คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7193/2547

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

 
ห้างหุ้นส่วนจำกัดธำรงปัตตานี       โจทก์
นายประชุม เอนอ่อน                  จำเลย
 

ป.อ. มาตรา 335(1), 56
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 73

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินตามประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุกและที่ดินตามคำขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๘๖ ไร่ โจทก์ใช้ที่ดินประกอบกิจการทำเหมืองแร่ เป็นที่ตั้งโรงงานและแยกเก็บแร่เพียงบางส่วน ส่วนใหญ่ปลูกต้นยางพาราจนเต็มพื้นที่และตัดกรีดได้แล้ว จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวที่โจทก์มีสิทธิครอบครองเพื่อแย่งหรือถือการครอบครองที่ดินจากโจทก์และเข้าไปกรีดยางพารา ก่อสร้างโรงเรือนเพื่อเก็บยางพาราและตั้งจักรรีดยางพาราในที่ดินของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุข และลักเอาน้ำยางพาราโดยกรีดน้ำยางจากต้นยางพาราของโจทก์ในที่ดินแปลงดังกล่าวไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑, ๓๖๒, ๓๓๔, ๓๓๕

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๑) วรรคแรก ลงโทษจำคุก ๑ ปี ข้อหาบุกรุกให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๓ ให้สิทธิแก่ผู้ถือประทานบัตรใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ ที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดทำเหมืองเพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตรได้ การที่โจทก์ปลูกต้นยางพาราลงในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตเหมืองแร่ เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือประทานบัตร ไม่ทำให้ต้นยางพาราที่ปลูกสร้างไว้เป็นส่วนควบของที่ดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖ และยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ การที่จำเลยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ อนึ่ง ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยเข้าไปกรีดเอาน้ำยางพาราภายหลังประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วเพื่อการยังชีพมิได้มีเถยจิตเป็นโจรผู้ร้ายแต่อย่างใด กับทั้งภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้รับอนุญาตจากรัฐให้มีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท กรณีมีเหตุอันสมควรให้ความปรานีแก่จำเลยโดยรอการลงโทษไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๑) วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙.

( สมชัย จึงประเสริฐ - พีรพล จันทร์สว่าง - บุญรอด ตันประเสริฐ )

ศาลจังหวัดยะลา - นางเพียรพร วิเศษสินธุ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายสุวิทย์ นรนุตกุล

หมายเหตุ