ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 336

ประกาศของคณะปฏิวัติ

ฉบับที่ ๓๓๖

                  

              โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า เทศบาลเป็นหน่วยบริหารราชการของท้องถิ่น ควรจะได้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งขจัดปัญหาความเดือดร้อนบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเทศบาลบางมาตราให้รัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๕  เทศมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อ

                 (๑) สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลชุดที่คณะเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ให้คณะเทศมนตรีที่ออกนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการในหน้าที่ของคณะเทศมนตรีต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

(๒) สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณประจำปีโดยได้รับความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณี

(๓) ความเป็นเทศมนตรีของนายกเทศมนตรีสิ้นสุดลงหรือเทศมนตรีต้องออกทั้งคณะ หรือ

(๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้เทศมนตรีทั้งคณะออกจากตำแหน่ง

                   ในกรณี (๒) (๓) และ (๔) นี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว เพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่จะต้องดำเนินการภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง”

ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๐  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้

(๑) รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(๒) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ

(๓) รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

(๔) ป้องกันและระงับโรคติดต่อ

(๕) ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง

(๖) ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม

(๗) หน้าที่อื่น ๆ ซึ่งมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยหรือกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล”

ข้อ ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖๑  เทศพาณิชย์ของเทศบาล ให้ตราเป็นเทศบัญญัติ กิจการใดที่เทศบาลมีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่ จะไม่ตราเป็นเทศบัญญัติก็ได้”

ข้อ ๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖

                  “มาตรา ๖๒ ทวิ  ในกรณีที่สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณประจำปี ในกรณีแห่งเทศบาลตำบล ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นไปยังนายอำเภอ เพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเร็ว ในกรณีแห่งเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาร่างเทศบัญญัตินั้น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติก็ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

                  ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัตินั้น ให้ส่งคืนสภาเทศบาลพิจารณาใหม่ ถ้าสภาเทศบาลยืนตามเดิม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งร่างเทศบัญญัติไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยเหตุผลภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันได้รับร่างเทศบัญญัตินั้น ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัตินั้น ให้รีบส่งร่างเทศบัญญัติมายังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อลงชื่ออนุมัติ ถ้าเห็นชอบด้วยก็ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป”

ข้อ ๕[๑]  ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

จอมพล ถ.  กิตติขจร

หัวหน้าคณะปฏิวัติ

วศิน/ผู้จัดทำ

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑

สุกัญญา/ผู้จัดทำ

๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐๒/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕