คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2500

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดยโสธร  โจทก์
นางสา กระจกศรี    จำเลย

ป.อ.
ป.พ.พ.
พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 นายเภาเรืองโกสินทร์ ผู้รักษาการแทนนายอำเภอคำเขื่อนแก้ว ได้ออกคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ห้ามมิให้จำเลยเข้าไปปักดำทำนาในเขตหนองบัวซึ่งทางราชการได้ขึ้นทะเบียนหวงห้ามไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์สำหรับคนและสัตว์พาหนะอาศัยใช้น้ำอาบกินร่วมกัน จำเลยได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วต่อมาระหว่างวันที่ 1 ถึง 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 จำเลยบังอาจขัดขืนเข้าไปปักดำทำนาปลูกข้าวในบริเวณที่หนองบัว อันเป็นที่สาธารณ ดังกล่าวแล้วเป็นเนื้อที่ 3 งาน และคงขัดขืนตลอดมาจนวันฟ้อง เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งมน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลมาแล้วครั้งหนึ่ง ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย25 บาท ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 334(2) จำเลยพ้นโทษยังไม่ถึง 1 ปี มากระทำผิดขึ้นอีก จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 334(2), 76พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 117, 122

จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินที่โจทก์อ้างตามฟ้องเป็นของจำเลยไม่ใช่ที่หนองสาธารณประโยชน์ จำเลยทำกินร่วมกับพ่อแม่มาจนบัดนี้ได้ 38 ปีแล้ว ไม่เคยมีเรื่อง จำเลยเพิ่งถูกกำนันสมหาว่า ทำในที่ของหลวงจำเลยได้รับสารภาพต่อศาลเพื่อให้เรื่องเสร็จไปเท่านั้นเมื่อมาถูกฟ้องอีกเช่นนี้ก็ขอต่อสู้คดี ต่อมาจำเลยให้การเพิ่มเติมต่อศาลอีกว่า จำเลยพ้นโทษในคดีก่อนไปยังไม่ถึง 1 ปี จริงดังโจทก์กล่าวในฟ้อง สำหรับคดีนี้นายเภาได้ห้ามจำเลยมิให้เข้าไปปักดำทำนาในเขตหนองบัวจริง แต่จำเลยถือว่าเจ้าพนักงานไม่มีอำนาจห้ามจำเลยเพราะไม่ใช่เป็นที่สาธารณะ ทางราชการจะได้ประกาศกำหนดเขตขึ้นทะเบียนหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์สาธารณเมื่อใดจำเลยไม่ทราบ

ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า หนองบัวมีความยาว 3 เส้นเศษ กว้าง 2 เส้น หน้าฝนมีน้ำเต็ม หน้าแล้งมีน้ำบริเวณกว้างเส้นเศษ ยาว 2 เส้นน้ำลึกแค่หัวเข่า ทางราชการได้ประกาศขึ้นทะเบียนหวงห้ามหนองนี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 สำหรับคนและสัตว์อาศัยใช้น้ำก่อนขึ้นทะเบียน ดังว่านี้ บิดานางสา จำเลยกับนางฐินครอบครองทำนาในหนองนี้คนละครึ่ง แต่จะทำอยู่กี่ปีไม่ปรากฏ เมื่อทางราชการประกาศหวงห้ามแล้วไม่มีใครปักดำข้าวในบริเวณหนองอีกจน พ.ศ. 2496 นางสา จำเลยจึงเข้าทำ ทางอำเภอได้เรียกนางสาไปทำทัณฑ์บนว่าจะไม่เข้าไปทำอีก ครั้น พ.ศ. 2497 นางสาเข้าทำอีก จึงถูกฟ้องและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยไปคราวหนึ่งแล้ว ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 จำเลยเข้าปักดำในหนองบัวนี้อีก โดยเหลือบริเวณหนองไว้ประมาณ 1 ไร่ ที่ดินของจำเลยอยู่ติดกับหนองบัวนี้ ชั้นสอบสวนคดีนี้ จำเลยรับสารภาพผิด และรับว่า ได้ทราบแล้วว่าที่รายนี้เป็นที่สาธารณ

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า หนองบัวอยู่ในที่นาของจำเลย ๆ ได้รับมรดกร่วมกับนางนีผู้เป็นพี่จากมารดา และทำนาในหนองนี้มาได้ 20 ปีเศษแล้วหน้าแล้วน้ำในหนองบัวแห้ง จำเลยและคนในหมู่บ้านต้องไปใช้น้ำในลำห้วยขาม ซึ่งอยู่ห่างหนองบัว ราว 30 เส้น เมื่อ พ.ศ. 2497 จำเลยดำนาในหนองบัว นายประยูร ปลัดอำเภอห้ามไม่ให้ทำ จำเลยไม่ยอมฟัง ต่อมานายเภา ปลัดอำเภอได้ห้ามไม่ให้จำเลยทำนาในที่นี้อีกต่อไป แต่จำเลยยังเข้าใจว่า หนองบัวเป็นที่ของจำเลยอยู่ ไม่ทราบว่าเป็นที่สาธารณหนองบัวซึ่งจำเลยทำนา และถูกฟ้องคราวก่อนเป็นที่แห่งเดียวกับที่จำเลยทำและถูกฟ้องคราวนี้ คนและสัตว์ไม่เคยใช้น้ำในหนองบัวอาบและกินเลยตลอดปี ที่หนองบัวไม่มีป้ายบอกว่าเป็นที่สาธารณ ส่วนที่ลำห้วยขามมีป้ายปักว่าเป็นที่หวงห้ามที่สาธารณ

ศาลจังหวัดยโสธรพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่หนองบัวนี้มีผู้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อน จะเรียกว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ ในข้อที่ว่าราษฎรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในหนองรายนี้อย่างไรบ้าง โจทก์ไม่ได้นำสืบ ฝ่ายจำเลยมีพยานแสดงว่าไม่มีใครเข้าเกี่ยวข้องทำประโยชน์ในหนองนี้ เว้นแต่จำเลยและพวกของจำเลยเท่านั้นจึงไม่พอที่จะฟังว่า หนองบัวเป็นที่ซึ่งประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การที่จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า ที่นี้เป็นที่สาธารณไม่ปิดปากจำเลยมิให้เถียงว่าความจริงเป็นที่จำเลย ไม่ใช่ที่สาธารณ การที่ทางราชการประกาศขึ้นทะเบียนหวงห้ามเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ปรากฎว่า ได้ทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด เอาผิดแก่จำเลยฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานยังไม่ได้ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า หนองบัวเป็นหนองเกิดขึ้นโดยธรรมชาติมานานแล้ว เป็นหนองสาธารณอันเดียวในทุ่งหนองมนหน้าฝนมีน้ำเต็มหนอง บิดาจำเลยและนางฐินเคยครอบครองทำนาในหนองบัวคนละครึ่ง แต่เว้นตรงกลางหนองกว้างประมาณ 1 เส้น ยาว 3 เส้นชาวบ้านคงจะได้ใช้น้ำในหนองนี้เป็นประโยชน์ในฤดูฝน เมื่อน้ำในหนองแห้งในฤดูแล้งจึงพากันไปใช้น้ำในลำห้วย ซึ่งอยู่ห่างหนองบัวถึง30 เส้น เพราะเหตุที่ราษฎรในตำบลทุ่งหนองมน ได้อาศัยใช้น้ำในหนองบัวเป็นประโยชน์แก่คนและสัตว์ ทางคณะกรมการอำเภอจึงได้ประกาศกำหนดเขตขึ้นทะเบียนหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์สาธารณเมื่อมีประกาศแล้วก็ไม่มีผู้ใดปักดำข้าวในบริเวณหนองบัวอีกเลยจำเลยเพิ่งเข้าทำอีกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2496 นายอำเภอจึงมีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใดบุกรุกเข้าไปกีดกันทำประโยชน์ในหนองนั้น ตามอำนาจในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 เมื่อจำเลยขัดคำสั่งนั้น จำเลยย่อมมีผิดตามฟ้องโจทก์ จึงพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334(2)พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 117, 122 ให้ปรับนางสา จำเลย 40 บาท จำเลยเคยต้องโทษฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานครั้งหนึ่ง ศาลปรับ 25 บาท พ้นโทษไปยังไม่ถึง 1 ปี มากระทำความผิดขึ้นอีกไม่เข็ดหลาบให้เพิ่มโทษตาม มาตรา 76 เป็นทวีคูณคงปรับ 80 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม มาตรา 18
จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ควรมีผิด เพราะที่หนองบัวไม่ใช่ที่สาธารณ
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่เถียงกัน คือ ว่าหนองบัวนี้เป็นหนองอันเดียวในตำบลทุ่งหนองมนในข้อที่ว่า หนองนี้เป็นที่ ๆ สาธารณชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือเป็นของจำเลยและวงศ์ญาติใช้กันแต่ลำพังนั้น ศาลฎีกาเห็นน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า หนองนี้เป็นหนองสาธารณ เพราะ (1) นายโสม สู้ณรงค์ กำนันเจ้าของท้องที่เบิกความว่าเป็นที่สาธารณ (2) มีหลักฐานทางราชการว่า ได้ขึ้นทะเบียนหนองนี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 และ (3) ตัวจำเลยเองก็ยอมรับในคำให้การเพิ่มเติมของจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นจดเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2498ว่าจำเลยเคยถูกฟ้องฐานบุกรุกหนองสาธารณนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 คราวหนึ่งแล้ว และจำเลยรับสารภาพ ศาลจังหวัดยะโสธรได้ตัดสินลงโทษจำเลยไปในคดีนั้น จำเลยพ้นโทษไปยังไม่ถึง 1 ปี ก็มากระทำการที่โจทก์หาว่าเป็นผิดในคดีนี้อีก

เมื่อฟังว่า หนองบัวเป็นที่สาธารณ ทางราชการหวงห้ามไว้สำหรับคนและสัตว์พาหนะอาศัยอาบกินดังว่านี้แล้ว หนองบัวก็ย่อมเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) แม้จำเลยจะอ้างว่า ตนและบิดามารดาได้ครอบครองทำกินมาเป็นเวลานานสักเท่าใดก็ดี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 จำเลยก็ไม่อาจยกเอาอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินได้ หนองบัวนี้จึงไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือนางนีพี่ของจำเลยดังที่จำเลยต่อสู้เมื่อหนองบัวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนี้ และจำเลยรับว่าได้เข้าไปปักดำทำนาในหนองนี้เป็นการฝืนคำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานจำเลยก็ย่อมมีความผิดฐานขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 117 และ 122 ดังโจทก์ฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 40 บาท เป็นการชอบแล้วส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้เพิ่มโทษจำเลยเป็นทวีคูณ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 76 นั้นโดยที่ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป โดยที่ มาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้ที่กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดเว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว โดยที่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด และโดยที่มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ถือว่าความผิดลหุโทษเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในหมวด 8 แห่งประมวลกฎหมายนั้นจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยเป็นการถูกต้องตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้นก็จริง แต่เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายปัจจุบันไม่ได้ จึงให้ปรับจำเลยเพียง 40 บาท โดยไม่เพิ่มโทษ

( จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ - ธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร - ดุลยกรณ์พิทารณ์ )

หมายเหตุ

มีข้อที่น่าสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือ คำสั่งนายอำเภอตั้งแต่พ.ศ. 2496 จำเลยเคยถูกฟ้องฐานบุกรุกทำนาในที่สาธารณ ถูกลงโทษไปเมื่อ พ.ศ. 2497 โทษที่จำเลยได้รับเป็นโทษฐานขัดคำสั่ง ซึ่งน่าจะเป็นในกรณีเข้าทำนาเช่นเดียวกันกับคดีนี้ เมื่อจำเลยขัดคำสั่งเดียวกันนั้นอีกจำเลยก็มีความผิดอีก ข้อเท็จจริงน่าจะเป็นดังนี้แต่ไม่ชัดเจนนัก เพราะไม่ใช่ปัญหาที่โต้เถียงกันขึ้นมาตรง ๆถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ ก็น่าจะพิจารณาฎีกาที่ 792/2479 ซึ่งตัดสินไปในทางว่าเมื่อมีคำสั่ง และจำเลยขัดคำสั่งนั้น ศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว จำเลยทำการฝ่าฝืนคำสั่งนั้นอีกศาลไม่ลงโทษจำเลยอีกและควรดูบันทึกท้ายฎีกานั้นกับฎีกาที่ 1040/2499 ประกอบด้วย

บรรณาธิการ