กฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๙๐)ว่าด้วยที่ว่าประมูลออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

กฎกระทรวง

ฉะบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๙๐)

ว่าด้วยที่ว่าประมูล

ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง

พ.ศ. ๒๔๙๐[๑]

                  

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ก. การดำเนินการว่าประมูล

                  

                  ข้อ ๑.  ให้คณะกรมการจังหวัดท้องที่รายงานขออนุมัติการว่าประมูลที่ว่าประมูลพร้อมทั้งชนิด จำนวน และที่ตั้งเครื่องมือทำการประมงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ก่อนดำเนินการออกประกาศว่าประมูลทุกคราว

ข. คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูล

                  

                    ข้อ ๒.  ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่สั่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลขึ้นคณะหนึ่งไม่น้อยกว่า ๓ นาย ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่หรือผู้รักษาการแทนประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน และนายอำเภอหรือปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอท้องที่หรือผู้รักษาการแทน แล้วแต่กรณี

                   แต่ถ้าจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทนก็ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นกรรมการแทน

ข้อ ๓.  ให้คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการว่าประมูลที่ว่าประมูลในท้องที่จังหวัดนั้นตามวิธีการและกฎเกณฑ์ในระเบียบการว่าประมูลซึ่งได้กำหนดไว้

                  ข้อ ๔.  ในการว่าประมูล คณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลจะกำหนดให้ว่าประมูลโดยวิธีปิดซองหรือโดยวิธีปากเปล่าก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร และจะกำหนดอัตราเงินอากรขั้นต่ำสำหรับการว่าประมูลไว้ก็ได้

                  ข้อ ๕[๒]  บรรดาที่ว่าประมูลทุกแห่งจะต้องอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยวิธีว่าประมูล เว้นแต่ที่ว่าประมูลแห่งใดที่สมควรอนุญาตให้แก่สหกรณ์การประมงเป็นผู้รับอนุญาต หรือสมควรอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาตที่ประทานบัตรสิ้นอายุในปีที่เพิ่งล่วงมา และเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้ผล ก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรมีอำนาจอนุมัติให้จังหวัดอนุญาตได้โดยไม่ต้องว่าประมูล

                  ถ้าที่ว่าประมูลแห่งใดไม่มีผู้เข้าว่าประมูล หรือมีผู้เข้าว่าประมูลเพียงรายเดียว หรือผู้เข้าว่าประมูลให้อากรต่ำเกินสมควร จะระงับการว่าประมูลเสียก็ได้ หรือถ้าคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลได้พิจารณาเห็นสมควร จะอนุญาตให้ผู้ใดเป็นผู้รับอนุญาตทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูลนั้น โดยกำหนดจำนวนเงินอากรที่จะเรียกเก็บตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมประมงก่อน และจำนวนเงินอากรจะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าที่อนุญาตประเภทนั้น ๆ

ค. วิธีการดำเนินการว่าประมูล

                  

                  ข้อ ๖.  ก่อนเวลาดำเนินการว่าประมูลที่ว่าประมูลแห่งใดให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่ทำหนังสือประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนวันว่าประมูลเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ปิดประกาศไว้ที่ศาลากลางจังหวัดท้องที่ที่ว่าการอำเภอท้องที่ และที่ชุมนุมชนตามที่เห็นสมควร

                  ข้อ ๗.  ในประกาศของข้าหลวงประจำจังหวัดตามข้อ ๖ จะต้องมีข้อความดังต่อไปนี้ คือ ชื่อที่ว่าประมูล ที่ว่าประมูลนั้นอยู่ในตำบลใด อำเภอใด สถานที่ทำการว่าประมูล วันและเวลาทำการว่าประมูล ที่ตั้งและชื่อเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่ว่าประมูล กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมงและกำหนดวันเดือนปีทำสัญญาและการส่งเงินอากร

ง. กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมงในที่ว่าประมูล

                   

                ข้อ ๘.  กำหนดอายุการอนุญาตให้ทำการประมงในที่ว่าประมูลนั้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่มีอำนาจกำหนดการอนุญาตได้คราวละ ๑ ปี เมื่อหมดอายุการอนุญาตแล้วก็ให้ดำเนินการว่าประมูลใหม่ ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นควรกำหนดอายุการอนุญาตเกินกว่า ๑ ปี ก็ให้รายงานขออนุญาตต่ออธิบดีกรมการประมง

จ. การออกประทานบัตรและการทำสัญญา

 

                  

                 ข้อ ๙.  เมื่อคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลชี้ขาดให้ผู้ใดเป็นผู้ได้รับอนุญาตแล้ว ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่ดำเนินการ เรียกให้ผู้นั้นนำหลักทรัพย์หรือจัดหาผู้ค้ำประกันเงินอากรตามข้อ ๑๓ และดำเนินการออกประทานบัตรตามแบบพิมพ์ท้ายกฎกระทรวงนี้ และให้ผู้รับอนุญาตทำสัญญาผูกขาดตามแบบที่อธิบดีกรมการประมงกำหนด

                 ข้อ ๑๐.  ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในประทานบัตร ส่วนในสัญญาผูกขาดที่กระทรวงเกษตราธิการทำกับผู้รับอนุญาตนั้นให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่กับประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนกระทรวงเกษตราธิการ แต่ถ้าจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทน ก็ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัด

                 ข้อ ๑๑.  การทำสัญญาผูกขาดตามข้อ ๙ และ ๑๐ ให้ทำเป็นสองฉบับมีข้อความตรงกัน และให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างยึดถือไว้เป็นหลักฐานฝ่ายละหนึ่งฉบับ ในสัญญาผูกขาดจะต้องแสดงอาณาเขตที่ว่าประมูล และที่ตั้งเครื่องมือทำการประมงแบบไว้ด้วย

ฉ. การชำระเงินอากรค่าที่ว่าประมูล

                  

                 ข้อ ๑๒.  การชำระเงินอากรค่าที่ว่าประมูล ให้ผู้รับอนุญาตชำระทั้งหมดในเวลารับประทานบัตรและลงลายมือชื่อในสัญญาผูกขาด เว้นแต่จะได้มีการผ่อนเวลาตามความในมาตรา ๓๙

ช. หลักทรัพย์และผู้ค้ำประกัน

                  

                  ข้อ ๑๓.  ในกรณีที่มีการผ่อนเวลาตามความในมาตรา ๓๙ ผู้รับอนุญาตจะต้องนำหลักทรัพย์ คือ โฉนดที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์มาจำนองไว้เป็นประกันการชำระอากร ถ้าหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้วมีราคายังไม่คุ้มกับเงินอากร ก็ให้ผู้รับอนุญาตหาผู้ค้ำประกันที่มีหลักทรัพย์มั่นคงเป็นที่พอใจของคณะกรรมการดำเนินการว่าประมูลมาทำสัญญาจำนองหรือค้ำประกันให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจึงให้ข้าหลวงประจำจังหวัดออกประทานบัตร และทำสัญญาผูกขาดตามข้อ ๙

ซ. การผิดนัดชำระอากรและการผ่อนเวลาชำระอากร

                  

ข้อ ๑๔.  เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ แล้ว ปรากฏว่าเงินอากรยังค้างชำระอยู่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เร่งรัดให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรโดยไม่ชักช้า

ฌ. การโอนประทานบัตร

                  

                   ข้อ ๑๕.  ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดประสงค์จะโอนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดในที่ว่าประมูลซึ่งตนได้รับให้แก่ผู้อื่นให้ผู้รับอนุญาตและผู้รับโอนยื่นเรื่องราวขออนุญาตโอนต่อข้าหลวงประจำจังหวัด เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะทำการโอนกันได้

                  ข้อ ๑๖.  การโอนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดตามข้อ ๑๕ ผู้โอนจะต้องนำประทานบัตรมาให้ข้าหลวงประจำจังหวัดสลักหลังการโอนและผู้รับโอนจะต้องทำสัญญาผูกขาดกับพนักงานเจ้าหน้าที่มีข้อความเช่นเดียวกับที่ทำกับผู้โอนและต้องปฏิบัติในเรื่องหลักทรัพย์ประกัน ผู้ค้ำประกันและอื่น ๆ ตามกฎกระทรวงนี้

ญ. การเวนคืนที่ว่าประมูล

                  

                    ข้อ ๑๗.  ถ้าผู้รับอนุญาตรายใดประสงค์จะเวนคืนที่ว่าประมูลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนสิ้นกำหนดอายุการอนุญาตตามประทานบัตรและสัญญาผูกขาด ให้ผู้นั้นยื่นเรื่องราวขอเวนคืนต่อข้าหลวงประจำจังหวัด

                     ข้อ ๑๘.  เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้รับเรื่องราวขอเวนคืนที่ว่าประมูลแล้วและได้พิจารณาเห็นสมควรจะรับเวนคืน ก็ให้สั่งอนุญาตให้เวนคืนได้ ส่วนทรัพย์สินที่ผู้นั้นนำมาวางประกันและสัญญาค้ำประกัน ให้คงยึดถือไว้ก่อนจนกว่าจะได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ที่ว่าประมูลนั้น เพื่อให้ได้เงินอากรครบตามสัญญาผูกขาด

                      ข้อ ๑๙.  ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นสมควรให้จัดการว่าประมูลที่ว่าประมูลที่เวนคืนนั้นใหม่ ก็ให้กรรมการดำเนินการว่าประมูลดำเนินการต่อไปได้ หากได้เงินอากรต่ำกว่าการประมูลคราวแรกเท่าใด ก็ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเรียกเงินอากรที่ยังขาดจากผู้เวนคืนจนครบ

                     ข้อ ๒๐.  ที่ว่าประมูลซึ่งผู้รับอนุญาตขอเวนคืนนั้น แม้ผู้รับอนุญาตจะยังไม่ได้ลงมือทำการประมงในที่ว่าประมูลนั้นเลยก็ดี เงินอากรที่ผู้รับอนุญาตชำระแล้ว จะเรียกคืนมิได้ แต่ถ้าการขอเวนคืนนั้น เนื่องจากเหตุที่ทางราชการได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เสียประโยชน์ของผู้รับอนุญาตในการทำการประมงในที่ว่าประมูลนั้น เช่นการปิดทำนบ เป็นต้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดรับคืนที่ว่าประมูลนั้น และส่งคืนเงินอากรที่ได้ชำระแล้วให้แก่ผู้รับอนุญาตทั้งหมด แต่ถ้าผู้รับอนุญาตได้ลงมือทำการประมงได้ผลประโยชน์ไปบ้างแล้วก็ให้พิจารณาว่าจะควรคืนเงินอากรที่ชำระให้แล้วเพียงใดหรือไม่ต้องคืนเลย โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ที่ผู้รับอนุญาตได้รับจากที่ว่าประมูลนั้นแล้วเพียงใด

ฎ. การออกใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาด

                  

                        ข้อ ๒๑.  การออกใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาด ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่าด้วยการออกใบแทนอาชญาบัตรมาใช้โดยอนุโลม และในใบแทนประทานบัตรและสัญญาผูกขาดนั้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาต

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐

จรูญ  สืบแสง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐[๓]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยผู้มีอาชีพทำการประมงในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเพราะภัยธรรมชาติวิปริตในบางปี เช่น ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ และ ๒๕๐๑ ดินฟ้าอากาศแห้งแล้งมาก ในน่านน้ำจืดน้ำเข้าทุ่งน้อย ปลาเข้าวางไข่ไม่ได้ผล ในทะเลก็เช่นเดียวกันปลาวางไข่น้อย จึงทำให้ชาวประมงผู้ว่าประมูลจับปลาไม่ได้ผล ผู้ว่าประมูลได้ต้องเสียเงินอากรให้แก่รัฐบาลในอัตราสูง ก็ได้รับความเสียหายและเดือนร้อนมาก อนึ่ง ที่จับสัตว์น้ำประเภทที่ว่าประมูลบางแห่ง มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นสหกรณ์การประมง แล้วอนุญาตให้สหกรณ์การประมงที่ได้จัดตั้งขึ้นมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูลแห่งนั้นได้

จึงเป็นการสมควรออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร มีอำนาจอนุมัติให้จังหวัดอนุญาตที่จับสัตว์น้ำประเภทที่ว่าประมูลให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย หรือให้แก่ผู้ประสบความเสียหายจากภัยธรรมชาติกับให้แก่สหกรณ์การประมงได้

จุฑามาศ/ปรับปรุง

๖ สิงหาคม ๒๕๕๘

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐

[๒] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

[๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๖/ตอนที่ ๗๖/หน้า ๓๑๒/๔ สิงหาคม ๒๕๐๒