กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2498) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการทำไม้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๙๘)
ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้
พุทธศักราช ๒๔๘๔
ว่าด้วยการทำไม้
---------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๕๘ แห่งพระราช
บัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ.๒๔๙๔ และมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงเกษตราธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้
พุทธศักราช ๒๔๘๔ (ฉบับที่ ๑) ว่าด้วยการทำไม้
ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะทำไม้ ให้ยื่นคำขออนุญาตตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ คือ
(๑) (คำขอ ๑) สำหรับไม้ในป่าที่ต้องเสียค่าภาคหลวงโดยยื่นต่อ
พนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ของป่านั้น
(๒) (คำขอ ๒) สำหรับไม้ในป่าที่ยกเว้นค่าภาคหลวงโดยยื่นต่ออำเภอแห่งท้องที่
ที่ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนา
(๓) (คำขอ ๓) สำหรับไม้สักที่มิได้ขึ้นอยู่ในป่า โดยยื่นต่ออำเภอแห่งท้องที่ที่ไม้นั้น
ขึ้นอยู่
ข้อ ๓ การยื่นคำขอตามความในข้อ ๒ (๒) ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้
(๑) สำหรับไม้เพื่อใช้สอยส่วนตัว คำขอต้องมีคำรับรองเป็นหนังสือของกำนัน
หรือผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ที่ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาอยู่
(๒) สำหรับไม้ใช้เพื่อการกุศล หรือสาธารณประโยชน์ต้องมีแผนผังแบบก่อสร้าง
และรายการตัวไม้ที่ต้องใช้ในการปลูกสร้างประกอบคำขอ และสำหรับการปลูกสร้างที่เกี่ยวกับ
วัดในพุทธศาสนาต้องมีคำรับรองเป็นหนังสือจากเจ้าคณะจังหวัดท้องที่ที่การปลูกสร้างจะ
กระทำขึ้นนั้นมาด้วย
ข้อ ๔ เมื่อได้รับคำขอทำไม้ตามความในข้อ ๒ (๑) หรือ๒ (๓) ให้พนักงาน
เจ้าหน้าทแห่งท้องที่ที่ไม้นั้นขึ้นอยู่เป็นผู้พิจารณาสั่ง
เมื่อได้รับคำขอทำไม้ตามความในข้อ ๒ (๒) ให้นายอำเภอซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น
พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้พิจารณาสั่งถ้าเห็นว่าไม่สมควรอนุญาตก็ให้สั่งไม่อนุญาต แล้วแจ้งให้
ผู้ยื่นคำขอทราบ ถ้าเห็นควรอนุญาตอย่างไร เพียงได้แต่นายอำเภอนั้นมิได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
ี่แห่งท้องที่ที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ ก็ให้บันทึกความเห็นส่งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่ไม้นั้นขึ้น
อยู่เพื่อพิจารณาสั่ง
ข้อ ๕ ใบอนุญาตทำไม้ ให้ใช้แบบพิมพ์ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ คือ
(๑) แบบ (อนุญาต ๑) สำหรับทำไม้สักในป่า
(๒) แบบ (อนุญาต ๒) สำหรับทำไม้อื่นในป่าที่ไม่ใช่ไม้สัก
(๓) แบบ (อนุญาต ๓) สำหรับไม้อื่นในป่าที่ไม่ใช่ไม้สักโดยยกเว้นค่าภาคหลวง
(๔) แบบ (อนุญาต ๔) สำหรับไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่าน
(๕) แบบ (อนุญาต ๕) สำหรับไม้สักที่มิได้ขึ้นอยู่ในป่า เพื่อการค้า
(๖) แบบ (อนุญาต ๖) สำหรับไม้สักที่มิได้ขึ้นอยู่ในป่าเพื่อใช้สอยส่วนตัว
ข้อ ๖ ผู้รับอนุญาตทำไม้ต้องโค่นไม้ มิให้เหลือตอสูงเกินครึ่งของขนาดวัดรอบลำต้น
ตรงที่ตัด แต่ต้องสูงไม่เกิน ๑เมตรจากพื้นดิน เว้นแต่ไม้ที่กลวงโพรง หรือกำหนดไว้ในใบอนุญาต
เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๗ ผู้รับอนุญาตทำไม้ต้องตัดโค่นไม้ โดยมิให้เป็นอันตรายแก่ไม้หวงห้าม
ต้นอื่นเว้นแต่มีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และมิให้เป็นการกีดขวางทางจราจรทั้งใน
ทางบกและทางน้ำ
ข้อ ๘ ในการทำไม้ผู้รับอนุญาตต้องจัดการป้องกันมิให้เกิดการเสียหายหรือ
ขัดขวางแก่ทางบก ทางน้ำ สิ่งก่อสร้าง การชลประทาน หรือการอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการคมนาคม
ข้อ ๙ การทำไม้ตามใบอนุญาต ซึ่งกำหนดให้ทำเฉพาะต้น หรือท่อน
ที่มีรอยตราอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ประทับไว้ ผู้รับอนุญาตจะชักลากไม้ไม่ได้
จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับตราอนุญาตชักลาก
ข้อ ๑๐ ผู้รับอนุญาตทำไม้ต้องชักลากไม้ไปตามแนวทางและยังที่ซึ่งระบุไว้ใน
ใบอนุญาต
ข้อ ๑๑ ผู้รับอนุญาตทำไม้ต้องไม่นำไม้ไปใช้สอยหรือทำประโยชน์อย่างใด ๆ
นอกจากเพื่อการชักลาก ก่อนพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจวัด เพื่อการคำนวณค่าภาคหลวงหรือ
เพื่อตรวจสอบประทับตรา ในกรณีทำไม้ที่ยกเว้นค่าภาคหลวงหรือเพื่อตรวจสอบในกรณี
ทำไม้สักที่มิได้ขึ้นอยู่ในป่า เพื่อใช้สอยส่วนตัว
ข้อ ๑๒ การขออนุญาตผูกขาดทำไม้ ให้ทำเรื่องราวพร้อมด้วยแผนที่
สังเขปแสดงอาณาเขตป่าที่ขอ ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ป่าที่ขออนุญาตทำไม้
การขอสัมปทานทำไม้ ให้ทำเรื่องราวพร้อมด้วยแผนที่สังเขปแสดง
อาณาเขตป่าที่ขอยื่นต่ออธิบดีกรมป่าไม้
ข้อ ๑๓ อัตราค่าธรรมเนียมให้กำหนดดังต่อไปนี้
(๑) แบบพิมพ์คำขอทำไม้ ฉบับละ ๐.๒๕ บาท
(๒) ใบอนุญาตทำไม้เพื่อการค้า ฉบับละ ๒.๐๐ บาท
(๓) ใบอนุญาตผูกขาดทำไม้สัก ฉบับละ ๑,๐๐๐.๐๐ บาท
(๔) ใบอนุญาตผูกขาดทำไม้ชนิดอื่น ๆ ฉบับละ ๕๐๐.๐๐ บาท
(๕) สัมปทานการทำไม้สัก ฉบับละ ๑๐,๐๐๐.๐๐ บาท
(๖) สัมปทานการทำไม้ชนิดอื่น ๆ ฉบับละ ๕,๐๐๐.๐๐ บาท
(๗) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๑.๐๐ บาท
(๘) ใบแทนใบอนุญาตผูกขาด ฉบับละ ๕.๐๐ บาท
(๙) ใบแทนสัมปทาน ฉบับละ ๕๐.๐๐ บาท
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘
จอมพล ผ.ชุณหะวัณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]
+-------------------------------------------------------------------------------------------+
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง
เกษตราธิการออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ (ฉบับที่ ๑)
ว่าด้วยการทำไม้ ยังไม่เป็นการเหมาะสมแก่กาลสมัยและสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงเป็น
การสมควรที่จะปรับปรุงกฎกระทรวง ว่าด้วยการทำไม้เสียใหม่ให้เป็นการเหมาะสมยิ่ง
ขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔
โดยยกเลิกกฎกระทรวงเกษตราธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช
๒๔๘๔ (ฉบับที่ ๑) ว่าด้วยการทำไม้ นั้นเสีย แล้วออกกฎกระทรวงว่าด้วยการทำไม้ ขึ้นใหม่
เพื่อใช้แทนกฎกระทรวงฉบับเดิม
[รก.๒๔๙๘/๓๒/๖๖พ/๓๐ เมษายน ๒๔๙๘]