พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ในท้องที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2549
พระราชกฤษฎีกา
เปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้
ในท้องที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๔๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
เป็นปีที่ ๖๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ในท้องที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓๖ ทวิวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ในท้องที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๙”
มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งพลเมืองยังใช้ประโยชน์อยู่ ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ในท้องที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๑ งาน ๓ ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังนี้
ทิศเหนือ จดโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๒๗, ๗๔๘, ๗๔๕ และ ๗๔๗
ทิศตะวันออก จดห้วยสาธารณประโยชน์
ทิศใต้ จดโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๑๖, ๘๕๑๗ และ ๘๕๑๘
ทิศตะวันตก จดห้วยสาธารณประโยชน์
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามวรรคหนึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศจัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
[เอกสารแนบท้าย]
๑. แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในเขตอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ในท้องที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๙
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ในท้องที่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มีพื้นที่ครอบคลุมสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งเป็นห้วยสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๑ งาน ๓ ตารางวา ปัจจุบันพลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์เพื่อนำไปพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ทั้งนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดที่ดินแปลงอื่น เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๑ งาน ๔ ตารางวา ซึ่งอยู่ในท้องที่เดียวกันขุดเป็นห้วยสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแทนสมควรเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันดังกล่าว เพื่อให้มีผลเป็นการถอนสภาพที่ดินนั้นจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดและโดยที่มาตรา ๓๖ ทวิ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีประกาศตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง จัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเขตอุตสาหกรรมทั่วไปให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยระบุแปลงและจำนวนเนื้อที่ดินโดยประมาณที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ไว้ในพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
ชัชสรัญ/ผู้จัดทำ
๒๙ มีนาคม ๒๕๔๙
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๔/๒๗ มีนาคม ๒๕๔๙