พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 22/10/2539)
พระราชบัญญัติ
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๒๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔[๒] ในพระราชบัญญัตินี้
“นิคมอุตสาหกรรม” หมายความว่า เขตอุตสาหกรรมทั่วไปหรือเขตอุตสาหกรรมส่งออก
“เขตอุตสาหกรรมทั่วไป” หมายความว่า เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรมและกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรม
“เขตอุตสาหกรรมส่งออก” หมายความว่า เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรมการค้าหรือการบริการเพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศและกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมการค้าหรือการบริการเพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
“ผู้ประกอบอุตสาหกรรม” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม
“การค้าเพื่อส่งออก” หมายความว่า การค้าหรือการบริการเพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
“ผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการค้าหรือการบริการเพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
“ผลิต” หมายความรวมถึงทำ สร้าง ผสม ประกอบ หรือบรรจุด้วย
“ภาษีสรรพสามิต” หมายความว่า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้ว่าการ
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ส่วนที่ ๑
การจัดตั้ง
มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เรียกว่า “การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “กนอ.” และให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) การจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม หรือเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับ กนอ.
(๒)[๓] การปรับปรุงที่ดินตาม (๑) เพื่อให้บริการ ตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก และผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออก เช่น การจัดให้มีถนน ท่อระบายน้ำ โรงบำบัดน้ำเสีย ไฟฟ้า ประปา และโทรคมนาคม เป็นต้น
(๓) การให้เช่า ให้เช่าซื้อ และขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของนิคมอุตสาหกรรมโดยตรง
(๔) การดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ.
(๕) การร่วมดำเนินงานกับบุคคลอื่นตามวัตถุประสงค์ใน (๑) (๒) หรือ (๓) รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือถือหุ้นในนิติบุคคลใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ.
(๖) การส่งเสริมและควบคุมนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ
มาตรา ๗ ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้แก่ กนอ.
ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งเมื่อได้หักหนี้ออกแล้วให้ถือเป็นทุนของ กนอ.
มาตรา ๘ ทุนของ กนอ. ประกอบด้วย
(๑) ทรัพย์สินที่ได้รับโอนตามมาตรา ๗
(๒) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน
(๓) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากรัฐบาลหรือบุคคลอื่น
(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือ ต่างประเทศหรือจากองค์การระหว่างประเทศ
มาตรา ๙ ให้ กนอ. ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียงและจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนในจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมด้วยก็ได้
มาตรา ๑๐ ให้ กนอ. มีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑)[๔] การสำรวจ วางแผน ออกแบบ ก่อสร้าง และบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก และผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออก แล้วแต่กรณี
(๒)[๕] การกำหนดประเภทและขนาดของกิจการอุตสาหกรรม การค้าเพื่อส่งออกหรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องที่พึงอนุญาตให้ประกอบในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) การตรวจตราความเป็นอยู่ของคนงานในนิคมอุตสาหกรรม
(๔)[๖] การควบคุมการดำเนินงานของผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก ผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออก และผู้ใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายรวมทั้งการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขหรือที่กระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(๕) การลงทุน
(๖) การกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในกิจการของ กนอ.
(๗) การออกพันธบัตร หรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
มาตรา ๑๑ ให้ กนอ. มีอำนาจตรวจสอบและรับรองชนิดและปริมาณของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ หรือชนิดและจำนวนของเครื่องจักรสำหรับกรณีที่จำเป็นจะต้องออกใบรับรองหรือในกรณีที่นำเข้ามาในหรือนำออกไปจากนิคมอุตสาหกรรมซึ่งของดังกล่าว ทั้งนี้ โดยเรียกเก็บค่าบริการตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๒ ให้ กนอ. กำหนดค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ และค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดจนค่าบริการในนิคมอุตสาหกรรมในอัตราอันสมควรเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการดังต่อไปนี้
(๑) การใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของ กนอ. รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา โบนัส และกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว
(๒) การชำระหนี้สินเท่าที่จำนวนเงินเพื่อการชำระนั้นเกินจำนวนที่จัดสรรไว้ เป็นค่าเสื่อมราคาและสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการจัดหาทรัพย์สินใหม่แทนทรัพย์สินเดิม
(๓) การจัดให้มีเงินสำรองและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการขยายกิจการและลงทุน
มาตรา ๑๓ ให้ กนอ. กำหนดค่าเช่าซื้อ และราคาขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๑๔ เมื่อได้ประกาศเขตพื้นที่ใดเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามมาตรา ๓๙ แล้ว ให้ กนอ. มีอำนาจกำหนดราคาขาย ค่าเช่า และค่าเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ และค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนค่าบริการในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมในด้านธุรกิจ
มาตรา ๑๕ รายได้ที่ กนอ. ได้รับจากการดำเนินกิจการในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของกนอ. และเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับการดำเนินกิจการ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษาและค่าเสื่อมราคา ตลอดจนหักเงินสำรองตามมาตรา ๑๖ ประโยชน์ตอบแทนและโบนัสตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๕ หรือเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามมาตรา ๓๔ และเงินลงทุนตามมาตรา ๖๖ แล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
ถ้ารายได้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับรายจ่ายตามวรรคหนึ่งซึ่งมิใช่เป็นรายจ่ายที่หักเป็นเงินสำรองตามมาตรา ๑๖ และโบนัสตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๕ และ กนอ. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ กนอ. เท่าจำนวนที่ขาด
มาตรา ๑๖ เงินสำรองของ กนอ. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่นเพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
มาตรา ๑๗ ทรัพย์สินของ กนอ. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการและผู้ว่าการ
มาตรา ๑๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบคน รวมทั้งผู้ว่าการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง
มาตรา ๑๙ ผู้ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้ว่าการต้องมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับบริหารธุรกิจ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง เศรษฐศาสตร์ การพาณิชย์ การคลัง หรือกฎหมาย
มาตรา ๒๐ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ต้องมีคุณสมบัติตาม (๑) และ (๒) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) เป็นข้าราชการการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในทางการเมือง
(๖) เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๗) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กนอ. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กนอ. หรือในกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและแข่งขันกับ กนอ. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อการลงทุนโดยสุจริตในนิติบุคคลที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
มาตรา ๒๑ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการ และกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นรักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๒๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๑ ประธานกรรมการ หรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว ยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อมให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
มาตรา ๒๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของ กนอ. อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) การออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๖ และมาตรา ๑๐
(๒) การออกระเบียบหรือข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(๓) การออกระเบียบหรือข้อบังคับการจัดแบ่งส่วนงาน วิธีปฏิบัติงาน และการเงินของ กนอ.
(๔) การออกระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างของพนักงานและลูกจ้าง
(๕) การออกระเบียบหรือข้อบังคับการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง
(๖) การออกระเบียบหรือข้อบังคับการจ่ายค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าล่วงเวลา และการจ่ายเงินอื่น ๆ
(๗) การออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง
(๘) การออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง
(๙) การออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับบัตรประจำตัวหรือเครื่องแต่งกายของบุคคลซึ่งปฏิบัติงานภายในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
(๑๐) การออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับบุคคลซึ่งเข้าไปหรืออยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
(๑๑) การออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานใน กนอ. และครอบครัว ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(๑๒) การออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ กนอ.
(๑๓) การกำหนดราคาขาย อัตราค่าเช่า ค่าเช่าซื้อ และระยะเวลาการเช่าและเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก และอัตราค่าบริการในนิคมอุตสาหกรรม
ระเบียบหรือข้อบังคับตาม (๓) ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๔ เพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ กนอ. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดของ กนอ. และกำหนดค่าตอบแทนอนุกรรมการได้
มาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ว่าการและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๒๖ ผู้ว่าการต้องมีคุณสมบัติตาม (๑) (๒) และ (๓) และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตาม (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๙) ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์
(๓) สามารถทำงานให้แก่ กนอ. ได้เต็มเวลา
(๔) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ รวมทั้งข้าราชการการเมือง ลูกจ้างของกระทรวงทบวงกรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
(๗) ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง รวมทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหาร ท้องถิ่น
(๘) เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๙) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กนอ. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กนอ. หรือในกิจการที่มีสภาพเดียวกันและแข่งขันกับ กนอ. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อการลงทุนโดยสุจริตในนิติบุคคลที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
มาตรา ๒๗ ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๖
(๕) คณะกรรมการให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดโดยไม่นับรวมผู้ว่าการ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย
มาตรา ๒๘ ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการของ กนอ. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง
ในการบริหารกิจการ ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ
มาตรา ๒๙ ผู้ว่าการมีอำนาจ
(๑) กำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติงาน ในการทำงานของพนักงานหรือลูกจ้าง
(๒) ออกระเบียบในการบริหารกิจการของ กนอ. ทั้งนี้ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ
(๓) บรรจุ แต่งตั้งและถอดถอน เลื่อน ลด และตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ
มาตรา ๓๐ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นตัวแทน กนอ. เพื่อการนี้ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ
นิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน กนอ. เว้นแต่คณะกรรมการจะได้ให้สัตยาบัน
มาตรา ๓๑ เมื่อผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้ทำการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการแล้วแต่กรณี และให้นำมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้ผู้ทำการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการในฐานะกรรมการ
มาตรา ๓๒ ประธานกรรมการและกรรมการ ย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนและอาจได้รับโบนัส ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ส่วนที่ ๓
พนักงานและลูกจ้าง
มาตรา ๓๓ ให้พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการลงโทษหรือร้องทุกข์ได้ตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ
มาตรา ๓๔ ให้ กนอ. จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานใน กนอ. และครอบครัว ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ตาย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์
มาตรา ๓๕ พนักงานและลูกจ้างอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หมวด ๒
นิคมอุตสาหกรรม
ส่วนที่ ๑
การจัดตั้ง
มาตรา ๓๖ นิคมอุตสาหกรรมมีสองประเภทคือ
(๑) เขตอุตสาหกรรมทั่วไป
(๒) เขตอุตสาหกรรมส่งออก
การจัดตั้ง การเปลี่ยนแปลงเขต และการยุบเขตอุตสาหกรรมทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีแผนที่กำหนดเขตไว้ท้ายประกาศด้วย
การจัดตั้ง การเปลี่ยนแปลงเขต และการยุบเขตอุตสาหกรรมส่งออก ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้มีแผนที่กำหนดเขตไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย
การกำหนดให้เขตอุตสาหกรรมส่งออกใดเป็นเขตอุตสาหกรรมส่งออกที่มีการค้าเพื่อส่งออกให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา[๗]
มาตรา ๓๖ ทวิ[๘] เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม จัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเขตอุตสาหกรรมส่งออก ให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในเขตดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กนอ. เมื่อได้ดำเนินการครบถ้วนตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในกรณีที่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอมและ กนอ. ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามราคาที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดแล้ว หรือในกรณีที่พลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่หรือยังไม่เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอม และ กนอ. ได้จัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน
(๒) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการเมื่อกระทรวงการคลังได้ให้ความยินยอมและ กนอ. ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามราคาที่กระทรวงการคลังกำหนดแล้วให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ
(๓) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอมและ กนอ. ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามราคาที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดแล้ว
ในกรณีที่มีประกาศตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง จัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเขตอุตสาหกรรมทั่วไปให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ โดยระบุแปลงและจำนวนเนื้อที่ดินโดยประมาณที่ กนอ. ประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น และเมื่อได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้ กนอ. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นภายใต้เงื่อนไขเช่นเดียวกับที่กล่าวในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๗ นิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๘ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม ให้ กนอ. มีอำนาจดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ในการนี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่คิดว่าจะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้ และให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนตามวรรคหนึ่งให้ตกเป็นของ กนอ. และให้ กนอ. มีอำนาจดำเนินการโอนไปยังผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก หรือผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออก แล้วแต่กรณีได้[๙]
มาตรา ๓๙ เขตพื้นที่ใดที่บุคคลใดได้จัดสรรที่ดินเพื่อให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมถ้าได้ดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๗ แล้ว คณะกรรมการด้วยความยินยอมของเจ้าของที่ดินอาจดำเนินการให้พื้นที่นั้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ได้
มาตรา ๓๙ ทวิ[๑๐] การจัดสรรที่ดินเพื่อให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมตามมาตรา ๓๙ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดินของเอกชน แต่การอนุญาตซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบหรืออักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า “นิคมอุตสาหกรรม” “เขตอุตสาหกรรมทั่วไป” หรือ “เขตอุตสาหกรรมส่งออก” ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นนิคมอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัตินี้
ส่วนที่ ๒
การประกอบกิจการ ประโยชน์ และข้อห้าม
มาตรา ๔๑ ผู้ใดจะประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๒ บรรดาการปลูกสร้างอาคาร การตั้งโรงงาน และการประกอบกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง แต่การอนุญาตซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๒ หรือในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารผิดแผกจากแผนผังแบบก่อสร้างหรือรายการที่ได้รับอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต ให้ กนอ. มีอำนาจสั่งระงับการก่อสร้าง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารดังกล่าวภายในระยะเวลาอันสมควร โดยแจ้งระยะเวลาให้ผู้ปลูกสร้าง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารทราบ
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว และผู้ปลูกสร้าง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กนอ. ให้ กนอ. มีอำนาจจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นได้โดยคิดค่าใช้จ่ายจากผู้ปลูกสร้าง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารนั้น
มาตรา ๔๔[๑๑] ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกอาจได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหรือในเขตอุตสาหกรรมส่งออก แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบกิจการได้ตามจำนวนเนื้อที่ที่คณะกรรมการเห็นสมควรแม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น
ในกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเลิกกิจการหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์และส่วนควบกับที่ดินนั้นให้แก่ กนอ. หรือผู้รับโอนกิจการ แล้วแต่กรณีภายในเวลาสามปีนับแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ มิฉะนั้นให้อธิบดีกรมที่ดินจำหน่ายที่ดินและส่วนควบกับที่ดินนั้นให้แก่ กนอ. หรือบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา ๔๕[๑๒] ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพียงเท่าที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวซึ่งเป็น
(๑) ช่างฝีมือ
(๒) ผู้ชำนาญการ
(๓) คู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลใน (๑) หรือ (๒) เข้ามาในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาให้อยู่ได้ในราชอาณาจักรตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินกำหนดจำนวนหรือระยะเวลาให้อยู่ได้ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรา ๔๖ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวเพียงเท่าที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา ๔๕ ได้รับอนุญาตทำงานเฉพาะตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ตลอดระยะเวลาเท่าที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
มาตรา ๔๗[๑๓] ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกซึ่งมีภูมิลำเนานอกราชอาณาจักรจะได้รับอนุญาตให้นำหรือส่งเงินออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นเงินตราต่างประเทศได้ เมื่อเงินนั้นเป็น
(๑) เงินทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นที่เกิดจากเงินทุนนั้น
(๒) เงินกู้ต่างประเทศที่นำมาลงทุนในการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออกตามสัญญาที่ กนอ. ให้ความเห็นชอบ รวมทั้งดอกเบี้ยของเงินกู้ต่างประเทศนั้น
(๓) เงินที่มีข้อผูกพันกับต่างประเทศตามสัญญาเกี่ยวกับการใช้สิทธิและบริการต่าง ๆ ในการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออกและสัญญานั้นได้รับความเห็นชอบจาก กนอ.
ในกรณีที่ระยะเวลาใดดุลการชำระเงินต้องประสบความยุ่งยากจำเป็นต้องสงวนเงินตราต่างประเทศให้มีสำรองไว้ตามสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจำกัดการนำหรือส่งเงินนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อผลดังกล่าวนั้นก็ได้ แต่จะไม่จำกัดการส่งเงินทุนที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรออกนอกราชอาณาจักรต่ำกว่าร้อยละยี่สิบต่อปีของยอดเงินทุนดังกล่าวที่เหลืออยู่ในวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปี ถ้าการส่งเงินนั้นกระทำภายหลังที่นำเข้ามาแล้วเป็นเวลาสองปี และจะไม่จำกัดการส่งเงินปันผลต่ำกว่าร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร และเหลืออยู่ในขณะที่ขอส่งเงินปันผลออก
มาตรา ๔๘[๑๔] ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกในเขตอุตสาหกรรมส่งออกจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต สำหรับของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของสิ่งดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือการค้าเพื่อส่งออก แล้วแต่กรณี และของที่ใช้ในการสร้าง ประกอบหรือติดตั้งเป็นโรงงานหรืออาคารในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ทั้งนี้ เท่าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามที่คณะกรรมการอนุมัติ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๙[๑๕] ของที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกนำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า หรือเพื่อการค้าเพื่อส่งออก ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ ให้รวมถึงของที่นำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกแห่งหนึ่งไปยังเขตอุตสาหกรรมส่งออกอีกแห่งหนึ่งด้วย
มาตรา ๕๐ ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามมาตรา ๔๙ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ สิ่งพลอยได้ และสิ่งอื่นที่ได้จากการผลิตในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หากส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้ได้รับยกเว้นอากรขาออกและภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต*
มาตรา ๕๑[๑๖] ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามมาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ และของตามมาตรา ๕๒ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ สิ่งพลอยได้ และสิ่งอื่นที่ได้จากการผลิตในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หากนำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร จะต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ ตามสภาพ ราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยถือเสมือนว่าได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรในวันที่นำออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก
มาตรา ๕๒ ของที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ได้รับยกเว้นหรือคืนค่าภาษีอากรเมื่อได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แม้มิได้ส่งออกแต่ได้นำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก เพื่อใช้ตามมาตรา ๔๘ หรือมาตรา ๔๙ ให้ได้รับยกเว้นหรือคืนค่าภาษีอากรโดยถือเสมือนว่าได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในวันที่นำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
มาตรา ๕๓ การนำของเข้ามาในหรือนำออกไปจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก การเก็บรักษา และการควบคุมการขนย้าย ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการนำของเข้า การส่งของออก และการเก็บของในคลังสินค้า ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม กับทั้งต้องปฏิบัติตามระเบียบและพิธีการที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด และให้นำบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับด้วย
มาตรา ๕๔[๑๗] ของที่ไม่ใช้หรือใช้ไม่ได้ซึ่งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกในกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกขออนุญาตเป็นหนังสือต่อ กนอ. เพื่อทำลาย หรือในกรณีที่ กนอ. เห็นสมควรสั่งให้ทำลายของดังกล่าว ให้ กนอ. แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก แล้วแต่กรณี หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว และอธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายทราบ และให้อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายสั่งดำเนินการทำลายของนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด
ในกรณีที่ กนอ. ไม่อาจแจ้งให้บุคคลตามวรรคหนึ่งทราบได้ เมื่อ กนอ. ได้ปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานของบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเป็นเวลาเจ็ดวัน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งแล้ว
ของที่ได้ถูกทำลายตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต
มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้ผู้ใดนำของในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ออกไปจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหรืออยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของ กนอ.
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๓
พนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๕๗[๑๘] พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก หรือของผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์ หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออก แล้วแต่กรณี ในนิคมอุตสาหกรรมในระหว่างเวลาทำการเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหรือเพื่อตรวจสอบเอกสารหรือสิ่งของใด ๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการจากบุคคลซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นได้ตามความจำเป็น ในกรณีเช่นนี้ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวต้องให้ความสะดวกตามสมควร
ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปในสถานที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการ หรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออก หรือผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออกแล้วแต่กรณี ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง เว้นแต่กรณีที่ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายจะเห็นว่าเป็นการเร่งด่วน
มาตรา ๕๘ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจตรวจค้นโรงงาน อาคาร ยานพาหนะ และบุคคล รวมตลอดถึงของใด ๆ ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
มาตรา ๕๙ ถ้าพบผู้ใดกำลังกระทำความผิด หรือพยายามกระทำความผิดหรือใช้ หรือช่วย หรือยุยง ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากรในนิคมอุตสาหกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับผู้นั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ แล้วนำส่งพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพร้อมด้วยของกลางเพื่อดำเนินการต่อไป
มาตรา ๖๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
มาตรา ๖๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
หมวด ๔
การควบคุม
มาตรา ๖๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กนอ. เพื่อการนี้จะสั่งให้ กนอ. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ กนอ. ได้
มาตรา ๖๓ ในกรณี กนอ. จะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี ให้นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๖๔ ในการดำเนินกิจการของ กนอ. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน
มาตรา ๖๕ ให้ กนอ. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๖๖ กนอ. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้
(๑) การลงทุนเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม
(๒) การเพิ่มทุนโดยตีราคาทรัพย์สินใหม่
(๓) การลดทุน
(๔) การกู้ยืมเงินเกินสิบล้านบาท
(๕) การออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๖) การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินหนึ่งล้านบาท เว้นแต่เป็นการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรม
(๗)[๑๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๖๗ ให้ กนอ. จัดทำงบประมาณประจำปีโดยแยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๖๘ ให้ กนอ. วางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้องแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ
(๑) การรับและจ่ายเงิน
(๒) สินทรัพย์และหนี้สินซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่สมควรโดยพิจารณาตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ
มาตรา ๖๙ ทุกปี ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีรวมทั้งการเงินของ กนอ.
มาตรา ๗๐ ผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีมีอำนาจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของ กนอ. เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการอนุกรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานและลูกจ้าง
มาตรา ๗๑ ผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีต้องทำรายงานผลของการสอบบัญชีเสนอคณะรัฐมนตรี ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีและให้ กนอ. โฆษณารายงานประจำปีของปีที่สิ้นไปนั้น แสดงบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ซึ่งผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
หมวด ๕
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๗๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาทและปรับอีกวันละสองร้อยบาทตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกใช้
มาตรา ๗๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และให้ศาลสั่งให้ผู้นั้นหยุดประกอบกิจการจนกว่าจะได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๗๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ของที่นำออกไปโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕๕ วรรคหนึ่ง ให้ริบเสียทั้งสิ้น
มาตรา ๗๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๖ ผู้ใดไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง หรือขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ศุลกากรตามมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๗๗ ให้ผู้อำนวยการ พนักงานและลูกจ้างของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ว่าการ พนักงานและลูกจ้างของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๗๘ ให้คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ประธานกรรมการและกรรมการดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นใหม่
เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๗๙ บรรดานิคมอุตสาหกรรมทั่วไปที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้ถือว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๘๐ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่ง ซึ่งออกหรือสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้การดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นไปด้วยดียิ่งขึ้นและเหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔[๒๐]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นไป
*มาตรา ๓ ให้แก้คำว่า “ภาษีการค้า” ในมาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ และมาตรา ๕๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นคำว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ยกเลิกภาษีการค้าและนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกที่เคยได้รับยกเว้นภาษีการค้า ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแทน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙[๒๑]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับสภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สมควรเพิ่มบทบาทในด้านการค้าและการบริการเพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศให้ต่อเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบของวงจรเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในเขตพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นยังอาจมีพื้นที่ครอบคลุมที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการถอนสภาพและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเหมาะสมกับการดำเนินการนิคมอุตสาหกรรม และโดยที่การจัดการและการจัดสรรที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีขั้นตอนตามกฎหมายต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติหลายฉบับ อันทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการให้น้อยลง เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศสอดคล้องกับภาวะการแข่งขันและการลงทุนระหว่างประเทศ และโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้ กนอ. มีอำนาจจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญได้ โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
วศิน/ผู้จัดทำ
๒๑ เมษายน ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๔๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๒๔ มีนาคม ๒๕๒๒
[๒] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๓] มาตรา ๖ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๔] มาตรา ๑๐ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๕] มาตรา ๑๐ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๖] มาตรา ๑๐ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๗] มาตรา ๓๖ วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๘] มาตรา ๓๖ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๙] มาตรา ๓๘ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๐] มาตรา ๓๙ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๑] มาตรา ๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๒] มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๓] มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๔] มาตรา ๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๕] มาตรา ๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๖] มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๗] มาตรา ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๘] มาตรา ๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๑๙] มาตรา ๖๖ (๗) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
[๒๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๐๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒๕/๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
[๒๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๕๔ ก/หน้า ๑๔/๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๙