ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๔๐
ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ในบริเวณจังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๔๐
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณจังหวัดกระบี่ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมอาคารของจังหวัดกระบี่ดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
(๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปี หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง ตำบลไสไทย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๖
(๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปี หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๓๙
(๓) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับในท้องที่บางแห่งในตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง และตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๓๔
ข้อ ๒ ในพื้นที่ตามข้อ ๑ ห้ามก่อสร้างอาคาร หรือห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นอาคาร ดังต่อไปนี้
(๑) โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทหรือทุกชนิด เว้นแต่โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมของทางราชการ โรงงานประเภทซัก อบ และรีด โรงงานทำน้ำแข็ง และโรงงานทำน้ำให้บริสุทธิ์ที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน ๒๐๐ แรงม้า
(๒) โรงฆ่าสัตว์
(๓) สุสานและฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน
ข้อ ๓ กำหนดให้พื้นที่ตามข้อ ๑ บางส่วน เป็นบริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ และบริเวณที่ ๔ ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายประกาศ ดังต่อไปนี้
(๑) บริเวณที่ ๑ หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐ เมตร เฉพาะที่อยู่ในเขตตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง และตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
(๒) บริเวณที่ ๒ หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตพื้นที่บริเวณที่ ๑ เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕๐ เมตร
(๓) บริเวณที่ ๓ หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตพื้นที่บริเวณที่ ๒ เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๓๐๐ เมตร
(๔) บริเวณที่ ๔ หมายความว่า พื้นที่ในเกาะต่าง ๆ
ข้อ ๔ ภายใต้บังคับข้อ ๒ ในบริเวณพื้นที่ตามข้อ ๓ การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) บริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๔ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
(๒) บริเวณที่ ๒ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
(๓) บริเวณที่ ๓ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๖ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ ๕ ในพื้นที่ตามข้อ ๑ ห้ามการกระทำหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) การทำเหมือง
(๒) การขุดหรือตักกรวด หิน ดิน ทราย หรือดินลูกรัง เพื่อการค้า
(๓) การถมทะเล
(๔) การถม ปิดก้น หรือปรับพื้นที่ ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทาง
(๕) การขุดหรือเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุ
(๖) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว
(๗) กิจกรรมหรือการกระทำใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบ หรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการังถูกทำลายหรือเสียหาย เช่น การเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (Sea Walker) ในแนวปะการัง การทอดสมอเรือ การเล่นเรือสกู๊ตเตอร์ หรือเรือลากร่ม หรือการใช้เรือท้องกระจก เป็นต้น
(๘) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง
(๙) การจับปลาสวยงาม
(๑๐) การครอบครองปลาสวยงามที่จับได้ภายในเขตพื้นที่ตามข้อ ๑
(๑๑) การประมงที่ใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน
(๑๒) การเพาะเลี้ยงกุ้งหรือการขุดบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการค้า
การกระทำหรือประกอบกิจกรรมตามวรรคหนึ่ง ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต
ข้อ ๖ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๑ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดในมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้
(๑) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
ก. อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง
ข. โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง
ค. สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง
(๒) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ก. การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ใน (๑) และที่มีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (๑)
ข. ท่าเทียบเรือที่สามารถรับเรือขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอสขึ้นไป
ค. อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
การดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นอาคารตามที่กำหนดไว้ใน (๑) และ (๒) ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วย
ข้อ ๗ ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารหรือการประกอบกิจการใด ๆ ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๑ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ ๘[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐
ยิ่งพันธ์ มนะสิการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
[เอกสารแนบท้าย]ก
๑. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณจังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๔๐
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
ดลธี/พิมพ์
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐
จิรพงษ์/ตรวจ
๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนพิเศษที่ ๘๘ ง/หน้า ๑๗/๑ ตุลาคม ๒๕๔๐