คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2527
หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -
พนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานี โจทก์
นางทิพวรรณ สวามิวัสตุ์ จำเลย
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 4, 59, 68, 105, 148
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีแร่ดีบุก 2,800 กิโลกรัมและขี้แร่ 570 กิโลกรัมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105, 148, 154 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องให้ปรับเป็นเงิน 2,289,412 บาท 23 สตางค์ และริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า "เขตเหมืองแร่" ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4 หมายความรวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ทิ้งมูลดินด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4 คำว่า "เขตเหมืองแร่" หมายความว่า เขตพื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรเท่านั้น สำหรับการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายเนื่องจากการทำเหมืองนั้น พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 59 ห้ามมิให้กระทำนอกเขตเหมืองแร่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้น้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายไปทำให้ทางน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเสื่อมประโยชน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 จึงเป็นที่เห็นได้ว่า พื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรอันเป็นเขตเหมืองแร่ กับพื้นที่ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนั้นเป็นคนละส่วน คนละกรณีเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ถ้าหากเขตเหมืองแร่หมายรวมถึงพื้นที่ซึ่งใช้เป็นที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายในกรณีที่ได้รับใบอนุญาตให้เก็บหรือกระทำได้นอกเขตพื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรอย่างที่จำเลยฎีกาแล้ว จำเลยก็อาจจะทำเหมืองนอกพื้นที่ซึ่งกำหนดในประทานบัตรได้ ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนั้น เขตเหมืองแร่จึงมิได้รวมถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งใช้เป็นที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกประทานบัตร ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนได้ความว่า เจ้าพนักงานตรวจพบแร่ของกลางอยู่ในบ้านพักซึ่งปลูกอยู่ในเขตซึ่งเป็นที่ทิ้งมูลดินทรายนอกเขตพื้นที่ในประทานบัตร จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน
( ชูเชิด รักตะบุตร์ - ประสาท บุณยรังษี - โกมล อิศรางกูร ณ อยุธยา )
หมายเหตุ