คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3521/2536

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีก
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

เทศบาล เมือง นครสวรรค์                 โจทก์
นาย ไพศาล การุณรังษี กับพวก           จำเลย
 

ป.อ. มาตรา 229, 360
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 28
ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108
พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำสยาม มาตรา 117, 118, 120
พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2481 มาตรา 50

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ เทศบาล พ.ศ. 2496 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินส่วนท้องถิ่นภายในเขตเทศบาลเมืองนครสวรรค์ ตลอดจนมีอำนาจดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและได้รับมอบอำนาจจากกรมเจ้าท่าให้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินและทางน้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาลเมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2528ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2529 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้งสามกับพวกอีกหลายคนร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมกล่าวคือ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินชายตลิ่งและทางน้ำสาธารณะแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์และสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันที่อยู่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันของโจทก์ และที่ได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่าให้ดูแลรักษาและคุ้มครองตามกฎหมายและร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า และทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดังกล่าวโดยเททิ้ง หิน กรวด ทราย ดิน และสิ่งอื่น ๆ ลง ทำให้สกปรกเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือเป็นอันตรายแก่การเดินเรือ หรืออยู่ในลักษณะอันอาจจะเป็นอันตรายแก่การสัญจร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือจากโจทก์ตามกฎหมาย และร่วมกันปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยล่วงล้ำเข้าไปทำให้โจทก์และสาธารณชนเสียหายทำให้แม่น้ำเปลี่ยนช่องน้ำซึ่งก่อความเสียหายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาและที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง เกิดน้ำท่วมทำให้ตลิ่งฝั่งตรงข้ามเสียหาย ทำให้เกิดน้ำขังทางน้ำเดินไม่สะดวก เหตุเกิดที่ตำบลบางปลอง (ปากน้ำโพ) อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 229, 360, 362, 365พระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118,119, 120 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 229, 360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118, 119, 120ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ยกคำสั่ง ศาลชั้นต้นที่ให้งดส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยทั้งสาม

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229, 360,362, 365 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456มาตรา 117, 118, 119, 120 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ในฐานความผิดดังกล่าวหรือไม่อีกต่อไป ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229, 360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118, 119, 120ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(1) และพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(1) เอกชนจะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ แม้โจทก์เป็นเทศบาลเมือง ซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำตามพระราชบัญญัติเทศบาลพ.ศ. 2496 มาตรา 50(2), 53 และกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในเขตเทศบาล ทั้งอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบอำนาจเจ้าท่าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ให้โจทก์ดูแลรักษาลำน้ำในเขตเทศบาล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดดังกล่าวเหล่านั้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229, 360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118, 119, 120ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

( อัครวิทย์ สุมาวงศ์ - อากาศ บำรุงชีพ - สมศักดิ์ วิธุรัติ )

หมายเหตุ