กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕[๑]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๑๙)
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง
พุทธศักราช ๒๔๘๕[๑]
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ และมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ทางน้ำชลประทานคลองพระยาบรรลือ จากประตูระบายน้ำและประตูน้ำสิงหนาท ในท้องที่ตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึงประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ในท้องที่ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นทางน้ำชลประทานที่เรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน
ข้อ ๒ ให้ทางน้ำชลประทานคลองพระพิมล - บางบัวทอง จากประตูระบายน้ำและประตูน้ำบางบัวทอง ในท้องที่ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีถึงประตูระบายน้ำและประตูน้ำพระพิมล ในท้องที่ตำบลบางเลน จังหวัดนครปฐม ตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน
ข้อ ๓ ให้ทางน้ำชลประทานคลองทวีวัฒนา จากคลองพระพิมล กิโลเมตรที่๑๔.๐๐๐ ตรงข้ามปากคลองลากฆ้อน (ไทรน้อย) ในท้องที่ตำบลไทรน้อย อำเภอ ไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ผ่านคลองมหาสวัสดิ์ ถึงคลองภาษีเจริญ ในท้องที่แขวงหลักสอง เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน จากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงานการประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน
ข้อ ๔ ให้ทางน้ำชลประทานคลองสวัสดิ์ จากประตูระบายน้ำและประตูน้ำฉิมพลี ฝั่งเหนือของคลองมหาสวัสดิ์ในท้องที่ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี ฝั่งใต้ของคลองมหาสวัสดิ์ ในท้องที่แขวงตลิ่งชัน กรุงเทพมหานครถึงประตูน้ำมหาสวัสดิ์ ในท้องที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นในหรือ นอกเขตชลประทาน
ข้อ ๕ ให้ทางน้ำชลประทานคลองภาษีเจริญ จากประตูระบายน้ำและประตูน้ำภาษีเจริญ ในท้องที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ถึงประตูระบายน้ำและประตูน้ำกระทุ่มแบน ในท้องที่ตำบลกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน จากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงานการประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน
ข้อ ๖ ให้ทางน้ำชลประทานคลองพระยาราชมนตรี จากคลองบางเชือกหนังในท้องที่แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ผ่านคลองภาษีเจริญถึงคลองมหาชัย ในท้องที่แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน
ข้อ ๗ ให้ทางน้ำชลประทานคลองพระอุดม จากประตูระบายน้ำและประตูน้ำพระอุดม ในท้องที่ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ถึงประตูระบายน้ำนามสนธิ ในท้องที่ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙
อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์สิริ
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ฯ รักษาราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
[เอกสรแนบท้าย]
๑. แผนที่ท้ายกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประการใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจให้กฎกระทรวงกำหนดทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานได้ ฉะนั้น สมควรกำหนดทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บ
ค่าชลประทาน จากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นในหรือนอกเขตชลประทาน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๙๓/หน้า ๒๑๗/๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙