ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน[๑]
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๘/๖ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินจะต้องประกอบด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ มาตรการทางเทคนิค ด้านโครงสร้างทางธรณีวิทยา วิธีการทำเหมืองตามหลักวิศวกรรมเหมืองแร่ ความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิต และระดับความลึกที่ปลอดภัย
๑.๑ โครงสร้างทางธรณีวิทยาแหล่งแร่
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงรายละเอียดโครงสร้างทางธรณีวิทยาของแหล่งแร่ ความแข็งแรงทางกลศาสตร์ของโครงสร้างทางธรณีวิทยาของแหล่งแร่ และการคำนวณตามหลักวิศวกรรมที่มีการนำไปใช้งานจนประสบผลสำเร็จมาแล้วเพื่อยืนยันว่าเป็นการทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกที่ปลอดภัยและจะไม่เกิดการทรุดตัวจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินซึ่งการคำนวณทางด้านวิศวกรรมดังกล่าวต้องเกิดจากการใช้ค่าเฉพาะต่างๆ ของชั้นดิน ชั้นหิน ชั้นแร่ และอื่นๆ สำหรับพื้นที่นั้นที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ
๑.๒ วิธีการทำเหมืองใต้ดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องระบุชนิดแร่และอธิบายวิธีการทำเหมืองใต้ดินที่ประสงค์จะทำ
ข้อ ๒ แผนที่แสดงเขตเหมืองแร่ และข้อมูลประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
๒.๑ แผนที่แสดงเขตเหมืองแร่และการออกแบบ
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องยื่นแผนที่ต่างๆ ดังนี้
(๑) แผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ของกรมแผนที่ทหาร แสดงจุดที่ตั้งเขตที่ประสงค์จะทำเหมืองใต้ดิน
(๒) แผนที่ธรณีวิทยา มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ หรือใหญ่กว่าแสดงตำแหน่งหลุมเจาะสำรวจทางธรณีวิทยา ข้อมูลรายละเอียดทางธรณีวิทยาของแต่ละหลุมเจาะ ภาพตัดขวางในลักษณะ ๓ มิติ (Fence Diagram) แสดงความสัมพันธ์ทางธรณีวิทยาในแนวดิ่งของแต่ละหลุมเจาะ
(๓) แผนที่แสดงสิทธิในที่ดินและการใช้ที่ดินในเขตประสงค์ที่จะทำเหมืองใต้ดิน มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ หรือใหญ่กว่า โดยแสดง
(ก) พื้นที่ที่ประสงค์จะทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกิน ๑๐๐ เมตร ให้แสดงพื้นที่กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองและที่ดินของรัฐทุกประเภทและทุกราย
(ข) พื้นที่ที่จะมีการทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกผิวดินเกินกว่า ๑๐๐ เมตร ให้แสดงแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารที่จัดทำครั้งสุดท้ายเพื่อแสดงเขตชุมชน ระบบสาธารณูปโภค พื้นที่สาธารณประโยชน์และที่ดินของรัฐ เป็นต้น
(๔) แผนที่แสดงการออกแบบเบื้องต้น (Conceptual Design) สำหรับสิ่งก่อสร้างบนพื้นดิน มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ หรือใหญ่กว่าโดยแสดงตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างบนพื้นดิน เช่น ปากอุโมงค์หรือปากปล่องโรงแต่งแร่ สถานที่เก็บกองแร่ สถานที่เก็บวัตถุระเบิด อาคารสำนักงาน บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมด เป็นต้น
(๕) แผนที่แสดงการออกแบบเบื้องต้น (Conceptual Design) การทำเหมืองใต้ดิน โดยแสดงเป็นภาพมุมมองจากด้านบน (Top View) มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ หรือใหญ่กว่า แสดงตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่างๆ ใต้ดิน เช่น เขตที่มีการทำเหมืองใต้ดิน บริเวณที่จะเอาแร่ออกและบริเวณที่เหลือเป็นโครงสร้างค้ำยันรวมทั้งพื้นที่ส่วนที่จะใช้ในกิจกรรมเหมืองแร่ เช่น อุโมงค์หรือปล่องเข้าสู่ชั้นแร่เส้นทางขนส่งใต้ดิน แนวระบบไฟฟ้า ระบบระบายอากาศและการระบายน้ำ เป็นต้น
(๖) แผนที่ภาพตัดขวาง มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ หรือใหญ่กว่าในแนวเดียวหรือหลายแนว แสดงแหล่งแร่ การทำเหมืองใต้ดิน การค้ำยันและการเข้าสู่ชั้นแร่
๒.๒ ข้อมูลประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงข้อมูลประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลผลกระทบต่อการเคลื่อนตัวของชั้นดิน คุณภาพดินแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นต้น โดยให้เห็นอย่างชัดเจน และเป็นที่เชื่อถือได้ตามหลักวิชาการพร้อมทั้งแสดงเขตพื้นที่และขอบเขตของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองใต้ดินทั้งในและนอกเขตเหมืองแร่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งที่ฟื้นฟูได้และมิอาจฟื้นฟูได้
ข้อ ๓ ข้อมูลทางเทคนิคในวิธีการทำเหมืองใต้ดินและการแต่งแร่
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องเสนอเทคนิคในการทำเหมืองใต้ดินและเทคนิคในการแต่งแร่โดยสังเขปอย่างน้อยเรื่องละ ๒ วิธี โดยให้เสนอข้อเปรียบเทียบทั้งการทำเหมืองใต้ดินและการแต่งแร่แต่ละวิธี รวมทั้งทางเลือกเกี่ยวกับการจัดการกากแร่ ผลพลอยได้และของเสียที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองใต้ดินและการแต่งแร่ พร้อมแสดงเหตุผลทางวิชาการประกอบเพื่อยืนยันทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดและดีที่สุดที่จะทำเหมืองใต้ดินและแต่งแร่โดยวิธีดังกล่าว
ข้อ ๔ ข้อมูล แผนผัง ขั้นตอน วิธีการทำเหมือง การแต่งแร่ และการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองใต้ดิน โดยสังเขป
๔.๑ ข้อมูลแผนผังโครงการทำเหมืองใต้ดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงข้อมูลแผนการทำเหมืองและแผนงานการพัฒนาหน้าเหมืองตลอดจนกระบวนการขนย้ายแร่ให้สอดคล้องกับงานระยะเวลา และจำนวนเงินลงทุน ดังนี้
(๑) ช่วงแรก ให้แสดงเป็นรายปีเป็นระยะเวลา ๓ ปี
(๒) ช่วงที่สอง ให้แสดงหนึ่งครั้งต่อระยะเวลา ๕ ปี จนกว่าสิ้นสุดโครงการ
๔.๒ ข้อมูลขั้นตอนวิธีการทำเหมืองใต้ดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงข้อมูลขั้นตอนและวิธีการทำเหมืองใต้ดิน ดังนี้
(๑) ผลการสำรวจตามที่แสดงไว้ในแผนที่ตามข้อ ๒.๑ (๒) และรายงานประเมินปริมาณสำรองและความสมบูรณ์ของแหล่งแร่พร้อมแสดงการคำนวณโดยแสดงขั้นตอนการสำรวจ วิธีการสำรวจ และวิธีการประเมินผลการสำรวจด้วย
(๒) ข้อมูลองค์ประกอบโครงการทำเหมืองใต้ดิน โดยแสดงองค์ประกอบของโครงการบนพื้นดินและใต้ดิน ซึ่งแสดงแบบทางวิศวกรรม (Engineering Drawing) และขั้นตอนการดำเนินงานหรือขั้นตอนการก่อสร้าง ดังนี้
(ก) องค์ประกอบของโครงการบนพื้นดิน ให้แสดงรายการดังต่อไปนี้
๑) ระบบสาธารณูปโภคบนพื้นดิน
๒) ระบบขนส่งทั้งในและนอกเขตเหมืองแร่
๓) โรงเก็บแร่
๔) กองแร่และผลพลอยได้จากกระบวนการทำเหมืองใต้ดิน
๕) การจัดการน้ำที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองใต้ดินและการระบายน้ำ
๖) การกำจัดของเสียและฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองใต้ดิน
๗) อื่นๆ ที่จำเป็นในกระบวนการทำเหมืองใต้ดิน
(ข) องค์ประกอบของโครงการที่อยู่ใต้ดิน ให้แสดงรายการดังต่อไปนี้
๑) อุโมงค์หรือปล่องเข้าสู่ชั้นแร่
๒) การค้ำยันในเหมืองใต้ดิน
๓) การถมกลับ
๔) ระบบขนส่งใต้ดิน
๕) ระบบไฟฟ้า
๖) ระบบระบายอากาศ
๗) ระบบระบายน้ำ
๘) อื่นๆ ที่จำเป็นในกระบวนการทำเหมืองใต้ดิน
(๓) ระบบความปลอดภัยและมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ เช่น การค้ำยัน การใช้และเก็บวัตถุระเบิด การป้องกัน และหลบหลีกจากอัคคีภัย การป้องกันแก๊สพิษหรือแก๊สติดไฟ ระบบความปลอดภัยจากสารเคมี ระบบไฟฟ้า ระบบการขนส่ง มาตรการในการปฏิบัติเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน การฝึกอบรมด้านความปลอดภัย การซักซ้อมวิธีปฏิบัติเมื่อประสบภัย การกู้ภัย ตลอดจนการปฐมพยาบาลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อพนักงานและบุคคลภายนอกที่อาจอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินหรือโรงแต่งแร่
๔.๓ ข้อมูลขั้นตอนและวิธีการแต่งแร่
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงข้อมูล ขั้นตอนและวิธีการแต่งแร่ ดังนี้
(๑) ข้อมูลแสดงแบบทางวิศวกรรม (Engineering Drawing) และขั้นตอนการดำเนินงานหรือขั้นตอนการก่อสร้างโรงแต่งแร่ โรงเก็บแร่ กองแร่ และผลพลอยได้ที่เกิดจากกระบวนการแต่งแร่
(๒) วิธีการทางวิศวกรรม และกระบวนการแต่งแร่แต่ละขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการ (Flow Sheet) พร้อมแผนผังการจัดระบบห้องปฏิบัติงาน เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ทั้งหมด (Plant Layout)
(๓) ข้อมูลกำลังการผลิตของโรงแต่งแร่ ปริมาณและชนิดวัตถุดิบ พลังงาน น้ำ สารเคมีที่ใช้ กากแร่ ผลพลอยได้ และน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการแต่งแร่
(๔) ข้อมูลการจัดการทางวิศวกรรมการกำจัดของเสียและฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการแต่งแร่
(๕) อื่นๆ ที่จำเป็นในกระบวนการแต่งแร่
๔.๔ ข้อมูลด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงข้อมูลด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ ดังนี้
(๑) เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเหมืองใต้ดินและการแต่งแร่ และเหตุผลประกอบ
(๒) หลักการบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่อยู่บนพื้นดินและใต้ดินให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม
๔.๕ ข้อมูลด้านการบริหารจัดการโครงการ
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงข้อมูล ดังนี้
(๑) การวางแผนด้านบุคลากร ได้แก่ การบริหารจัดการด้านบุคลากรทั้งบนพื้นดินและใต้ดิน พร้อมทั้งแสดงจำนวนและประสบการณ์ของผู้ดำเนินงานเพื่อความชัดเจนด้านความสามารถในการดำเนินโครงการ
(๒) ขั้นตอนการลงทุน วิธีการลงทุน แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการลงทุนพร้อมทั้งขั้นตอนการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการภายใต้การเปลี่ยนแปลง (Sensitivity Analysis) ให้ครอบคลุมราคาผลผลิตต่ำสุดในช่วง ๕ ปี และ ๑๐ ปี ย้อนหลังนับแต่วันที่ทำการคำนวณ
๔.๖ ข้อมูลมาตรการในการลดผลกระทบต่อสุขภาพบุคคลและสิ่งแวดล้อมการรักษาไว้ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมืองใต้ดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงข้อมูล ดังนี้
(๑) สถานที่เก็บแร่ น้ำที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองใต้ดินและการแต่งแร่ น้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย หรือกากแร่ที่อาจมีแก๊สที่เป็นอันตรายหรือสิ่งอื่นใดที่เป็นมลพิษหากอยู่ใต้ดินจะต้องแสดงวิธีการจัดเก็บหรือกำจัดที่เหมาะสมเพื่อไม่เป็นอันตรายต่อพนักงานในเหมืองแร่ หากสถานที่เก็บแร่ น้ำขุ่นข้น มูลดินทรายหรือกากแร่นั้นตั้งอยู่บนพื้นดินให้แสดงวิธีการควบคุมมิให้แก๊สอันตรายหรือสารพิษนั้นมีผลกระทบต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเขตเหมืองแร่
(๒) การระบายอากาศร้อน ควันหรือฝุ่น จากโรงแต่งแร่จะต้องไม่เกินกว่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนด และจะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเขตเหมืองแร่
(๓) แผนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ใช้ในการทำเหมืองและกิจกรรมเกี่ยวเนื่องควบคู่ไปกับการทำเหมืองแร่ ในแต่ละช่วงเวลาทุก ๕ ปี และแผนการจัดการในการปิดเหมือง (Mine Closure Plan) รวมถึงการตรวจสอบและบำรุงรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมการปิดเหมืองไม่น้อยกว่า ๕ ปี
๔.๗ ข้อเสนอแนวปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติงาน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องเสนอแนวทางปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติงานในระดับรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่ใช่สาระสำคัญของแผนงาน ทั้งนี้ ข้อเสนอแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลวิธีการทางวิชาการที่ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบ หรืออันตรายน้อยกว่าวิธีการที่เสนอไว้เดิม และต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก่อนที่จะใช้ดำเนินการต่อไป
ข้อมูลพร้อมเอกสารหลักฐานตามข้อ ๔ หากมีลักษณะของงานอยู่ในข่ายควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม ให้วิศวกรผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ ระดับวุฒิวิศวกรลงลายมือชื่อรับรองการออกแบบพร้อมระบุหมายเลขใบอนุญาตไว้โดยครบถ้วน
ข้อ ๕ ข้อเสนอเพื่อการมีส่วนร่วมตรวจสอบของตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียจำนวนกองทุนสนับสนุน และระเบียบการตรวจสอบการทำเหมืองที่ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินจะเสนอให้มีการร่วมตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องเสนอจำนวนเงินเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมระเบียบ วิธีปฏิบัติ และแผนงานการร่วมตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินของตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๑๑ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕
ข้อ ๖ ข้อเสนอเส้นทางขนส่ง แหล่งน้ำ และระบบสาธารณูปโภค
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงรายละเอียด ระบบและเส้นทางขนส่งแหล่งน้ำ และระบบสาธารณูปโภคที่จะใช้ในโครงการ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะพัฒนาขึ้นพร้อมรายละเอียดการใช้สอยตลอดโครงการที่เพียงพอจะประเมินให้เห็นได้ว่าการทำเหมืองใต้ดินจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชุมชนและธรรมชาติทั้งในและนอกเขตเหมืองแร่
ข้อ ๗ ข้อเสนอเทคนิควิธีการเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองใต้ดิน
๗.๑ การเฝ้าระวังบนพื้นดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องเสนอการเฝ้าระวังบนพื้นดิน ดังนี้
(๑) การเฝ้าระวังการทรุดตัวของพื้นดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องเสนอแผนรายละเอียดการรังวัดระดับผิวดินในเขตเหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบ หรือวิธีอื่นใดที่เหมาะสมในการเฝ้าระวังการทรุดตัวของพื้นที่ตามหลักวิชาการเพื่อรายงานต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
(๒) การเฝ้าระวังผลกระทบอื่นๆ
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องเสนอระบบการตรวจสอบและการเฝ้าระวังผลกระทบต่อคุณภาพดิน น้ำ อากาศ และสิ่งมีชีวิตในเขตเหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบที่เหมาะสมซึ่งจะต้องแสดงแผนปฏิบัติงานและรายงานต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
๗.๒ การเฝ้าระวังใต้ดิน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องแสดงแผนรายละเอียดการเฝ้าระวังตรวจวัดการเปลี่ยนรูปร่าง ความแข็งแรงของอุโมงค์ การวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นและต้องรายงานข้อมูลการตรวจวัดและการวิเคราะห์ผลต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ข้อ ๘ ข้อเสนอเอาประกันภัยความรับผิดชอบตามมาตรา ๘๘/๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ระบุถึงวงเงินและระยะเวลาที่ชัดเจน
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องเสนอ รายละเอียด แนวทาง วิธีการในการทำประกันภัยกับนิติบุคคลผู้มีสิทธิประกอบกิจการประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรที่เชื่อถือได้ ในวงเงินและเวลาที่เสนอให้เหมาะสมกับพื้นที่และอายุของประทานบัตรในการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ให้รัฐบาลไทยโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นผู้รับประโยชน์
ในกรณีที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าไม่สามารถหานิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรที่มีคุณสมบัติได้ ให้เสนอนิติบุคคลที่มิได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรที่เชื่อถือได้ไม่น้อยกว่านิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรเป็นผู้ดำเนินการ
กรณีที่มีข้อพิพาทต้องระงับข้อพิพาทโดยใช้กฎหมายของประเทศไทย
ข้อ ๙ เอกสารคำขอประทานบัตรและรายละเอียดประกอบคำขอประทานบัตร
ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินต้องยื่นคำขอและเอกสารประกอบเป็นภาษาไทย
เอกสารประกอบที่เป็นข้อมูลด้านเทคนิค ผู้ขอประทานบัตรอาจยื่นเป็นภาษาอังกฤษได้โดยขออนุญาตต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่หรือผู้ที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มอบหมาย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
พินิจ จารุสมบัติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พรพิมล/พิมพ์
๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗
ทรงยศ/ศุภสรณ์/ตรวจ
๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗
A+B
[๑] รก.๒๕๔๗/พ๒๖ง/๓/๙ มีนาคม ๒๕๔๗