พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าคลองพนม ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2543
พระราชกฤษฎีกา
กำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าคลองพนม
ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน
อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๓
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓
เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าคลองพนม ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าคลองพนม ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓”
มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้บริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าคลองพนม ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เป็นอุทยานแห่งชาติ
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
[เอกสารแนบท้าย]
๑. แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าคลองพนม ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าคลองสก และป่าคลองพนม ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพนม และตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ ๔๑๐.๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๕๖,๕๐๐ ไร่ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา และน้ำตก ที่สวยงามยิ่ง และเป็นค่ายเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ค่ายเขาวงศ์) ซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน และเพื่ออำนวยประโยชน์อื่นแก่รัฐและประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
สุกัญญา/พิมพ์
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙
สุนันทา/ฐิติพงษ์/ตรวจ
A+B
๙ สิงหาคม ๒๕๔๙
- [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๑๐๘ ก/หน้า ๑๕/๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓