้นำร่องที่ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในเดือนนั้นรวมกัน และหารด้วยจำนวนผู้นำร่องที่มาปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งเดือน

นอกเวลาจากอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติดั่งนี้

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่  ๕ วัน ให้ตัดร้อยละ ๔๐

ของอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่  ๖ วัน ให้ตัดร้อยละ ๕๐

ของอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่  ๗ วัน ให้ตัดร้อยละ ๖๐

ของอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่  ๘ วัน ให้ตัดร้อยละ ๗๐

ของอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่  ๙ วัน ให้ตัดร้อยละ ๘๐

ของอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ๑๐ วัน ให้ตัดร้อยละ ๙๐

ของอัตราแบ่งเฉลี่ยตามปกติ

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่า ๑๐ วัน ให้ตัดเงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาทั้งหมด

 

ข้อ ๘๖  เงินค่าจ้างนำร่องนอกเวลาที่ทางราชการได้นำฝากคลังไว้สองหมื่นบาทเพื่อเป็นทุนสำรองสำหรับจ่ายชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ อันอาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีเนื่องการนำร่องนั้น ทุกคราวที่จะมีการจ่ายให้ขออนุมัติพร้อมด้วยชี้แจงเหตุที่ต้องจ่ายไปยังกระทรวงการคลังก่อนเมื่อได้ใช้เงินสำรองนี้ไปเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายในปีต่อไปเท่าจำนวนที่ได้จ่ายไปนั้น แล้วนำฝากคลังไว้ให้ครบสองหมื่นบาทตามเดิม

 

 

กฎให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

พระยาศรยุทธเสนี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ

[เอกสารแนบท้าย]

 

๑[๓๑] แบบใบอนุญาตนำร่อง

๒ แบบใบสำคัญ (ด้านหน้า) ซึ่งนายเรือจะต้องลงนามรับรองให้แก่ผู้นำร่อง (ใช้สำหรับท่าเรือกรุงเทพฯ)

๓ แบบ น.๒

 

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

กฎกระทรวงเศรษฐการ ว่าด้วยการนำร่อง (ฉบับที่ ๒) ออกตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๓๒]

 

กฎกระทรวงคมนาคม ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) (ฉบับที่ ๔)[๓๓]

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๓๔]

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๓๕]

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๔๙๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) ว่าด้วยการนำร่อง[๓๖]

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๓๗]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการออกประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ แก้ไขเกี่ยวกับเงินค่านำร่องนอกเวลา โดยให้กรมเจ้าท่าหักเงินค่านำร่องนอกเวลาที่เก็บได้ไว้ ๗๕ % จ่ายเป็นรางวัลแก่ผู้นร่อง ส่วนเงินที่เหลืออีก ๒๕ % ให้นำส่งเข้าเป็นรายได้ให้ตรงกับวิธีปฏิบัติอันเกี่ยวกับการแบ่งเงินนำร่องนอกเวลาที่ปฏิบัติอยู่เวลานี้

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๓๘]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ ด้วยค่าจ้างนำร่องตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่จัดเก็บในขณะนี้เป็นอัตราที่ต่ำมาก ไม่คุ้มรายจ่ายที่รัฐต้องใช้ในการนำร่อง จึงจำต้องเพิ่มค่าจ้างนำร่องให้สูงขึ้น และแม้ได้เพิ่มตามอัตราใหม่แล้ว ก็ยังน้อยกว่าอัตราค่าจ้างนำร่องที่ประเทศใกล้เคียงจัดเก็บอยู่ และเพิ่มการกำหนดจำนวนผู้นำร่องให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๓๙]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันมีความจำเป็นที่กรมเจ้าท่าต้องส่งเจ้าพนักงานนำร่องไปทำการนำร่องเรือนอกเขตการเดินเรือที่บังคับให้ต้องมีผู้นำร่อง และเรียกเก็บค่าจ้างนำร่องในเขตดังกล่าว และผ่อนผันเกี่ยวกับการสอบไล่ผู้ซึ่งจะขอใบอนุญาตเป็นผู้นำร่องพิเศษ  จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๔๐]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าจ้างนำร่องไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๔๑]

 

หมายเหตุ :-  เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยกฎกระทรวงเศรษฐการ ว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง กำหนดชั้นความรู้ผู้นำร่อง วิธีการที่จะสอบความรู้และออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้

 

นฤดล/ผู้จัดทำ

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒/-/หน้า ๑๓๙๘/๒๗ ตุลาคม ๒๔๗๘
  • [๒] ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๓] ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๔] ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๕] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๖] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๗] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๘] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๙] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๐] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๑] ข้อ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๒] ข้อ ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๓] ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๔] ข้อ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๕] ข้อ ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๖] ข้อ ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๗] ข้อ ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๘] ข้อ ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๑๙] ข้อ ๕๔ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๐] ข้อ ๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๑] ข้อ ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๒] ข้อ ๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๓] ข้อ ๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๔] ข้อ ๗๖ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๕] ข้อ ๗๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๖] ข้อ ๗๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๗] ข้อ ๗๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๘] ข้อ ๘๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๒๙] หมวด ๑๐ วิธีการเก็บและแบ่งเงินผลประโยชน์ที่ได้มาเนื่องในการนำร่อง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงคมนาคม ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) (ฉบับที่ ๔)
  • [๓๐] ข้อ ๘๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๓๑] แบบใบอนุญาตนำร่อง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)
  • [๓๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓/-/หน้า ๓๙๓/๔ ตุลาคม ๒๔๗๙
  • [๓๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๑/หน้า ๑๕๓/๑ มกราคม ๒๔๘๕
  • [๓๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๕/หน้า ๓๔๑/๑ เมษายน ๒๔๙๐
  • [๓๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓๒/หน้า ๔๙๙/๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๐
  • [๓๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๖/ตอนที่ ๖๖/หน้า ๘๖๖/๖ ธันวาคม ๒๔๙๒
  • [๓๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๔๙/หน้า ๑๐๗๑/๓ สิงหาคม ๒๔๙๗
  • [๓๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๐/ตอนที่ ๙๒/หน้า ๕๖๕/๑๗ กันยายน ๒๕๐๖
  • [๓๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๕/ตอนที่ ๘/หน้า ๑๔/๒๓ มกราคม ๒๕๑๑
  • [๔๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑๐/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
  • [๔๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๗๖/๒๙ มกราคม ๒๕๑๗