คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2550
หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -
พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี โจทก์
นายจรูญ ฟ้าหวั่น จำเลย
พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 4
โจทก์ฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย มาตรา 50 วรรคสอง และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 2/2541 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งตามความในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ครั้นต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2541 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดภายในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งนี้หากผู้ประกอบการรายใดอยู่ระหว่างช่วงของการเพาะเลี้ยงก็ให้ดำเนินการได้แต่ละช่วงและจัดกุ้งให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่งเป็นต้นไปซึ่งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 แล้ว เมื่อระหว่างวันที่ 14 สิงหาคม 2541 เวลากลางวันถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันมาตลอด จำเลยได้ทำการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีจำนวน 2 บ่อ บนเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวและยังเป็นผู้ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษและเป็นการเพิ่มความรุนแรงแก่สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงด้วยการกระทำของจำเลยดังกล่าวอีกด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 9, 98 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 37 ให้ริบทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องและสั่งให้จำเลยส่งทรัพย์สินที่ริบให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 9, 98 วรรคหนึ่ง จำคุก 9 เดือน และปรับ 60,000 บาท คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ 2/2541 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งตามความในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 วันที่ 6 สิงหาคม 2541 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดภายในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และจำเลยทราบประกาศคำสั่งทั้งสองฉบับแล้ว ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ว่าที่ร้อยตรีอุดม วงษ์ศิลป์ ปลัดอำเภอสองพี่น้อง และนายสุวิทย์ชาติ ขยันการนาวี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันออกตรวจสอบการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าจำเลยเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 2 บ่อ ในพื้นที่ 7 ไร่ และมีอุปกรณ์การเลี้ยงกุ้ง ตามบัญชีทรัพย์ จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรี และคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2541 และคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวไม่มีคำนิยามหรือให้ความหมายของคำว่า การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำคือความเค็มเท่าใด จึงไม่ชัดเจน ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคำสั่งที่ออกตามคำสั่งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งนายรัฐมนตรีที่ 2/2541 ทั้งสองคำสั่งมีใจความสำคัญสอดคล้องต้องกันว่า การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศเป็นเหตุให้เกิดภาวะมลพิษทั้งทางน้ำและในดิน... ฯลฯ เกิดภาวะขาดความสมดุลตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เกิดความเสียหายต่อทรัทย์สินของรัฐและประชาชน ผลตอบแทนที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดไม่คุ้มกับความเสียหายต่อทรัพยากร จึงให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืด และผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ตามคำสั่งดังกล่าวแม้ไม่ได้ให้คำนิยามหรือให้ความหมายว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ คือ ความเค็มอัตราส่วนเท่าใด แต่ตามข้อเท็จจริงย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่า คือ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในน้ำซึ่งนำน้ำทะเลพอประมาณมาเติมผสมลงในน้ำจืดโดยกุ้งกุลาดำมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเลยก็เข้าใจความหมายดังกล่าวดี จึงนำสืบต่อสู้ไว้ตรงประเด็นว่า ช่วงวันเวลาเกิดเหตุตามคำฟ้องจำเลยไม่ได้นำน้ำทะเลมาเติมผสมลงในน้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงกุ้งกุลาดำของจำเลยแต่อย่างใด คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาทำนองว่า จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าจำเลยเติมน้ำเค็มลงในบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุหรือไม่ เพียงใด เป็นการสืบพยานไม่ครบองค์ประกอบความผิด เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับฎีกาของจำเลยข้อนี้ไว้วินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
( พีรพล พิชยวัฒน์ - เกษม วีรวงศ์ - ฐานันท์ วรรณโกวิท )
หมายเหตุ