การใช้น้ำเพื่อการเกษตร

 

การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นการจัดหา และนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในด้านการเกษตร ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ที่สำคัญได้แก่ น้ำใช้ เพื่อการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรท้องที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประจำทุกปีนั้น ทำให้ทรงทราบถึงสาเหตุแห่งความยากจนของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการทำมาหากิน ในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญว่า ราษฎรส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนามักประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำกิน และน้ำใช้ เพื่อการเกษตร จึงไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตร ให้ได้ผลตามที่มุ่งหมาย ทำให้ราษฎร ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลเหล่านั้น มีแต่ความยากจน และขาดแคลนอาหารสำหรับบริโภค

ด้วยเหตุนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงสอบถามข้อมูลจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ถึงเรื่องเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ สภาพการทำนา และการเพาะปลูกอย่างอื่น สภาพฝน และแหล่งน้ำธรรมชาติ ในบริเวณนั้น มีเพียงพอใช้ หรือขาดแคลน เป็นประการใดบ้าง เพื่อประกอบพระราชดำริ เมื่อทรงศึกษาข้อมูลจากราษฎรอย่างละเอียดแล้ว ถ้าปรากฏว่า สภาพภูมิประเทศ และแหล่งน้ำธรรมชาติของบริเวณหมู่บ้าน และตำบลใด พอมีลู่ทางก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรที่เหมาะสมขึ้นได้ ก็จะพระราชทานแนวพระราชดำริ กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ให้นำไปพิจารณาความเหมาะสม ก่อนวางโครงการ ในขั้นรายละเอียด และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนถึงการก่อสร้างต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรแหล่งน้ำและทรงซักถามข้อมูลจากราษฎร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรแหล่งน้ำและทรงซักถามข้อมูลจากราษฎร

คลองส่งน้ำรับน้ำไปสู่พื้นที่เพาะปลูก
คลองส่งน้ำรับน้ำไปสู่พื้นที่เพาะปลูก

บึง แหล่งน้ำธรรมชาติในชนบทที่ปรับปรุงให้สามารถเก็บน้ำได้มาก
บึง แหล่งน้ำธรรมชาติในชนบทที่ปรับปรุงให้สามารถเก็บน้ำได้มาก

ฝายทดน้ำ ช่วยทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูง แล้วส่งเข้าคลองส่งน้ำ
ฝายทดน้ำ ช่วยทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูง แล้วส่งเข้าคลองส่งน้ำ ประเภทของงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

งานพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร ที่นิยมก่อสร้างกันทั่วไปมีหลายประเภท ได้แก่ งานอ่างเก็บน้ำ งานสระเก็บน้ำ งานขุดลอกหนองและบึง งานฝายทดน้ำ งานคลองส่งน้ำ และงานสูบน้ำ โดยมีรายละเอียดงานแต่ละประเภท ดังนี้

๑. งานอ่างเก็บน้ำ

อ่างเก็บน้ำ คือ บริเวณ หรือแหล่งเก็บน้ำที่ไหลมาตามร่องน้ำ หรือลำน้ำธรรมชาติ โดยการสร้างเขื่อนปิดกั้นระหว่างหุบเขา หรือเนินสูง เพื่อเก็บกักน้ำรวมไว้ในระหว่างหุบเขา หรือเนินสูงนั้น จนเกิดเป็นแหล่งเก็บน้ำที่มีขนาดต่างๆ กัน โดยเรียกเขื่อนกั้นน้ำนี้ว่า "เขื่อนเก็บกักน้ำ"

๒. งานสระเก็บน้ำ

สระเก็บน้ำ คือ แหล่งเก็บขังน้ำฝน น้ำท่า หรือน้ำที่ไหลออกมาจากดิน ด้วยการขุดดินให้เป็นสระสำหรับเก็บขังน้ำ โดยมีขนาดความยาว ความกว้าง และความลึกของสระ ตามจำนวนน้ำที่ต้องการจะเก็บไว้ใช้งาน

๓. งานขุดลอกหนองและบึง

เป็นงานขุดลอกดินในหนองและบึงธรรมชาติที่ตื้นเขิน ให้มีความลึกจนสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้น

๔. งานฝายทดน้ำ

เป็นงานก่อสร้างฝาย ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูง จนสามารถผันเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำ ให้กับพื้นที่เพาะปลูกตามบริเวณสองฝั่งลำน้ำ ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลล้นข้ามสันฝายไปเอง

๕. งานคลองส่งน้ำ

คลองส่งน้ำคือ ทางน้ำที่ขุดหรือก่อสร้างขึ้น เพื่อนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากอ่างเก็บน้ำ และจากแหล่งน้ำด้านหน้าฝาย หรือหน้าเขื่อนระบายน้ำ แจกไปให้พื้นที่เพาะปลูก หรือบริเวณที่ต้องการน้ำ คลองส่งน้ำทุกสายจะมีแนวไปตามบริเวณที่สูง ซึ่งสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ที่ต้องการน้ำทั้งหมดได้ โดยคลองที่สร้างจะมีขนาดและสัดส่วนพื้นที่รูปตัดขวางของตัวคลอง โตพอที่จะส่งน้ำในปริมาณที่ต้องการ และมีระดับน้ำในคลองสูง เพื่อการส่งออกไปยังบริเวณที่ต้องการน้ำได้อย่างสะดวก นอกจากนั้น บริเวณคลองส่งน้ำทุกสาย จะต้องสร้างอาคารประเภทต่างๆ ตามความเหมาะสม เพื่อใช้ควบคุม และบังคับน้ำให้สามารถส่งไปตามคลอง จนถึงพื้นที่ทุกแห่งที่ต้องการ

๖. งานสูบน้ำ

เป็นงานสูบน้ำจากแหล่งน้ำ ให้สูงขึ้นถึงระดับพื้นดิน ที่สามารถส่งน้ำต่อไปตามคลองส่งน้ำ ให้กับพื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำดังกล่าวอาจเป็นแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะต้องมีน้ำเพียงพอให้สูบไปใช้งานได้ ในเวลาที่ต้องการ
อ่างเก็บน้ำ สามารถเก็บน้ำจำนวนมากเพื่อใช้ในการเกษตร
อ่างเก็บน้ำ สามารถเก็บน้ำจำนวนมากเพื่อใช้ในการเกษตร

ท่อส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก
ท่อส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก

การพัฒนาแหล่งน้ำช่วยให้สัตว์เลี้ยงไม่ขาดแคลนน้ำ
การพัฒนาแหล่งน้ำช่วยให้สัตว์เลี้ยงไม่ขาดแคลนน้ำ

ภูมิประเทศบริเวณสร้างเขื่อนดินต้องมีเนินสองฝั่งลำน้ำใกล้กัน
ภูมิประเทศบริเวณสร้างเขื่อนดินต้องมีเนินสองฝั่งลำน้ำใกล้กัน การเลือกประเภทงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

ในการเลือกประเภทงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ต้องมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำ ศึกษาสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ และตรวจสอบภูมิประเทศ ในบริเวณที่จะก่อสร้างงานพัฒนาแหล่งน้ำให้ถูกต้อง ตามหลักวิชาการก่อนเสมอ เพื่อประกอบการพิจารณาว่า สมควรเลือกสร้างงานพัฒนาแหล่งน้ำประเภทใด จึงจะมีความเหมาะสม และได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ

๑. ความต้องการใช้น้ำ

ประกอบด้วย

๑.๑ ความต้องการน้ำเพื่อการเพาะปลูก

เป็นปริมาณน้ำที่พืชต้องการ เพื่อการเจริญ เติบโต โดยพื้นที่เพาะปลูก อาจได้รับน้ำดังกล่าวจากน้ำฝน ได้จากฝนรวมกับน้ำที่จัดหามาเพิ่มเติม จากงานพัฒนาแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น หรือใช้แต่น้ำ ที่ได้มาจากงานพัฒนาแหล่งน้ำ ที่สร้างขึ้นอย่างเดียว ซึ่งปริมาณดังกล่าวเป็นน้ำ ที่พืชใช้ เพื่อการเจริญเติบโตในแปลงเพาะปลูก รวมกับน้ำที่สูญเสีย เนื่องจากการรั่วซึมลงในดิน และที่ไหลออกจากแปลงปลูกพืชไปตามผิวดินด้วย

๑.๑.๑ ความต้องการน้ำในนาข้าว

ต้นข้าวในระยะแรกปลูกต้องการน้ำจำนวนไม่มาก และต้องการเพิ่มมากขึ้นๆ จนต้องการน้ำมากที่สุด ในระยะที่ต้นข้าวออกรวง จนถึงระยะที่เมล็ดข้าวเริ่มแก่ จึงระบายน้ำออก การทำนาในประเทศไทย น้ำที่ใช้เพื่อการปลูกข้าว โดยเฉลี่ยตั้งแต่ระยะไถคราด เตรียมแปลง แล้วปล่อยน้ำขังในนาตอนเริ่มปักดำ ถึงระยะเก็บเกี่ยว จะต้องการรวมทั้งหมด เป็นความลึกประมาณ ๑,๓๐๐ มิลลิเมตร

๑.๑.๒ ความต้องการน้ำสำหรับ พืชไร่ ผัก และต้นไม้ผล

พืชไร่ ผัก และต้นไม้ผล มีความต้องการน้ำมากหรือน้อย ในปริมาณ แตกต่างกัน นอกจากนั้น แต่ละช่วงของการเจริญ เติบโตสำหรับพืชต่างๆ ก็ต้องการน้ำในอัตราไม่เท่ากัน นั่นคือ ระยะแรกปลูก พืชมีความต้องการน้ำน้อย และจะต้องการเพิ่มมากขึ้น จนต้องการน้ำมากที่สุด ในระยะที่พืชออกดอก และมีผล จนกระทั่งผลเริ่มแก่เต็มที่ จึงต้องการน้ำน้อยมาก เช่น ผักที่ปลูกในประเทศไทย โดยเฉลี่ยจะต้องการน้ำ รวมตลอดอายุของผัก เป็นความลึกประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ มิลลิเมตร ส่วนพืชไร่ เช่น ข้าวโพด จะต้องการน้ำรวมตลอดอายุที่ปลูกประมาณ ๓๕๐ - ๔๐๐ มิลลิเมตร ฯลฯ

๑.๒ ความต้องการน้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์

ในท้องถิ่นที่สัตว์เลี้ยงขาดแคลนน้ำเป็นประจำ งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ควรพิจารณารวมน้ำสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ด้วย ตามเกณฑ์โดยประมาณคือ วัวและควายต้องการน้ำตัวละประมาณ ๕๐ ลิตรต่อวัน หมูตัวละประมาณ ๒๐ ลิตรต่อวัน และไก่ตัวละประมาณ ๐.๑๕ ลิตรต่อวัน เป็นต้น

๑.๓ ความต้องการน้ำของราษฎรในหมู่บ้าน

หมู่บ้าน และตำบล ซึ่งขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ราษฎรมักขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ที่จะสร้างอยู่ในบริเวณใกล้กับหมู่บ้าน จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราษฎรในชนบท ซึ่งจะมีน้ำ เพื่อการใช้สอยได้ตลอดทั้งปี โดยทั่วไปราษฎรในชนบทที่ขาดแคลนน้ำ จะต้องการน้ำประมาณวันละ ๖๐ ลิตร ต่อคน

๑.๔ ความต้องการน้ำสำหรับเลี้ยงปลา

แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ใช้เป็นที่เลี้ยงปลาได้ เช่น อ่างเก็บน้ำ สระเก็บน้ำ รวมทั้งหนองและบึง ที่ขุดแล้วมีน้ำตลอดปี ในช่วงปลายฤดูแล้ง หรือก่อนที่จะมีน้ำท่าไหลลงมาให้เก็บกักใหม่ ควรกำหนดให้เหลือน้ำในแหล่งน้ำมีความลึกไม่น้อยกว่า ๑ เมตร เพื่อที่ปลาจะได้มีชีวิต และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องไปได้ดี

๒. สภาพแหล่งน้ำ

แหล่งน้ำที่เหมาะสม สำหรับงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรแต่ละประเภท มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

๒.๑ แหล่งน้ำที่ควรสร้างอ่างเก็บน้ำ

เป็นแหล่งน้ำบนผิวดินประเภทลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำ ที่มีน้ำไหลตลอดปี มีน้ำไหลเฉพาะในฤดูฝน หรือลำน้ำ ซึ่งไม่มีน้ำไหลในฤดูแล้ง อ่างเก็บน้ำที่สร้าง จะเก็บน้ำที่ไหลลงมามากตอนช่วงฤดูฝน ให้เป็นแหล่งน้ำสำรอง สำหรับใช้เพื่อการเกษตรได้ ทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง

๒.๒ แหล่งน้ำที่ควรสร้างสระเก็บน้ำ

เป็นแหล่งน้ำบนผิวดินเช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำ แต่สระเก็บน้ำเป็นงานขนาดเล็ก ซึ่งเก็บน้ำได้น้อย ตามจำนวนดินที่ขุดขึ้นไปจากสระ จึงไม่ต้องการแหล่งน้ำบนผิวดินที่เป็นลำธาร หรือลำห้วย เหมือนกับงานอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำที่ควรเลือกสร้างงานสระเก็บน้ำ ได้แก่ ร่องน้ำขนาดเล็ก บริเวณพื้นที่ลาดเอียง ซึ่งมีน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ พื้นที่ราบ พื้นที่ลุ่ม มีน้ำท่วมเป็นครั้งคราว ตลอดจนพื้นที่บริเวณที่มีระดับน้ำใต้ผิวดินอยู่ตื้น

๒.๓ แหล่งน้ำที่ควรขุดลอก

ได้แก่ หนองและบึง ที่มีสภาพตื้นเขิน จนเก็บขังน้ำตอนช่วงฤดูฝนไว้ได้ไม่มากเท่าที่ควร และเป็นเหตุให้น้ำที่เก็บไว้มีไม่พอใช้ในฤดูแล้ง

๒.๔ แหล่งน้ำที่ควรสร้างฝายทดน้ำ

ได้แก่ ลำน้ำลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี หรือเกือบตลอดปี โดยฝายจะมีโอกาสทดและผันน้ำไปใช้ เพื่อเพาะปลูกพืชได้ทุกเวลาที่ต้องการ และเมื่อลำน้ำสายใดไม่มีน้ำไหลตลอดเวลา หรือเกือบทั้งปี ถ้าหากภูมิประเทศไม่สามารถสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำได้แล้ว ที่ลำน้ำดังกล่าวก็ควรพิจารณาสร้างเป็นฝายแทน ซึ่งจะสามารถทดน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกได้ ตลอดระยะฤดูฝนที่มีน้ำไหล ส่วนในฤดูแล้ง เมื่อไม่มีน้ำไหล ฝายจะทำหน้าที่เก็บน้ำไว้ในลำน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค หรืออาจแบ่งไปใช้ปลูกพืชผักสวนครัวได้บ้าง

๒.๕ แหล่งน้ำที่ควรสร้างคลองส่งน้ำ

เป็นแหล่งน้ำบนผิวดินประเภทต่างๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำถาวรมีน้ำให้ใช้ตลอดปี แหล่งน้ำด้านหน้าฝายและเขื่อนระบายน้ำ และลำน้ำขนาดใหญ่ ที่มีน้ำไหลมามากในฤดูกาลเพาะปลูก จนมีระดับเสมอตลิ่งหรือใกล้เคียงกับตลิ่งทุกปี

๒.๖ แหล่งน้ำที่ควรสูบน้ำไปใช้

ได้แก่ แหล่งน้ำที่มีน้ำตลอดปี หรือมีน้ำให้สูบขึ้นมาใช้ เมื่อต้องการ เช่น อ่างเก็บน้ำ ในกรณีสูบน้ำขึ้น ไปใช้เพาะปลูกในบริเวณของอ่างเก็บน้ำ และ ลำน้ำต่างๆ ซึ่งมีน้ำไหลในฤดูกาลเพาะปลูก เป็นต้น

๓. สภาพภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศ ของบริเวณที่จะก่อสร้าง งานพัฒนาแหล่งน้ำทุกประเภท มีความสำคัญที่จะต้องพิจารณา พร้อมกับสภาพแหล่งน้ำเสมอ ในบางท้องที่ แม้ว่าแหล่งน้ำจะเอื้ออำนวยให้ทำการพัฒนาได้ ถ้าหากภูมิประเทศไม่เหมาะสม อาจเป็นสาเหตุทำให้เสียค่าก่อสร้างจำนวนมาก จนต้องยกเลิกโครงการ เนื่องจากได้รับประโยชน์ไม่คุ้มกับการลงทุนก็ได้

ที่มา:http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=12&chap=8&page=t12-8-l2.htm


พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ยังขาดมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนอาจมีผลกระทบต่อการประมงของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเพิ่มมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็วเพื่อมิให้กระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

  2. พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ บางอย่างไม่เหมาะสมและซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปรับปรุงใหม่แล้ว สมควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  3. พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

  4. พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การปฏิบัติตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจในการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดไว้ไม่อาจดำเนินการได้ตามกำหนดระยะเวลา ทำให้การกำหนดสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรา ๓๐ (๔) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการถ่ายโอนภารกิจ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริงนั้น และยังคงเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้าไว้เช่นเดิม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  5. พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและบริหารจัดการน้ำในระดับไร่นาที่เชื่อมโยงกับระบบชลประทานเพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง แต่ด้วยกระบวนการในการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายปัจจุบันไม่สามารถที่จะขยายเขตโครงการจัดรูปที่ดินได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของเกษตรกร สมควรปรับปรุงกระบวนการในการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเสียใหม่ โดยลดขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การจัดรูปที่ดิน และกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ภาครัฐสามารถขยายเขตการจัดรูปที่ดินให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานไปใช้ในการเพาะปลูกได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีรูปแบบใกล้เคียงกับการจัดรูปที่ดิน แต่มีบทบัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ไม่เหมาะสมแก่กาลสมัย ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรยกเลิกพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยปรับปรุงกระบวนการในการจัดทำคันและคูนํ้าเสียใหม่ ให้เป็นการดำเนินการในรูปแบบการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อจะบูรณาการให้เป็นกฎหมายที่รัฐสามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างภาคการเกษตรให้สมบูรณ์ สามารถวางแผนการจัดระบบชลประทานในระดับไร่นาเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร สอดรับกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างฐานรากในการทำเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  6. พระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ.121
    มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า การเพาะปลูกก็ดี การค้าขายไปมาก็ดี ในพระราชอาณาเขตนี้ ทางน้ำลำคลองเป็นสำคัญ และในเวลานี้คลองก็มีอยู่แล้วเป็นอันมากแต่ชำรุดตื้นเขินไปเสียโดยมาก เหตุเพราะยังมิได้จัดการรักษาให้พอเพียง ทรงพระราชดำริจะบำรุงและรักษาคลองเก่าที่มีอยู่แล้ว และที่จะขุดขึ้นใหม่ให้เรียบร้อยถาวร เพื่อให้เป็นประโยชน์และสะดวกแก่ธุระของราษฎรยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ดังนี้

  7. พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบัน เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ทั้งสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งและสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมควรเปิดกว้างให้เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  8. พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากเป็นการสมควรกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ประกอบกับบทบัญญัติบางมาตราตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่เหมาะสมกับการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้