ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๓๕

ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

และสิ่งแวดล้อม

เรื่อง  กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๓๕

                  

              อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตผังเมืองรวมและเขตควบคุมอาคารของเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

(๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘

(๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙

                ข้อ ๒  การใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจตามที่กำหนดในผังเมืองรวมในพื้นที่ตามข้อ ๑ ให้กระทำได้เฉพาะในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทดังกล่าวไว้เท่านั้น และให้ก่อสร้างและดำเนินการได้เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ข้อ ๓  ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ตามข้อ ๑ ดังต่อไปนี้

(๑) โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือเทียบเท่าขึ้นไป

(๒) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และสถานีบริการตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว

(๓) โรงฆ่าสัตว์

(๔) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน ๑๐ ตารางเมตร

(๕) ฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน

(๖) โรงกำจัดมูลฝอย

(๗) อาคารที่มีความสูงเกิน ๑๔ เมตร

ข้อ ๔  ห้ามมิให้มีการกระทำหรือกิจกรรมในพื้นที่ตามข้อ ๑ ดังต่อไปนี้

(๑) การระเบิดและย่อยหิน

(๒) การขุดตักดินลูกรัง หรือการขุดตักหรือดูดทรายเพื่อการค้า

(๓) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง

(๔) การถมหรือปรับพื้นที่ ซึ่งทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขิน หรือเปลี่ยนทิศทาง

(๕) การปล่อยทิ้งของเสียหรือมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการไว้แล้ว

              การกระทำหรือดำเนินกิจกรรมตามวรรคหนึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต

                ข้อ ๕  ภายใต้บังคับข้อ ๓ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้าง หรือดำเนินโครงการหรือกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๑ ดังต่อไปนี้ เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระเบียบปฏิบัติที่กำหนดในมาตรา ๔๖

(๑) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ

(๒) อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

(๓) อาคารขนาดใหญ่หรืออาคารพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

(๔) โรงพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

(๕) การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน

ข้อ ๖  ภายใต้บังคับข้อ ๓ การอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่ติดกับแนวถนนหรือทางสาธารณะในพื้นที่ตามข้อ ๑ จะต้องมีการร่นแนวอาคารห่างจากแนวถนนหรือทางสาธารณะไม่น้อยกว่า ๒ เมตร

ข้อ ๗  ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารหรือการประกอบกิจการใดๆ ในพื้นที่ตามข้อ ๑ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

ข้อ ๘[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๕

ไพจิตร  เอื้อทวีกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์

เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

นันติญา/พิมพ์

๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐

จิรพงษ์/ตรวจ

๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๔๒/หน้า ๑๒๕๕๒/๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๕