คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6770/2551

 

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น

หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา

หมายเลขคดีดำ -
พนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี    โจทก์
นางถัด ศรีสุขใส                                 จำเลย
 

ป.อ. มาตรา 95

พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117, 118

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2547 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 7 เมษายน 2547 เวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยก่อสร้างเขื่อนเรียงหินรุกล้ำลงไปในทะเล หาดบ้านบางน้ำจืดอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย มีเนื้อที่ 132 ตารางเมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117, 118

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 (ที่ถูก 117 วรรคหนึ่ง), 118 ปรับ 66,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับ 44,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีสิงแวดล้อมวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า บ้านจำเลยปลูกอยู่บริเวณหาดบ้านบางน้ำจืด ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยได้ก่อสร้างเขื่อนเรียงหินลักษณะเป็นรูปตัวยูคว่ำล้อมบ้านจำเลยเพื่อเป็นเครื่องกำบังคลื่นในหน้ามรสุม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีนายสมเกียรติ เจ้าหน้าที่บริหารงานขนส่งทางน้ำที่ 4 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพยานเบิกความได้ความว่า พยานมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยรับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 พยานได้รับหนังสือร้องเรียนตามเอกสาร จ.1 ว่าจำเลยปลูกสร้างเขื่อนกั้นน้ำล่วงล้ำลงไปในทะเลจึงได้ไปตรวจสอบพบว่ามีการปลูกสร้างเขื่อนเรียงหินกั้นน้ำล่วงล้ำเข้าไปในทะเลเป็นความกว้าง 24 เมตร ยาว 26 เมตร รวมเนื้อที่ 624 ตารางเมตร ลักษณะเขื่อนเป็นรูปตัวยูคว่ำกำบังบ้านไว้ บริเวณดังกล่าวตามปกติมีน้ำท่วมถึงซึ่งเป็นเนื้อที่ทะเล สอบถามชาวบ้านแล้วทราบว่าเขื่อนดังกล่าวเป็นของจำเลย บริเวณเขื่อนระบุวันก่อสร้างไว้ช่วงปลายปี 2546 พยานจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ วันที่ 10 มิถุนายน 2547 สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 4 สาขาสุราษฎร์ธานีมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ. 2 แจ้งให้จำเลยรื้อถอนเขื่อนเรียงหินดังกล่าว นายชุมพล เป็นผู้รับหนังสือไว้แทนแต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการรื้อถอน พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบและแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย พันตำรวจโทธวัชชัย พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุปรากฎว่ามีเขื่อนเรียงหินถาวรอยู่บริเวณด้านหลังบ้านจำเลย ซึ่งอยู่ติดทะเลส่วนหน้าบ้านจำเลยเป็นถนนสาธารณะพยานได้ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและถ่ายรูปไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ภาพถ่ายหมาย จ.6 เห็นว่า ได้ความจากนายสมเกียรติพยานโจทก์ว่า บริเวณบ้านที่จำเลยปลูกอยู่นั้นปกติมีน้ำทะเลท่วมถึงซึ่งเป็นพื้นที่ทะเล พันตำรวจโทธวัชชัยซึ่งเป็นผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุก็ยืนยันว่า หลังบ้านจำเลยอยู่ติดทะเลและได้แจ้งให้จำเลยไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อทำการตรวจสอบรังวัดที่เกิดเหตุปรากฏว่าได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ์จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ จำเลยเบิกความว่า บริเวณที่ดินของจำเลยไม่จำต้องออกเอกสารสิทธิ์เนื่องจากเป็นที่หัวสวนซึ่งเจือสมกับพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอยู่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และจากคำเบิกความของนายสมเกียรติและพันตำรวจโทธวัชชัยประกอบบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตและภาพถ่ายตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 เมื่อฟังประกอบกันแล้วเห็นได้ชัดว่าที่ดินของจำเลยดังกล่าวเป็นที่ดินที่อยู่ติดทะเลและเป็นบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึง บริเวณดังกล่าวจึงถือว่าเป็นทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือชายหาดของทะเล เมื่อปรากฎว่าปี 2546 จำเลยได้ทำการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินล้อมบ้านจำเลยไว้เป็นรูปตัวยูคว่ำดังกล่าวจึงเป็นการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือชายหาดของทะเล จำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าแนวเขื่อนดังกล่าวมีมาแต่เดิมตั้งแต่บิดาจำเลยปลูกบ้าน ที่ดินของจำเลยไม่มีเอกสารสิทธิ์เพราะเป็นที่หัวสวนและบริเวณที่ทำเขื่อนเรียงหินไม่ปรากฎแนวเขตของกรมเจ้าท่าเป็นทำนองว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า แม้จะได้รับความตามที่จำเลยกล่าวอ้างก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิก่อสร้างเขื่อนเรียงหินล่วงล้ำลงไปในทะเลหรือชายหาดของทะเลได้แต่อย่างใด ส่วนข้อที่จำเลยกล่าวอ้างมาในคำแก้ฎีกาว่า คดีขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยก่อสร้างเขื่อนเรียงหินล่วงล้ำเข้าไปในทะเลภายในน่านน้ำไทยตั้งแต่ปี 2546 เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ให้จำเลยรื้อถอนเขื่อนเรียงหินออกจากทะเลให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 เมื่อครบกำหนดจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 117แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและเป็นความผิดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 

 

( ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - สบโชค สุขารมณ์ - เกรียงศักดิ์ คงผล )

 

 

หมายเหตุ