พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๕
พระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕
เป็นปีที่ ๕๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรรวมองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงกับเทศบาลตำบลเวียงพร้าว ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง และกำหนดเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าวขึ้นใหม่
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๑ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๕”
มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้รวมองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเทศบาลตำบลเวียงพร้าว ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
การใดที่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงได้กระทำไปแล้วโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอันใช้ได้และผูกพันเทศบาลตำบลเวียงพร้าว
มาตรา ๔ เขตของเทศบาลตำบลเวียงพร้าว ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ให้มีดังต่อไปนี้
หลักเขตที่ ๑ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลป่าไหน่ และตำบลสันทรายมาบรรจบกัน
ด้านเหนือ
ตั้งแต่หลักเขตที่ ๑ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลป่าไหน่กับตำบลเวียง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลป่าไหน่ กับตำบลเวียงตัดกับถนน รพช. หมายเลข ๕๒๗๐ ฟากตะวันตก
จากหลักเขตที่ ๒ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลป่าไหน่กับตำบลเวียง ไปทางทิศตะวันออก ถึงหลักเขตที่ ๓ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลป่าไหน่กับตำบลเวียง และตำบลป่าตุ้ม มาบรรจบกัน
ด้านตะวันออก
จากหลักเขตที่ ๓ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลป่าตุ้ม ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ ๔ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลป่าตุ้มตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑๕๐ ฟากเหนือ
จากหลักเขตที่ ๔ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลป่าตุ้ม ไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ ๕ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลป่าตุ้ม และตำบลทุ่งหลวง มาบรรจบกัน
ด้านใต้
จากหลักเขตที่ ๕ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลทุ่งหลวง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ ๖ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลทุ่งหลวงตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๐๑ ฟากตะวันออก
จากหลักเขตที่ ๖ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลทุ่งหลวง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ ๗ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลบ้านโป่ง และตำบลทุ่งหลวง มาบรรจบกัน
ด้านตะวันตก
จากหลักเขตที่ ๗ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลเวียงกับตำบลบ้านโป่ง ไปทางทิศเหนือ ถึงหลักเขตที่ ๘ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลสันทรายกับตำบลเวียง และตำบลบ้านโป่ง มาบรรจบกัน
จากหลักเขตที่ ๘ เป็นเส้นเลียบแนวเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลสันทรายกับตำบลเวียง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บรรจบกับหลักเขตที่ ๑
ดังปรากฏตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้
ตามเส้นแนวเขตที่กล่าวไว้ในมาตรานี้ ให้มีหลักย่อยปักไว้เพื่อแสดงแนวเขตตามสมควร
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
[เอกสารแนบท้าย]
๑. แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2545
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงมีประชากรไม่ถึงสองพันคนและไม่สามารถที่จะบริหารงานให้มีประสิทธิภาพในลักษณะองค์การบริหารส่วนตำบลได้ และประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะยุบรวมกับเทศบาลตำบลเวียงพร้าวที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน และโดยที่มาตรา ๔๑ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกอบกับมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ บัญญัติให้การเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
สุกัญญา/พิมพ์
๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๙
สุนันทา/ฐิติพงษ์/ตรวจ
A+B
๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๒๐ ก/หน้า ๑/๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕