คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7775/2540
หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -
พนักงานอัยการ ประจำศาล จังหวัด หลัง สวน โจทก์
นาย สม ชาญ ต้อย แก้ว กับพวก จำเลย
ป.อ. มาตรา 90
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 54, 72 ตรี, 73
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ถึง 17 เมษายน 2538 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่าบ้านในหุบ หมู่ที่ 4 ตำบลเขาค่าย อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารอันเป็นการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ แล้วเข้ายึดถือครอบครองซึ่งป่าที่แผ้วถางดังกล่าวเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และได้ร่วมกันทำไม้โดยตัดฟันออกจากต้นเป็นไม้ยาง 1 ต้น ปริมาตร 1.03 ลูกบาศก์เมตร ไม้ไข่เขียว 5 ต้น ปริมาตร 7.76 ลูกบาศก์เมตร ไม้ตะเคียนทราย 3 ต้น ปริมาตร 4.47 ลูกบาศก์เมตร และไม้ยูง 1 ต้น ปริมาตร 1.56 ลูกบาศก์เมตร รวม 10 ต้น รวมปริมาตรทั้งหมด 14.82 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกาในป่าบ้านในหุบโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ร่วมกันมีไม้ดังกล่าวอันยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 11, 54, 69 วรรคสอง, 72 ตรี, 73 วรรคสอง, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง และสั่งให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากป่าเกิดเหตุ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 54, 69 วรรคสอง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง,73 วรรคสอง ลงโทษจำคุกฐานทำไม้หวงห้ามคนละ 6 ปี ฐานบุกรุกแผ้วถางป่าคนละ3 เดือน ฐานมีไม้ที่ยังมิได้แปรรูปคนละ 6 ปี จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกคนละ 12 ปี 3 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 ปี 2 เดือน ริบของกลางให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากป่าเกิดเหตุ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2538 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายสมศักดิ์ อินทะเสม และนายขนก ขนอม เจ้าพนักงานป่าไม้ประจำหน่วยป้องกันรักษาป่ากับเจ้าหน้าที่อื่นรวม 10 คน ได้ร่วมกันทำการจับจำเลยทั้งสองได้ในบริเวณป่าบ้านในหุบ ในข้อหาร่วมกันแผ้วถางป่าและยึดถือครอบครองป่าบ้านในหุบ ร่วมกันทำไม้โดยตัดโค่นไม้หวงห้าม ปริมาตรเกินกว่า 4 ลูกบาศก์เมตร และร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งได้ของกลางคือเลื่อยชัก1 ปื้น ขวาน 1 เล่ม และไม้หวงห้าม 10 ต้น ปริมาตรรวมกัน 14.82 ลูกบาศก์เมตร
มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า คดีรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยร่วมกับนายโกและนายนูนกระทำผิดฐานบุกรุกแผ้วถางป่าและครอบครองป่าที่แผ้วถาง ทำไม้หวงห้าม และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานก่นสร้างแผ้วถางป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง และมาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง โดยเรียงกระทงลงโทษนั้น เห็นว่า ความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานก่นสร้างแผ้วถางป่าเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเฉพาะความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานก่นสร้างแผ้วถางป่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง และมาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 11, 73 วรรคสองซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีไม้ที่ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองแล้ว ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 ปี ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
( สมมาตร พรหมานุกูล - วิชิน สุขนทีธรรม - อมร วีรวงศ์ )
หมายเหตุ