พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

พระราชกำหนด

การประมง

พ.ศ. ๒๕๕๘

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประมง

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

 

มาตรา ๔  บทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้มุ่งหมายเพื่อการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและในน่านน้ำทั่วไป เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมงภายใต้วัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง

(๒) เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น

(๓) เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ

(๔) เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมง

(๕) มีการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และหลักการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

(๖) เพื่อป้องกันและขจัดการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตและขีดความสามารถในการทำการประมงส่วนเกิน ตลอดจนควบคุมมิให้การทำการประมงมีผลบั่นทอนความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ

(๗) เพื่อบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้อย่างเป็นระบบ

(๘) ส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้

(๙) เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการประมง

(๑๐) เพื่อสร้างระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ

(๑๑) เพื่อให้มีระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำการประมงไปจนถึงผู้บริโภค

(๑๒) กำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมเพื่อป้องกันการกระทำความผิด

 

มาตรา ๕  ในพระราชกำหนดนี้

“สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นปกติ สัตว์จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำท่วมถึง สัตว์ที่มีการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำ สัตว์ที่มีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำเฉพาะช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของสัตว์น้ำ และสาหร่ายทะเล ซาก หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และให้หมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์ไม้น้ำนั้นด้วย

“ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” หมายความว่า ผลิตผลที่ได้จากการแปรรูปสัตว์น้ำหรือที่ใช้สัตว์น้ำเป็นวัตถุดิบ

“การแปรรูปสัตว์น้ำ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภค แต่ไม่รวมถึงการบรรจุหีบห่อสัตว์น้ำโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพของสัตว์น้ำ หรือการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำเพื่อบริการให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง

“การประมง” หมายความว่า การทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การดูแลรักษาสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ และหมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนการทำการประมง

“ทำการประมง” หมายความว่า ค้นหา ล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำ หรือการกระทำใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ

“ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ที่มีน้ำขังหรือไหล และหาดทั้งปวงที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีนํ้าท่วมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน รวมทั้งทะเล

“ทะเล” หมายความว่า ทะเลชายฝั่ง ทะเลนอกชายฝั่ง ทะเลนอกน่านน้ำไทย และทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งอื่น

“น่านน้ำไทย” หมายความว่า น่านน้ำภายใน ทะเลชายฝั่ง และทะเลนอกชายฝั่ง

“น่านน้ำภายใน” หมายความว่า ที่จับสัตว์น้ำภายในราชอาณาจักรที่มิใช่ทะเล

“ทะเลชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใดมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลและไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล โดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง ชายเกาะ ตามที่ระบุในแผนที่เดินเรือของกรมอุทกศาสตร์ว่ามีความลึกน้ำศูนย์เมตร หรือแนวขอบนอกของพื้นที่ที่มีการถมทะเล

“ทะเลนอกชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรที่อยู่พ้นจากทะเลชายฝั่งจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย หรือสุดเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ สุดแต่เขตใดจะไกลกว่า

“ทะเลนอกน่านน้ำไทย” หมายความว่า ทะเลหลวงที่อยู่พ้นจากทะเลนอกชายฝั่งและหมายความรวมถึงทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่ง

“ทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐชายฝั่ง หรือที่รัฐชายฝั่งมีสิทธิหาประโยชน์ได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

“รัฐชายฝั่ง” หมายความว่า ประเทศที่มีอาณาเขตจรดน้ำทะเล แต่ไม่รวมถึงประเทศไทย

“ประมงน้ำจืด” หมายความว่า การทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่อยู่ในน่านน้ำภายใน

“ประมงพื้นบ้าน” หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง  ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์

“ประมงพาณิชย์” หมายความว่า การทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

“การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทั้งโดยวิธีธรรมชาติ วิธีผสมเทียม หรือวิธีอื่นใดในที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในช่วงใดของวงจรชีวิตสัตว์น้ำนั้น

“ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า บ่อ คอก กระชัง หรือที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลักษณะอื่นใด ไม่ว่าจะอยู่ในที่ดินของเอกชน หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองมีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

“การดูแลรักษาสัตว์น้ำ” หมายความว่า การดูแลรักษาคุณภาพสัตว์น้ำหลังการจับก่อนถึงกระบวนการการแปรรูปสัตว์น้ำ

“เครื่องมือทำการประมง” หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา และหลักที่ใช้ทำการประมง

“เรือประมง” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกขนาดที่ใช้หรือเจตนาจะใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงยานพาหนะที่ใช้สนับสนุนเรือประมง ใช้แปรรูปสัตว์น้ำ หรือเพื่อขนถ่ายหรือขนส่งสัตว์น้ำเป็นการเฉพาะ แต่ไม่รวมถึงเรือบรรทุกสินค้า

“เรือประมงไทย” หมายความว่า เรือประมงที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

“จุดอ้างอิง” หมายความว่า ปริมาณเปรียบเทียบระหว่างขีดความสามารถในการทำการประมง และขีดความสามารถของผลผลิตสัตว์น้ำที่ธรรมชาติจะสร้างขึ้นได้ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่พิจารณาจากปริมาณสัตว์น้ำ ขนาด อัตราการเกิดและการตาย และช่วงชีวิตของสัตว์น้ำ เพื่อนำมาใช้กำหนดจำนวนสูงสุดที่พึงทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

“การทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หมายความว่า การทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมาย การทำการประมงที่ไม่ได้รายงาน และการทำการประมงโดยไร้กฎเกณฑ์

“การทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมาย” หมายความว่า

(๑) การทำการประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย หรือขัดต่อกฎหมายไทยหรือกฎหมายของรัฐชายฝั่ง

(๒) การทำการประมงที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการขององค์การระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง หรือขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

“การทำการประมงที่ไม่ได้รายงาน” หมายความว่า

(๑) การทำการประมงโดยไม่แจ้งหรือรายงาน หรือรายงานไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมาย หรือกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามกฎหมาย หรือรายงานเท็จ

(๒) การทำการประมงในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศโดยไม่แจ้งหรือรายงาน หรือรายงานไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการขององค์การระหว่างประเทศนั้น หรือรายงานเท็จ

“การทำการประมงโดยไร้กฎเกณฑ์” หมายความว่า

(๑) การทำการประมงในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศไม่ว่าจะใช้เรือใด ๆ ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไร้สัญชาติ โดยประการที่มิได้ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่องค์การระหว่างประเทศดังกล่าวจัดให้มีขึ้น

(๒) การทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง โดยการทำการประมงนั้นไม่สอดคล้องกับพันธะของรัฐในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

“องค์การระหว่างประเทศ” หมายความว่า องค์การระหว่างประเทศที่ประเทศในแต่ละภูมิภาคร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง

“เรือไร้สัญชาติ” หมายความว่า เรือที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย หรือเรือที่มีตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป หรือเรือที่เปลี่ยนธงในระหว่างการเดินเรือ

“นายทะเบียนเรือ” หมายความว่า นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

“เจ้าของเรือ” หมายความว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมง

“ผู้ควบคุมเรือ” หมายความว่า ผู้มีหน้าที่บังคับเรือและรับผิดชอบในเรือประมง

“คนประจำเรือ” หมายความว่า ลูกเรือหรือคนที่มีหน้าที่ประจำอยู่ในเรือประมง แต่ไม่รวมถึงผู้ควบคุมเรือ

“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร

“ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

“นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร

“ท่าเทียบเรือประมง” หมายความว่า สถานที่ที่จัดขึ้นสำหรับใช้จอดหรือเทียบเรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือใช้ในการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมง  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในน้ำ

“กิจการแพปลา” หมายความว่า กิจการแพปลาที่ได้รับใบอนุญาต หรือสะพานปลาที่ได้มีการประกาศให้เป็นที่ประกอบกิจการแพปลาตามกฎหมายว่าด้วยกิจการแพปลา

“การขนถ่ายสัตว์น้ำ” หมายความว่า การนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดหรือบางส่วนจากเรือประมงไปยังยานพาหนะอื่น

“ผู้สังเกตการณ์” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่บนเรือประมง

“ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชกำหนดนี้

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประมง

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

 

มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดนี้ ลดหรือยกเว้นค่าอากรและค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

มาตรา ๗  การขออนุญาต การขอจดทะเบียน การอนุญาต การรับจดทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงจะกำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าอากรตามอัตราที่กำหนดไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดนี้ด้วยก็ได้

การออกกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราค่าอากรหรือค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงประเภท ชนิด ขนาด หรือจำนวนของเรือประมงหรือเครื่องมือทำการประมง หรือประเภท ชนิด ขนาด ลักษณะ หรือรูปแบบของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการทำการประมงก็ได้

 

หมวด ๑

บททั่วไป

                  

มาตรา ๘  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การระหว่างประเทศ และอนุสัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วย ให้ถือว่าการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ หรือตามกฎหมายของรัฐชายฝั่ง หรือตามหลักเกณฑ์หรือมาตรการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์หรือมาตรการขององค์การระหว่างประเทศบรรดาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง ไม่ว่าจะกระทำในน่านน้ำไทยหรือนอกน่านน้ำไทย และไม่ว่ากระทำโดยใช้เรือประมงไทย เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย หรือเรือไร้สัญชาติ เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร และต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ และให้ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทย และการกระทำความผิดนั้นมิใช่เรือประมงไทยหรือผู้มีสัญชาติไทย ให้กระทำได้เมื่อได้รับแจ้งจากรัฐต่างประเทศที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นแล้ว

ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือขององค์การระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้

 

มาตรา ๙  เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการการประมง ให้กรมประมงดำเนินการรวบรวมและประมวลข้อมูลทั้งปวงที่ได้จากการอนุญาต ออกใบอนุญาต จดทะเบียน หรือที่มีผู้แจ้งตามพระราชกำหนดนี้ และจัดทำสถิติการประมงให้เป็นปัจจุบันเสนอต่อคณะกรรมการทุกเดือน หรือตามระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและจัดเก็บสถิติการประมง ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดระยะเวลาและข้อมูลที่ประสงค์จะจัดเก็บ และพื้นที่ที่จะจัดเก็บ โดยปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการกำนัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

เมื่อมีประกาศตามวรรคสองแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพการประมง หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประมงในเวลาทำการของสถานที่นั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศดังกล่าว และให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมีหน้าที่ตอบคำถามตามความเป็นจริง

 

มาตรา ๑๐  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง

 

มาตรา ๑๑  ห้ามมิให้โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำจ้างลูกจ้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือจ้างคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง หากมีการจ้างลูกจ้างหรือคนงานที่ผิดกฎหมายไม่เกินห้าคน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานอธิบดีโดยพลัน และให้อธิบดีมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่สิบวันถึงสามสิบวัน

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง หากมีการจ้างลูกจ้างหรือคนงานที่ผิดกฎหมายมากกว่าห้าคน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานอธิบดีโดยพลัน และให้อธิบดีแจ้งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อสั่งปิดโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการตามวรรคสอง กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งอีกภายในสามปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานอธิบดีโดยพลัน และให้อธิบดีแจ้งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อสั่งปิดโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกสั่งปิดโรงงานตามวรรคสาม และวรรคสี่ประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับสัตว์น้ำ และห้ามผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลดังกล่าวเพื่อประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับสัตว์น้ำ

คำสั่งปิดโรงงานตามมาตรานี้ ให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ ๓

 

หมวด ๒

การบริหารจัดการด้านการประมง

                  

มาตรา ๑๒  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแล การบริหารจัดการด้านการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด และคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และหลักการป้องกันล่วงหน้า ตลอดจนเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูระดับทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยมีการป้องกันและขจัดการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตและขีดความสามารถในการทำการประมงส่วนเกินเพื่อควบคุมมิให้การทำการประมงมีผลบั่นทอนความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ

 

ส่วนที่ ๑

คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

                  

มาตรา ๑๓  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ

 

มาตรา ๑๔  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๓ ให้แต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ด้านละหนึ่งคน

(๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกินสองคน

(๓) นักวิชาการด้านการประมง ไม่เกินสองคน

 

มาตรา ๑๕  ผู้จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง

 

มาตรา ๑๖  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี

ในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

 

มาตรา ๑๗  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) พ้นจากการเป็นผู้แทนสมาคมที่ได้รับแต่งตั้ง หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕

(๔) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

 

มาตรา ๑๘  การประชุมและการดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๑๙  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับการบริหารจัดการการประมง ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถในการทำการประมง โดยคำนึงถึงจุดอ้างอิงเป็นสำคัญ

(๒) กำหนดนโยบายการส่งเสริม พัฒนา และการแก้ไขปัญหาการประมงนอกน่านน้ำไทย

(๓) กำหนดนโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ

(๔) กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมงของประเทศ

(๕) กำหนดมาตรการในการดำเนินการควบคุมให้บรรลุตามนโยบายตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

(๖) กำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะทำการประมงในน่านน้ำไทย

(๗) กำหนดแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาการประมงของประเทศให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม

(๘) กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

(๙) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

(๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

นโยบายที่ได้จัดทำตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการและกำกับการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว

 

มาตรา ๒๐  ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ หรือคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนดได้

การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจและคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๒๑  นโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) อย่างน้อยต้องมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้เกิดการสงวน รักษา และป้องกันสัตว์น้ำมิให้สูญพันธุ์ และให้สามารถใช้ประโยชน์แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน เกิดความสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

(๒) ป้องกันมิให้มีการสนับสนุนการทำการประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าในด้านการสนับสนุนบุคลากร น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือทำการประมง หรือสิ่งของอื่นใด

(๓) มีมาตรการในการกำกับและควบคุมให้การทำการประมงเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และมาตรฐานสากล

(๔) มีแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือในการทำการประมงกับรัฐอื่นและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อสงวนและจัดการเกี่ยวกับการคุกคามทรัพยากรสัตว์น้ำ การย้ายถิ่นของสัตว์น้ำหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยใช้หลักการป้องกันล่วงหน้า

(๕) มีมาตรการป้องกันมิให้มีการทำการประมงจนเป็นการรบกวนหรือขัดขวางกระบวนการของธรรมชาติในการใช้เวลาผลิตและฟื้นฟูกำลังการผลิตอย่างเพียงพอ เพื่อให้การทำการประมงสอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

(๖) มีมาตรการที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าและพัฒนาการของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำการประมงขององค์การระหว่างประเทศ

(๗) มีแนวทางให้ผู้ประกอบอาชีพการประมง และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันแหล่งทรัพยากรประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

 

มาตรา ๒๒  แนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำตามมาตรา ๑๙ (๘) อย่างน้อยต้องครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) แนวทางการส่งเสริมมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการทำการประมงอย่างยั่งยืน

(๒) แนวทางการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวประมงไทย

(๓) แนวทางการป้องกันการแสวงหาประโยชน์เกินควรจากทรัพยากรสัตว์น้ำ

(๔) แนวทางการป้องกันการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๕) แนวทางการร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ นานาประเทศ รวมตลอดทั้งรัฐชายฝั่ง ในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถิติในการจับสัตว์น้ำ และข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับการทำการประมง

 

มาตรา ๒๓  เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายตามมาตรา ๑๙ ให้กรมประมงดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการการประมงให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป

 

มาตรา ๒๔  แผนบริหารจัดการการประมงตามมาตรา ๒๓ อย่างน้อยต้องครอบคลุมแนวทางดำเนินการในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) แนวทางในการออกใบอนุญาตทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้จุดอ้างอิงเป็นฐานในการพิจารณา

(๒) แนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับสู่สภาวะปกติตามธรรมชาติ

(๓) แนวทางในการลดจำนวนเรือประมงที่ทำการประมงพาณิชย์

(๔) แนวทางในการลดจำนวนการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๕) แนวทางในการแก้ไขปัญหาประโยชน์ขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์

(๖) แนวทางการป้องกันมิให้มีการจับสัตว์น้ำที่ยังโตไม่ได้ขนาด

(๗) แนวทางการพัฒนาข้อมูลเกี่ยวกับการประมง

(๘) แนวทางการเสริมสร้างการบริหารจัดการการประมง

 

มาตรา ๒๕  เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตทะเลชายฝั่ง ให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑)

(๒) สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม และจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๓) ให้คำปรึกษาแก่ชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการ หรือกิจกรรมของชุมชนในเรื่องดังกล่าว

(๔) เผยแพร่ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ

 

ส่วนที่ ๒

คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด

                  

 

มาตรา ๒๖  ให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ในจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมเจ้าท่า อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด นายอำเภอในเขตท้องที่ที่มีการประมง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบสามคน เป็นกรรมการ

ให้ประมงจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ

ในจังหวัดใดมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำโขง ให้มีผู้แทนกองทัพเรือเป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน

 

มาตรา ๒๗  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๖ ให้แต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๒๕ (๒) ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความทั่วถึงของผู้มีส่วนได้เสีย

(๒) ผู้มีความรู้หรือประสบการณ์การดำเนินงานในด้านการประมง หรือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เกินสามคน

 

มาตรา ๒๘  คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) รวบรวมข้อเสนอแนะและเสนอแนวทางในการส่งเสริมอาชีพการประมง การจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาจัดทำนโยบายตามมาตรา ๑๙ (๑)

(๒) พิจารณาและเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมง หรือการจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ในที่จับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อรัฐมนตรี คณะกรรมการ หรืออธิบดี

(๓) ออกประกาศตามมาตรา ๕๖ มาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๗ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๔) ดำเนินการอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกประกาศตามมาตรา ๕๖ และมาตรา ๗๑ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศบังคับใช้เป็นการชั่วคราวมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกสิบวัน และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกสิบวันนับจากวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่รัฐมนตรีพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสอง ให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุมัติจากรัฐมนตรี

จังหวัดใดไม่มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นอำนาจหน้าที่ของประมงจังหวัดหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แต่ในการใช้อำนาจหน้าที่ให้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

 

มาตรา ๒๙  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และการประชุมคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุโลม

 

หมวด ๓

การทำการประมงในน่านน้ำไทย

                  

มาตรา ๓๐  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ ควบคุม และกำกับดูแลการทำการประมง และแก้ไขปัญหาประโยชน์ขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมและกำกับการทำการประมงตามหมวดนี้ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการผลิตของธรรมชาติโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาจุดอ้างอิง เพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และประชาชนมีแหล่งอาหารได้ตามสมควร

 

มาตรา ๓๑  ผู้ใดจะทำการประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการทำการประมงในที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 

มาตรา ๓๒  ผู้ใดจะทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง หรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เว้นแต่เป็นการใช้เรือประมงโดยใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด

การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงไว้ในใบอนุญาตด้วย

 

มาตรา ๓๓  ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบ อธิบดีจะกำหนดให้ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้และพื้นที่ที่ทำการประมงก็ได้

ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องเก็บรักษาสมุดบันทึกการทำการประมงตามวรรคสองไว้ และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อนำเรือประมงกลับเข้าฝั่ง

 

มาตรา ๓๔  ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง

 

มาตรา ๓๕  ผู้ใดประสงค์จะทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง แต่ใช้เครื่องมือประเภทและขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หรือที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

 

มาตรา ๓๖  ผู้ใดจะทำการประมงพาณิชย์ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์จากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และในใบอนุญาตต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่ในการทำการประมง ปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมง หรือห้วงเวลาที่กำหนดให้ทำการประมงได้ ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงอย่างยั่งยืนที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง

 

มาตรา ๓๗  ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ต้องจัดให้มีระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๘  ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง

 

มาตรา ๓๙  ผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๔ ยังไม่ถึงห้าปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

(๒) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง

(๓) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ (๑) หรือ (๕) และยังไม่พ้นสองปีนับแต่วันได้รับคำสั่ง

(๔) เป็นผู้ที่อธิบดีมีคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ (๒) และยังไม่พ้นระยะเวลาการสั่งห้าม

(๕) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงยังไม่พ้นห้าปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต

(๖) รัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศแจ้งเป็นหนังสือว่าเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงโดยผู้มีอำนาจของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น

(๗) เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงมาแล้วสองครั้งภายในห้าปี

 

มาตรา ๔๐  ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

 

มาตรา ๔๑  ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ นำใบอนุญาตติดไว้ในเรือประมง หรือมีบัตรที่กรมประมงออกให้เพื่อใช้แทนใบอนุญาตติดตัวให้สามารถตรวจสอบได้

ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงที่จะออกบัตรสำหรับใช้แทนใบอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาต โดยบัตรดังกล่าวต้องทำด้วยวัสดุที่ป้องกันน้ำ และมีรายละเอียดของใบอนุญาตตามสมควร

 

มาตรา ๔๒  ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

 

มาตรา ๔๓  ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป การกำหนดดังกล่าวต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

 

มาตรา ๔๔  ใบอนุญาตทำการประมงจะโอนกันมิได้ เว้นแต่เป็นการโอนให้บุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน

 

มาตรา ๔๕  ในกรณีที่มีหลักฐานจากจุดอ้างอิงแสดงให้เห็นว่าปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำมีไม่เพียงพอกับการทำการประมงอย่างยั่งยืน ให้รัฐมนตรีประกาศให้งดการออกใบอนุญาตทำการประมงไว้เป็นการชั่วคราว สำหรับใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว ให้จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เพื่อพิจารณาลดปริมาณการจับสัตว์น้ำลงตามที่จำเป็น และไม่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงแล้วได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ในกรณีที่หาข้อยุติไม่ได้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจลดปริมาณการจับสัตว์น้ำลงตามที่เห็นสมควร หรือจะกำหนดมาตรการอื่นให้ผู้ทำการประมงต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้ และในกรณีจำเป็นจะเสนอคณะกรรมการเพื่อให้กำหนดจำนวนเรือประมงสูงสุดที่จะพึงมี และมาตรการที่จะดำเนินการกับเรือประมงส่วนที่เกินจำนวนที่พึงมีก็ได้

 

มาตรา ๔๖  ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รับจดทะเบียนเรือ หรือออกใบอนุญาตใช้เรือสำหรับการประมง ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เรือที่ใช้ทำการประมงเกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด

(๒) เรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ

(๓) เรือที่เคยจดทะเบียนในต่างประเทศ และมีหลักฐานว่าถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยตรวจสอบข้อมูลการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากรัฐเจ้าของธง ก่อนรับจดทะเบียนเรือ หรือออกใบอนุญาตให้ใช้เรือตาม (๓)

 

หมวด ๔

การทำการประมงนอกน่านน้ำไทย

                  

 

มาตรา ๔๗  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์กรต่างประเทศเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดนี้

 

มาตรา ๔๘  ผู้ใดจะใช้เรือประมงไทยทำการประมงในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

การออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำ และต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง ถ้าผู้ขออนุญาตประสงค์จะทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตได้เฉพาะเมื่อผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแสดงหลักฐานว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่ง และเมื่อมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตอยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้

ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับกับการขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๔๙  ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง หรือในเขตที่อยู่ในความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้แล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น

 

มาตรา ๕๐  ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงตามหลักเกณฑ์ของรัฐชายฝั่งหรือขององค์การระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่ตนเข้าไปทำการประมงกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่อื่นใดในเรือประมง และต้องมีคุณสมบัติอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรม และการขึ้นทะเบียนผู้สังเกตการณ์ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๕๑  ผู้สังเกตการณ์มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) สังเกตการณ์การจับสัตว์น้ำ การคัดสรร การแปรรูป และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ และบันทึกข้อมูลที่พบจากการสังเกตการณ์นั้น

(๒) รวบรวมและบันทึกข้อมูลด้านชีววิทยา และเก็บตัวอย่างของสัตว์น้ำที่จับได้ และข้อมูลอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้น

(๓) ทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตาม (๑) และ (๒) และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อเรือประมงเทียบท่า หรือเมื่อผู้สังเกตการณ์ขึ้นฝั่ง ตามวิธีการและภายในกำหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๕๒  ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๖

 

มาตรา ๕๓  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๗ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับกับการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๕๔  ผู้ใดเป็นเจ้าของเรือประมงไทย หรือเป็นเจ้าของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย แต่ใช้ผู้ควบคุมเรือหรือคนประจำเรือหรือมีผู้โดยสารเป็นผู้มีสัญชาติไทย ได้ใช้หรือยอมให้ใช้เรือประมงของตนทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดกฎหมายของรัฐต่างประเทศ และทำให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ หรือผู้โดยสารซึ่งไปกับเรือประมงต้องตกค้างอยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการนำบุคคลดังกล่าวกลับประเทศ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมประมง

ในกรณีที่เจ้าของเรือประมงไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้กรมประมงมีอำนาจยึดเรือประมงดังกล่าวและนำออกขายทอดตลาด และเมื่อหักจำนวนเงินที่ต้องชดใช้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระจนถึงวันที่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดเหลือเงินเท่าใดให้คืนให้แก่เจ้าของ

 

หมวด ๕

มาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ

                  

มาตรา ๕๕  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืนตามหลักการป้องกันล่วงหน้า โดยผู้ทำการประมงต้องไม่ฝ่าฝืนและปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้

 

มาตรา ๕๖  ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการหรือเพื่อการบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

การกำหนดเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย

 

มาตรา ๕๗  ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง

 

มาตรา ๕๘  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำ

(๒) กระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา

(๓) ปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ

(๔) ทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำอันจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร

 

มาตรา ๕๙  ผู้ใดโดยเจตนาหรือโดยประมาททำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ ต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายทั้งปวงในการช่วยเหลือหรือป้องกันชีวิตสัตว์น้ำและทำให้ที่จับสัตว์น้ำฟื้นฟูกลับสู่สภาพตามธรรมชาติ  ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๖๐  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ ในกรณีที่ทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และได้ดำเนินการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สัตว์น้ำเกินสมควรแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การใช้วัตถุระเบิดเพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร

 

มาตรา ๖๑  ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยรู้ว่าเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ หรือจากการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๔ หรือที่ได้มาจากเรือประมงที่ต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา ๙๔ หรือที่มีชื่ออยู่ในประกาศรายชื่อตามมาตรา ๑๑๖

 

มาตรา ๖๒  ห้ามมิให้ผู้ใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

 

มาตรา ๖๓  ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ รั้ว สิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่นใด หรือกระทำการใดในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นการกั้นทางเดินของสัตว์น้ำหรือเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสาธารณภัย หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการชลประทาน

 

มาตรา ๖๔  ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ หรือเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามประเภท ชนิด ลักษณะ จำนวนหรือขนาดที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ใดมีสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตามวรรคหนึ่งไว้ในครอบครอง ต้องส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นโดยเร็ว

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่การครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของทางราชการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ

 

มาตรา ๖๕  เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายจากโรคระบาด รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิดได้

ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

 

มาตรา ๖๖  ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น

 

มาตรา ๖๗  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมง ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน

(๒) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ

(๓) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๔) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเรือยนต์ เว้นแต่เป็นอวนรุนเคย

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับเครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการทำการประมงพื้นบ้าน

 

มาตรา ๖๘  ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่ หรือระยะเวลาในการทำการประมง

 

มาตรา ๖๙  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน

 

มาตรา ๗๐  ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่และวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือระยะเวลาอื่นใดที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๗๑  ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศ ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง ขนาดของเรือประมงที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ

(๒) ข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ

(๓) พื้นที่ที่จะให้ใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง

ประกาศตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งกระทำโดยทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว และในกรณีที่เป็นการออกประกาศเพื่อใช้บังคับในเขตพื้นที่ใดเป็นการเฉพาะ ให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายประกาศด้วย

การกำหนดของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับได้ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และเฉพาะในเขตประมงน้ำจืดและเขตทะเลชายฝั่ง

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่ง

 

มาตรา ๗๒  ในกรณีที่การออกประกาศตามมาตรา ๗๑ จะต้องดำเนินการในเขตพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างพื้นที่ของสองจังหวัดขึ้นไป เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศตามธรรมชาติของพื้นที่นั้น หรือเพื่อประโยชน์ในการจัดการอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐมนตรีใช้อำนาจในการกำหนดแทนคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด แล้วแจ้งให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องทราบ

 

หมวด ๖

การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

                  

 

มาตรา ๗๓  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งผลผลิตของสัตว์น้ำอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และการรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงทั้งในด้านคุณภาพและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน

 

มาตรา ๗๔  เพื่อประโยชน์ในการรักษาคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยในการบริโภคสัตว์น้ำ ให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรฐานสินค้าเกษตรที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรประกาศกำหนด

ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงในอันที่จะส่งเสริม พัฒนา และแนะนำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ถูกต้องตามมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง และมิให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และออกหนังสือรับรองความชอบด้วยมาตรฐานของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดำเนินการโดยถูกต้องตามมาตรฐานดังกล่าวเมื่อได้รับการร้องขอ

 

มาตรา ๗๕  ผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองการได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามมาตรา ๗๔ หรือขอให้กรมประมงตรวจรับรองชนิด ลักษณะ คุณภาพหรือแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำใด หรือขอให้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน น้ำ สัตว์น้ำ หรือปัจจัยการผลิตเป็นการเฉพาะราย ให้ยื่นคำขอและชำระค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองหรือตรวจสอบตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

 

มาตรา ๗๖  เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภคหรือต่อกิจการของบุคคลอื่น ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ หรือประเภท รูปแบบ ขนาด หรือวัตถุประสงค์ของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมได้

 

มาตรา ๗๗  ภายใต้บังคับมาตรา ๗๙ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมนอกเขตพื้นที่ที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดให้เป็นเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 

มาตรา ๗๘  ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมภายในเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามมาตรา ๗๗ ต้องปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวิธีการที่กำหนด

(๒) กำหนดแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ห้ามนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(๓) กำหนดประเภท ลักษณะ และคุณภาพอาหารของสัตว์น้ำที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(๔) กำหนดชนิดและปริมาณของยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่ห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการจัดการน้ำทิ้งหรือของเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการป้องกันมิให้น้ำจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรั่วไหลออกจากที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(๗) กำหนดเรื่องอื่นใดที่จำเป็นในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อผู้บริโภคหรือต่อกิจการของบุคคลอื่น

 

มาตรา ๗๙  ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๔ มาใช้บังคับกับการโอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

 

หมวด ๗

การควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบ

                  

 

มาตรา ๘๐ บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการควบคุม เฝ้าระวังและตรวจสอบการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ และสร้างระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำการประมงไปจนถึงผู้บริโภครายสุดท้าย

นอกจากบทบัญญัติในหมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ และหมวด ๙ แล้ว การควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการทำการประมงให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

 

ส่วนที่ ๑

การควบคุมและเฝ้าระวัง

                  

 

มาตรา ๘๑  ผู้ใดจะนำเรือประมงที่มีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดออกไปทำการประมงพาณิชย์ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๒) จัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้ จุดจอดเรือ การขนถ่ายสัตว์น้ำ การขาย หรือการเททิ้งสัตว์น้ำ ซึ่งต้องรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือ และต้องส่งรายงานให้กรมประมงทราบ ตามระยะเวลาและโดยวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และในกรณีเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ต้องส่งมอบสำเนาบันทึกการทำการประมง และเอกสารหลักฐานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย

(๔) จัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๕) กลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๘๒  ก่อนนำเรือประมงตามมาตรา ๘๑ ออกจากท่าเทียบเรือประมง เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องนำเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตให้ทำการประมง จำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาตตามมาตรา ๘๓ ของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง และหลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่ยื่นเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง หรือการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งห้ามมิให้นำเรือออกจากท่าเทียบเรือประมงหรือสั่งให้นำเรือประมงเข้าเทียบท่าได้

 

มาตรา ๘๓  คนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และในกรณีคนประจำเรือไม่มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวก ให้อธิบดีมีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าท่าตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในการออกหนังสือคนประจำเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในเรือประมงอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีอำนาจเช่นเดียวกับนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวในการอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นทำงานในเรือประมงที่จะออกไปทำการประมงในทะเล

การอนุญาตตามวรรคสอง ให้อธิบดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อได้ออกหนังสือคนประจำเรือหรือได้อนุญาตให้ผู้ใดแล้ว ให้แจ้งให้กรมเจ้าท่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการจัดหางานทราบด้วย  ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิคนประจำเรือในการขอหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือขอใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

ให้อธิบดีมีอำนาจออกหนังสือคนประจำเรือ และหลักฐานการอนุญาตให้แก่คนประจำเรือตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งคนประจำเรือต้องเก็บรักษาหลักฐานนั้นไว้กับตัวหรือในสถานที่ที่ปลอดภัยในเรือประมงที่ตนประจำอยู่

การออกหนังสือคนประจำเรือและการอนุญาตตามวรรคสอง ให้ใช้ได้แต่เฉพาะการทำงานในเรือประมงที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาต และในบริเวณท่าเทียบเรือประมง และเฉพาะตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาต

 

มาตรา ๘๔  ผู้ใดประสงค์จะใช้ท่าเทียบเรือของตนเป็นท่าเทียบเรือประมงต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง เว้นแต่ท่าเทียบเรือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจการแพปลาอยู่แล้ว

 

มาตรา ๘๕  เจ้าของท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ หรือผู้ประกอบกิจการแพปลาต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมงทุกลำที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง และต้องเก็บบันทึกไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ตามรายการ วิธีการ และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด

ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลา ดำเนินการรวบรวมและจัดส่งรายงานการเข้าออกเรือตามมาตรา ๘๑ ไปที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๘๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๘๗ ห้ามมิให้เรือประมงที่ทำการประมงพาณิชย์ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่า ณ สถานที่อื่นใดนอกจากท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๔ หรือสถานที่ที่เป็นกิจการแพปลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ประกาศของอธิบดีตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดขนาดของเรือประมงที่สามารถขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมงแห่งใดด้วยก็ได้

ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลาตามวรรคหนึ่ง จัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด และส่งสำเนาให้กรมประมงตามระยะเวลาและวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๘๗  ห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล เว้นแต่เป็นการขนถ่ายไปยังเรือประมงที่ได้จดทะเบียนให้เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ โดยเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่ทำการประมงต้องได้รับอนุญาตทางวิทยุสื่อสารหรือช่องทางอื่นทำนองเดียวกันจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ และต้องรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังการดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ

หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการขออนุญาต การอนุญาต และการรายงานการขนถ่ายสัตว์น้ำ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับกับการขอจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดห้ามมิให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยจะกำหนดตามประเภทหรือขนาดของเรือ พื้นที่ หรือระยะเวลาที่ห้ามทำการขนถ่ายสัตว์น้ำก็ได้

 

มาตรา ๘๘  ผู้ใดจะนำเรือประมงที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำออกไปทำการขนถ่ายสัตว์น้ำต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๒) จัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำซึ่งรับรองความถูกต้องโดยผู้ควบคุมเรือ และรายงานให้กรมประมงทราบตามระยะเวลาและโดยวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๓) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๘๙  เรือประมงที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำนอกจากต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้แล้ว ในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งใดต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบของรัฐชายฝั่งนั้น และในกรณีที่เป็นการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลหลวงต้องปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

 

ส่วนที่ ๒

หลักฐานเพื่อการสืบค้น

                  

 

มาตรา ๙๐  เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นความชอบด้วยกฎหมายของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการประมง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รวบรวมและจัดทำหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง และส่งรายงานให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ (๒)

(๒) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ต้องจัดทำหนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ และส่งรายงานให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๘ (๒)

(๓) เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลา ต้องจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำให้แก่ผู้ซื้อ ตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องส่งสำเนาให้กรมประมงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๖ วรรคสาม

(๔) ผู้ซื้อสัตว์น้ำจากท่าเทียบเรือประมงหรือผู้ประกอบกิจการแพปลาตาม (๓) ต้องกรอกข้อมูลในหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำตาม (๓) เมื่อขายหรือส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้บุคคลอื่น

(๕) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือแปรรูปสัตว์น้ำ ต้องจัดทำหลักฐานเพื่อการสืบค้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๖) ผู้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๒

 

มาตรา ๙๑  เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นแหล่งที่มาของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา ๗๖ ต้องจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำให้แก่ผู้ซื้อตามแบบและรายการที่อธิบดีประกาศกำหนด

เมื่อผู้ซื้อสัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งขายหรือส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้บุคคลอื่น ให้กรอกข้อมูลในแบบรายการตามวรรคหนึ่ง ระบุผู้ซื้อหรือผู้รับมอบสัตว์น้ำนั้นทุกทอดไป

 

มาตรา ๙๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ผู้ใดประสงค์จะส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบก่อน

ในการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย

การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่เรือประมงไทยจับได้จากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร โดยในกรณีเช่นนั้นมิให้ถือว่าเป็นการนำเข้า

 

มาตรา ๙๓  ผู้ส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผู้ใดประสงค์จะขอใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือใบรับรองการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือการแปรรูปสัตว์น้ำ ให้ยื่นคำขอต่อกรมประมง ตามแบบ วิธีการ และชำระค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

 

ส่วนที่ ๓

มาตรการในการตรวจสอบ

                  

มาตรา ๙๔  ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร

ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศรายชื่อเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ทราบทั่วกัน โดยให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ประกาศโดยรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

 

มาตรา ๙๕  เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแจ้งล่วงหน้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดชั่วโมง ก่อนเวลาที่เรือประมงจะเดินทางถึงท่าเทียบเรือ โดยต้องแจ้งข้อมูล และเข้าเทียบท่าตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตามวรรคหนึ่ง และแจ้งให้ผู้ควบคุมเรือทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับแจ้งการขอเข้าเทียบท่า

ในกรณีที่เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเรือประมงดังกล่าวได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการเข้าเทียบท่า เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือ หรือตัวเรือประมง หรือในกรณีมีเหตุสุดวิสัย

 

มาตรา ๙๖  เมื่อเรือประมงได้รับอนุญาตให้เทียบท่าตามมาตรา ๙๕ และเทียบท่าแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงได้

ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นำเข้าตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือจะพิสูจน์ได้ว่า

(๑) เรือประมงนั้นมีใบอนุญาตให้ทำการประมงหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงซึ่งออกโดยรัฐเจ้าของธงหรือรัฐชายฝั่ง

(๒) มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามิได้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๓) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือทำหนังสือรับรองว่ารัฐเจ้าของธงจะยืนยันในเวลาอันสมควรว่าสัตว์น้ำที่จับได้นั้นเป็นไปตามข้อบังคับขององค์การระหว่างประเทศ

ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่อาจพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เรือประมงนั้นออกจากราชอาณาจักรได้ภายในเวลาที่กำหนด และแจ้งให้รัฐเจ้าของธง หรือประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง และองค์การระหว่างประเทศเพื่อทราบ ในกรณีที่เรือประมงนั้นไม่ออกนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่กำหนด หรือมีหลักฐานชัดแจ้งว่าเรือนั้นได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีเป็นเรือไร้สัญชาติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ยึดเรือประมงและทรัพย์สินในเรือประมงนั้นออกขายทอดตลาดหรือทำลายได้ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายอื่นแล้ว ให้กรมประมงยึดไว้จนกว่าเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือสามารถพิสูจน์ได้ตามวรรคสอง ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ขายทอดตลาด เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในการขายทอดตลาดตามวรรคสาม มิให้นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำออกขายทอดตลาดด้วย โดยให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ทำลายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าว หรือนำไปดำเนินการเพื่อจ่ายแจกให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคา

เรือประมงที่ไม่อาจแสดงหลักฐานตามวรรคสองได้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าได้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนเข้าเทียบท่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้รับบริการเติมเชื้อเพลิงและเสบียง หรือซ่อมบำรุง ตามความจำเป็นก็ได้

 

มาตรา ๙๗  รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้เรือประมงที่ทำการประมงพื้นบ้านซึ่งรัฐเจ้าของธงที่มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรไทยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้  ในการนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดแนวปฏิบัติให้เรือดังกล่าวต้องปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยก็ได้

หมวด ๘

สุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ

                  

 

มาตรา ๙๘  ให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงในการจัดทำมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการจับ การดูแลรักษาสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ การเก็บรักษา การขนส่งหรือขนถ่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการการประมงนำไปใช้ปฏิบัติในกิจการของตนให้ได้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับการรับรองคุณภาพว่าได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

การกำหนดมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการการประมงดำเนินการให้ได้มาตรฐานตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกหนังสือรับรองการได้มาตรฐานให้แก่ผู้ซึ่งดำเนินการได้มาตรฐานดังกล่าวได้ตามที่ร้องขอ

การร้องขอหนังสือรับรองตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยจะกำหนดให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรับรองด้วยก็ได้

 

มาตรา ๙๙  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการประมงทุกประเภทหรือบางประเภท หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดหรือบางชนิด ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานตามมาตรา ๙๘ ก็ได้

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการการประมงหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีประกาศตามวรรคหนึ่งไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการการประมงหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแก้ไขให้ถูกต้อง หรือหยุดดำเนินการเป็นเวลาตามที่กำหนด ตามที่เห็นสมควรได้

 

มาตรา ๑๐๐  ในกรณีที่ปรากฏว่าในที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเกิดสภาวะมลพิษ หรือมีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำเกินมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำแห่งนั้นภายในเวลาที่กำหนดได้

 

หมวด ๙

พนักงานเจ้าหน้าที่

                  

 

มาตรา ๑๐๑  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการการประมงมีความครบถ้วนและถูกต้อง

 

มาตรา ๑๐๒  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือเรียกผู้รับอนุญาต กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือพนักงานของผู้รับอนุญาตที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชกำหนดนี้

(๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้รับอนุญาต หรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ผลิตหรือแปรรูปสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้

(๓) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ต้องมีการควบคุมตามมาตรา ๗๖ ในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้

(๔) ควบคุมเรือประมง หยุดเรือประมง หยุดทำการประมงหรือการขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือสั่งให้ผู้ควบคุมเรือประมงนำเรือประมงเข้าเทียบท่า หรือขึ้นไปบนเรือประมง หรือเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำใด เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้  ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้

(๕) ค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้

(๖) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี

(๗) เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อนำไปตรวจสอบ หรือตรวจวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้

(๘) ยึดหรืออายัดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองตามมาตรา ๖๔ หรือมาตรา ๖๕

(๙) ยึดหรืออายัดยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายที่ใช้หรือจะใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา ๗๘ (๔)

ในกรณีที่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ยา เคมีภัณฑ์ หรือสารอันตรายอื่นใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตาม (๘) หรือ (๙) มีสภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ หรือต่อสัตว์น้ำอื่นหรือสิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร

เมื่อได้เข้าไปและทำการตรวจสอบตาม (๒) หรือ (๓) หรือค้นตาม (๕) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้

ให้อธิบดีมีอำนาจวางระเบียบในการปฏิบัติการตาม (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๙) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ

ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร

 

มาตรา ๑๐๓  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ซึ่งติดตั้งเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตแต่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต หรือปฏิบัติผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตรื้อถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตภายในเวลาที่กำหนดได้

หากผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ นั้นเสียได้ โดยให้ผู้ได้รับคำสั่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้น

 

มาตรา ๑๐๔  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณี หรือความตกลงที่ประเทศไทยมีอยู่กับองค์การระหว่างประเทศในทุกระดับ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ของประเทศที่มีอำนาจ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจควบคุมดูแลการทำการประมงในเขตนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและได้รับการคุ้มครองในการขึ้นไปบนเรือไร้สัญชาติ หรือเรือประมงที่พบว่ากำลังทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บรรดาที่ทำการประมงอยู่นอกน่านน้ำไทยเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้

การขึ้นไปบนเรือประมงเพื่อตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติของนานาประเทศและเป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติ และให้นำความในมาตรา ๑๐๕ (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้แจ้งให้รัฐเจ้าของธงหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทราบ

 

มาตรา ๑๐๕  ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) บันทึกข้อมูลการฝ่าฝืนที่ต้องสงสัยไว้ในรายงานผลการตรวจสอบ และจัดเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนที่ต้องสงสัยไว้ และส่งมอบรายงานการตรวจสอบให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

(๒) สั่งยึดเครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีไว้หรือได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสั่งกักเรือประมงไว้จนกว่าจะมีการพิจารณาและมีคำสั่งตามหมวด ๑๐ หรือหมวด ๑๑

 

มาตรา ๑๐๖  ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๒๕ (๒) เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้

ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอหรือกำหนด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง

 

มาตรา ๑๐๗  ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีต้องจัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ได้ตลอดเวลา แต่ในกรณีมีผู้ขอรับบริการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการ ผู้ขอรับบริการต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการพิเศษตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๐๘  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้รับอนุญาตหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๑๐๙  ในการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

เพื่อประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

หมวด ๑๐

มาตรการทางปกครอง

                  

มาตรา ๑๑๐  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการทางปกครองที่เพียงพอเพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้โทษทางอาญาที่ได้กำหนดไว้ในหมวด ๑๑ และเพื่อกำหนดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

 

มาตรา ๑๑๑  ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือระงับการอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน

ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๖๐ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๗๙ ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งซ้ำ ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือการอนุญาตได้

 

มาตรา ๑๑๒  เจ้าของท่าเทียบเรือประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา หรือเจ้าของเรือที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชกำหนดนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนได้

 

มาตรา ๑๑๓  ผู้ใดทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงนั้น หรือเครื่องมือทำการประมง

(๒) ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

(๓) สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะสั่งห้ามมิให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตด้วยก็ได้

(๔) เพิกถอนใบอนุญาต และประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๕) กักเรือประมงหรือสั่งให้วางประกัน ในกรณีเรือประมงที่กระทำความผิดเป็นเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย

ในการยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตาม (๑) อธิบดีจะสั่งให้เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ ดูแลและเก็บรักษาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นไว้ในเรือให้อยู่ในสภาพเดิมก็ได้

การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีคำนึงถึงสภาพความร้ายแรงแห่งความผิด การกระทำผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกระทำความผิดซ้ำอีก

 

มาตรา ๑๑๔  การกระทำดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๓

(๑) ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมงตามมาตรา ๑๐

(๒) ทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาตทำการประมง หรือไม่มีใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๔๘

(๓) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๑

(๔) จัดทำบันทึกการทำการประมงหรือรายงานการทำการประมงโดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จ หรือทำลายเอกสารหรือหลักฐานในการกระทำความผิด

(๕) ทำการประมงเกินปริมาณหรือเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๖ ทำการประมงในบริเวณที่ห้ามทำการประมงตามมาตรา ๕๖ หรือทำการประมงในห้วงเวลาที่ห้ามทำการประมงตามมาตรา ๗๐

(๖) ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงตามมาตรา ๔๒ หรือใช้เครื่องมือทำการประมงที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ (๑)

(๗) ทำการประมงโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่รัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศกำหนดไว้ตามมาตรา ๔๙

(๘) จับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่กำหนดไว้ขึ้นเรือประมงตามมาตรา ๕๗

(๙) จับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำตามที่กำหนดไว้ขึ้นเรือประมงตามมาตรา ๖๖

(๑๐) ขนถ่ายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๘๗ มาตรา ๘๘ หรือมาตรา ๘๙

(๑๑) ปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนเครื่องหมายประจำเรือประมงหรือทะเบียนเรือประมง

(๑๒) ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้สังเกตการณ์ ปิดบัง ซ่อนเร้น หรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่

(๑๓) มีส่วนร่วม สนับสนุน หรือจัดหาสิ่งจำเป็นให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๑๔) กระทำการอันเป็นความผิดในเรื่องอื่นใดที่ไม่ใช่เป็นการกระทำตาม (๑) ถึง (๑๓) เกินสามครั้งภายในหนึ่งปี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเดียวกันหรือไม่ก็ตาม

 

มาตรา ๑๑๕  ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือระงับการอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๑ การเพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา ๑๑๒ หรือการออกคำสั่งตามมาตรา ๑๑๓ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อบุคคลดังต่อไปนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

(๑) ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่ออธิบดี

(๒) ในกรณีที่อธิบดีเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี

ให้อธิบดีหรือรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

การอุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้น เว้นแต่อธิบดีหรือรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี จะสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อน

คำวินิจฉัยของอธิบดีหรือรัฐมนตรี ให้เป็นที่สุด

 

มาตรา ๑๑๖  เรือประมงใดถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐมนตรีประกาศรายชื่อเรือนั้นให้ทราบทั่วกัน และจะสั่งให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยเพิกถอนทะเบียนเรือสำหรับใช้ในการประมงด้วยก็ได้ และเมื่อรัฐมนตรีประกาศรายชื่อเรือประมงนั้น หรือมีการออกคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือนั้นทำการประมงอีกเป็นระยะเวลาตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่มีประกาศรายชื่อดังกล่าว และในระหว่างเวลาดังกล่าว ห้ามไม่ให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงหรือกิจการแพปลายินยอมให้เรือประมงดังกล่าวนำสัตว์น้ำขึ้นเทียบท่าเทียบเรือประมงหรือแพปลาของตน

 

มาตรา ๑๑๗  ประกาศรายชื่อเรือประมงตามมาตรา ๑๑๖ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อเรือประมงและชื่อเดิม

(๒) ธงของเรือประมงและธงสัญชาติเดิมของเรือ

(๓) เจ้าของเรือ เจ้าของเรือคนเดิมที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลประโยชน์ของเรือดังกล่าว

(๔) เลขทะเบียนหรือหมายเลขประจำเรือที่ออกโดยองค์การระหว่างประเทศ และที่ออกโดยกรมเจ้าท่า

(๕) รูปถ่ายของเรือ

(๖) วันที่ขึ้นบัญชีรายชื่อ

(๗) ระบุการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้ขึ้นบัญชีรายชื่อเรือประมง

(๘) ระยะเวลาการเพิกถอนทะเบียนเรือสำหรับใช้ทำการประมง

 

มาตรา ๑๑๘  ให้กรมประมงแจ้งบัญชีรายชื่อเรือประมงที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๑๑๖ ให้แก่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศทราบ

 

มาตรา ๑๑๙  รัฐมนตรีอาจถอนชื่อเรือประมงออกจากบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เมื่อ

(๑) เจ้าของเรือได้แสดงหลักฐานว่าเรือประมงนั้นมิได้มีความเกี่ยวพันกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๒) เรือประมงนั้นอับปางหรือถูกทำลาย

(๓) เมื่อพ้นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่เรือประมงถูกประกาศขึ้นบัญชีรายชื่อ และไม่ได้รับรายงานว่าเรือประมงนั้นเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก

(๔) เจ้าของเรือนั้นได้แสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เรือนั้นสามารถทำการประมงได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือขจัดส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายครบถ้วนแล้ว

(๕) เจ้าของเรือนั้นได้แสดงพยานหลักฐานให้เป็นที่พอใจได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็น หรือเกี่ยวข้องกับการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด และได้มีมาตรการในการป้องกันตามสมควรแล้ว

 

มาตรา ๑๒๐  ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตตามมาตรา ๑๑๑ หรือมาตรา ๑๑๓ ให้ผู้รับอนุญาตจัดการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใด ๆ ที่เป็นของผู้รับอนุญาต ในที่จับสัตว์น้ำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุหรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต แล้วแต่กรณี และให้นำความในมาตรา ๑๐๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๑๑

บทกำหนดโทษ

                  

 

มาตรา ๑๒๑  บทบัญญัติในหมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสมและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และป้องปรามการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้

 

มาตรา ๑๒๒  ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมงผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๑๒๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๒๔  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาท แต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อลูกจ้างหรือคนงานที่มีการจ้างงานโดยผิดกฎหมายหนึ่งคน

ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละหนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน

 

มาตรา ๑๒๕  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๒๖  ผู้ทำการประมงพื้นบ้านผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา ๑๒๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๒๘  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๒๙  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๓๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ มาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้ว แต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๓๑  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

 

มาตรา ๑๓๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๓๓  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองล้านบาทถึงสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สิบล้านบาทถึงยี่สิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับยี่สิบล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๓๔  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองล้านบาทถึงสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับสิบล้านบาทถึงยี่สิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๓๕  ผู้ใดทำการประมงโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งล้านบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสองล้านบาท

 

มาตรา ๑๓๖  ผู้สังเกตการณ์ผู้ใดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๑ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๓๗  เจ้าของเรือประมงผู้ใดไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือปรับจำนวนสองเท่าของค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๕๔ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๓๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๔๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าแสนบาท

 

มาตรา ๑๔๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๔๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่มีไว้ในครอบครอง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๔๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๒ หรือมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท และต้องรื้อถอนหรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนหรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับคืนสู่สภาพตามธรรมชาติให้แก่รัฐตามจำนวนที่รัฐได้ใช้จ่ายไป

 

มาตรา ๑๔๔  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๔ หรือมาตรา ๖๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๔๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๔๖  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๗ (๑) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๔๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๗ (๒) (๓) หรือ (๔) มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๔๘  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง

 

มาตรา ๑๔๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๗ หรือมาตรา ๗๙ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ (๑) (๕) (๖) หรือ (๗) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน รวมทั้งต้องดำเนินการฟื้นฟูหรือชำระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำ หรือสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการให้กลับสู่สภาพตามธรรมชาติ

 

มาตรา ๑๕๐  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

 

มาตรา ๑๕๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๑ (๑) หรือ (๔) หรือมาตรา ๘๘ (๑) ต้องระวางโทษปรับสองหมื่นบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับสองแสนบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับหนึ่งล้านบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสี่ล้านบาท

 

มาตรา ๑๕๒  ผู้ใดทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยมิได้รายงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ (๒) หรือ (๓) มาตรา ๘๒ หรือมาตรา ๘๘ (๒) หรือ (๓) หรือทำรายงานอันเป็นเท็จ หรือไม่นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา ๘๑ (๕) ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับห้าแสนบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับสองล้านบาท

 

มาตรา ๑๕๓  เจ้าของเรือประมงผู้ใดใช้คนประจำเรือซึ่งไม่มีหนังสือคนประจำเรือ หรือไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาท แต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อคนประจำเรือดังกล่าวหนึ่งคน และให้อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือประมง และให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีคำสั่งเพิกถอนประกาศนียบัตรนายเรือของผู้ควบคุมเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย

 

มาตรา ๑๕๔  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๔ หรือมาตรา ๘๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

 

มาตรา ๑๕๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘๗ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงยี่สิบห้าล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๕๖  เจ้าของท่าเทียบเรือประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องมีการควบคุม หรือผู้ซื้อสัตว์น้ำจากบุคคลดังกล่าวผู้ใดไม่จัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ หรือจัดทำเอกสารหรือกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท

 

มาตรา ๑๕๗  ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำหรือแปรรูปสัตว์น้ำผู้ใดไม่จัดทำหลักฐานเพื่อการสืบค้น หรือทำหลักฐานเพื่อการสืบค้นเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองล้านบาท

 

มาตรา ๑๕๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง หรือแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ หรือเอกสารอื่นใดตามมาตรา ๙๒ วรรคสอง อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน

 

มาตรา ๑๕๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๖๐  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือปรับจำนวนสามเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

 

มาตรา ๑๖๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๖๒  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามมาตรา ๑๐๒ (๑) หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๒ วรรคห้า หรือฝ่าฝืนตามคำสั่งอธิบดีตามมาตรา ๑๑๓ (๒) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท

ในกรณีผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

ในกรณีการฝ่าฝืนคำสั่งอธิบดีตามมาตรา ๑๑๓ (๒) เป็นกรณีที่ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือในส่วนที่เกินสิบตันกรอสขึ้นไป ตันกรอสละหนึ่งหมื่นบาท

 

มาตรา ๑๖๓  ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๑๖๔  ผู้ใดนำข้อมูลที่ได้รับจากระบบติดตามเรือประมงหรือบันทึกการทำการประมงซึ่งเป็นข้อมูลที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการเปิดเผยตามอำนาจหน้าที่ หรือเปิดเผยแก่ทางราชการ หรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการทำการประมง

 

มาตรา ๑๖๕  ผู้ใดปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง หรือทะเบียนเรือประมง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหกล้านบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท

 

มาตรา ๑๖๖  ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

 

มาตรา ๑๖๗  ในกรณีที่มีการกระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงซ้ำภายในห้าปี อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในแต่ละมาตราให้เพิ่มเป็นสองเท่า

 

มาตรา ๑๖๘  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชกำหนดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของผู้ใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของผู้ใด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย

 

มาตรา ๑๖๙  เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นกรณีเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้วางประกันไว้ตามที่ศาลกำหนดแล้ว ให้ศาลสั่งปล่อยเรือนั้นไป

 

มาตรา ๑๗๐  บรรดาความผิดตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้

คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามความเหมาะสม

หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้คำนึงถึงสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด การกระทำความผิดซ้ำ และการป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดซ้ำอีก

เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว และยกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ถูกยึดไว้ให้แก่ทางราชการแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๖ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผู้ต้องหายกไว้ให้แก่ทางราชการตามวรรคสี่ด้วยโดยอนุโลม

บทเฉพาะกาล

                  

มาตรา ๑๗๑  บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้  ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งตามพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๑๗๒  ให้บรรดาที่รักษาพืชพันธุ์ที่ประกาศกำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามพระราชกำหนดนี้

 

มาตรา ๑๗๓  บรรดาประทานบัตร อาชญาบัตร การอนุญาต หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน

 

มาตรา ๑๗๔  ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงสิบห้าตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ อธิบดีจะอนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้านต่อไปจนกว่าจะเลิกทำการประมงก็ได้

 

มาตรา ๑๗๕  ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต

 

มาตรา ๑๗๖  ให้กรมประมงจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าอากร

ใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทเครื่องมือทำการประมง

                  

 

(๑) ประเภทเครื่องมืออวนลาก                                       เมตรละ         ๕๐๐ บาท

(๒) ประเภทเครื่องมืออวนล้อมจับ                                    เมตรละ           ๒๐ บาท

(๓) ประเภทเครื่องมืออวนช้อน อวนยก หรืออวนครอบ             เมตรละ           ๓๐ บาท

(๔) ประเภทเครื่องมืออวนติดตาหรือข่าย                            เมตรละ             ๒ บาท

(๕) ประเภทเครื่องมืออวนอื่น                                         เมตรละ           ๑๐ บาท

(๖) ประเภทเครื่องมือคราด                                           อันละ         ๓,๔๐๐ บาท

(๗) ประเภทเครื่องมือโป๊ะ                                             ลูกละ         ๔,๐๐๐ บาท

(๘) ประเภทเครื่องมือลอบ                                            ลูกละ             ๒๐ บาท

(๙) ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น

หรือช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก                                  ปากละ          ๖๐๐ บาท

(๑๐) ช้อนปีก ยอปีก หรือบาม                                       ปากละ          ๘๐๐ บาท

(๑๑) ช้อนอื่นนอกจาก (๙) และ (๑๐) ที่มีปากกว้าง

ตั้งแต่ ๓.๕ เมตรขึ้นไป                                          ปากละ          ๒๐๐ บาท

(๑๒) เบ็ดราวยาวตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรขึ้นไป                            สายละ            ๘๐ บาท

(๑๓) แหยาวตั้งแต่สามเมตรขึ้นไป                                    ปากละ          ๒๐๐ บาท

(๑๔) ประเภทเครื่องมืออื่น ๆ                                         หน่วยละ     ๑,๐๐๐ บาท

อัตราค่าธรรมเนียม

                  

 

(๑) ใบอนุญาตทำการประมง                                         ฉบับละ     ๑๐,๐๐๐ บาท

(๒) ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ

ของแผ่นดิน                                                      ตารางเมตรละ      ๕ บาท

(๓) ใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน

สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ                                    ฉบับละ         ๕๐๐ บาท

(๔) การจดทะเบียนเรือเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ

หรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ                                            ฉบับละ     ๑๐,๐๐๐ บาท

(๕) ใบอนุญาตให้ทำงานในเรือประมง                                ฉบับละ         ๕๐๐ บาท

(๖) ใบแทนใบอนุญาต                                                ฉบับละ         ๑๐๐ บาท

(๗) การโอนใบอนุญาต                                               ฉบับละ         ๑๐๐ บาท

(๘) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ยังขาดมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนอาจมีผลกระทบต่อการประมงของประเทศไทย  ดังนั้น เพื่อเพิ่มมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และโดยที่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็วเพื่อมิให้กระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

 

ปริยานุช/ปุณิกา/จัดทำ

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

พจนา/ตรวจ

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐๘ ก/หน้า ๑/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

 


กฎหมายลูก >>