กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๒๑)ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๑]
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 1 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยชื่อเครื่องมือในพิกัด
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 (13) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
เครื่องมือทำการประมงต่อไปนี้เป็นเครื่องมือในพิกัด
(1) ยอขันช่อ
(2) ช้อนขันช่อ
(3) ช้อนสนั่น
(4) ช้อนหางเหยี่ยว
(5) ถุงโพงพางซึ่งใช้ประกอบกับโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน
(6) ถุงบาม
(7) เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา
(8) แหยาวตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป (ยังไม่ทบเพลา)
(9) ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ 3.5 เมตรขึ้นไป
(10) เบ็ดราวยาวตั้งแต่ 40 เมตรขึ้นไป
(11) ข่าย
(12) อวนต่าง ๆ
(13) เฝือก
(14) เครื่องกั้น
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
*[5]
`ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการกำหนด
อัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490'
*[2]
`ยกเลิกกฎกระทรวง ฉะบับที่ 3 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการกำหนด
อัตราค่าธรรมเนียม ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490'
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 4 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยการขออาชญาบัตร
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ผู้ใดประสงค์จะขออาชญาบัตรเพื่อใช้เครื่องมือในพิกัดชะนิดใด
ทำการประมงต้องยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ (คำขอ) ท้ายกฎกระทรวงนี้ต่อ
คณะกรมการอำเภอท้องที่ การขอรับอาชญาบัตรเช่นว่านี้ หากผู้ขอมีอาชญาบัตร
ฉะบับหลังที่สุดสำหรับเครื่องมือนั้น ก็ให้แนบไปกับคำขอด้วยและถ้าผู้ขอประสงค์
จะให้ผู้ใดในครอบครองหรือลูกจ้างมีสิทธิ์ใช้เครื่องมือนั้นด้วยก็ให้ระบุชื่อไว้ใน
คำขอนั้น
ข้อ 2. ในการยื่นคำขอตามข้อ 1 นั้น ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สงสัยอาจ
สั่งให้ผู้ขออนุญาตนำเครื่องมือนั้นมาให้ตรวจก็ได้ ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่จะให้
กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้นตรวจวัดแทนและรับรองก็ได้
ข้อ 3. เมื่อได้รับคำขอตามความในข้อ 1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณา
คำขอ เมื่อเห็นว่าเป็นการถูกต้องและสมควรจะอนุญาตได้ตามกฎเกณฑ์ในระเบียบ
วิธีการอนุญาตที่กำหนดไว้ ก็ให้เรียกเก็บเงินอากรตามอัตราที่กำหนดไว้ใน
กฎกระทรวง และออกอาชญาบัตรให้แก่ผู้ขอ
ข้อ 4. ใบอาชญาบัตรทุกฉะบับต้องให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำ
กิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต และให้ใช้
แบบอาชญาบัตร (อนุญาต 1) ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 5. ถ้าผู้รับอนุญาตใดประสงค์จะขอสลักหลังอาชญาบัตรเพื่อตัดทอน
หรือเพิ่มบุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้างของตนให้เป็นผู้มีสิทธิ์ใช้เครื่องมือในพิกัด
ก็ให้ยื่นรายชื่อบุคคลที่จะตัดทอนหรือเพิ่มต่อคณะกรมการอำเภอท้องที่พร้อมด้วย
อาชญาบัตร และผู้รับอนุญาตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าสลักหลังตามกฎกระทรวง
และให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี
เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในการสลักหลัง
ข้อ 6. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดนำเครื่องมือในพิกัดนั้นไปใช้ทำการประมง
ในท้องที่อื่นซึ่งเก็บอากรสูงกว่าที่ตนได้ชำระไว้แล้ว ก็ให้ผู้รับอนุญาตนั้นนำ
อาชญาบัตรไปเสียอากรเพิ่มเติมต่อคณะกรมการอำเภอที่ตนนำเครื่องมือในพิกัด
ไปใช้ทำการประมง ต่อเมื่อได้ชำระเงินอากรเพิ่มเติม และนายอำเภอ หรือ
ปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี ได้สลักหลังอาชญาบัตร
ว่าได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงแล้ว จึงจะใช้เครื่องมือนั้นทำการ
ประมงได้
ข้อ 7. ถ้าอาชญาบัตรที่ออกให้ตามกฎกระทรวงนี้ศูนย์หายหรือชำรุดเสียหาย
ในสาระสำคัญ ผู้รับอนุญาตมีสิทธิ์ยื่นคำขอนั้น ๆ รับใบแทนอาชญาบัตรตามแบบพิมพ์
(คำขอ 2) ท้ายกฎกระทรวงนี้ ต่อคณะกรรมการอำเภอท้องที่และให้ส่งอาชญาบัตร
ที่ชำรุดไปด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและได้สอบสวนพิจารณาเห็นสมควร
ออกใบแทนให้ก็ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการออกใบแทนตามกฎกระทรวง และ
ออกใบแทนอาชญาบัตรอันมีข้อความอย่างเดียวกับอาชญาบัตรที่ศูนย์หายหรือชำรุด
เสียหายในสาระสำคัญให้แก่ผู้รับอนุญาตแต่ให้เขียนคำว่า `ใบแทน' ด้วยหมึกสีแดง
ไว้ตอนบน
ใบแทนอาชญาบัตรทุกฉะบับต้องให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำ
กิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณีในท้องที่เดียวกัน เป็นผู้ลงลายมือชื่อ
อนุญาตในแบแทน
ข้อ 8. ถ้าผู้รับอนุญาตประสงค์จะโอนอาชญาบัตรของตนให้แก่ผู้อื่น ให้ยื่น
เรื่องราวชี้แจงเหตุผลพร้อมด้วยอาชญาบัตรต่อคณะกรมการอำเภอท้องที่ เมื่อ
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องราว และได้พิจารณาเห็นว่าถูกต้องตามกฎเกณฑ์
การโอนตามที่กำหนดไว้ ก็ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนตามที่กำหนดไว้
ในกฎกระทรวง และให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือ
ผู้ทำการแทน แล้วแต่กรณี สลักหลังการโอนและชื่อผู้รับโอนไว้ในอาชญาบัตรนั้น
และมอบอาชญาบัตรให้แก่ผู้รับโอนต่อไป
ข้อ 9. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดได้รับการผ่อนเวลาชำระเงินอากรค่าอาชญาบัตร
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตตามแบบพิมพ์ (อนุญาต 2) ท้ายกฎกระทรวงนี้
ให้แก่ผู้รับอนุญาตแทนอาชญาบัตร และให้ผู้รับอนุญาตมีสิทธิ์ใช้เครื่องมือนั้นทำการ
ประมงได้ ตามเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตระหว่างผ่อนเวลาชำระเงินอากร
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 5 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยที่อนุญาต
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ในที่อนุญาตตามประกาศของข้าหลวงประจำจังหวัด ต้องยื่นคำขอตามแบบพิมพ์
(คำขอ 3) ท้ายกฎกระทรวงนี้ต่อคณะกรมการอำเภอท้องที่
ข้อ 2. ถ้าผู้ขออนุญาตเคยได้รับอนุญาตให้ทำการประมงหรือเพาะเลี้ยง
สัตว์น้ำในที่อนุญาตนั้นอยู่แล้ว ก็ให้แนบในอนุญาตปีก่อนมาพร้อมกับคำขอด้วย
ข้อ 3. เมื่อได้รับคำขอตามข้อ 1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอ
เมื่อเห็นว่าเป็นการถูกต้องและสมควรจะอนุญาตได้ก็ให้เรียกเก็บเงินอากร
ตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอต่อไป
ข้อ 4. ใบอนุญาตสำหรับที่อนุญาตทุกฉะบับ ต้องให้นายอำเภอหรือ
ปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทนแล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่อ
อนุญาต และให้ใช้แบบพิมพ์ใบอนุญาต (อนุญาต 3) ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 5. การออกใบแทนใบอนุญาต การโอนใบอนุญาตและการผ่อน
เวลาชำระเงินอากรใบอนุญาต ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการออกใบแทนการ
โอนอาชญาบัตรและการผ่อนเวลาชำระเงินอากรอาชญาบัตร ตามที่กำหนดไว้
ในกฎกระทรวง ฉะบับที่ 4 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการขออาชญาบัตร
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาใช้โดยอนุโลม
แล้วแต่กรณี
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 6 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยบ่อล่อสัตว์น้ำ
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 (6) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ก. บ่อล่อสัตว์น้ำ
------
ข้อ 1. บ่อล่อสัตว์น้ำ คือ ที่ล่อสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในที่ดินอันบุคคลถือ
กรรมสิทธิ์ก็ดี หรือในที่สาธารณสมบัตรของแผ่นดินก็ดี ไม่ว่าบ่อล่อสัตว์น้ำนั้น
จะมีลักษณะหรือรูปร่างอย่างใดโดยผู้ขุดหรือสร้างหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครอง
มีความมุ่งหมายโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะล่อสัตว์น้ำจากที่จับสัตว์น้ำเพื่อ
ประโยชน์ในการทำการประมง
ข. การขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำ
------
ข้อ 2. ผู้ใดประสงค์จะขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติ
ของแผ่นดิน ต้องยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ (คำขอ 4) ท้ายกฎกระทรวงนี้ต่อคณะกรมการ
อำเภอท้องที่
ข้อ 3. เมื่อได้รับคำขอตามข้อ 2 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอ
เมื่อเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ออกใบอนุญาตตามแบบพิมพ์ (อนุญาต 4) ท้ายกฎกระทรวงนี้
ค. การทำการประมงในบ่อล่อสัตว์น้ำ
------
ข้อ 4. ผู้ใดประสงค์จะทำการประมงในบ่อล่อสัตว์น้ำด้วยวิธีวิดน้ำ หรือทำให้
น้ำในบ่อนั้นแห้งหรือลดน้อยลงไม่ว่าบ่อล่อสัตว์น้ำนั้นจะอยู่ในที่ดินอันบุคคลถือ
กรรมสิทธิ์หรืออยู่ในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องยื่นคำขอตามแบบพิมพ์
(คำขอ 3) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่
ข้อ 5. เมื่อได้รับคำขอตามข้อ 4 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอ
เมื่อเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้เรียกเก็บเงินอากรตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
และออกใบอนุญาตตามแบบพิมพ์ (อนุญาต 4)
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 7 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 (7) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ก. บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
------
ข้อ 1. บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ คือที่เลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในที่ดินอันบุคคลถือ
กรรมสิทธิ์ก็ดี หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ดี โดยผู้ขุดหรือสร้างหรือ
เจ้าของหรือผู้ครอบครองมีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชะนิดใด
ชะนิดหนึ่งหรือหลายชะนิดรวมกันให้เพิ่มจำนวนหรือเพิ่มน้ำหนักยิ่งขึ้น
ข. การขุดเรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
------
ข้อ 2. ผู้ใดประสงค์จะขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ดินอันเป็น
สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องยื่นคำขออนุญาตตามแบบพิมพ์ (คำขอ 4)
ต่อท้ายกฎกระทรวง ฉะบับที่ 6 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยบ่อล่อสัตว์น้ำ
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่
ข้อ 3. เมื่อได้รับคำขออนุญาตตามข้อ 2 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่
พิจารณาคำขอ เมื่อเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ออกใบอนุญาตตามแบบพิมพ์ (อนุญาต 4)
ต่อท้ายกฎกระทรวง ฉะบับที่ 6 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยบ่อล่อสัตว์น้ำ ออก
ตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
ข้อ 4. ใบอนุญาตตามข้อ 3 ทุกฉะบับ ต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่
ลงลายมือชื่อในใบอนุญาต
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 8 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยที่ว่าประมูล
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ก. การดำเนินการว่าประมูล
------
ข้อ 1. ให้คณะกรมการจังหวัดท้องที่รายงานขออนุมัติการว่าประมูล
ที่ว่าประมูลพร้อมทั้งชะนิด จำนวน และที่ตั้งเครื่องมือทำการประมงต่อรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ก่อนดำเนินการออกประกาศว่าประมูลทุกคราว
ข. คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูล
------
ข้อ 2. ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่สั่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ
ว่าประมูลขึ้นคณะหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 นาย ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัด
ท้องที่หรือผู้รักษาการแทน ประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน และนายอำเภอ
หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอท้องที่หรือผู้รักษาการแทนแล้วแต่กรณี
แต่ถ้าจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทนก็ให้ข้าหลวงประจำ
จังหวัดแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 เป็นกรรมการแทน
ข้อ 3. ให้คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ
ว่าประมูล ที่ว่าประมูลในท้องที่จังหวัดนั้นตามวิธีการและกฎเกณฑ์ในระเบียบการ
ว่าประมูลซึ่งได้กำหนดไว้
ข้อ 4. ในการว่าประมูลคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลจะกำหนดให้
ว่าประมูลโดยวิธีปิดซองหรือโดยวิธีปากเปล่าก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร และจะ
กำหนดอัตราเงินอากรขั้นต่ำสำหรับการว่าประมูลไว้ก็ได้
*[3]
`ข้อ 5 บรรดาที่ว่าประมูลทุกแห่งจะต้องอนุญาตให้บุคคลทำการประมง
หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยวิธีว่าประมูล เว้นแต่ที่ว่าประมูลแห่งใดที่สมควรอนุญาต
ให้แก่สหกรณ์การประมงเป็นผู้รับอนุญาต หรือสมควรอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาตที่
ประทานบัตรสิ้นอายุในปีที่พึ่งล่วงมา และเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
ทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้ผล ก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
มีอำนาจอนุมัติให้จังหวัดอนุญาตได้โดยไม่ต้องว่าประมูล
ถ้าที่ว่าประมูลแห่งใดไม่มีผู้เข้าว่าประมูล หรือมีผู้เข้าว่าประมูลเพียง
รายเดียว หรือผู้เข้าว่าประมูลให้อากรต่ำเกินสมควร จะระงับการว่าประมูลเสีย
ก็ได้ หรือถ้าคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลได้พิจารณาเห็นสมควร จะอนุญาต
ให้ผู้ใดเป็นผู้รับอนุญาตทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูลนั้น โดย
กำหนดจำนวนเงินอากรที่จะเรียกเก็บตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับ
ความเห็นชอบจากอธิบดีกรมประมงก่อน และจำนวนเงินอากรจะต้องไม่ต่ำกว่า
อัตราค่าที่อนุญาตประเภทนั้น ๆ'
ค. วิธีการดำเนินการว่าประมูล
------
ข้อ 6. ก่อนเวลาดำเนินการว่าประมูลที่ว่าประมูลแห่งใดให้ข้าหลวง
ประจำจังหวัดท้องที่ทำหนังสือประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนวันว่าประมูล
เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ปิดประกาศไว้ที่ศาลากลางจังหวัดท้องที่
ที่ว่าการอำเภอท้องที่ และที่ชุมนุมชนตามที่เห็นสมควร
ข้อ 7. ในประกาศของข้าหลวงประจำจังหวัดตามข้อ 6 จะต้องมีข้อความ
ดังต่อไปนี้ คือ ชื่อที่ว่าประมูล ที่ว่าประมูลนั้นอยู่ในตำบลใด อำเภอใด สถานที่
ทำการว่าประมูล วันและเวลาทำการว่าประมูล ที่ตั้งและชื่อเครื่องมือทำการ
ประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่ว่าประมูล กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมง
และกำหนดวันเดือนปีทำสัญญาและการส่งเงินอากร
ง. กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมงในที่ว่าประมูล
------
ข้อ 8. กำหนดอายุการอนุญาตในการประมงในที่ว่าประมูลนั้น ให้ข้าหลวง
ประจำจังหวัดท้องที่มีอำนาจกำหนดการอนุญาตได้คราวละ 1 ปี เมื่อหมดอายุ
การอนุญาตแล้วก็ให้ดำเนินการว่าประมูลใหม่ ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณา
เห็นสมควรกำหนดอายุการอนุญาตเกินกว่า 1 ปี ก็ให้รายงานขออนุญาตต่ออธิบดี
กรมการประมง
จ. การออกประทานบัตรและการทำสัญญา
------
ข้อ 9. เมื่อคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลชี้ขาดให้ผู้ใดเป็นผู้ได้รับ
อนุญาตแล้ว ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่ดำเนินการเรียกให้ผู้นั้นนำหลักทรัพย์
หรือจัดหาผู้ค้ำประกันเงินอากรตามข้อ 13 และดำเนินการออกประทานบัตรตาม
แบบพิมพ์ท้ายกฎกระทรวงนี้ และให้ผู้รับอนุญาตทำสัญญาผูกขาดตามแบบที่อธิบดี
กรมการประมงกำหนด
ข้อ 10. ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตใน
ประทานบัตร ส่วนในสัญญาผูกขาดที่กระทรวงเกษตราธิการทำกับผู้อนุญาตนั้น
ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่กับประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน เป็น
ผู้ลงลายมือชื่อแทนกระทรวงเกษตราธิการ แต่ถ้าจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัด
หรือผู้รักษาการแทน ก็ให้ผู้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 เป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัด
ข้อ 11. การทำสัญญาผูกขาดตามข้อ 9 และ 10 ให้ทำเป็นสองฉะบับ
มีข้อความตรงกัน และให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างยึดถือไว้เป็นหลักฐานฝ่ายละ
หนึ่งฉะบับ ในสัญญาผูกขาดจะต้องแสดงอาณาเขตต์ที่ว่าประมูล และที่ตั้งเครื่องมือ
ทำการประมงแบบไว้ด้วย
ฉ. การชำระเงินอากรค่าที่ว่าประมูล
------
ข้อ 12. การชำระเงินอากรค่าที่ว่าประมูล ให้ผู้รับอนุญาตชำระทั้งหมด
ในเวลารับประทานบัตรและลงลายมือชื่อในสัญญาผูกขาด เว้นแต่จะได้มีการ
ผ่อนเวลาตามความในมาตรา 39
ช. หลักทรัพย์และผู้ค้ำประกัน
------
ข้อ 13. ในกรณีที่มีการผ่อนเวลาตามความในมาตรา 39 ผู้รับอนุญาต
จะต้องนำหลักทรัพย์คือโฉนดที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์มาจำนองไว้เป็นประกัน
การชำระอากร ถ้าหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้วมีราคายังไม่คุ้มกับเงินอากร ก็ให้
ผู้รับอนุญาตหาผู้ค้ำประกันที่มีหลักทรัพย์มั่นคงเป็นที่พอใจของคณะกรรมการ
ดำเนินการว่าประมูลมาทำสัญญาจำนองหรือค้ำประกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย
แล้วจึงให้ข้าหลวงประจำจังหวัดออกประทานบัตร และทำสัญญาผูกขาดตามข้อ 9
ซ. การผิดชำระอากรและการผ่อนเวลาชำระอากร
------
ข้อ 14. เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา 40 และมาตรา 41 แล้ว
ปรากฏว่าเงินอากรยังค้างชำระอยู่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เร่งรัดให้ผู้ค้ำประกัน
ชำระเงินอากรโดยไม่ชักช้า
ฌ. การโอนประทานบัตร
------
ข้อ 15. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดประสงค์จะโอนประทานบัตรและสัญญา
ผูกขาดในที่ว่าประมูลซึ่งตนได้รับให้แก่ผู้อื่นให้ผู้รับอนุญาตและผู้รับโอนยื่น
เรื่องราวขออนุญาตโอนต่อข้าหลวงประจำจังหวัด เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียม
ตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและได้รับอนุญาตแล้ว จึงจำทำการโอนกันได้
ข้อ 16. การโอนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดตามข้อ 15 ผู้โอนจะต้อง
นำประทานบัตรมาให้ข้าหลวงประจำจังหวัดสลักหลังการโอน และผู้รับโอนจะต้อง
ทำสัญญาผูกขาดกับพนักงานเจ้าหน้าที่มีข้อความเช่นเดียวกับผู้ที่ทำกับผู้โอน และ
ต้องปฏิบัติในเรื่องหลักทรัพย์ประกัน ผู้ค้ำประกันและอื่น ๆ ตามกฎกระทรวงนี้
ญ. การเวนคืนที่ว่าประมูล
------
ข้อ 17. ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดประสงค์จะเวนคืนที่ว่าประมูลให้แก่พนักงาน
เจ้าหน้าที่ก่อนสิ้นกำหนดอายุการอนุญาตตามประทานบัตรและสัญญาผูกขาด ให้ผู้นั้น
ยื่นเรื่องราวขอเวนคืนต่อข้าหลวงประจำจังหวัด
ข้อ 18. เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้รับเรื่องราวขอเวนคืนที่ว่าประมูลแล้ว
และได้พิจารณาเห็นสมควรจะรับเวนคืน ก็ให้สั่งอนุญาตให้เวนคืนได้ ส่วนทรัพย์สิน
ที่ผู้นั้นนำมาวางประกันและสัญญาค้ำประกัน ให้คงยึดถือไว้ก่อนจนกว่าจะได้จัดการ
อย่างหนึ่งอย่างใดแก่ที่ว่าประมูลนั้น เพื่อให้ได้เงินอากรครบตามสัญญาผูกขาด
ข้อ 19. ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นสมควรให้จัดการว่าประมูล
ที่ว่าประมูลที่เวนคืนนั้นใหม่ ก็ให้กรรมการดำเนินการว่าประมูลดำเนินการต่อไปได้
หากได้เงินอากรต่ำกว่าการประมูลคราวแรกเท่าใด ก็ให้ข้าหลวงประจำจังหวัด
เรียกเงินอากรที่ยังขาดจากผู้เวนคืนจนครบ
ข้อ 20. ที่ว่าประมูลซึ่งผู้รับอนุญาตขอเวนคืนนั้น แม้ผู้รับอนุญาตจะยังไม่ได้
ลงมือทำการประมงในที่ว่าประมูลนั้นเลยก็ดี เงินอากรที่ผู้รับอนุญาตชำระแล้ว
จะเรียกคืนมิได้แต่ถ้าการขอเวนคืนนั้น เนื่องจากเหตุที่ทางราชการได้กระทำการ
อย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เสียประโยชน์ของผู้รับอนุญาตในการทำการประมงใน
ที่ว่าประมูลนั้น เช่นการปิดทำนบเป็นต้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดรับคืนที่ว่าประมูล
นั้น และส่งคืนเงินอากรที่ได้ชำระแล้วให้แก่ผู้รับอนุญาตทั้งหมดแต่ถ้าผู้รับอนุญาต
ได้ลงมือทำการประมงได้ผลประโยชน์ไปบ้างแล้ว ก็ให้พิจารณาว่าจะควรคืนเงิน
อากรที่ชำระให้แล้วเพียงใดหรือไม่ต้องคืนเลย โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ที่
ผู้รับอนุญาตได้รับจากที่ว่าประมูลนั้นแล้วเพียงใด
ฎ. การออกใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาด
------
ข้อ 21. การออกใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาด ให้นำบทบัญญัติ
แห่งกฎกระทรวง ฉะบับที่ 4 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการออกใบแทนอาชญาบัตร
มาใช้โดยอนุโลม และในใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดนั้น ให้ข้าหลวง
ประจำจังหวัดเป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 9 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยใบอนุญาตรายบุคคล
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ผู้ใดประสงค์จะทำการประมงโดยใช้เครื่องมือนอกพิกัดในที่อนุญาต
รายบุคคล หรือทำการหาหอยแมลงภู่และหอยกระพงหรือเทียนหอยและหอยมุกด์
ให้ยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ (คำขอ 1) ต่อท้ายกฎกระทรวง ฉะบับที่ 4 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยการขออาชญาบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่
ข้อ 2. เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอตามข้อ 1 แล้ว ให้พิจารณา
ถ้าเห็นสมควรอนุญาตก็ให้เรียกเก็บเงินอากรตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
และดำเนินการออกใบอนุญาตให้ตามแบบพิมพ์ (อนุญาต 5) ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 3. ใบอนุญาตทุกฉะบับที่ออกให้ตามข้อ 2 ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ
ประจำกิ่งอำเภอหรือผู้ทำการแทนแล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 10 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยการติดโคมไฟและเครื่องหมาย
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ผู้ใดได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องมือประจำที่ มีหน้าที่ต้องติดโคมไฟ
และเครื่องหมายแผ่นสี่เหลี่ยมสีขาวกว้าง 20 เซ็นติเมตร ยาว 50 เซ็นติเมตร
เป็นอย่างน้อยให้เห็นได้ชัดเจน
ข้อ 2. โคมไฟนั้นผู้รับอนุญาตตามข้อ 1 ต้องติดโคมไฟไว้ที่เรือทุ่น หรือ
ที่เสาหรือสลัก ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนเครื่องหมายนั้นในเวลา
กลางวันผู้รับอนุญาตจะต้องติดไว้เสมอที่เครื่องมือประจำที่
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 11 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยการอุทธรณ์
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและ
อาชญาบัตร ไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ถ้าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียประสงค์จะ
อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงาน ก็ให้บุคคลนั้นยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงาน ภายใน
กำหนดสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ผู้ยื่นอุทธรณ์ทราบคำสั่ง
ข้อ 2. ในคำอุทธรณ์นั้น จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลโดยละเอียด
ชัดเจนว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานนั้นไม่ชอบด้วยเหตุผลประการใด และต้องลงชื่อตัว
ชื่อสกุลและภูมิลำเนาของผู้ยื่นอุทธรณ์
ข้อ 3. เมื่อเจ้าพนักงานได้รับคำอุทธรณ์ ก็ให้ออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์
เป็นหลักฐาน และให้เจ้าพนักงานดังกล่าวแล้วชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการ
ไม่ยอมออกใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรแล้วแต่กรณีโดยละเอียด เสนอคณะกรรมการ
จังหวัดเพื่อตรวจสอบ แสดงความเห็นภายในกำหนดสามสิบวันนับตั้งแต่วันได้รับ
อุทธรณ์
ข้อ 4. สำหรับกรณีใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรนั้นถ้าคณะกรมการจังหวัด
เห็นสมควรออกใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์ ก็ให้แนะนำเจ้าพนักงาน
ดำเนินการออกใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรให้แก่ผู้อุทธรณ์ต่อไปได้ ถ้าเจ้าพนักงาน
ออกใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรให้ก็เป็นอันยุติ แต่ถ้าพนักงานเห็นว่าไม่สมควร
ออกใบอนุญาตหรืออาชญาบัตร ก็ให้เจ้าพนักงานรายงานมายังรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงเกษตราธิการพร้อมด้วยความเห็นของคณะกรมการจังหวัดภายในยี่สิบวัน
นับตั้งแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
ข้อ 5. ในกรณีที่ไม่ยอมให้ออกประทานบัตร เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัด
ได้รับอุทธรณ์ ก็ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลโดยละเอียดเสนอไปยังรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงเกษตราธิการภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันได้รับอุทธรณ์
ข้อ 6. เมื่อเจ้าพนักงานได้รับคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
เกษตราธิการ ให้แจ้งคำวินิจฉัยนั้นให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในห้าวัน
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
กฎกระทรวง
ฉะบับที่ 12 (พ.ศ. 2490)
ว่าด้วยการขออนุญาตและจดทะเบียนผู้มีอาชีพในการประมง
การสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรมสัตว์น้ำ
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
การขออนุญาตและการจดทะเบียนผู้มีอาชีพในการประมง
------
ข้อ 1. ผู้ใดประกอบอาชีพอยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490 ก็ดี หรือมีความประสงค์จะประกอบอาชีพก็ดี ถ้าเป็นอาชีพที่
ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ
ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490 ให้ผู้นั้นยื่นคำขออนุญาตและจดทะเบียน (คำขอ 6)
ท้ายกฎกระทรวงนี้
สำหรับจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ณ กรมการประมง
สำหรับจังหวัดอื่น ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่
ข้อ 2. เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอตามข้อ 1 แล้ว ก็ให้พิจารณา
คำขอนั้น ถ้าสมควรอนุญาตก็ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดใน
กฎกระทรวง และดำเนินการจดทะเบียนออกใบอนุญาตตามแบบพิมพ์ (อนุญาต 6)
ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 3. ใบอนุญาตที่ออกให้ตามข้อ 2 ทุกฉะบับ ให้อธิบดีกรมการประมง
นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ทำการแทนแล้วแต่กรณี
เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490
จรูญ สืบแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
*[2]
*[5]
`ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2492) ว่าด้วยการกำหนด
อัตราค่าธรรมเนียม ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490'
*[5]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2521)
ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการกำหนดอัตรา
เงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
(2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2491) ว่าด้วยการกำหนดอัตรา
เงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
(3) กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2492) ว่าด้วยการกำหนดอัตรา
ค่าธรรมเนียม ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
(4) กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2506) ออกตามความในพระราชบัญญัติ
การประมง พุทธศักราช 2490
ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราอากรสำหรับที่อนุญาตตามบัญชีหมายเลข 1 ท้าย
กฎกระทรวงนี้
ข้อ 3 ให้กำหนดอัตราอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในการพิกัดตาม
บัญชีหมายเลข 2 ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 4 ให้กำหนดอัตราอากรใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงตามบัญชี
หมายเลข 3 ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 5 ให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามบัญชีหมายเลข 4 ท้ายกฎกระทรวงนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2521
ป. กรรณสูต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
บัญชีหมายเลข 1
อัตราสำหรับที่อนุญาต
------
----+--------------------------------------+-----------
| | อัตราอากร
ลำดับ| ประเภทที่อนุญาต |-----+-----
| | บาท |สตางค์
----+--------------------------------------+-----+-----
1.| โป๊ะน้ำลึก แห่งละ | 200 | -
2.| อวนรัง แห่งละ | 200 | -
3.| โป๊ะน้ำตื้น แห่งละ | 150 | -
4.| เฝือกรัง แห่งละ | 150 | -
5.| จิบ แห่งละ | 150 | -
6.| ลี่ แห่งละ | 150 | -
7.| สุก แห่งละ | 150 | -
8.| โพงพาง ช่องละ | 100 | -
9.| ร้านโจน แห่งละ | 100 | -
10.| รั้วไซมาน ช่องละ | 50 | -
11.| กั้นซู่รั้วไซมาน ช่องละ | 50 | -
12.| ช้อนปีก แห่งละ | 50 | -
13.| ยอปีก แห่งละ | 50 | -
14.| บาม แห่งละ | 25 | -
15.| ยอขันช่อ แห่งละ | 20 | -
16.| ช้อนขันช่อ แห่งละ | 20 | -
17.| จันทา แห่งละ | 10 | -
18.| กร่ำ ตารางเมตรละ | 1 | -
19.| บ่อล่อสัตว์น้ำ ตารางเมตรละ | - | 25
20.| ที่เลี้ยงหอย ตารางเมตรละ | 1 | 5
----+--------------------------------------+-----+-----
บัญชีหมายเลข 2
อัตราอากรอาญชาบัตรสำหรับเครื่องมือในพิกัด
------
----+--------------------------------------+-----------
| | อัตราอากร
ลำดับ| ชื่อเครื่องมือ |-----+-----
| | บาท |สตางค์
----+--------------------------------------+-----+-----
1.| ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ | |
| และช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ | 20 | -
2.| ถุงโพงพาง (ที่ใช้ประกอบกับโพงพาง | |
| รั้วไซมาน หรือกันซู่รั้วไซมาน) ถุงละ | 20 | -
3.| ถุงบาม ปากละ | 15 | -
4.| เรือผีหลอกหรือเรือกัตรา ลำละ | 10 | -
5.| แหยาว ตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป | |
| (ยังไม่ทบเพลา) ปากละ | 10 | -
6.| ช้อนต่าง ๆ ปากกว้างตั้งแต่ | |
| 3.5 เมตรขึ้นไป ปากละ | 10 | -
7.| เบ็ดราวยาวตั้งแต่ 40 เมตรขึ้นไป สายละ | 5 | -
8.| ข่ายหรืออวนต่าง ๆ มีอัตราดังนี้ | |
| (ก) อวนลอยขนาดช่องตาตั้งแต่ 7 เซนติเมตร | |
| ขึ้นไป (การวัดให้ดึงตาอวนเป็นเส้นตรง | |
| ตามเส้นทะแยงมุม แล้ววัดตามเส้นนั้นจาก | |
| กึ่งกลางของเงื่อนหนึ่งไปยังกึ่งกลางของ | |
| อีกเงื่อนหนึ่ง) ยาวเมตรละ | 5 | -
| (ข) อวนลอยขนาดช่องตาไม่ถึง | |
| 7 เซนติเมตร (การวัดให้วิธี | |
| เดียวกับ 8 (ก) ยาวเมตรละ | 2 | -
| (ค) อวนลาก ยาวเมตรละ | 5 | -
| (ง) ข่ายหรืออวนอื่น ๆ | |
| (1) ขนาดกว้างกว่า 1 เมตร | |
| ถึง 4 เมตร ยาวเมตรละ | - | 50
| (2) ขนาดกว้างกว่า 4 เมตร | |
| ถึง 8 เมตร ยาวเมตรละ | 1 | -
| (3) ขนาดกว้างกว่า 8 เมตร | |
| ถึง 24 เมตร ยาวเมตรละ | 2 | -
| (4) ขนาดกว้างกว่า 24 เมตร | |
| ขึ้นไป ยาวเมตรละ | 3 | -
9.| เฝือกหรือเครื่องกั้นขนาดยาวกว่า 2 เมตรขึ้นไป | |
| (เว้นแต่เฝือกหรือเครื่องกั้นที่ใช้ประกอบกับโป๊ะ | |
| โพงพาง รั้วไซมาน กั้นซู่รั้วไซมาน ช้อนปีก | |
| หรือยอปีก เมตรละ | 1 | -
----+--------------------------------------+-----+-----
บัญชีหมายเลข 3
อัตราอากรใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง
------
----+--------------------------------------+-----------
| | อัตราอากร
ลำดับ| รายการ |-----+-----
| | บาท |สตางค์
----+--------------------------------------+-----+-----
1.| ใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมงโดย | |
| ใช้เครื่องมือนอกพิกัดในที่อนุญาต คนละ | 15 | -
2.| ใบอนุญาตหาหอยแมลงภู่และหอยกะพง คนละ | 15 | -
3.| ใบอนุญาตหาเทียนหอยและหอยมุก คนละ | 15 | -
----+--------------------------------------+-----+-----
บัญชีหมายเลข 4
อัตราค่าธรรมเนียม
------
----+--------------------------------------+-----------
| | อัตราอากร
ลำดับ| รายการ |-----+-----
| | บาท |สตางค์
----+--------------------------------------+-----+-----
1.| ใบอนุญาตสำหรับทำการค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ | |
| และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ | |
| (ก) ใบอนุญาตสำหรับประกอบกิจการแพปลา | |
| หรือสะพานปลา ซึ่งรับทำการขายสินค้า | |
| สัตว์น้ำเป็นปกติธุระด้วยวิธีการขายทอดตลาด | |
| ขายเหมา ขายส่ง หรือวิธีการอย่างอื่น | |
| โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรง หรือ | |
| โดยปริยายตามพฤติการณ์ว่าสินค้านั้นทั้งหมด | |
| หรือแต่บางส่วนจะได้รับค่านายหน้าในการ | |
| ขายจากเจ้าของสินค้าสัตว์น้ำ ปีละ | 150 | -
| (ข) ใบอนุญาตสำหรับการค้าสินค้าสัตว์น้ำสด | |
| หรือเค็ม ด้วยวิธีการขายทอดตลาด | |
| ขายเหมา หรือขายส่ง ปีละ | 150 | -
| (ค) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการ | |
| โรงเค็มหรือทำปลาเค็มเพื่อการค้า ปีละ | 150 | -
| (ง) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการ | |
| โรงทำน้ำปลาเพื่อการค้า ปีละ | 150 | -
| (จ) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการ | |
| โรงทำกะปิเพื่อการค้า ปีละ | 50 | -
| (ฉ) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการ | |
| โรงนึ่งหรือย่างสัตว์น้ำเพื่อการค้า ปีละ | 100 | -
| (ช) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการ | |
| โรงทำหอยแห้งเพื่อการค้า ปีละ | 50 | -
| (ซ) ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการ | |
| โรงทำสัตว์น้ำกระป๋อง ปีละ | 150 | -
2.| ค่าโอนประทานบัตร ฉบับละ | 20 | -
3.| ค่าโอนใบอนุญาต อาชญาบัตร | |
| (ก) ใบอนุญาตสำหรับที่อนุญาต ฉบับละ | 20 | -
| (ข) อาชญาบัตรหรือใบอนุญาตอื่น ๆ ฉบับละ | 15 | -
4.| ใบแทนอาชญาบัตร ใบอนุญาต | |
| หรือประทานบัตร ฉบับละ | 10 | -
5.| ใบอนุญาตสำหรับผู้มีอาชีพทำการประมง ปีละ | 5 | -
6.| ค่าสลักหลังใบอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติม | |
| ผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการประมง ครั้งละ | 5 | -
----+--------------------------------------+-----+-----
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
อัตราอากรสำหรับที่อนุญาต อัตราอากรอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือในการพิกัด
อัตราอากรใบอนุญาตรายบุคคลผู้ทำการประมง และอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนด
ไว้แต่เดิมนั้นได้ใช้มาเป็นเวลาสิบปีแล้ว สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาวะ
ทางเศรษฐกิจและค่าของเงินในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
บทเฉพาะกาล
--------------------
กฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วย
ผู้มีอาชีพทำการประมงในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเพราะภัย
ธรรมชาติวิปริตในบางปี เช่น ใน พ.ศ. 2500 และ 2501 ดินฟ้าอากาศ
แห้งแล้งมาก ในน่านน้ำจืดน้ำเข้าทุ่งน้อย ปลาเข้าวางไข่ไม่ได้ผล ในทะเล
ก็เช่นเดียวกันปลาวางไข่น้อย จึงทำให้ชาวประมงผู้ว่าประมูลจับปลาไม่ได้ผล
ผู้ว่าประมูลได้ต้องเสียเงินอากรให้แก่รัฐบาลในอัตราสูง ก็ได้รับความเสียหาย
และเดือนร้อนมาก อนึ่งที่จับสัตว์น้ำประเภทที่ว่าประมูลบางแห่งมีความเหมาะสม
ที่จะจัดตั้งเป็นสหกรณ์การประมง แล้วอนุญาตให้สหกรณ์การประมงที่ได้จัดตั้งขึ้น
มีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูลแห่งนั้นได้
จึงเป็นการสมควรออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงเกษตรมีอำนาจอนุมัติให้จังหวัดอนุญาตที่จับสัตว์น้ำประเภทที่ว่า
ประมูลให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย วาตะภัย หรือให้แก่ผู้ประสบความเสียหายจากภัย
ธรรมชาติกับให้สหกรณ์การประมงได้
--------------------
กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2506) ออกตามความในพระราชบัญญัติ
การประมง พ.ศ. 2490
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วย
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2490) ว่าด้วยการกำหนดอัตราเงินอากร
การประมงได้ประกาศใช้มาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว การเรียกเก็บเงินอากรแก่
เครื่องมือการประมงบางชนิดยังไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพราะ
ในปัจจุบันนี้การประมงทะเลได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ชาวประมงได้
นำเอาเครื่องมือประมงแบบใหม่ ๆ มาใช้ทำการประมงอีกหลายชนิด เช่น
อวนลอยไนล่อน เป็นต้น อวนแบบใหม่ ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดเล็ก
แต่ต้องเสียเงินอากรค่าอาชญาบัตรในอัตราสูงเกินรายได้ของชาวประมง
ซึ่งนับว่าไม่เป็นธรรมแก่ชาวประมงผู้ใช้อวนลอยไนล่อน เมื่อเปรียบเทียบกับ
เครื่องมือขนาดใหญ่อื่น ๆ ซึ่งเสียเงินอากรน้อยกว่าอวนลอยไนล่อนหลายเท่า
แต่สามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่าอวนลอยไนล่อนหลายสิบเท่า เพื่อส่งเสริม
อาชีพชาวประมงผู้ใช้อวนลอยไนล่อนให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงแก้ไขปรับปรุงอัตราเงินอากรการประมง
เสียใหม่
เชิงอรรถ
--------------------
*[1] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉะบับที่ 13 (พ.ศ. 2491) ว่าด้วยการ
กำหนดอัตราเงินอากร ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
*[2] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉะบับที่ 14 (พ.ศ. 2492) ว่าด้วยการ
กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ. 2490
*[3] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2502) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
*[4] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2506) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
*[5] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2521) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490