พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗

พระราชบัญญัติ

การชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒)

พ.ศ. ๒๔๙๗

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗

เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕

                 “มาตรา ๑๐ ทวิ  เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในหมวดนี้

เพื่อประโยชน์แห่งการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จะออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตบริเวณที่ดินที่คิดว่าจะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้

ในพระราชกฤษฎีกานั้น ให้ระบุ

ก. ความประสงค์ที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ข. เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ค. กำหนดเขตบริเวณที่ดินที่คิดว่าจะต้องเวนคืน

ให้มีแผนที่หรือแผนผังประเมินเขตบริเวณที่ดินที่คิดว่าจะต้องเวนคืนติดไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น แผนที่หรือแผนผังที่กล่าวนี้ให้ถือเป็นส่วนแห่งพระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกาเช่นว่านี้มีอายุสองปี หรือตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น แต่ต้องไม่เกินกว่าห้าปีแล้วแต่จะเห็นว่าจำเป็นเพื่อทำการสำรวจที่ดินที่เจาะจงต้องเวนคืนนั้น

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ด้วย”

มาตรา ๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕

                  “มาตรา ๑๓ ทวิ  เมื่อเห็นสมควรให้โอนการชลประทานหลวงในท้องที่ใดหรือในเขตโครงการชลประทานหลวงใด ให้เป็นการชลประทานส่วนราษฎร ก็ให้กระทำได้โดยออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตการชลประทานหลวงที่จะโอนไปนั้น เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศการโอนดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าการชลประทานหลวงที่โอนไปนั้นเป็นการชลประทานส่วนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานราษฎร์นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเป็นต้นไป”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความใน ข. ของมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “ข. กำหนดอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน ซึ่งจะเรียกเก็บจากบรรดาผู้ใช้เรือแพที่ผ่านประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ หรือผ่านทำนบโดยทางสาลี่ และเรียกเก็บจากบรรดาผู้ใช้เรือยนตร์หรือเรือกลไฟที่เดินรับจ้างส่งคนโดยสารหรือรับจ้างลากจูงเรือแพเป็นประจำในทางน้ำนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ กับกำหนดการยกเว้นการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงทางน้ำชลประทานแก่เรือบางประเภทตามที่เห็นสมควร”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๓  ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะปลูกหรือปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลอง หรือเขตพนัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทานให้กระทำได้ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่อนุญาตนั้น ผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ศาลจะสั่งให้นำสิ่งที่รุกล้ำไปให้พ้นทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลอง หรือเขตพนัง แล้วแต่กรณีก็ได้”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๒๕  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการกีดขวางแก่ทางน้ำชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานเป็นการชั่วคราว ผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ศาลจะสั่งให้นำสิ่งกีดขวางไปให้พ้นทางน้ำชลประทานก็ได้

                  เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การชลประทาน อธิบดีมีอำนาจที่จะสั่งเจ้าพนักงานให้นำสิ่งกีดขวางไปให้พ้นทางน้ำชลประทาน แล้วคิดค่าใช้จ่ายเอาจากเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หากไม่ปรากฏผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเอาสิ่งกีดขวางนั้นขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย ถ้ามีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๖  ห้ามมิให้ผู้ใดขุดคลองหรือทางน้ำมาเชื่อมกับทางน้ำชลประทาน หรือมาเชื่อมกับทางน้ำอื่นที่เชื่อมกับทางน้ำชลประทาน หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้น้ำในทางน้ำชลประทานรั่วไหล อันอาจก่อให้เกิดการเสียหายแก่การชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ศาลจะสั่งให้ปิดถมคลองหรือทางน้ำนั้นมิให้น้ำรั่วไหลต่อไปก็ได้

                  เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การชลประทาน อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการดังกล่าวในวรรคแรกปิดถมทางน้ำนั้นหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อมิให้น้ำรั่วไหลได้ต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานจัดการได้ทันที และถ้าจำเป็นจะต้องใช้ที่ดินเพื่อการนี้ ก็ให้มีอำนาจใช้ที่ดินริมคลองหรือริมทางน้ำนั้นได้เท่าที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายในการนี้รวมทั้งค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดิน ให้คิดเอาจากผู้ฝ่าฝืนทั้งสิ้น

คลองหรือทางน้ำใดที่ทำให้น้ำในทางน้ำชลประทานรั่วไหลอันอาจก่อให้เกิดการเสียหายแก่การชลประทานมา ก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ เมื่ออธิบดีเห็นสมควรก็ให้มีอำนาจดำเนินการตามความในวรรค ๒ ได้โดยอนุโลม”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๓๖  ผู้ใดไม่ชำระค่าชลประทานตามความในมาตรา ๘ หรือฝ่าฝืนกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๔ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรค ๑ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๕ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งซึ่งได้สั่งตามความในมาตรา ๒๐ วรรค ๒ หรือมาตรา ๒๔ หรือฝ่าฝืนข้อห้ามข้อจำกัดหรือเงื่อนไข ซึ่งอธิบดีกำหนดตามความในมาตรา ๑๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

ในคดีความผิดตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๔ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช  ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๘  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งซึ่งออกตามความในมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ มีความผิดต้องระวางโทษปรับเรียงตามตัวสัตว์ตัวละห้าบาทขึ้นไป แต่ไม่เกินตัวละห้าสิบบาท

                    ถ้าเป็นกรณีที่มีผู้นำจับผู้กระทำผิด ให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาล แต่ถ้าคดีถึงที่สุดโดยคำสั่งของพนักงานผู้มีหน้าที่สอบสวนและเปรียบเทียบคดีอาญา ให้พนักงานเปรียบเทียบดังกล่าวจ่ายเงินสินบนจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่ง และในกรณีที่มีผู้นำจับหลายคน ให้แบ่งเงินสินบนนั้นให้ได้รับคนละเท่า ๆ กัน”

มาตรา ๑๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ วรรค ๑ หรือมาตรา ๒๙ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป.  พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ ยังมีข้อความขาดตกบกพร่องอยู่หลายประการไม่เหมาะสมแก่การดำเนินงาน และการควบคุมการชลประทานหลวง ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง  จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นการเหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น

บัญชีอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน

เลขที่

รายการ

อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน ครั้งละ

บาท

สต.

๑.

๒.

๓.

ในกรณีผ่านประตูน้ำ ประตูระบาย หรือ ทำนบโดยทางสาลี่

เรือยนต์ หรือเรือกลไฟ

ก.       ขนาดกว้างไม่เกิน ๑.๐๐ เมตร คิดอัตราความยาวของเรือ เมตรละ

ข.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๑.๐๐ เมตร แต่ไม่เกินกว่า ๒.๐๐ เมตร คิดอัตราความยาวของเรือ เมตรละ

ค.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๒.๐๐ เมตรขึ้นไป คิดอัตราความยาวของเรือ เมตรละ

เศษของเมตรถ้าถึงครึ่งให้นับเป็น ๑.๐๐ เมตร ถ้าต่ำกว่าให้ปัดทิ้ง

เรือชนิดอื่น ๆ นอกจากเรือยนต์และเรือกลไฟ

ก.       ขนาดกว้างไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ลำละ

ข.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๑.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๒.๐๐ เมตร ลำละ

ค.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๒.๐๐ เมตร แต่ไม่เกินกว่า ๒.๕๐ เมตร ลำละ

ง.        ขนาดกว้างเกินกว่า ๒.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๓.๐๐ เมตร ลำละ

จ.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๓.๐๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๓.๕๐ เมตร ลำละ

ฉ.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๓.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร ลำละ

ช.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๔.๐๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๕.๐๐ เมตร ลำละ

ซ.       ขนาดกว้างเกินกว่า ๕.๐๐ เมตร แต่ไม่เกินกว่า ๖.๐๐ เมตร ลำละ

ฌ.     ขนาดกว้างตั้งแต่ ๖.๐๐ เมตรขึ้นไปคิดอัตราเพิ่มขึ้นเมตรละ

เศษของเมตรสำหรับ ฌ ถ้าถึงครึ่งให้นับเป็น ๑.๐๐ เมตร ถ้าต่ำกว่าให้ปัดทิ้ง

แพต่าง ๆ ตารางเมตรละ

-

๑๐

-

-

๕๐

-

๕๐

๕๐

-

-

-

-

-

-

๒๕

เลขที่

รายการ

อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานครั้งละ

บาท

สต.

๔.

๕.

เศษของตารางเมตร ถ้าถึงครึ่งให้นับเป็น ๑.๐๐ ตารางเมตร ถ้าต่ำกว่าให้ปัดทิ้ง

ในกรณีที่ไม่ได้ผ่านประตูน้ำ ประตูระบาย หรือทำนบ โดยทางสาลี่

เรือยนต์หรือเรือกลไฟที่เดินรับจ้างส่งคนโดยสาร หรือรับจ้างลากจูง

เรือแพเป็นประจำในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ และประเภท ๒ ให้เรียกเก็บค่าบำรุงทางน้ำชลประทานในอัตราแรงม้าละไม่เกิน ๒๕ บาท ต่อปี ยกเว้นเรือที่มีกำลังต่ำกว่าห้าแรงม้า

อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานตามบัญชีเลขที่ ๑ , ๒, ๓ ข้างบนนี้ ใช้เรียกเก็บสำหรับเรือแพที่ผ่านในเวลาปกติที่ทางราชการได้กำหนดไว้ ถ้าจะขอผ่านในเวลาพิเศษจะต้องเสียค่าบำรุงทางน้ำชลประทานเป็น ๓ เท่าของอัตราปกติ

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กันยายน ๒๕๔๔

A+B (C)

พัชรินทร์/แก้ไข

๗ มกราคม ๒๕๔๘

วศิน/แก้ไข

๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

จุฑามาศ/ปรับปรุง

๑๑ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๖๔/หน้า ๑๔๘๔/๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗