พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗
พระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๐๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๗”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “การชลประทาน” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การชลประทาน” หมายความว่า กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำ หรือเพื่อกัก เก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบายหรือแบ่งน้ำ เพื่อเกษตรกรรม การพลังงาน หรือสาธารณูปโภค และหมายความถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ กับรวมถึงการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานด้วย”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๘ รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทาน และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดเขตที่ที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน โดยระบุชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ที่ที่ดินอยู่ภายในเขตนั้นและให้แสดงแผนที่แนวเขตนั้นไว้ด้วย
(๒) กำหนดอัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในอัตราไม่เกินไร่ละห้าบาทต่อปี
(๓) กำหนดระเบียบและวิธีการในการจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทาน
(๔) กำหนดวิธีการเพื่อยกเว้น ลดหย่อน หรือผ่อนชำระค่าชลประทานในเขตใด ๆ เป็นการทั่วไป ในกรณีที่ปรากฏว่ามีเหตุเสียหายร้ายแรงผิดปกติ
ค่าชลประทานที่เก็บได้ ให้ส่งเป็นรายได้ของรัฐ แต่ให้กันไว้ต่างหากเพื่อใช้จ่ายในการชลประทานโดยเฉพาะ”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๓ อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน ให้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เก็บค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน หรือดูแลรักษาทางน้ำชลประทาน คันคลอง ชานคลอง ทำนบ พนัง หมุดระดับหลักฐานหรือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการชลประทานตามที่อธิบดีกำหนด การแต่งตั้งดังกล่าวให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการชลประทานในเขตนั้นด้วย”
มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓ ตรี แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
“มาตรา ๑๓ ตรี ให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่เก็บค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน หรือดูแลรักษาทางน้ำชลประทาน คันคลอง ชานคลอง ทำนบ พนัง หมุดระดับหลักฐานหรือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการชลประทาน มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) สั่งผู้ควบคุมเรือ แพ ที่ผ่านหรือจะผ่านทางน้ำชลประทานให้หยุด หรือจอดเรือ แพ ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) ตรวจบัตรค่าบำรุงทางน้ำชลประทานหรือหนังสือหรือใบอนุญาตเดินเรือในทางน้ำชลประทาน
(๓) จับบุคคลขณะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
“มาตรา ๑๓ จัตวา ในการปฏิบัติตามมาตรา ๑๓ ตรี ให้เจ้าพนักงานแสดงบัตรประจำตัว เมื่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ
บัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
“มาตรา ๑๓ เบญจ ห้ามมิให้เรือยนต์หรือเรือกลไฟเดินในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ เว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าพนักงานเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น และห้ามมิให้เรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
ใบอนุญาตเรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒ ให้ใช้ได้ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม แห่งปีที่ออกใบอนุญาต”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๔ รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดเงื่อนไขการใช้เรือ แพ ในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ และประเภท ๒
(๒) วางระเบียบการขอและการอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกลไฟในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ และการขอและการออกใบอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒
(๓) กำหนดค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้เรือ แพ ผ่านประตูน้ำ ประตูระบายหรือผ่านบริเวณทำนบ หรือประตูระบายโดยทางสาลี่ ไม่เกินอัตราในบัญชี ก. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และยกเว้นค่าบำรุงทางน้ำชลประทานแก่เรือบางประเภท
(๔) กำหนดค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒ เป็นรายปี ไม่เกินอัตราในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัตินี้
(๕) กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชี ค. ท้ายพระราชบัญญัตินี้
(๖) กำหนดเครื่องมือและวิธีที่จะใช้ในการจับสัตว์น้ำตลอดจนกำหนดเขตห้ามจับสัตว์น้ำในทางน้ำชลประทาน เพื่อป้องกันความเสียหายแก่การชลประทาน”
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕ เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน อธิบดีมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ปิด กั้นหรือเปิดน้ำในทางน้ำชลประทาน
(๒) ขุดลอก ซ่อมหรือดัดแปลงแก้ไขทางน้ำชลประทาน หรือจัดให้มีสิ่งก่อสร้างขึ้นในทางน้ำชลประทาน
(๓) ห้าม จำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการนำเรือ แพ ผ่านทางน้ำชลประทานตาม (๑) หรือ (๒)
การใช้อำนาจตามมาตรานี้ ให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ชุมนุมชนในท้องถิ่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน อธิบดีมีอำนาจดำเนินการไปก่อนได้”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๖ อธิบดีมีอำนาจห้าม จำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เรือ แพ การใช้น้ำ การระบายน้ำหรือการอื่นในทางน้ำชลประทานประเภท ๔ โดยประกาศไว้ ณ ที่ชุมนุมชนในท้องถิ่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้าง แก้ไข หรือต่อเติมสิ่งก่อสร้าง หรือปลูกปักสิ่งใด หรือทำการเพาะปลูก รุกล้ำทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลอง หรือเขตพนัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทาน ในกรณีที่มีการฝ่าฝืน นอกจากที่ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เมื่อโจทก์ร้องขอก็ให้ศาลสั่งให้รื้อถอนสิ่งที่รุกล้ำนั้นด้วย
ในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันภยันตรายอันอาจเกิดขึ้นแก่การชลประทาน นายช่างชลประทานมีอำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้สิ่งรุกล้ำพ้นไปจากทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลองหรือเขตพนังได้”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการกีดขวางทางน้ำชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทาน ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนนอกจากที่ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เมื่อโจทก์ร้องขอก็ให้ศาลสั่งให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางนั้นด้วย
ในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันภยันตรายอันอาจเกิดขึ้นแก่การชลประทาน นายช่างชลประทานมีอำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้สิ่งกีดขวางพ้นไปจากทางน้ำชลประทานได้”
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ปิดหรือเปิดประตูน้ำ เขื่อนระบาย ประตูระบาย ท่อน้ำ ท่อเชื่อม สะพานทางน้ำ ปูม หรือลากเข็นสาลี่ในบริเวณทำนบหรือประตูระบาย”
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๖ ผู้ใดไม่ชำระค่าชลประทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๘ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของค่าชลประทานที่ค้างชำระ
เมื่อผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้นำค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มอีกร้อยละสิบของค่าชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดให้แล้ว ให้ยกเว้นโทษในคดีนั้นเสีย”
มาตรา ๑๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๖ ทวิ และมาตรา ๓๖ ตรี แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
“มาตรา ๓๖ ทวิ ผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุงทางน้ำชลประทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๑๔ (๓) ต้องระวางโทษปรับเป็นจำนวนสองเท่าของอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่พึงชำระ
เมื่อผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้นำค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่พึงชำระและเงินเพิ่มอีกร้อยละห้าสิบของค่าบำรุงทางน้ำชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดให้แล้ว ให้ยกเว้นโทษในคดีนั้นเสีย
มาตรา ๓๖ ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ เบญจ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๑๔ (๑) หรือ (๖) หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขตามมาตรา ๑๕ (๓) หรือมาตรา ๑๖ หรือฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา ๑๓ ตรี (๑) มาตรา ๒๐ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานท้ายพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้บัญชี ก. บัญชี ข. และบัญชี ค. ท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
บัญชี ก. อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้เรือ แพ
ผ่านประตูน้ำ ประตูระบาย หรือผ่านบริเวณทำนบ หรือประตูระบายโดยทางสาลี่
เลขที่ | รายการ |
อัตราค่าบำรุงทางน้ำ ชลประทาน ครั้งละ |
|
บาท | สต. | ||
๑. | เรือยนต์ หรือเรือกลไฟ | ||
(๑) ขนาดกว้างไม่เกิน ๑ เมตร คิดตามความยาวของเรือ | |||
อัตราเมตรละ | ๑ | - | |
(๒) ขนาดกว้างเกิน ๑ เมตร แต่ไม่เกิน ๒ เมตร | |||
คิดตามความยาวของเรือในอัตราเมตรละ | ๑ | ๕๐ | |
(๓) ขนาดกว้างเกิน ๒ เมตร คิดตามความยาวของเรือ | |||
ในอัตราเมตรละ | ๒ | - | |
เศษของเมตรถ้าถึงครึ่งให้นับเป็น ๑ เมตร | |||
ถ้าต่ำกว่าให้ปัดทิ้ง | |||
๒. | เรือชนิดอื่น ๆ นอกจากเรือยนต์ และเรือกลไฟ | ||
(๑) ขนาดกว้างไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ลำละ | - | ๕๐ | |
(๒) ขนาดกว้างเกิน ๑.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๒ เมตร ลำละ | ๑ | - | |
(๓) ขนาดกว้างเกิน ๒ เมตร แต่ไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร ลำละ | ๑ | ๕๐ | |
(๔) ขนาดกว้างเกิน ๒.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๓ เมตร ลำละ | ๒ | - | |
(๕) ขนาดกว้างเกิน ๓ เมตร แต่ไม่เกิน ๓.๕๐ เมตร ลำละ | ๔ | - | |
(๖) ขนาดกว้างเกิน ๓.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๔ เมตร ลำละ | ๖ | - | |
(๗) ขนาดกว้างเกิน ๔ เมตร แต่ไม่เกิน ๕ เมตร ลำละ | ๘ | - | |
(๘) ขนาดกว้างเกิน ๕ เมตร แต่ไม่เกิน ๖ เมตร ลำละ | ๑๐ | - | |
(๙) ขนาดกว้างเกิน ๖ เมตร คิดอัตราเพิ่มขึ้นเมตรละ | ๒ | - | |
เศษของเมตรสำหรับ (๙) ถ้าถึงครึ่งให้นับเป็น ๑ เมตร | |||
ถ้าต่ำกว่าให้ปัดทิ้ง | |||
๓. | แพต่าง ๆ ตารางเมตรละ | - | ๒๕ |
เศษของตารางเมตร ถ้าถึงครึ่งให้นับเป็น ๑ ตารางเมตร | |||
ถ้าต่ำกว่าให้ปัดทิ้ง | |||
๔. | อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานตาม ๑. ๒. และ ๓. นี้ เป็นอัตราปกติ | ||
ใช้เรียกเก็บสำหรับเรือหรือแพที่ผ่านในเวลาที่ทางราชการได้กำหนดไว้ | |||
ถ้าจะขอผ่านนอกเวลาที่ทางราชการได้กำหนดไว้ ให้เรียกเก็บค่าบำรุง | |||
ทางน้ำชลประทานเป็นสามเท่าของอัตราปกติ | |||
บัญชี ข. อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บจาก
ผู้รับใบอนุญาตเดินเรือยนต์ หรือเรือกลไฟที่เดินรับจ้างขนส่ง
คนโดยสาร หรือสินค้า หรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒
เรือยนต์ หรือเรือกลไฟที่เดินรับจ้างขนส่งคนโดยสาร หรือสินค้า หรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท ๒ เป็นรายปี แรงม้าละ ๒๕ บาท
บัญชี ค. อัตราค่าธรรมเนียม
ลำดับ | รายการ | อัตราค่าธรรมเนียม | หมายเหตุ | ||
บาท | สต. | ||||
๑. | ใบสำคัญวัดเรือ | ฉบับละ | ๕ | - | |
๒. | บัตรยกเว้นค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน | ||||
ตามมาตรา ๑๔ (๓) | ฉบับละ | ๑ | - | ||
๓. | ใบแทนใบอนุญาต | ฉบับละ | ๕ | - |
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันนี้ กิจการชลประทานได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้น เพื่อให้ได้ผลตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ แต่ปรากฏว่า บทบัญญัติบางมาตราแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสมแก่การดำเนินงานก่อสร้าง การบำรุงรักษา และการควบคุม ตลอดจนอัตราโทษ อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่มีน้อยไม่พอเพียงที่จะใช้ในการระงับปราบปรามผู้กระทำผิดให้ได้ผลอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย
ไพรินทร์/แก้ไข
๒๔ ม.ค. ๒๕๔๕
พัชรินทร์/แก้ไข
๗ มกราคม ๒๕๔๘
วศิน/แก้ไข
๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒
จุฑามาศ/ปรับปรุง
๑๑ มกราคม ๒๕๕๖
- [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๑๒๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๗