คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2544
หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 3 บ่อบนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีโดยเด็ดขาดและยังเป็นผู้ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษเหตุเกิดที่ตำบลองครักษ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานได้สำรวจบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำดังกล่าวพบอุปกรณ์เครื่องตีน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องซึ่งจำเลยได้ใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดดังกล่าวแต่เจ้าพนักงานไม่อาจยึดมาเก็บรักษาขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 9, 98ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 37 กับริบทรัพย์ดังกล่าวและสั่งให้จำเลยส่งทรัพย์สินที่ริบให้แก่พนักงานสอบสวน
เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 4,9, 98 วรรคสอง จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ริบทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง และให้จำเลยส่งทรัพย์ที่ริบแก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 100,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 50,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 ในกรณีที่มีการกักขังแทนค่าปรับก็ให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ไม่ริบทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาว่าควรริบทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ เห็นว่า ของกลางคดีนี้มีเครื่องยนต์ยี่ห้อยันมาร์ ยี่ห้อนิสสัน ชุดเกียร์ปั่นน้ำ ชุดแกนเหล็กติดใบพัดใช้ตีน้ำ ทุ่นรองแกนเหล็กฯ ล้วนเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทั่วไป มิใช่เครื่องมือที่มีไว้จะเป็นความผิดในตัวโดยตรง ซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ของกลางไว้โดยเฉพาะจึงต้องอาศัยบทบัญญัติการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่ริบของกลางคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาส่วนนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งและให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรืองานเพื่อสาธารณประโยชน์ตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7