กฎกระทรวง ฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2540)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
---------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
ควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
"บริเวณที่ 1" หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณรอบนอกเขตพระตำหนักจักรีบงกช
และพระตำหนักสวนปทุม ในระยะ 100 เมตร
"บริเวณที่ 2" หมายความว่า
พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก ไปทางทิศตะวันตก
ระยะ 200 เมตร โดยด้านเหนือจดเส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307 (ถนนสายปทุมธานี-
นนทบุรี) ที่จุดซึ่งอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 บรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข
307 (ถนนสายปทุมธานี-นนทบุรี) ไปทางทิศเหนือ ระยะ 1,600 เมตร และด้านใต้จดคลองบางตะไนย์
ฝั่งเหนือ ยกเว้นพื้นที่บริเวณที่ 1 และพื้นที่พระตำหนักจักรีบงกชและพระตำหนักสวนปทุม
พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก ไปทางทิศตะวันออก
ระยะ 200 เมตร โดยด้านเหนือจดคลองศาลาแดง ฝั่งใต้ และด้านใต้จดเส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ที่จุดซึ่งอยู่ห่างจากถนนสุขาประชาสรรบรรจบกับทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ไปทางทิศใต้ ระยะ 1,000 เมตร
"บริเวณที่ 3" หมายความว่า
พื้นที่ในบริเวณด้านเหนือจดเส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307
(ถนนสายปทุมธานี-นนทบุรี) ที่จุดซึ่งอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 บรรจบกับทางหลวง
แผ่นดินหมายเลข 307 (ถนนสายปทุมธานี-นนทบุรี) ไปทางทิศเหนือ ระยะ 1,000 เมตร ด้านตะวันออก
จดแนวเขตบริเวณที่ 2 ด้านใต้จดแนวเขตบริเวณที่ 1 และแนวเขตบริเวณที่ 2 และด้านตะวันตก
จดคลองบางคูวัด ฝั่งตะวันออก แนวเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ฟากเหนือ และแนวเขต
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307 (ถนนสายปทุมธานี-นนทบุรี) ฟากตะวันออก
พื้นที่ในบริเวณด้านเหนือจดคลองบ้านใหม่ ฝั่งใต้ ด้านตะวันออกจดเส้นขนาน
ระยะ 200 เมตร กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ฟากตะวันตก ด้านใต้จด
แนวเขตถนนสุขาประชาสรร ฟากเหนือ ด้านตะวันตกจดแนวเขตถนนสุขาประชาสรร ฟากตะวันออก
เส้นที่ต่อจากแนวเขตถนนสุขาประชาสรร ไปบรรจบแนวเขตบริเวณที่ 2 และแนวเขตบริเวณที่ 2
"บริเวณที่ 4" หมายความว่า
พื้นที่ในบริเวณด้านเหนือจดเส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307
(ถนนสายปทุมธานี-นนทบุรี) ที่จุดซึ่งอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 บรรจบกับทางหลวง
แผ่นดินหมายเลข 307 (ถนนสายปทุมธานี-นนทบุรี) ไปทางทิศเหนือ ระยะ 1,600 เมตร ด้านตะวันออก
จดแนวเขตบริเวณที่ 2 ด้านใต้จดแนวเขตบริเวณที่ 3 และด้านตะวันตกจดแนวเขตทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 307 (ถนนสายปทุมธานี-นนทบุรี) ฟากตะวันออก
พื้นที่ในบริเวณด้านเหนือจดเส้นขนานระยะ 1,000 เมตร กับทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 345 ฟากเหนือ ด้านตะวันออกจดแนวเขตบริเวณที่ 3 ด้านใต้จดแนวเขตบริเวณที่ 2 และ
ด้านตะวันตกจดคลองเกาะเกรียง ฝั่งตะวันออก แนวเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ฟากใต้ และ
เส้นขนานระยะ 500 เมตร กับคลองบางคูวัด ฝั่งตะวันตก
พื้นที่ในบริเวณด้านเหนือจดคลองศาลาแดง ฝั่งใต้ เส้นขนานระยะ 300 เมตร
กับแนวเขตบริเวณที่ 2 และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ฝั่งใต้ ด้านตะวันออกจดแนวเขตทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ฟากตะวันตก คลองบ้านใหม่ ฝั่งใต้ และเส้นขนานระยะ 800 เมตร
กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ฟากตะวันออก ด้านใต้จดเส้นตั้งฉากกับ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ที่จุดซึ่งอยู่ห่างจากถนนสุขาประชาสรรบรรจบ
กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ไปทางทิศใต้ ระยะ 1,000 เมตร และด้าน
ตะวันตกจดแนวเขตบริเวณที่ 2 แนวเขตบริเวณที่ 3 และแนวเขตบริเวณที่ 2
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่บางส่วนในท้องที่ตำบลบางกะดี ตำบลบางขะแยง ตำบล
บางคูวัด ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี และตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางพูด
อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ภายในบริเวณแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณ
ห้ามก่อสร้างอาคารชนิดและประเภท ดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคารใด ๆ เว้นแต่
(1) อาคารเดี่ยวชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน
150 ตารางเมตร โดยอาคารแต่ละหลังห่างกันไม่น้อยกว่า 4 เมตร ห่างเขตที่ดินของผู้อื่นไม่น้อยกว่า
2 เมตร และมีที่ว่างโดยรอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
(2) เขื่อน สะพาน ทางหรือท่อระบายน้ำ ท่าน้ำ รั้ว กำแพงหรือประตู
(3) อาคารของทางราชการ
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(2) โรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงานที่ประกอบกิจการโดยไม่ก่อเหตุรำคาญ
ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข หรือไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม และมีพื้นที่ทุกชั้น
ในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน 100 เมตร
(3) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่การเล่น
มหรสพ
(4) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกัน
เกิน 10 ตารางเมตร หรือที่ใช้เพื่อการค้าหรือก่อเหตุรำคาญ
(5) อาคารที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 2,000
ตารางเมตร
(6) ตลาดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 300 ตาราง
เมตร หรือตลาดที่มีระยะห่างจากตลาดอื่นน้อยกว่า 50 เมตร
(7) สถานที่บรรจุก๊าซและสถานที่เก็บก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซ
ปิโตรเลียมเหลว
(8) สถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่ายขาย และสถานีบริการน้ำมัน
เชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
(9) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทุกชนิด เว้นแต่ป้ายบอกชื่อ
สถานที่ที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร
(10) ห้องแถวหรือตึกแถว
(11) อาคารเก็บสินค้า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีลักษณะ
ในทำนองเดียวกันที่ใช้เป็นที่เก็บ พัก หรือขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือ
อุตสาหกรรมที่มีพื้นที่อาคารรวมกันเกิน 100 ตารางเมตร
(12) โรงกำจัดมูลฝอย
(13) โรงฆ่าสัตว์
(ค) ภายในบริเวณที่ 3 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร
(2) ห้องแถว ตึกแถว เว้นแต่ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี
(3) อาคารตาม (ข) (2) (4) (5) (6) (9) (11) (12) และ (13)
(ง) ภายในบริเวณที่ 4 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร
(2) โรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงานที่ประกอบกิจการโดยไม่ก่อเหตุรำคาญ
ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข หรือไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลงหรือ
เปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 4 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามข้อ 2 ก่อนหรือในวันที่กฎกระทรวงนี้
ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
ดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือเปลี่ยน
การใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วย
กิจการนั้นก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ
ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้ง
ให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
เรืองวิทย์ ลิกค์
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ รักษาราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]
+----------------------------------------------------------------------------------------------------------------+
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลบางกะดี ตำบลบางคูวัด ตำบลบางขะแยง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง
ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี และตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ลงวันที่
18 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา แต่มาตรา 13
วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวง
หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็นอัน
ยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การสถาปัตยกรรม
และควบคุมความหนาแน่นของอาคาร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
[รก.2540/36ก/18 - 18/07/2540]