พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙
พระราชกฤษฎีกา
ระเบียบพนักงานเทศบาล
พ.ศ. ๒๕๑๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
เป็นปีที่ ๓๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙”
มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖
(๒) พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐
(๓) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๔ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕
(๔) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๔๙ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
(๕) พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๖
(๖) พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๗
(๗) พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๗
(๘) พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘
มาตรา ๔[๒] พนักงานเทศบาล ได้แก่ พนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเทศบาล โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนที่ตั้งทางเทศบาล
พนักงานเทศบาลมี ๒ ประเภท
(๑) พนักงานเทศบาลสามัญ ได้แก่พนักงานเทศบาลซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับเงินเดือนในอัตราสามัญ แต่ไม่รวมถึงพนักงานครูเทศบาล
(๒) พนักงานครูเทศบาล ได้แก่ พนักงานเทศบาลซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สอนประจำในสถานศึกษาของเทศบาล หรือดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้บริหารและให้การศึกษาในสถานศึกษาของเทศบาล หรือดำรงตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาซึ่งไม่สังกัดสถานศึกษาของเทศบาล
มาตรา ๕[๓] ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับแก่พนักงานเทศบาลโดยอนุโลม โดยให้ ก.ท. กำหนดตำแหน่ง การแต่งตั้ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของพนักงานครูเทศบาลให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู ทั้งนี้ เว้นแต่ในพระราชกฤษฎีกานี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๖[๔] ให้มีคณะกรรมการพนักงานเทศบาลคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า “ก.ท.” ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง รองอธิบดีกรมการปกครองซึ่งอธิบดีกรมการปกครองมอบหมาย เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการคุรุสภา
(๓) กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
(ก) ผู้แทนนายกเทศมนตรี ซึ่งนายกเทศมนตรีของเทศบาลทุกแห่งคัดเลือกกันเองจำนวนสองคน
(ข) ผู้แทนพนักงานเทศบาล ซึ่งปลัดเทศบาลของเทศบาลทุกแห่งคัดเลือกกันเองจำนวนสองคน
(ค) ผู้แทนประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งคัดเลือกกันเอง จำนวนหนึ่งคน
(ง) ผู้แทนพนักงานส่วนตำบล ซึ่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง คัดเลือกกันเอง จำนวนหนึ่งคน
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ ด้านการเงินและการคลัง ด้านการสาธารณสุข ด้านวิศวกรรม ด้านการศึกษา หรือด้านกฎหมาย ซึ่งมีความรู้ความสามารถหรือผลงานเป็นที่ยอมรับ จำนวนหกคน
การคัดเลือกกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้รองอธิบดีกรมการปกครองซึ่งอธิบดีกรมการปกครองมอบหมายเป็นเลขานุการ ก.ท.
มาตรา ๖ ทวิ[๕] กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานกรรมการ หรือพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล หรือปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลงให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วแต่กรณี แทนตำแหน่งที่ว่างภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่กรรมการว่างลง และให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๗ ให้ ก.ท. มีฐานะและอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดไว้สำหรับคณะรัฐมนตรีและ ก.พ. และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ออกกฎ ก.ท ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดให้ออกกฎ ก.พ.
(๒) อนุมัติการโอนพนักงานเทศบาลของเทศบาลหนึ่งไปเป็นพนักงานเทศบาลของอีกเทศบาลหนึ่งตามมาตรา ๑๒ (๑) และอนุมัติการรับโอนข้าราชการมาเป็นพนักงานเทศบาลตามมาตรา ๑๔
(๓) มีมติให้โอนพนักงานเทศบาลของเทศบาลหนึ่งไปเป็นพนักงานเทศบาลของอีกเทศบาลหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่งานของทางราชการตามระเบียบที่ ก.ท. กำหนด
(๔) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ ก.ท. มอบหมาย
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชกฤษฎีกานี้กำหนดว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ท.
มาตรา ๘[๖] ให้มีคณะอนุกรรมการพนักงานเทศบาลประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ท. จังหวัด” โดยออกนามจังหวัดนั้น ประกอบด้วย
(๑) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ
(๒) อนุกรรมการผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนหนึ่งคน และผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น
(๓) อนุกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
(ก) ผู้แทนนายกเทศมนตรี ซึ่งนายกเทศมนตรีในเขตจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเอง จำนวนหนึ่งคน
(ข) ผู้แทนพนักงานเทศบาล ซึ่งปลัดเทศบาลในเขตจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเอง จำนวนหนึ่งคน
(ค) ผู้แทนประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเอง จำนวนหนึ่งคน
(ง) ผู้แทนพนักงานส่วนตำบล ซึ่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเอง จำนวนหนึ่งคน
(๔) อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ ด้านการเงินและการคลัง ด้านการสาธารณสุข ด้านวิศวกรรม ด้านการศึกษา หรือด้านกฎหมาย ซึ่งมีความรู้ความสามารถหรือผลงานเป็นที่ยอมรับ จำนวนสี่คน
การคัดเลือกอนุกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นเป็นเลขานุการ อ.ก.ท. จังหวัด
ให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๖ ทวิ มาใช้บังคับกับการพ้นจากตำแหน่งและการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งอนุกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างด้วยโดยอนุโลม
ให้ อ.ก.ท. จังหวัด มีหน้าที่ช่วย ก.ท. ปฏิบัติการในจังหวัดนั้น และให้ อ.ก.ท. จังหวัด มีฐานะและอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดไว้ สำหรับ อ.ก.พ. กระทรวง และ อ.ก.พ. กรม
มาตรา ๙[๗] ให้มีคณะอนุกรรมการพนักงานเทศบาลประจำเทศบาลเรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ท. เทศบาล” โดยออกนามเทศบาลนั้น ประกอบด้วย
(๑) นายกเทศมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ
(๒) อนุกรรมการผู้แทนเทศบาล ประกอบด้วยเทศมนตรีซึ่งนายกเทศมนตรีมอบหมายจำนวนหนึ่งคน ปลัดเทศบาล และหัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล
(๓) อนุกรรมการผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวนสี่คน
(๔) อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ ด้านการเงินและการคลัง ด้านการสาธารณสุข ด้านวิศวกรรม ด้านการศึกษา หรือด้านกฎหมาย ซึ่งมีความรู้ความสามารถหรือผลงานเป็นที่ยอมรับ จำนวนสี่คน
ให้หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลเป็นเลขานุการ อ.ก.ท. เทศบาล
ให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้และให้นำความในวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา ๖ ทวิ มาใช้บังคับกับการพ้นจากตำแหน่งและการแต่งตั้งอนุกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างด้วยโดยอนุโลม
ให้ อ.ก.ท. เทศบาล มีหน้าที่ช่วย อ.ก.ท. จังหวัด และ ก.ท. ปฏิบัติการในเทศบาลนั้น และให้ อ.ก.ท. เทศบาล มีฐานะและอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดไว้สำหรับ อ.ก.พ. จังหวัด
มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานเทศบาลตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดไว้สำหรับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจและปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานเทศบาล ตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดไว้สำหรับปลัดกระทรวง และอธิบดี
ให้นายกเทศมนตรีมีอำนาจและปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานเทศบาลตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดไว้สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด
มาตรา ๑๑[๘] การแต่งตั้งและการให้พนักงานเทศบาลพ้นจากตำแหน่ง ให้นายกเทศมนตรี โดยความเห็นชอบของ ก.ท. เป็นผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่ง
ในกรณีการแต่งตั้งและให้ลูกจ้างของเทศบาลพ้นจากตำแหน่ง ให้นายกเทศมนตรีโดยความเห็นชอบของ อ.ก.ท. จังหวัด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ท. กำหนด เป็นผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามที่ ก.ท. กำหนด
มาตรา ๑๒ การโอนพนักงานเทศบาลของเทศบาลหนึ่งไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานเทศบาลของอีกเทศบาลหนึ่งอาจทำได้โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๑๑ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนนั้นแล้ว โดยให้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่ไม่สูงกว่าเดิมและรับเงินเดือนในขั้นที่ไม่สูงกว่าเดิมภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) การโอนปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล สมุหบัญชี หรือการโอนพนักงานเทศบาลผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตั้งแต่ระดับ ๕ ขึ้นไป ถ้าฝ่ายซึ่งจะรับโอนพิจารณาเห็นสมควรให้รับโอนได้ ให้รายงานประธาน อ.ก.ท. จังหวัด เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นไปยัง ก.ท. เมื่อ ก.ท. อนุมัติแล้ว ให้บรรจุได้
(๒) การโอนพนักงานเทศบาลผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๔ ระหว่างเทศบาลในจังหวัดเดียวกันหรือต่างจังหวัดกัน หรือการโอนพนักงานเทศบาลผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๓ ลงมา ระหว่างเทศบาลต่างจังหวัดกัน ถ้าฝ่ายซึ่งจะรับโอนพิจารณาเห็นสมควรให้รับโอนได้ ให้รายงานประธาน อ.ก.ท. จังหวัด เมื่อ อ.ก.ท. จังหวัดอนุมัติแล้ว ให้บรรจุได้
(๓) การโอนพนักงานเทศบาลผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๓ ลงมา ระหว่างเทศบาลในจังหวัดเดียวกัน ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๑๑ รายงาน ประธาน อ.ก.ท. เทศบาล เมื่อ อ.ก.ท. เทศบาลอนุมัติแล้ว ให้บรรจุได้
การโอนพนักงานเทศบาลวิสามัญไปเป็นพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้จะกระทำมิได้
มาตรา ๑๓ การโอนพนักงานเทศบาลผู้สอบแข่งขันได้ ผู้สอบคัดเลือกได้ หรือผู้ได้รับคัดเลือก ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ท. กำหนด
มาตรา ๑๔ การโอนข้าราชการอื่นซึ่งไม่ใช่ข้าราชการวิสามัญ ข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการซึ่งอยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ มาบรรจุเป็นพนักงานเทศบาล อาจกระทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจโดยเทศบาลที่จะรับโอนทำความตกลงกับกระทรวง ทบวง กรมหรือหน่วยงานเจ้าสังกัด แล้ว รายงานประธาน อ.ก.ท. จังหวัด เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นไปยัง ก.ท. เมื่อ ก.ท. อนุมัติแล้วให้โอนและบรรจุได้ ทั้งนี้ จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใด และจะได้รับเงินเดือนเท่าใด ให้ ก.ท. เป็นผู้พิจารณากำหนด แต่เงินเดือนที่จะให้ได้รับต้องไม่สูงกว่าพนักงานเทศบาลซึ่งมีคุณวุฒิ ความสามารถและความชำนาญงานในระดับเดียวกัน
เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาทำงาน ให้ถือเวลาราชการของผู้ที่โอนมาตามวรรคหนึ่ง ในขณะที่เป็นข้าราชการนั้นเป็นเวลาทำงานของพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย
มาตรา ๑๕ ข้าราชการซึ่งไม่ใช่ข้าราชการวิสามัญ ข้าราชการประจำต่างประเทศพิเศษ ข้าราชการการเมือง พนักงานเทศบาลหรือข้าราชการซึ่งออกจากราชการในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้ใดออกจากงานหรือออกจากราชการไปแล้ว ถ้าสมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานเทศบาลให้เทศบาลที่ต้องการจะรับเข้าทำงานรายงานประธาน อ.ก.ท. จังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นไปยัง ก.ท. เมื่อ ก.ท. อนุมัติแล้ว ให้บรรจุได้ ทั้งนี้จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใด และจะให้ได้รับเงินเดือนเท่าใด ให้ ก.ท. เป็นผู้พิจารณากำหนด แต่เงินเดือนที่จะให้ได้รับต้องไม่สูงกว่าพนักงานเทศบาลซึ่งมีคุณวุฒิ ความสามารถและความชำนาญงานในระดับเดียวกัน
เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาทำงาน ให้ถือเวลาทำงานหรือเวลาราชการของผู้เข้าทำงานตามวรรคหนึ่งในขณะที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานเทศบาลนั้น เป็นเวลาทำงานของพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย
มาตรา ๑๖[๙] ให้นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีได้รับเงินค่าป่วยการรายเดือน และเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งไม่เกินอัตราตามบัญชีหมายเลข ๑ และบัญชีหมายเลข ๒ ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้
การจ่ายเงินค่าป่วยการรายเดือนและค่าป่วยการประจำตำแหน่งให้แก่นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีให้เหมาจ่ายเป็นรายเดือน เว้นแต่เงินค่าป่วยการรายเดือนจะต้องมีวันปฏิบัติงานไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน
วันลาของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี หากได้ดำเนินการชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการลาของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีแล้ว ให้ถือเป็นวันปฏิบัติงานตามวรรคสอง
มาตรา ๑๗ ผู้ใดเป็นพนักงานเทศบาลสามัญตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖ อยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา ๑๘ ผู้ใดเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖ อยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญต่อไป และให้นำมาตรา ๙๓ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖ มาใช้บังคับแก่ผู้นั้นเว้นแต่
(๑) ผู้ใดเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญชั่วคราวทดลองปฏิบัติหน้าที่การงานตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖ อยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นทดลองปฏิบัติหน้าที่การงานตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนั้นต่อไป เมื่อได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่การงานมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน นายกเทศมนตรีมิได้สั่งให้ผู้นั้นออกจากงานตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้นับวันทำงานในระหว่างเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญชั่วคราวนั้นเป็นเวลาทำงานตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย
(๒) พนักงานเทศบาลวิสามัญผู้ใดดำรงตำแหน่งผดุงครรภ์อยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และมีคุณสมบัติทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่
(๓) ให้พนักงานเทศบาลวิสามัญผู้ใดดำรงตำแหน่งที่ ก.ท. พิจารณาเห็นว่าทำหน้าที่อย่างเดี่ยวกับตำแหน่งพนักงานเทศบาลอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) มีคุณสมบัติทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
(ข) เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาหรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบได้ไม่ต่ำกว่าประโยคมัธยมศึกษา และเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญในตำแหน่งหน้าที่อย่างเดียวกับตำแหน่งพนักงานเทศบาลติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
ผู้ใดเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญตาม (๓) แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ตาม (ข) ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญไปพลางก่อน เมื่อเข้าเกณฑ์ตาม (ข) ก็ให้พนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับที่ได้รับอยู่
มาตรา ๑๙ ในระหว่างที่ ก.ท. ยังมิได้กำหนดตำแหน่งพนักงานเทศบาลในเทศบาลใด ให้นำพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖ ข้อบังคับหรือระเบียบของ ก.ท. ที่ใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับในเทศบาลนั้นไปพลางก่อน
มาตรา ๒๐ เมื่อ ก.ท. ได้กำหนดตำแหน่งพนักงานเทศบาลในเทศบาลใดแล้ว ถ้าพนักงานเทศบาลผู้ใดได้รับเงินเดือนในขั้นสูงสุดของขั้น ตามบัญชีหมายเลข ๑ ท้ายพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๘ และไม่ได้เลื่อนเงินเดือน ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่อาจได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าเดิม หากผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนเงินเดือนให้แก่พนักงานเทศบาลผู้นั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ให้สั่งเลื่อนได้โดยให้ได้รับเงินเดือนตามที่เลื่อนได้นั้น ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
มาตรา ๒๑ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ท. ข้อบังคับ หรือระเบียบของ ก.ท. เพื่อปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้นำกฎ ก.พ. ข้อบังคับหรือระเบียบของ ก.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๒ เมื่อ ก.ท. ได้กำหนดตำแหน่งพนักงานเทศบาลในเทศบาลใดแล้ว ถ้าพนักงานเทศบาลในเทศบาลนั้นผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัย หรือ กรณีที่สมควรให้ออกจากงานก่อนวันที่ ก.ท. กำหนดตำแหน่งดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐ ดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษผู้นั้น หรือสั่งให้ผู้นั้นออกจากงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาลที่ใช้อยู่ในขณะนั้นส่วนการสอบสวนพิจารณาให้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้เว้นแต่
(๑) ในกรณีที่ประธาน ก.ท. หรือประธาน อ.ก.ท. จังหวัด หรือประธาน อ.ก.ท. เทศบาลได้สั่งให้สอบสวนโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไปแล้วก่อนวันที่ ก.ท. กำหนดตำแหน่งพนักงานเทศบาลนั้น และยังสอบสวนไม่เสร็จ ก็ให้สอบสวนตามกฎหมายนั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จ
(๒) ในกรณีที่ได้มีการสอบสวนพิจารณาโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเสร็จไปแล้วก่อนวันที่ ก.ท. กำหนดตำแหน่งพนักงานเทศบาลในเทศบาลนั้น ให้การสอบสวนพิจารณานั้นเป็นอันใช้ได้
มาตรา ๒๓ การใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๐๖ ในวันที่ ก.ท. กำหนดตำแหน่งพนักงานเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้น ให้เป็นไปตามที่ ก.ท. กำหนด
มาตรา ๒๔ การใดที่เคยดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาลที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ แต่มิได้บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ จะดำเนินการได้ประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ท. กำหนดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย
มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
นายกรัฐมนตรี
บัญชีหมายเลข ๑[๑๐]
เทศบาลซึ่งมีรายได้จริงตามงบประมาณทั่วไป |
เงินค่าป่วยการรายเดือน (บาท) |
|
นายกเทศมนตรี |
เทศมนตรี |
|
เกิน ๑๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๒๗,๑๐๐ |
๑๓,๕๕๐ |
เกิน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๒๔,๗๐๐ |
๑๒,๓๕๐ |
เกิน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๒๒,๕๐๐ |
๑๑,๒๕๐ |
เกิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๒๐,๔๐๐ |
๑๐,๒๐๐ |
เกิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๑๘,๔๐๐ |
๙,๒๐๐ |
เกิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๑๖,๕๐๐ |
๘,๒๕๐ |
เกิน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๑๔,๗๐๐ |
๗,๓๕๐ |
เกิน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๑๓,๐๐๐ |
๖,๕๐๐ |
เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๑๑,๔๐๐ |
๕,๗๐๐ |
เกิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๙,๙๐๐ |
๔,๙๕๐ |
เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๘,๕๐๐ |
๔,๒๕๐ |
ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท |
๗,๒๐๐ |
๓,๖๐๐ |
หมายเหตุ เกณฑ์การคำนวณเงินค่าป่วยการรายเดือนตามบัญชีนี้ ให้คำนวณจากรายได้จริงตามงบประมาณทั่วไปของปีงบประมาณที่แล้วมา ทั้งนี้ ไม่รวมเงินกู้ เงินสะสม หรือเงินอุดหนุนทุกประเภท
บัญชีหมายเลข ๒[๑๑]
เทศบาลซึ่งมีรายได้จริงตามงบประมาณทั่วไป |
เงินค่าป่วยการรายเดือน (บาท) |
|
นายกเทศมนตรี |
เทศมนตรี |
|
เกิน ๑๒๐ ล้านบาท |
๘,๒๐๐ |
๖,๑๕๐ |
เกิน ๑๐๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๑๒๐ ล้านบาท |
๗,๘๐๐ |
๕,๘๕๐ |
เกิน ๑๐๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๑๑๐ ล้านบาท |
๗,๔๐๐ |
๕,๕๕๐ |
เกิน ๙๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๑๐๐ ล้านบาท |
๗,๐๐๐ |
๕,๒๕๐ |
เกิน ๘๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๙๐ ล้านบาท |
๖,๖๐๐ |
๔,๙๕๐ |
เกิน ๗๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๘๐ ล้านบาท |
๖,๒๐๐ |
๔,๖๕๐ |
เกิน ๖๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๗๐ ล้านบาท |
๕,๘๐๐ |
๔,๓๕๐ |
เกิน ๕๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๖๐ ล้านบาท |
๕,๔๐๐ |
๔,๐๕๐ |
เกิน ๔๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท |
๕,๐๐๐ |
๓,๗๕๐ |
เกิน ๓๕ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๔๐ ล้านบาท |
๔,๖๐๐ |
๓,๔๕๐ |
เกิน ๓๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๓๕ ล้านบาท |
๔,๓๐๐ |
๓,๒๒๕ |
เกิน ๒๕ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๓๐ ล้านบาท |
๔,๐๐๐ |
๓,๐๐๐ |
เกิน ๒๐ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๒๕ ล้านบาท |
๓,๗๐๐ |
๒,๗๗๕ |
เกิน ๑๗ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๒๐ ล้านบาท |
๓,๔๐๐ |
๒,๕๕๐ |
เกิน ๑๔ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๑๗ ล้านบาท |
๓,๒๐๐ |
๒,๔๐๐ |
เกิน ๑๑ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๑๔ ล้านบาท |
๓,๐๐๐ |
๒,๒๕๐ |
เกิน ๙ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๑๑ ล้านบาท |
๒,๘๐๐ |
๒,๑๐๐ |
เกิน ๗ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๙ ล้านบาท |
๒,๖๕๐ |
๑,๙๙๐ |
เกิน ๕ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๗ ล้านบาท |
๒,๕๐๐ |
๑,๘๗๕ |
เกิน ๔ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๕ ล้านบาท |
๒,๓๕๐ |
๑,๗๖๕ |
เกิน ๓ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๔ ล้านบาท |
๒,๒๕๐ |
๑,๖๙๐ |
เกิน ๒ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๓ ล้านบาท |
๒,๑๕๐ |
๑,๖๑๕ |
เกิน ๑ ล้านบาท แต่ไม่เกิน ๒ ล้านบาท |
๒,๐๕๐ |
๑,๕๔๐ |
ไม่เกิน ๑ ล้านบาท |
๑,๙๕๐ |
๑,๔๖๕ |
หมายเหตุ เกณฑ์คำนวณเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งตามบัญชีนี้ ให้คำนวณจากรายได้จริงตามงบประมาณทั่วไปที่เทศบาลจัดเก็บเองจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์ ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ และรายได้จากทรัพย์สินของเทศบาลของปีงบประมาณที่แล้วมา
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาลที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติที่ยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่เพื่อให้พนักงานเทศบาลมีฐานะและสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑[๑๒]
มาตรา ๕ ผู้ใดเป็นพนักงานเทศบาลซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สอนประจำในสถานศึกษาของเทศบาล หรือดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้บริหารและให้การศึกษาในสถานศึกษาของเทศบาล หรือดำรงตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งไม่สังกัดสถานศึกษาของเทศบาลตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ อยู่ในวันประกาศพระราชกฤษฎีกานี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานครูเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา ๖ ในระหว่างที่ ก.ท. ยังมิได้กำหนดตำแหน่งพนักงานครูเทศบาลตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกานี้ ให้นำพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ มาใช้บังคับแก่พนักงานครูเทศบาลไปพลางก่อน ทั้งนี้ ไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบวันแต่นับวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา ๗ การใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ในวันที่ ก.ท. กำหนดตำแหน่งพนักงานครูเทศบาลตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกานี้การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้น ให้เป็นไปตามที่ ก.ท. กำหนด
มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีพนักงานครูเทศบาลขึ้น และกำหนดให้พนักงานครูเทศบาลได้รับสิทธิเท่าเทียมกับข้าราชการครูตามกฎหมายอื่น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕[๑๓]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าป่วยการของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีที่กำหนดไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ขณะนี้ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงอัตราค่าป่วยการของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีโดยถือเกณฑ์การปรับปรุงเช่นเดียวกับข้าราชการประเภทอื่น ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒[๑๔]
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากบัญชีอัตราค่าป่วยการของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีที่กำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้น ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงอัตราค่าป่วยการของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕[๑๕]
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าป่วยการนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีที่กำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงอัตราค่าป่วยการนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๗[๑๖]
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราเงินค่าป่วยการนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดไว้นานแล้ว ไม่เหมาะสมกับสถานภาพของตำแหน่งและภาวะการครองชีพในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราเงินค่าป่วยการนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีให้เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตราค่าตอบแทนข้าราชการประเภทอื่น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๘[๑๗]
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑ บัญญัติให้คณะกรรมการพนักงานครูเทศบาลกำหนดตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือนและการแต่งตั้งของพนักงานครูเทศบาลให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูแต่มิได้บัญญัติให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนดการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งของพนักงานครูเทศบาลด้วย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนดการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งของพนักงานครูเทศบาลด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานครูเทศบาลมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งเช่นเดียวกับข้าราชการครู จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๙[๑๘]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดบางตำแหน่งไม่มีภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของเทศบาล และในปัจจุบันตำแหน่งพนักงานเทศบาลบางตำแหน่งซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนการบริหารตามที่กำหนดให้เป็น อ.ก.ท. เทศบาลได้มีการปรับปรุงชื่อตำแหน่งพนักงานเทศบาลใหม่ สมควรปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการใน อ.ก.ท. จังหวัดเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้นรวมทั้งแก้ไขชื่อตำแหน่งของพนักงานเทศบาลซึ่งกำหนดให้เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ท เทศบาล เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำแหน่งของพนักงานเทศบาลในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๔๒[๑๙]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นเทศบาลตำบล แต่สุขาภิบาลที่เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลดังกล่าวส่วนใหญ่มีรายได้น้อยไม่สามารถจ่ายเงินค่าป่วยการให้แก่นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีได้ตามอัตราเงินค่าป่วยการของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๗ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราเงินค่าป่วยการของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีดังกล่าวให้เหมาะสมกับรายได้ของเทศบาลนั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒[๒๐]
มาตรา ๘ บรรดาคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้ง การย้าย การโอน การรับโอนการเลื่อนระดับ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ หรือการอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่ ก.ท. อ.ก.ท. จังหวัด หรือ อ.ก.ท. เทศบาลตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ดำเนินการไปแล้วหรือกำลังดำเนินการอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้
มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๘๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้การแต่งตั้งและการให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากัน สมควรปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.) คณะอนุกรรมการพนักงานเทศบาลประจำจังหวัด (อ.ก.ท. จังหวัด) และคณะอนุกรรมการพนักงานเทศบาลประจำเทศบาล (อ.ก.ท. เทศบาล) และอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการให้พนักงานเทศบาลและลูกจ้างพ้นจากตำแหน่ง ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
สัญชัย/จัดทำ
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๐
- [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๐๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๗/๘ กันยายน ๒๕๑๙
- [๒] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑
- [๓] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๘
- [๔] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
- [๕] มาตรา ๖ ทวิ เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
- [๖] มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
- [๗] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
- [๘] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
- [๙] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๗
- [๑๐] บัญชีหมายเลข ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๔๒
- [๑๑] บัญชีหมายเลข ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๗
- [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๗๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๗๗/๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑
- [๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๓๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๖/๒๖ กันยายน ๒๕๒๕
- [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๕๐/๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๒
- [๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๒๖/หน้า ๑๕/๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๕
- [๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๕๐ ก/หน้า ๕๗/๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๗
- [๑๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนที่ ๖ ก/หน้า ๑๔/๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘
- [๑๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๔๕ ก/หน้า ๑๑/๔ ตุลาคม ๒๕๓๙
- [๑๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๕/๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒
- [๒๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๙๕ ก/หน้า ๔/๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๒