กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509
กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๐)
ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตร
และสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙[๑]
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๘ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙
“ข้อ ๖ ธนาคารอาจดำ เนินงานเพื่อเป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชนสำหรับการดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) การส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด
(๒) การส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ โดยมุ่งหมายให้มีการประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรม ด้านพาณิชยกรรม หรือด้านบริการภายในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ หรือการดำเนินการอื่นใดที่จะนำมาซึ่งการลดค่าใช้จ่าย การส่งเสริมการออม และการพึ่งพาตนเองของชุมชน
(๓) การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ในลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) การศึกษา อบรม สัมมนา ดูงานหรือฝึกงานในด้านการส่งเสริมอาชีพ หรือ เพื่อการพัฒนาอาชีพ หรือเพื่อการศึกษาของบุคคลในครอบครัว
(ข) การจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่การดำรงชีวิต
(ค) การจัดหา ปรับปรุง หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
(ง) การจัดหาปัจจัยอื่นที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
(๔) การดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายส่งเสริมการเกษตรและการพัฒนาชนบทตามโครงการของรัฐหรือของธนาคาร
ข้อ ๗ ธนาคารอาจให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินงานภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ สำหรับการดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) การส่งเสริมการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิกและสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด
(๒) การส่งเสริมการประกอบอาชีพของสมาชิกเพื่อเพิ่มรายได้ หรือการดำเนินการอื่นใดที่จะนำมาซึ่งการลดค่าใช้จ่าย การส่งเสริมการออม และการพึ่งพาตนเองของสมาชิก
(๓) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก
ข้อ ๘ การให้กู้เงินตามข้อ ๖ และข้อ ๗ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของเงินที่ให้กู้ในแต่ละรอบปีบัญชี และมีหนี้เงินกู้คงเหลือไม่เกินร้อยละยี่สิบของหนี้เงินกู้ทั้งหมด ณ สิ้นปีบัญชีเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี”
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดว่า การดำเนินการตามมาตรา ๙ (๓) และ (๔) ให้ธนาคารกระทำได้เท่าที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
โสรศ/ผู้จัดทำ
๔ มิถุนายน ๒๕๕๐
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑๐/๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐