ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๘)
ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
และสิ่งแวดล้อม
เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต ฉบับที่ ๒
(พ.ศ. ๒๕๓๘)
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๘ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๒๖) และ (๒๗) ในข้อ ๑ แห่งประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕
“(๒๖) พื้นที่ภายในแนวเขตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘
(๒๗) พื้นที่ภายในแนวเขตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘”
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ แห่งประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๓ ห้ามมิให้การก่อสร้างอาคารในพื้นที่ตามข้อ ๑ ดังต่อไปนี้
(๑) โรงงานอุตสาหกรรม เว้นแต่ โรงงานจำพวกที่ ๑ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
(๒) สถานที่บรรจุก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(๓) โรงฆ่าสัตว์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยส่วนราชการหรือราชการส่วนท้องถิ่น
๔) สถานที่เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน ๒๐ ตารางเมตร ในเขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล และเกิน ๑๐๐ ตารางเมตร ในพื้นที่นอกเขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล
(๕) สุสานและฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่การซ่อมแซมหรือการก่อสร้างทดแทนของเดิม
(๖) อาคารที่มีความสูงเกิน ๑๒ เมตร เว้นแต่ภายในแนว เขตผังเมืองรวมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐๑ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้ใช้ความในข้อ ๕ ตรี แห่งประกาศนี้บังคับ”
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔ แห่งประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๔ ห้ามมิให้มีการกระทำหรือกิจกรรมในพื้นที่ตามข้อ ๑ ดังต่อไปนี้
(๑) การระเบิดและย่อยหิน
(๒) การทำเหมืองแร่
(๓) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง เว้นแต่ในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘
(๔) การถมหรือปรับพื้นที่ ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทาง เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์
(๕) การปล่อยทิ้งของเสียหรือมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเลเว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว
(๖) การเก็บหรือทำลายปะการัง รวมทั้งการจับปลาสวยงามเพื่อการค้า
การกระทำหรือดำเนินกิจกรรมตามวรรคหนึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต”
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ แห่งประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๕ ภายใต้บังคับข้อ ๓ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้าง หรือดำเนินโครงการหรือกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๑ ดังต่อไปนี้ เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดใน มาตรา ๔๖
(๑) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ
(๒) อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
(๓) อาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
(๔) โรงพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
(๕) โรงฆ่าสัตว์
(๖) การขุดตักดินลูกรัง หรือการขุดตักหรือดูดทรายเพื่อการค้า”
ข้อ ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๕ ทวิ และข้อ ๕ ตรี แห่งประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕
“ข้อ ๕ ทวิ กำหนดให้พื้นที่ภายในแนวเขตผังเมืองรวมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐๑ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ บริเวณที่ ๔ และบริเวณที่ ๕ ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายประกาศ ดังต่อไปนี้
“บริเวณที่ ๑” หมายความว่า บริเวณที่กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม มีบริเวณ ดังต่อไปนี้
ด้านเหนือ จดจุดตัดระหว่างถนนสตูล ฟากตะวันตก กับเส้นขนานถนนดีบุก ฟากเหนือ เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านตะวันออก จดถนนเทพกระษัตรี ฟากตะวันออก ไปด้านเหนือ และจดลำรางสาธารณะไม่ปรากฏชื่อฝั่งใต้
ด้านตะวันออก จดคลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันตก
ด้านใต้ จดจุดตัดระหว่างคลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันตก กับเส้นขนาน ถนนพังงา ฟากใต้ เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านตะวันตก จดเส้นขนานถนนเยาวราช ฟากตะวันออก เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านใต้ จดถนนรัษฎา ฟากใต้ ไปด้านตะวันตก จดถนนระนอง ฟากใต้ ไปด้านตะวันตก จดเส้นขนานถนนเยาวราช ฟากตะวันตก เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านเหนือ จดเส้นตั้งฉากกับถนนกระบี่ ฟากใต้ เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านตะวันตก และจดเส้นตั้งฉากกับถนนกระบี่ที่จุดตัดระหว่างถนนสตูล ฟากตะวันตก กับถนนกระบี่ ฟากใต้
ด้านตะวันตก จดเส้นตั้งฉากกับถนนกระบี่ที่จุดตัดระหว่างถนนสตูล ฟากตะวันตก กับถนนกระบี่ ฟากใต้ เป็นระยะ ๔๐ เมตร จากถนนกระบี่ ฟากใต้ และจดถนนสตูล ฟากตะวันตก
“บริเวณที่ ๒” หมายความว่า บริเวณที่กำหนดให้เป็นเขตหนาแน่นน้อยมี ๓ บริเวณ ดังต่อไปนี้
๒.๑ ด้านเหนือ จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
ด้านตะวันออก จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
ด้านใต้ จดถนนศรีสุทัศน์ ฟากเหนือ จดถนนสุรินทร์ซอย ๒ ฟากเหนือ จดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันออก จดถนนนริศร ฟากเหนือ จดถนนสุทัศน์ ฟากตะวันออก จดถนนดำรง ฟากเหนือ จดถนนเทพกระษัตรี ฟากตะวันออก จดถนนชุมพร ฟากเหนือ จดถนนเยาวราช ฟากตะวันตก จดถนนแม่หลวน ฟากเหนือ จดถนนวิชิตสงคราม ฟากใต้ จดถนนโครงการสาย จ ๒ ฟากตะวันตก และจดถนนโครงการสาย ฉ ๗ ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต จดซอยวชิระฟากใต้ จดถนนเยาวราช ฟากตะวันออก จดคลองบางใหญ่ ฝั่งเหนือ และจดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
๒.๒ ด้านเหนือ จดถนนโครงการสาย ฉ ๗ ฟากใต้ จดถนนโครงการสาย ค ๒๑ ฟากใต้ จดถนนพัฒนาซอย ๓ ฟากใต้
ด้านตะวันออก จดถนนเจ้าฟ้า ฟากตะวันตก จดถนนศักดิเดช ฟากตะวันตก ซอย ๑ ฟากใต้ และจดแนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองเกาะผี
ด้านใต้ จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
ด้านตะวันตก จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
๒.๓ ด้านเหนือ จดถนนโครงการสาย ฉ ๔ ฟากใต้
ด้านตะวันออก จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
ด้านใต้ จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต และแนวชายฝั่งทะเล
ด้านตะวันตก จดแนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองเกาะผี
“บริเวณที่ ๓” หมายความว่า บริเวณที่กำหนดให้เป็นเขตหนาแน่นปานกลางมี ๔ บริเวณ ดังต่อไปนี้
๓.๑ ด้านเหนือ จดคลองบางใหญ่ ฝั่งใต้
ด้านตะวันออก จดถนนเยาวราช ฟากตะวันตก
ด้านใต้ จดซอยวชิระ ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
๓.๒ ด้านเหนือ จดถนนแม่หลวน ฟากใต้ จดถนนทุ่งคา ฟากใต้ และจดถนนดำรง ฟากใต้ จดถนนสุทัศน์ ฟากตะวันตก และถนนนริศร ฟากใต้
ด้านตะวันออก จดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันตก
ด้านใต้ จดถนนหลวงพ่อ ฟากเหนือ จดถนนดีบุก ฟากเหนือ จดคลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันตก จดลำรางสาธารณะไม่ปรากฏชื่อ ฝั่งใต้ จดถนนเทพกระษัตรี ฟากตะวันออก ไปด้านใต้ จดเส้นขนานถนนดีบุก ฟากเหนือ เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านตะวันตก จดถนนสตูล ฟากตะวันตก ไปด้านใต้ จดถนนกระบี่ ฟากเหนือ จดถนนระนอง ฟากตะวันตก จดถนนปฏิพัทธ์ ฟากตะวันตก จดถนนพัฒนาซอย ๓ ฟากเหนือ จดถนนโครงการสาย ค ๒๑ ฟากเหนือ และจดถนนโครงการสาย ฉ ๗ ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดถนนโครงการสาย จ ๒ ฟากตะวันออก และจดถนนวิชิตสงคราม ฟากเหนือ
๓.๓ ด้านเหนือ จดถนนสุรินทร์ซอย ๒ ฟากใต้ จดถนนศรีสุทัศน์ ฟากใต้
ด้านตะวันออก จดแนวเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
ด้านใต้ จดถนนโครงการสาย ฉ ๔ ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดแนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองเกาะผี จดถนนกระฟากใต้ จดถนนอ๋องซิมผ่าย ฟากตะวันออก จดถนนโครงการ ค ๑๒ ฟากใต้ จดถนนโครงการ ค ๑๐ ฟากตะวันออก และจดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันออก
๓.๔ ด้านเหนือ จดถนนบางกอก ฟากใต้ และจดถนนพูนผล ฟากใต้
ด้านตะวันออก จดแนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองเกาะผี
ด้านใต้ จดถนนศักดิเดช ซอย ๑ ฟากเหนือ และจดถนนศักดิเดช ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดถนนเจ้าฟ้า ฟากตะวันออก
“บริเวณที่ ๔” หมายความว่า บริเวณที่กำหนดให้เป็นเขตหนาแน่นมากมี ๒ บริเวณ ดังต่อไปนี้
๔.๑ ด้านเหนือ จดถนนชุมพร ฟากใต้
ด้านตะวันออก จดถนนเทพกระษัตรี ฟากตะวันตก
ด้านใต้ จดถนนทุ่งคา ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดถนนเยาวราช ฟากตะวันออก
๔.๒ ด้านเหนือ จดถนนกระบี่ ฟากใต้ จดเส้นตั้งฉากกับถนนกระบี่ที่จุดตัดระหว่างถนนสตูล ฟากตะวันตก กับถนนกระบี่ ฟากใต้ไปด้านใต้ เป็นระยะ ๔๐ เมตร จดเส้นขนานถนนกระบี่ ฟากใต้ เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านตะวันออก จดเส้นขนานถนนเยาวราช ฟากตะวันตก เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านใต้ จดถนนระนอง ฟากใต้ ไปด้านตะวันออก จดถนนรัษฎา ฟากใต้ ไปด้านตะวันออก จดเส้นขนานถนนเยาวราช ฟากตะวันออก เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านเหนือ จดเส้นขนานถนนพังงา ฟากใต้ เป็นระยะ ๔๐ เมตร ไปด้านตะวันออก จดคลองบางใหญ่ ฝั่งตะวันตก จดถนนดีบุก ฟากใต้ และจดถนนหลวงพ่อ ฟากใต้
ด้านตะวันออก จดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันตก จดเส้นขนานถนนพังงา ฟากเหนือ เป็นระยะ ๑๐๐ เมตร ไปด้านตะวันตก จดเส้นตั้งฉากกับถนนพังงาที่จุดตัดระหว่างถนนพังงา ฟากเหนือ กับถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันออก จดถนนชนะเจริญ ฟากเหนือจดถนนอ๋องซิมผ่าย ฟากตะวันตก จดถนนศรีเสนา ฟากเหนือ และจดถนนโครงการสาย ค ๑๐ ฟากตะวันตก
ด้านใต้ จดถนนโครงการสาย ค ๑๒ ฟากเหนือ จดถนนอ๋องซิมผาย ฟากเหนือ จดถนนกระ ฟากเหนือ จดแนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองเกาะผี จดถนนพูนผล ฟากเหนือ และจดถนนบางกอก ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดถนนปฏิพัทธ์ ฟากตะวันออก และจดถนนระนอง ฟากเหนือ
“บริเวณที่ ๕” หมายความว่า บริเวณที่กำหนดให้เป็นเขตหนาแน่นสูงมาก มีบริเวณ ดังต่อไปนี้
ด้านเหนือ จดจุดตัดเส้นตั้งฉากกับถนนพังงาที่จุดตัดระหว่างถนนพังงา ฟากเหนือ กับถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันออก ไปด้านเหนือเป็นระยะ ๑๐๐ เมตร จดเส้นขนานถนนพังงา ฟากเหนือ เป็นระยะ ๑๐๐ เมตร ไปด้านตะวันออก และจดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันตก
ด้านตะวันออก จดถนนสุรินทร์ ฟากตะวันตก
ด้านใต้ จดถนนศรีเสนา ฟากเหนือ จดถนนอ๋องซิมผ่าย ฟากตะวันตก และจดถนนชนะเจริญ ฟากเหนือ
ด้านตะวันตก จดถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันออก จดเส้นตั้งฉากกับถนนพังงา ที่จุดตัดระหว่างถนนพังงา ฟากเหนือ กับถนนติลกอุทิศ ๒ ฟากตะวันออก ไปด้านเหนือ เป็นระยะ ๑๐๐ เมตร
ข้อ ๕ ตรี ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๕ ทวิ นอกจากต้องเป็นไปตามมาตรการที่กำหนดตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วให้ใช้มาตรการต่อไปนี้บังคับด้วย
(๑) บริเวณที่ ๑ ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน ๑๒ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
(๒) บริเวณที่ ๒ ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน ๑๖ เมตร และ
ก. อาคารที่พักอาศัย ค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างขึ้นในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๒ ต่อ ๑ และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
ข. อาคารพาณิชย์และอาคารอื่น ๆ ค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างขึ้นในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๓ ต่อ ๑ และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
(๓) บริเวณที่ ๓ ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน ๒๓ เมตร ค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างขึ้นในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๓ ต่อ ๑ และ
ก. อาคารที่พักอาศัย ต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
ข. อาคารพาณิชย์และอาคารอื่น ๆ ต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
(๔) บริเวณที่ ๔ ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน ๔๕ เมตร ค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างขึ้นในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๔ ต่อ ๑ และ
ก. อาคารที่พักอาศัย ต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
ข. อาคารพาณิชย์และอาคารอื่น ๆ ต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
(๕) บริเวณที่ ๕ ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน ๖๐ เมตร ค่าสูงสุดของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างขึ้นในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน ๕ ต่อ ๑ และ
ก. อาคารที่พักอาศัย ต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น
ข. อาคารพาณิชย์และอาคารอื่น ๆ ต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ในที่ดินแปลงนั้น”
ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในข้อ ๖ แห่งประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๓๕
ข้อ ๗[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับจนถึง วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘
สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
[เอกสารแนบท้าย]
๑. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๘)
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
ดลธี/พิมพ์
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐
จิรพงษ์/ตรวจ
๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนพิเศษที่ ๒๒ ง/หน้า ๗/๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๘