กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ล่าสุด)

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๗)

ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

พ.ศ. ๒๕๒๒[๑]

                  

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๓) และมาตรา ๘ (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ในกฎกระทรวงนี้

“แรงประลัย” หมายความว่า แรงขนาดที่จะทำให้วัตถุนั้นแตกแยกออกห่างจากกันเป็นส่วนหรือทลายเข้าหากัน

“แรงดึง” หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุแยกออกห่างจากกัน

“แรงอัด” หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุทลายเข้าหากัน

“แรงดัด” หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุโค้งหรือโก่งตัว

“แรงลม” หมายความว่า แรงของลมที่กระทำต่อโครงสร้าง

“แรงเฉือน” หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุขาดออกจากกันดุจกรรไกรตัด

“แรงดึงประลัย” หมายความว่า แรงดึงขนาดที่จะทำให้วัตถุนั้นแยกออกห่างจากกันเป็นส่วน

“แรงอัดประลัย” หมายความว่า แรงอัดขนาดที่จะทำให้วัตถุนั้นทลายเข้าหากัน

“แรงอัดประลัยของคอนกรีต” หมายความว่า แรงอัดตามแกนยาวขนาดที่จะทำให้แท่งคอนกรีตทรงกระบอกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตร อายุยี่สิบแปดวันทลายเข้าหากัน

“หน่วยแรง” หมายความว่า แรงหารด้วยพื้นที่หน้าตัดที่รับแรงนั้น

“หน่วยแรงพิสูจน์” หมายความว่า หน่วยแรงดึงที่ได้จากการลากเส้นตรงที่จุด ๐.๒ ใน ๑๐๐ ส่วนของความเครียด ให้ขนานกับส่วนที่เป็นเส้นตรงของเส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยแรงดึงและความเครียดไปตัดกับเส้นนั้น

“หน่วยแรงฝืด” หมายความว่า หน่วยแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผิวเข็มกับดิน

“หน่วยแรงที่ขีดปฏิภาค” หมายความว่า หน่วยแรงที่จุดสูงสุดของส่วนที่เป็นเส้นตรงของเส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยแรงและความเครียด

“ความเครียด” หมายความว่า อัตราส่วนของส่วนยืดหรือส่วนหดของวัสดุที่รับแรงต่อความยาวเดิมของวัสดุนั้น

“กำลังคราก” หมายความว่า หน่วยแรงดึงที่วัสดุเริ่มยืดโดยไม่ต้องเพิ่มแรงดึงขึ้นอีก

“ส่วนปลอดภัย” หมายความว่า ตัวเลขที่ใช้หารหน่วยแรงประลัยลงให้ถึงขนาดที่จะใช้ได้ปลอดภัย สำหรับวัสดุที่มีกำลังครากหรือหน่วยแรงพิสูจน์ ให้ใช้ค่ากำลังครากหรือหน่วยแรงพิสูจน์นั้นแทนหน่วยแรงประลัย

“น้ำหนักบรรทุกจร” หมายความว่า น้ำหนักที่กำหนดว่าจะเพิ่มขึ้นบนอาคารนอกจากน้ำหนักของตัวอาคารนั้นเอง

“น้ำหนักบรรทุกประลัย” หมายความว่า น้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่กำหนดให้ใช้ในการคำนวณตามทฤษฎีกำลังประลัย

“ส่วนต่างๆ ของอาคาร” หมายความว่า ส่วนของอาคารที่จะต้องแสดงรายการคำนวณการรับน้ำหนักและกำลังต้านทาน เช่น แผ่นพื้น คาน เสา และรากฐาน เป็นต้น

“คอนกรีต” หมายความว่า วัสดุที่ประกอบขึ้นด้วยส่วนผสมของปูนซีเมนต์ มวลผสมละเอียด เช่น ทราย มวลผสมหยาบ เช่น หินหรือกรวด และน้ำ

“คอนกรีตเสริมเหล็ก” หมายความว่า คอนกรีตที่มีเหล็กเสริมฝังภายในให้ทำหน้าที่รับแรงได้มากขึ้น

“คอนกรีตอัดแรง” หมายความว่า คอนกรีตที่มีเหล็กเสริมอัดแรงฝังภายในที่ทำให้เกิดหน่วยแรงที่มีปริมาณพอจะลบล้างหน่วยแรงอันเกิดจากน้ำหนักบรรทุก

“เหล็กเสริม” หมายความว่า เหล็กที่ใช้ฝังในเนื้อคอนกรีตเพื่อเสริมกำลังขึ้น

“เหล็กเสริมอัดแรง” หมายความว่า เหล็กเสริมกำลังสูงที่ใช้ฝังในเนื้อคอนกรีตอัดแรง อาจเป็นลวดเส้นเดียว ลวดพันเกลียว หรือลวดเหล็กกลุ่มก็ได้

“เหล็กข้ออ้อย” หมายความว่า เหล็กเสริมที่มีบั้งและหรือมีครีบที่ผิว

“เหล็กขวั้น” หมายความว่า เหล็กเสริมที่บิดเป็นเกลียว

“เหล็กหล่อ” หมายความว่า เหล็กที่มีธาตุถ่านผสมอยู่ตั้งแต่ร้อยละ ๒ ขึ้นไปโดยน้ำหนัก

“เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ” หมายความว่า เหล็กที่ผลิตออกมามีหน้าตัดเป็นรูปลักษณะต่างๆ ใช้ในงานโครงสร้าง

“ไม้เนื้ออ่อน” หมายความว่า ไม้ที่ไม่คงทนต่อดินฟ้าอากาศและตัวสัตว์ เช่น มอด ปลวก เป็นต้น และหรือมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๔ เช่น ไม้ยาง หรือไม้ตะแบก เป็นต้น

“ไม้เนื้อปานกลาง” หมายความว่า ไม้ที่คงทนต่อดินฟ้าอากาศและตัวสัตว์ เช่น มอด ปลวก เป็นต้น ได้ดีตามสภาพอันสมควร และหรือมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๔ เช่น ไม้สน เป็นต้น

“ไม้เนื้อแข็ง” หมายความว่า ไม้ที่คงทนต่อดินฟ้าอากาศและตัวสัตว์ เช่น มอด ปลวก เป็นต้น ได้ดีตามสภาพอันสมควร และหรือมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๔ เช่น ไม้เต็ง หรือไม้ตะเคียนทอง เป็นต้น

“ดิน” หมายความว่า วัสดุธรรมชาติที่ประกอบเป็นเปลือกโลก เช่น หิน กรวด ทราย ดินเหนียว เป็นต้น

“กรวด” หมายความว่า ก้อนหินที่เกิดตามธรรมชาติขนาดโตเกิน ๓ มิลลิเมตร

“ทราย” หมายความว่า ก้อนหินเม็ดเล็กละเอียดที่มีขนาดโตไม่เกิน ๓ มิลลิเมตร

“ดินดาน” หมายความว่า ดินตะกอนของกรวด ทราย ดินเหนียว มีน้ำปูนเป็นเชื้อประสาน มีลักษณะแข็งยากแก่การขุด

“หินดินดาน” หมายความว่า หินที่มีเนื้อละเอียดมาก ประกอบด้วยดินเหนียวหรือทรายอัดตัวแน่นเป็นชั้นบางๆ จะมีเชื้อประสานหรือไม่ก็ได้

“หินปูน” หมายความว่า หินเนื้อแน่นละเอียดทึบมีสีต่าง ๆ กัน ประกอบด้วยแร่แคลไซท์

“หินทราย” หมายความว่า หินเนื้อหยาบ ประกอบด้วยเม็ดทรายยึดตัวแน่นด้วยเชื้อประสาน

“หินอัคนี” หมายความว่า หินเนื้อหยาบเกิดจากการเย็นตัวของหินละลายใต้พื้นโลก ประกอบด้วยแร่เฟลด์สปาร์ แร่ควอตซ์ เป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะแข็งแกร่ง

“เสาเข็ม” หมายความว่า เสาที่ตอกหรือหล่ออยู่ในดินเพื่อรับน้ำหนักบรรทุกของอาคาร

“พื้นผิวประสิทธิผลของเสาเข็ม” หมายความว่า ผลคูณของความยาวของเสาเข็มกับความยาวของเส้นล้อมรูปที่สั้นที่สุดของหน้าตัดปกติของเสาเข็มนั้น

“ฐานราก” หมายความว่า ส่วนของอาคารที่ใช้ถ่ายน้ำหนักอาคารลงสู่ดิน

“กำลังแบกทานของดิน” หมายความว่า ความสามารถที่ดินจะรับน้ำหนักได้ โดยมีการทรุดตัวขนาดที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคาร

“กำลังแบกทานของเสาเข็ม” หมายความว่า ความสามารถที่เสาเข็มจะรับน้ำหนักได้ โดยมีการทรุดตัวไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้

“วัสดุทนไฟ”[๒] หมายความว่า วัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นเชื้อเพลิง

“วัสดุติดไฟ”[๓] หมายความว่า วัสดุก่อสร้างที่เป็นเชื้อเพลิง

“พื้น”[๔] หมายความว่า พื้นที่ของอาคารซึ่งบุคคลเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ภายในขอบเขตของคานหรือตงที่รับพื้น หรือภายในพื้นนั้น หรือภายในขอบเขตของผนังอาคาร รวมทั้งเฉลียงหรือระเบียงด้วย

“ฝา”[๕] หมายความว่า ส่วนก่อสร้างในด้านตั้งซึ่งกั้นแบ่งพื้นภายในอาคารให้เป็นห้องๆ

“ผนัง”[๖] หมายความว่า ส่วนก่อสร้างในด้านตั้งซึ่งกั้นด้านนอกหรือระหว่างหน่วยของอาคารให้เป็นหลักหรือเป็นหน่วยแยกจากกัน

“โครงสร้างหลัก”[๗] หมายความว่า ส่วนประกอบของอาคารที่เป็นเสา คาน ตง หรือพื้น ซึ่งโดยสภาพถือได้ว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคารนั้น

                    “อาคารสูง”[๘] หมายความว่า อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้โดยมีความสูงตั้งแต่ ๒๓.๐๐ เมตรขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

                     “อาคารขนาดใหญ่พิเศษ”[๙] หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป

                      “อาคารขนาดใหญ่”[๑๐] หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นที่ประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๑๕.๐๐ เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๑,๐๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่เกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

“โรงแรม”[๑๑] หมายความว่า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

“อาคารชุด”[๑๒] หมายความว่า อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

“โรงมหรสพ”[๑๓] หมายความว่า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นโรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่การเล่นมหรสพ

                            “สถาบันที่เชื่อถือได้” [๑๔] หมายความว่า ส่วนราชการหรือบริษัทจำกัดที่มีวัตถุประสงค์ในการให้คำปรึกษาแนะนำด้านวิศวกรรม ซึ่งมีวิศวกรประเภทวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ และลงลายมือชื่อรับรองผลการตรวจสอบงานวิศวกรรมควบคุม

                             ข้อ ๒  อาคารและส่วนต่างๆ ของอาคารจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวอาคารเอง และน้ำหนักบรรทุกที่อาจเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นจริงได้โดยไม่ให้ส่วนใดๆ ของอาคารต้องรับหน่วยแรงมากกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้  เว้นแต่มีเอกสารแสดงผลการทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของวัสดุที่รับรองโดยสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงหน่วยแรงที่กำหนดไว้ในข้อ ๖

                            ข้อ ๓  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยอิฐหรือคอนกรีตบล็อกประสานด้วยวัสดุก่อ ให้ใช้หน่วยแรงอัดได้ไม่เกิน ๐.๘ เมกาปาสกาล (๘ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

                           ข้อ ๔  ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตไม่เสริมเหล็ก ให้ใช้หน่วยแรงอัดได้ไม่เกินร้อยละ ๓๓.๓ ของหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีต แต่ต้องไม่เกิน ๖ เมกาปาสกาล (๖๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

                           ข้อ ๕  ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎีอีลาสติกหรือหน่วยแรงปลอดภัย ให้ใช้ค่าหน่วยแรงอัดของคอนกรีตไม่เกินร้อยละ ๓๗.๕ ของหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีต แต่ต้องไม่เกิน ๖.๕ เมกาปาสกาล (๖๕ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

                           ข้อ ๖  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎีอีลาสติกหรือหน่วยแรงปลอดภัย  เหล็กเสริมคอนกรีตที่ใช้ต้องมีกำลังครากตั้งแต่ ๒๔๐ เมกาปาสกาล (๒,๔๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) และให้ใช้ค่าหน่วยแรงของเหล็กเสริมคอนกรีตได้ไม่เกินอัตราดังต่อไปนี้

     (๑)  แรงดึง

                           (ก)  เหล็กเส้นกลมผิวเรียบที่มีกำลังครากตั้งแต่ ๒๔๐ เมกาปาสกาล (๒,๔๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไปให้ใช้ไม่เกิน ๑๒๐ เมกาปาสกาล (๑,๒๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

                          (ข)  เหล็กข้ออ้อยที่มีกำลังครากตั้งแต่ ๒๔๐ เมกาปาสกาล (๒,๔๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๓๕๐ เมกาปาสกาล (๓,๕๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ให้ใช้ร้อยละ ๕๐ ของกำลังคราก แต่ต้องไม่เกิน ๑๕๐ เมกาปาสกาล (๑,๕๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

                            (ค)  เหล็กข้ออ้อยที่มีกำลังครากตั้งแต่ ๓๕๐ เมกาปาสกาล (๓,๕๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๔๐๐ เมกาปาสกาล (๔,๐๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ให้ใช้ไม่เกิน ๑๖๐ เมกาปาสกาล (๑,๖๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

(ง)  เหล็กข้ออ้อยที่มีกำลังครากตั้งแต่ ๔๐๐ เมกาปาสกาล (๔,๐๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไป ให้ใช้ไม่เกิน ๑๗๐ เมกาปาสกาล (๑,๗๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

(จ)  เหล็กขวั้น ให้ใช้ร้อยละ ๕๐ ของหน่วยแรงพิสูจน์ แต่ต้องไม่เกิน ๒๔๐ เมกาปาสกาล (๒,๔๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ทั้งนี้ จะต้องมีผลการทดสอบการดัดเย็นโดยมีสถาบันที่เชื่อถือได้รับรอง

(๒)  แรงอัดในเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก

(ก)  เหล็กเส้นกลมผิวเรียบตามเกณฑ์ที่กำหนดใน (๑) (ก)

(ข)  เหล็กข้ออ้อย ให้ใช้ร้อยละ ๔๐ ของกำลังคราก แต่ต้องไม่เกิน ๒๑๐ เมกาปาสกาล (๒,๑๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

(ค)  เหล็กขวั้น ให้ใช้ร้อยละ ๔๐ ของกำลังคราก แต่ต้องไม่เกิน ๒๑๐ เมกาปาสกาล (๒,๑๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ทั้งนี้ จะต้องมีผลการทดสอบการดัดเย็นโดยมีสถาบันที่เชื่อถือได้รับรอง

(ง)  เสาแบบผสมเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ให้ใช้ไม่เกิน ๑๒๕ เมกาปาสกาล (๑,๒๕๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

(จ)  เหล็กหล่อ ให้ใช้ไม่เกิน ๗๐ เมกาปาสกาล (๗๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

                          (๓) ในการคำนวณคานและพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้เหล็กเสริมรับแรงอัด ให้ใช้หน่วยแรงของเหล็กเสริมรับแรงอัดที่คำนวณได้ตามทฤษฎีอีลาสติกหรือหน่วยแรงปลอดภัยได้ไม่เกินสองเท่า แต่หน่วยแรงที่คำนวณได้ต้องไม่เกินหน่วยแรงดึงตาม (๑)

ข้อ ๗  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎีกำลังประลัย ให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัย ดังต่อไปนี้

(๑)  สำหรับส่วนของอาคารที่ไม่คิดแรงลม ให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัย ดังนี้

นป. = ๑.๗ นค.+ ๒.๐ นจ.

(๒)  สำหรับส่วนของอาคารที่คิดแรงลมด้วยให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัย ดังนี้

นป. = ๐.๗๕ (๑.๗ นค.+ ๒.๐ นจ.+ ๒.๐ รล.)

หรือ

นป. = ๐.๙ นค.+ ๑.๓ รล.

โดยให้ใช้ค่าน้ำหนักบรรทุกประลัยที่มากกว่า แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าค่าน้ำหนักบรรทุกประลัยใน (๑) ด้วย

นป. = น้ำหนักบรรทุกประลัย

นค. = น้ำหนักบรรทุกคงที่ของอาคาร

นจ. = น้ำหนักบรรทุกจร รวมด้วยแรงกระแทก

รล. = แรงลม

                            ข้อ ๘  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎีกำลังประลัย ให้ใช้ค่าหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีตไม่เกิน ๑๕ เมกาปาสกาล (๑๕๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

ข้อ ๙  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎีกำลังประลัย ให้ใช้กำลังครากของเหล็กเสริม ดังต่อไปนี้

(๑)  เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ให้ใช้ไม่เกิน ๒๔๐ เมกาปาสกาล (๒,๔๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

(๒)  เหล็กเสริมอื่น ให้ใช้เท่ากำลังครากของเหล็กชนิดนั้น แต่ต้องไม่เกิน ๔๐๐ เมกาปาสกาล (๔,๐๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

ข้อ ๑๐  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารคอนกรีตอัดแรงตามทฤษฎีกำลังประลัย ให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัยเช่นเดียวกับข้อ ๗

ข้อ ๑๑  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารคอนกรีตอัดแรงให้ใช้ค่าหน่วยแรงอัดของคอนกรีต ดังต่อไปนี้

(๑)  หน่วยแรงอัดในคอนกรีตชั่วคราวทันทีที่ถ่ายแรงมาจากเหล็กเสริมอัดแรงก่อนการเสื่อมสูญการอัดแรงของคอนกรีต ต้องไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีต

(๒)  หน่วยแรงอัดที่ใช้ในการคำนวณออกแบบหลังการเสื่อมสูญการอัดแรงของคอนกรีต ต้องไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีต

ข้อ ๑๒  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตอัดแรง ให้ใช้ค่าหน่วยแรงดึงของเหล็กเสริมอัดแรง ดังต่อไปนี้

(๑)  หน่วยแรงขณะดึงต้องไม่เกินร้อยละ ๘๐ ของหน่วยแรงดึงประลัยของเหล็กเสริมอัดแรง หรือร้อยละ ๙๐ ของหน่วยแรงพิสูจน์ แล้วแต่ค่าใดจะน้อยกว่า

(๒)  หน่วยแรงในทันทีที่ถ่ายแรงไปให้คอนกรีตต้องไม่เกินร้อยละ ๗๐ ของหน่วยแรงดึงประลัยของเหล็กเสริมอัดแรง

(๓)  หน่วยแรงใช้งานต้องไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของหน่วยแรงดึงประลัย หรือร้อยละ ๘๐ ของหน่วยแรงพิสูจน์ของเหล็กเสริมอัดแรง แล้วแต่ค่าใดจะน้อยกว่า

ข้อ ๑๓  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ให้ใช้ค่าหน่วยแรงของเหล็ก ดังต่อไปนี้

                          (๑)  ในกรณีที่ไม่มีผลการทดสอบกำลังสำหรับเหล็กหนาไม่เกิน ๔๐ มิลลิเมตร ให้ใช้กำลังครากไม่เกิน ๒๔๐ เมกาปาสกาล (๒,๔๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) สำหรับเหล็กซึ่งหนาเกิน ๔๐ มิลลิเมตร ให้ใช้กำลังครากไม่เกิน ๒๒๐ เมกาปาสกาล (๒,๒๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)

(๒)  หน่วยแรงดึง แรงอัด และแรงดัด ให้ใช้ไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของกำลังครากตาม (๑)

(๓)  หน่วยแรงเฉือน ให้ใช้ไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของกำลังครากตาม (๑)

ข้อ ๑๔  ในการคำนวณส่วนต่างๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยไม้ชนิดต่างๆ ให้ใช้ค่าหน่วยแรงไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้

[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]

ในกรณีที่มีผลการทดสอบของไม้ ให้ใช้ส่วนปลอดภัยโดยใช้กำลังไม่เกิน ๑ ใน ๘ ของหน่วยแรงดัดประลัย หรือไม่เกิน ๑ ใน ๖ ของหน่วยแรงที่ขีดปฏิภาค แล้วแต่ค่าใดจะน้อยกว่า

ข้อ ๑๕  หน่วยน้ำหนักบรรทุกจรสำหรับประเภทและส่วนต่างๆ ของอาคาร นอกเหนือจากน้ำหนักของตัวอาคารหรือเครื่องจักรหรืออุปกรณ์อย่างอื่น ให้คำนวณโดยประมาณเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าอัตรา ดังต่อไปนี้

[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]

                          ข้อ ๑๖  ในการคำนวณออกแบบ หากปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใดต้องรับน้ำหนักเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ หรือหน่วยน้ำหนักบรรทุกจรอื่นๆ ที่มีค่ามากกว่าหน่วยน้ำหนักบรรทุกจรซึ่งกำหนดไว้ในข้อ ๑๕ ให้ใช้หน่วยน้ำหนักบรรทุกจรค่าที่มากกว่าเฉพาะส่วนที่ต้องรับหน่วยน้ำหนักเพิ่มขึ้น

ข้อ ๑๗  ในการคำนวณออกแบบโครงสร้างอาคาร ให้คำนึงถึงแรงลมด้วยหากจำเป็นต้องคำนวณและไม่มีเอกสารที่รับรองโดยสถาบันที่เชื่อถือได้ ให้ใช้หน่วยแรงลม ดังต่อไปนี้

[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]

                           ในการนี้ยอมให้ใช้ค่าหน่วยแรงที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของอาคารตลอดจนความต้านทานของดินใต้ฐานรากเกินค่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ได้ร้อยละ ๓๓.๓ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ส่วนต่างๆ ของอาคารนั้นมีความมั่นคงน้อยไปกว่าเมื่อคำนวณตามปกติโดยไม่คิดแรงลม

                             ข้อ ๑๘  น้ำหนักบรรทุกบนดินที่ฐานรากของอาคารนั้น ต้องคำนวณให้เหมาะสมเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย ถ้าไม่มีเอกสารที่รับรองโดยสถาบันที่เชื่อถือได้แสดงผลการทดลองหรือการคำนวณ จะต้องไม่เกินกำลังแบกทานของดินประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

(๑)  ดินอ่อนหรือดินถมไว้แน่นตัวเต็มที่ ๒ เมตริกตันต่อตารางเมตร

(๒)  ดินปานกลางหรือทรายร่วน ๕ เมตริกตันต่อตารางเมตร

(๓)  ดินแน่นหรือทรายแน่น ๑๐ เมตริกตันต่อตารางเมตร

(๔)  กรวดหรือดินดาน ๒๐ เมตริกตันต่อตารางเมตร

(๕)  หินดินดาน ๒๕ เมตริกตันต่อตารางเมตร

(๖)  หินปูนหรือหินทราย ๓๐ เมตริกตันต่อตารางเมตร

(๗)  หินอัคนีที่ยังไม่แปรสภาพ ๑๐๐ เมตริกตันต่อตารางเมตร

                           ข้อ ๑๙  ในการคำนวณน้ำหนักที่ถ่ายลงเสา คาน หรือโครงที่รับเสาและฐานราก ให้ใช้น้ำหนักของอาคารเต็มอัตรา ส่วนหน่วยน้ำหนักบรรทุกจร ให้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ โดยให้ลดส่วนลงได้ตามชั้นของอาคาร ดังต่อไปนี้

[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]

สำหรับโรงมหรสพ ห้องประชุม หอประชุม ห้องสมุด หอสมุด พิพิธภัณฑ์ อัฒจันทร์ คลังสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม อาคารจอดหรือเก็บรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ให้คิดหน่วยน้ำหนักบรรทุกจรเต็มอัตราทุกชั้น

ข้อ ๒๐  ในการคำนวณฐานรากบนเสาเข็มที่ตอกในชั้นดินอ่อน ถ้าไม่มีเอกสารจากสถาบันที่เชื่อถือได้แสดงผลการทดสอบคุณสมบัติของดินและกำลังแบกทานสูงสุดของเสาเข็ม ให้ใช้ค่าหน่วยแรงฝืดของดิน ดังนี้

(๑)  สำหรับดินที่อยู่ในระดับลึกไม่เกิน ๗ เมตร ใต้ระดับน้ำทะเลปานกลางให้ใช้ค่าหน่วยแรงฝืดของดินได้ไม่เกิน ๖ กิโลปาสกาล (๖๐๐ กิโลกรัมแรงต่อตารางเมตร) ของพื้นผิวประสิทธิผลของเสาเข็ม

(๒)  สำหรับดินที่มีความลึกเกิน ๗ เมตร ใต้ระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้คำนวณหาค่าหน่วยแรงฝืดของดินเฉพาะส่วนที่ลึกเกิน ๗ เมตรลงไป ตามสูตรดังต่อไปนี้

หน่วยแรงฝืดเป็นกิโลกรัมแรงต่อตารางเมตร = ๖๐๐ + ๒๒๐ ย.

ย. = ความยาวของเสาเข็มเป็นเมตร เฉพาะส่วนที่ลึกเกิน ๗ เมตร ใต้ระดับน้ำทะเลปานกลาง

ข้อ ๒๑  ในการคำนวณฐานรากบนเสาเข็มที่มีเอกสารจากสถาบันที่เชื่อถือได้แสดงผลการทดสอบคุณสมบัติของดิน หรือมีการทดสอบหากำลังแบกทานของเสาเข็มในบริเวณก่อสร้างหรือใกล้เคียง ให้ใช้กำลังแบกทานของเสาเข็มไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้

(๑)  กำลังแบกทานของเสาเข็มที่คำนวณจากการทดสอบคุณสมบัติของดิน ให้ใช้กำลังแบกทานได้ไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของน้ำหนักบรรทุกสูงสุด

(๒)  กำลังแบกทานของเสาเข็มที่ได้จากการทดสอบให้ใช้กำลังแบกทานได้ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของน้ำหนักบรรทุกสูงสุด

ข้อ ๒๒  ในการทดสอบกำลังแบกทานของเสาเข็ม อัตราการทรุดตัวและการทรุดตัวของเสาเข็มเมื่อรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดจะต้องอยู่ในเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑)  การทรุดตัวทั้งหมดของเสาเข็มจากรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด แล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องไม่เกิน ๒๕ มิลลิเมตร

(๒)  อัตราการทรุดตัวเฉลี่ยของเสาเข็มหลังจากรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด แล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องไม่เกิน ๐.๒๕ มิลลิเมตรต่อชั่วโมง

(๓)  การทรุดตัวสุทธิของเสาเข็มหลังจากปล่อยให้รับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดเป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แล้วคลายน้ำหนักบรรทุกจนหมดปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รบกวนอีกยี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องไม่เกิน ๖ มิลลิเมตร

ข้อ ๒๓[๑๕]  ส่วนประกอบของช่องทางหนีไฟหรือโครงสร้างหลักสำหรับอาคารที่มีความสูงเกิน ๓ ชั้น ต้องไม่เป็นวัสดุติดไฟ

ข้อ ๒๔[๑๖]  โครงสร้างหลักของอาคาร ดังต่อไปนี้

(๑)  อาคารสำหรับใช้เป็นคลังสินค้า โรงมหรสพ โรงแรม อาคารชุด หรือสถานพยาบาล

(๒)  อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม การอุตสาหกรรม การศึกษา การสาธารณสุข หรือสำนักงานหรือที่ทำการที่มีความสูงตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๑,๐๐๐ ตารางเมตร

(๓)  อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นหอประชุม

ให้ก่อสร้างด้วยวัสดุทนไฟที่มีลักษณะและคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

ชนิดของการก่อสร้างและโครงสร้างหลัก

ความหนาน้อยสุดของคอนกรีตที่หุ้มเหล็ก

เสริมหรือคอนกรีตหุ้มเหล็ก (มิลลิเมตร)

๑.  คอนกรีตเสริมเหล็ก  
๑.๑  เสาสี่เหลี่ยมที่มีด้านแคบขนาด ๓๐๐ ๔๐
มิลลิเมตรขึ้นไป  
๑.๒  เสากลมหรือเสาตั้งแต่ห้าเหลี่ยมขึ้นไปที่มี ๔๐
รูปทรงใกล้เคียงเสากลม ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง  
ตั้งแต่ ๓๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป  
๑.๓  คานและโครงข้อหมุนคอนกรีต ขนาดกว้าง ๔๐
ตั้งแต่ ๓๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป  
๑.๔  พื้นหนาไม่น้อยกว่า ๑๑๕ มิลลิเมตร ๒๐
๒.  คอนกรีตอัดแรง  
๒.๑  คานชนิดดึงลวดก่อน ๗๕
๒.๒  คานชนิดดึงลวดภายหลัง  
(๑)  กว้าง ๒๐๐ มิลลิเมตร โดยปลาย ๑๑๕
ไม่เหนี่ยวรั้ง (UNRESTRAINED)  
(๒)  กว้างตั้งแต่ ๓๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป ๖๕
โดยปลายไม่เหนี่ยวรั้ง (UNRESTRAINED)  
(๓)  กว้าง ๒๐๐ มิลลิเมตร โดยปลาย ๕๐
เหนี่ยวรั้ง (RESTRAINED)  
(๔)  กว้างตั้งแต่ ๓๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป ๔๕
โดยปลายเหนี่ยวรั้ง (RESTRAINED)  
๒.๓  พื้นชนิดดึงลวดก่อนที่มีความหนาตั้งแต่ ๔๐
๑๑๕  มิลลิเมตรขึ้นไป  
๒.๔  พื้นชนิดดึงลวดภายหลังที่มีความหนาตั้งแต่  
๑๑๕  มิลลิเมตรขึ้นไป  
(๑)  ขอบไม่เหนี่ยวรั้ง (UNRESTRAINED) ๔๐
(๒)  ขอบเหนี่ยวรั้ง (RESTRAINED) ๒๐
๓.  เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ  
๓.๑  เสาเหล็กขนาด ๑๕๐ x ๑๕๐ มิลลิเมตร ๕๐
๓.๒  เสาเหล็กขนาด ๒๐๐ x ๒๐๐ มิลลิเมตร ๔๐
๓.๓  เสาเหล็กขนาดตั้งแต่ ๓๐๐ x ๓๐๐ มิลลิเมตร ๒๕
ขึ้นไป  
๓.๔  คานเหล็ก ๕๐

 

ในกรณีโครงสร้างหลักมีขนาดระหว่างขนาดที่กำหนดในตาราง ให้คำนวณหาความหนาน้อยสุดของคอนกรีตที่หุ้มเหล็กเสริมหรือคอนกรีตหุ้มเหล็กโดยวิธีเทียบอัตราส่วน

                  ในกรณีโครงสร้างหลักก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหรือคอนกรีตอัดแรงที่มีขนาดหรือมีความหนาของคอนกรีตที่หุ้มเหล็กเสริมหรือคอนกรีตหุ้มเหล็กน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในตารางข้างต้น จะต้องใช้วัสดุอื่นหุ้มเพิ่มเติมหรือต้องป้องกันโดยวิธีอื่นเพื่อช่วยทำให้เสาหรือคานมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง และตงหรือพื้นต้องมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง โดยจะต้องมีเอกสารรับรองอัตราการทนไฟจากสถาบันที่เชื่อถือได้ประกอบการขออนุญาต

                 ในกรณีโครงสร้างหลักที่เป็นเสาหรือคานที่ก่อสร้างด้วยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณที่ไม่ได้ใช้คอนกรีตหุ้ม ต้องป้องกันโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง โดยจะต้องมีเอกสารรับรองอัตราการทนไฟจากสถาบันที่เชื่อถือได้ประกอบการขออนุญาต

                 โครงหลังคาของอาคารตามวรรคหนึ่งที่ก่อสร้างด้วยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณที่ไม่ได้ใช้คอนกรีตหุ้ม หากอาคารดังกล่าวเป็นอาคารชั้นเดียว โครงหลังคาต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง และหากเป็นอาคารตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป โครงหลังคาต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง โดยจะต้องมีเอกสารรับรองอัตราการทนไฟจากสถาบันที่เชื่อถือได้ประกอบการขออนุญาต

โครงหลังคาของอาคารตามวรรคหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ต้องมีอัตราการทนไฟตามที่กำหนดในวรรคห้าก็ได้

(๑)  เป็นโครงหลังคาของอาคารที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันไม่เกิน ๑,๐๐๐ ตารางเมตร เว้นแต่โรงมหรสพ สถานพยาบาล หรือหอประชุม

(๒)  เป็นโครงหลังคาของอาคารที่อยู่สูงจากพื้นอาคารเกิน ๘.๐๐ เมตร และอาคารนั้นมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ หรือมีการป้องกันความร้อนหรือระบบระบายความร้อน มิให้เกิดอันตรายต่อโครงหลังคา

วิธีการทดสอบอัตราการทนไฟตามวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้าให้เป็นไปตามมาตรฐานไอเอสโอ ๘๓๔ (ISO 834) หรือมาตรฐานเอเอสทีเอ็ม อี ๑๑๙ (ASTM E 119)

ข้อ ๒๕[๑๗]  วัสดุที่ใช้ตกแต่งผิวภายนอกอาคารหรือใช้เป็นผนังอาคารจะต้องยึดเกาะกับตัวอาคารด้วยวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดการร่วงหล่น อันอาจจะทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายได้

 

                ข้อ ๒๖[๑๘]  วัสดุก่อสร้างที่ใช้ภายในอาคารจะต้องไม่ทำให้เกิดสารแขวนลอยในอากาศอันอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ใยหิน ซิลิกา หรือใยแก้ว เว้นแต่จะได้ฉาบหุ้มหรือปิดวัสดุนั้นไว้เพื่อป้องกันมิให้เกิดสารแขวนลอยฟุ้งกระจายและสัมผัสกับอากาศที่บริเวณใช้สอยของอาคาร

 

ข้อ ๒๗[๑๙]  วัสดุที่เป็นผิวของผนังภายนอกอาคารหรือที่ใช้ตกแต่งผิวภายนอกอาคารจะต้องมีปริมาณการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละสามสิบ

 

                  ข้อ ๒๘[๒๐]  กระจกที่ใช้ทำผนังภายนอกอาคารที่เป็นอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารขนาดใหญ่ต้องเป็นกระจกตั้งแต่ ๒ ชั้นขึ้นไปประกบกันโดยมีวัสดุคั่นกลางระหว่างชั้นและยึดกระจกแต่ละชั้นให้ติดแน่นเป็นแผ่นเดียวกัน และกระจกแต่ละชั้นต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันหรือลดอันตรายจากการบาดของเศษกระจกเมื่อกระจกแตก และวัสดุคั่นกลางต้องยึดเศษหรือชิ้นกระจกไม่ให้หลุดออกมาเมื่อกระจกแตกร้าวหรือราน

                  กระจกที่ติดกับราวกันตกและกระจกที่ใช้เป็นฝาของห้องโถงหรือทางเดินร่วมภายในอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารขนาดใหญ่ต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันหรือลดอันตรายจากการบาดของเศษกระจกเมื่อกระจกแตก

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗

พลเอก สิทธิ จิรโรจน์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

หมายเหตุ:-  เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘ (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทน ตลอดจนลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือซ่อมแซมอาคาร และการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคารหรือพื้นดินที่รองรับอาคาร  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๑]

 

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันโครงสร้างหลักของอาคารส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่มีอัตราการทนไฟได้ไม่นาน เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารดังกล่าวจะเกิดการยุบตัวหรือพังทลายได้ง่ายทำให้ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือหรือขนย้ายประชาชนหรือทรัพย์สินออกจากอาคารดังกล่าวได้ทัน อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก และประกอบกับปัจจุบันมีการใช้กระจกในการก่อสร้างอาคารอย่างแพร่หลายโดยกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารไม่ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของประชาชนเมื่อกระจกแตก ร้าวหรือราน หรือรบกวนบุคคลอื่นเนื่องจากแสงสะท้อนของกระจก สมควรกำหนดลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร และกระจกที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๒]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ข้อ ๒๔ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังไม่มีการบัญญัติอัตราการทนไฟของโครงสร้างหลักในส่วนที่เป็นโครงหลังคาของอาคารเป็นการเฉพาะทำให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับในปัจจุบันได้มีมาตรฐานไอเอสโอ ๘๓๔ (ISO 834) สำหรับการทดสอบอัตราการทนไฟซึ่งเป็นที่ยอมรับเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากมาตรฐานเอเอสทีเอ็ม อี ๑๑๙ (ASTM E 119) ดังนั้น สมควรแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมแก่กาลสมัย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

  • [๑] ราชกจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๔๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๗
  • [๒] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “วัสดุทนไฟ” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๓] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “วัสดุติดไฟ” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๔] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “พื้น” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๕] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “ฝา” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๖] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “ผนัง” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๗] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “โครงสร้างหลัก” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๘] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “อาคารสูง” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๙] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๐] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “อาคารขนาดใหญ่” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๑] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “โรงแรม” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๒] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “อาคารชุด” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๓] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “โรงมหรสพ” เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๔] ข้อ ๑ นิยามคำว่า “สถาบันที่เชื่อถือได้” แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๕] ข้อ ๒๓ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๖] ข้อ ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัตควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๗] ข้อ ๒๕ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๘] ข้อ ๒๖ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๑๙] ข้อ ๒๗ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๒๐] ข้อ ๒๘ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
  • [๒๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๕๒ ก/หน้า ๓๓/๒ ตุลาคม ๒๕๔๐
  • [๒๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๒๐/๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙