พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐

พระราชกฤษฎีกา

กำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ

ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียน

ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

พ.ศ. ๒๔๙๐

                  

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร

พระยามานวราชเสวี

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐

เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน

  โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียน

                    พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                   มาตรา ๑  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พ.ศ. ๒๔๙๐”

มาตรา ๒[๑]  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓  ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ดังต่อไปนี้ จะต้องมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.  ๒๔๙๐ คือ

(๑) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือโป๊ะ

(๒) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือโพงพาง

(๓) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือรั้วไซมานหรือรั้วกางกั้น

(๔) ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนทุกชนิด

                  (๕) ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือสะพานปลา ซึ่งรับทำการขายสินค้าสัตว์น้ำเป็นปกติธุระด้วยวิธีการขายทอดตลาด ขายเหมา ขายส่ง หรือวิธีการอย่างอื่นโดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยปริยายตามพฤติการณ์ว่าสินค้านั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้รับค่านายหน้าในการขายจากเจ้าของสินค้าสัตว์น้ำ

(๖) ผู้ค้าสินค้าสัตว์น้ำสดหรือเค็ม ด้วยวิธีขายทอดตลาด ขายเหมา หรือขายส่ง

(๗) ผู้ประกอบกิจการโรงเค็มหรือโรงทำปลาเค็ม เพื่อการค้า

(๘) ผู้ประกอบกิจการโรงทำน้ำปลา เพื่อการค้า

(๙) ผู้ประกอบกิจการโรงทำกะปิ เพื่อการค้า

(๑๐) ผู้ประกอบกิจการโรงนึ่งหรือย่างสัตว์น้ำ เพื่อการค้า

(๑๑) ผู้ประกอบกิจการโรงทำหอยแห้ง เพื่อการค้า

(๑๒) ผู้ประกอบกิจการโรงทำสัตว์น้ำกระป๋อง

(๑๓)[๒] ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือคราดหอยประกอบกับเรือ

(๑๔)[๓] ผู้ประกอบกิจการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งทะเล

(๑๕)[๔] ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบไร่ขึ้นไป

(๑๖)[๕] ผู้ทำการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดความยาวไม่เกินสิบสี่เมตร

(๑๗)[๖] ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือลอบทุกชนิด

มาตรา ๓ ทวิ[๗]  ให้ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้อยกว่าห้าสิบไร่ มาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเรือตรี ถ  ธำรงนาวาสวัสดิ์

นายกรัฐมนตรี

                 พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘[๘]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้อาชีพผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือคราดหอย ประกอบกับเรือ มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อทราบจำนวนเรือประมงคราดหอย และเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑[๙]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งทะเลมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทราบจำนวนผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว ความต้องการพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล และจำนวนผลผลิตลูกกุ้งทะเล ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพันธุ์กุ้งทะเล กับให้การรับรองพันธุ์กุ้งทะเลที่ได้มาตรฐาน และกระจายพันธุ์กุ้งทะเลให้ถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔[๑๐]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบไร่ขึ้นไปมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้อยกว่าห้าสิบไร่มาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้รัฐสามารถดูแลและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ และให้การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน อีกทั้งให้รัฐสามารถดูแลและควบคุมระบบกำจัดน้ำเสีย การใช้ยาและสารเคมีในนากุ้ง มิให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคตลอดจนเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลการเลี้ยงกุ้งสำหรับนำมาใช้ในการวางแผนการเลี้ยง การผลิตและการตลาด  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖[๑๑]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ทำการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดความยาวไม่เกินสิบสี่เมตร มาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงประเภทนี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐[๑๒]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมือลอบทุกชนิด เป็นผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ที่จะต้องมาจดทะเบียนและขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อได้มีประกาศกำหนดของรัฐมนตรี  ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบจำนวนการใช้เครื่องมือลอบและเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมเครื่องมือลอบให้มีจำนวนที่เหมาะสม  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

สุนันทา/ผู้จัดทำ

๙ มกราคม ๒๕๔๙

จุฑามาศ/ปรับปรุง

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๑๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๔ เมษายน ๒๔๙๐
  • [๒] มาตรา ๓ (๑๓) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘
  • [๓] มาตรา ๓ (๑๔) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑
  • [๔] มาตรา ๓ (๑๕) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
  • [๕] มาตรา ๓ (๑๖) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖
  • [๖] มาตรา ๓ (๑๗) เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐
  • [๗] มาตรา ๓ ทวิ เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔
  • [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม.๑๐๒/ตอนที่ ๑๐๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๗ สิงหาคม ๒๕๒๘
  • [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๕/ตอนที่ ๗๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๑
  • [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๔๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖/๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๔
  • [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๙๒ ก/หน้า ๑๐/๒๖ กันยายน ๒๕๔๖
  • [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๒๕/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐