พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 (ฉบับ Update ณ วันที่ 19/08/2530)
พระราชบัญญัติ
การประปานครหลวง
พ.ศ. ๒๕๑๐
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
เป็นปีที่ ๒๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการประปานครหลวง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การประปานครหลวง” หมายความว่า การประปานครหลวง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
“ประปาเอกชน”[๒] หมายความว่า การผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาโดยเอกชน ให้แก่ผู้อยู่ในบ้านที่มีทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่ห้าบ้านขึ้นไป โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานการประปานครหลวงรวมทั้งผู้ว่าการ
“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการประปานครหลวง
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการประปานครหลวง
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๑
การจัดตั้ง ทุนและเงินสำรอง
มาตรา ๖[๓] ให้จัดตั้งการประปาขึ้นเรียกว่า “การประปานครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) สำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบ และจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปา
(๒) ผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ และควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับระบบประปาเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าว
(๓) ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปา
มาตรา ๗ การผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปา และการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบโดยการประปานครหลวง เป็นกิจการสาธารณูปโภค และให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอันว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๘ ให้การประปานครหลวงเป็นนิติบุคคล
มาตรา ๙ ให้การประปานครหลวงตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดก็ได้
มาตรา ๑๐ ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สินและความรับผิดอันเกี่ยวกับการประปาของกองประปากรุงเทพ กรมโยธาเทศบาล การประปานนทบุรีของกองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล การประปาเทศบาลนครธนบุรีของเทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการของเทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่การประปานครหลวง
ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาประเมินราคาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สินและความรับผิดของหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ และให้การประปานครหลวงตั้งงบประมาณชดใช้ตามราคาทรัพย์สินที่ประเมินได้ ถ้ามี
มาตรา ๑๑ ให้โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ เงินทุนการประปา และเงินทุนหมุนเวียนจำหน่ายเครื่องอุปกรณ์ประปาของกองประปากรุงเทพ เว้นแต่จำนวนที่ได้รับในลักษณะเงินกู้ซึ่งเหลืออยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้เป็นทุนประเดิมของการประปานครหลวง
นอกจากเงินงบประมาณและเงินทุนตามวรรคหนึ่ง ให้นำทรัพย์สินที่รับโอนมาจากกองประปากรุงเทพ กรมโยธาเทศบาล การประปานนทบุรี กองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล การประปาเทศบาลนครธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว เข้าอยู่ในทุนประเดิมด้วย
มาตรา ๑๒ ทุนของการประปานครหลวงประกอบด้วย
(๑) ทุนประเดิมตามมาตรา ๑๑
(๒) ทรัพย์สินและสิทธิที่ได้รับโอนตามมาตรา ๑๐ เมื่อหักหนี้สินออกแล้ว
(๓) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินที่จ่ายให้ภายหลังเพื่อดำเนินงานหรือขยายกิจการ
(๔) เงินช่วยเหลือที่อาจได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
มาตรา ๑๓[๔] ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) สร้าง ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืมและดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของการประปานครหลวง
(๒) ซื้อ จัดหา เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง จำหน่ายหรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ
(๓) สำรวจและวางแผนจำหน่ายน้ำที่จะทำใหม่ หรือขยายเพิ่มเติมภายในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒)
(๔) กำหนดอัตราราคาขายน้ำ ค่าบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของการประปานครหลวง และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระราคาและค่าบริการ
(๔ ทวิ)[๕] กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบประปาเอกชนในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๕) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการประปานครหลวง
(๖) กู้ยืมเงินหรือลงทุน
(๗) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
มาตรา ๑๔ ทรัพย์สินของการประปานครหลวง ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
มาตรา ๑๕ ให้ประธานกรรมการ กรรมการและพนักงานของการประปานครหลวง เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๖ เงินสำรองของการประปานครหลวง ให้ประกอบด้วยเงินสำรองเผื่อขาดและเงินสำรองอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
มาตรา ๑๗ เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
มาตรา ๑๘[๖] ให้การประปานครหลวงเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
หมวด ๒
การกำกับ การควบคุมและการบริหาร
มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของการประปานครหลวง เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้การประปานครหลวงชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรีตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้
มาตรา ๒๐ เรื่องที่จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีนั้น ให้รัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
มาตรา ๒๑ ให้มีคณะกรรมการของการประปานครหลวง คณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการประปานครหลวง” ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคน ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ว่าการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอนประธานกรรมการและกรรมการ
มาตรา ๒๒ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการและผู้ว่าการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และต้องมีความรู้และมีความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการประปา วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือการบริหารธุรกิจ
มาตรา ๒๓ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ
(๑) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับการประปานครหลวง หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การประปานครหลวง ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
(๒) เป็นพนักงานนอกจากผู้ว่าการ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
มาตรา ๒๔[๗] ภายใต้บังคับมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของการประปานครหลวง อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๓
(๒) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(๓) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงาน ระเบียบวินัย การลงโทษพนักงาน และการร้องทุกข์
(๔) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการประปานครหลวง ถ้าข้อบังคับมีข้อความจำกัดอำนาจผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา
(๕) วางข้อบังคับว่าด้วยจำนวนอัตราตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของพนักงาน
(๖) วางข้อบังคับเกี่ยวกับลูกจ้าง
(๗) วางข้อบังคับว่าด้วยบำเหน็จและกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง และการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว
มาตรา ๒๕ ให้ประธานกรรมการและกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่สำหรับกรรมการนั้นในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสองปี ให้ออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก
ประธานกรรมการและกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
มาตรา ๒๖ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระตามมาตรา ๒๕ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓
ในกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ ให้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการเข้าแทน แล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๒๗ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ
ให้ผู้ว่าการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด
การแต่งตั้งและการกำหนดเงินเดือนตามมาตรานี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๒๙ ผู้ว่าการย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการให้ออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐
การให้ออกตาม (๓) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๓๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ว่าการ
(๑) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับการประปานครหลวง หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การประปานครหลวง ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
(๒) เป็นข้าราชการประจำหรือเป็นผู้มีตำแหน่งการเมือง
(๓) เป็นผู้ไม่อาจทำงานเต็มเวลาให้แก่การประปานครหลวง
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
มาตรา ๓๑ ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการประปานครหลวงให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่งและลูกจ้าง
ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบในการจัดการและดำเนินงานของการประปานครหลวง
มาตรา ๓๒ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำการในนามของการประปานครหลวง และเป็นผู้กระทำการแทนการประปานครหลวง และเพื่อการนี้ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนของการประปานครหลวงที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา ๙ หรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๒๔ (๔) กำหนดว่านิติกรรมใดผู้ว่าการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน บรรดานิติกรรมที่ผู้ว่าการทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าว ย่อมไม่ผูกพันการประปานครหลวง เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
มาตรา ๓๓ ผู้ว่าการมีอำนาจ
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดหรือตัดเงินเดือน ตลอดจนลงโทษพนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้ แต่ถ้าเป็นพนักงานชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการประปานครหลวงโดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
มาตรา ๓๔ เมื่อผู้ว่าการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งและข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการประปานครหลวงไม่ได้กำหนดให้พนักงานตำแหน่งใดทำการแทนผู้ว่าการ หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงและในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ แล้วแต่กรณี เป็นการชั่วคราว และให้นำมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้ผู้ทำการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ
มาตรา ๓๕ ประธานกรรมการ กรรมการและพนักงานอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หมวด ๓
การสร้าง และบำรุงรักษาระบบการส่งและการจำหน่ายน้ำ
มาตรา ๓๖ เพื่อประโยชน์ในการสร้างและบำรุงรักษาระบบการส่งและการจำหน่ายน้ำ เช่น ท่อน้ำ ประตูน้ำ โรงสูบน้ำ เครื่องวัดจำนวนน้ำ ถังพักน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พนักงานมีอำนาจที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใด ๆ ซึ่งมิใช่โรงเรือนที่คนอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การใช้สอยหรือเข้าครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจสร้างหรือบำรุงรักษาระบบการส่งและการจำหน่ายน้ำ หรือการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบการส่งและการจำหน่ายน้ำ
(๒) ได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครอง
ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ทรงสิทธิอื่นเนื่องจากการกระทำของพนักงานดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลเช่นว่านั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจากการประปานครหลวงได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันในจำนวนค่าทดแทน ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ[๘]
มาตรา ๓๗ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในระบบการส่งและการจำหน่ายน้ำ เมื่อมิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
มาตรา ๓๘ ในการส่งและการจำหน่ายน้ำ ให้การประปานครหลวงมีอำนาจเดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์ไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน
ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกำหนดบริเวณที่ดินที่เดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์ โดยมีความกว้างจากท่อน้ำด้านละไม่เกินสองเมตรห้าสิบเซนติเมตร สำหรับท่อน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่แปดสิบเซนติเมตรขึ้นไป ในบริเวณที่กำหนดนี้ให้การประปานครหลวงมีอำนาจตัดฟันต้น กิ่งหรือรากของต้นไม้หรือพืชผลอย่างใด ๆ ได้ โดยต้องจ่ายค่าทดแทนในการที่ใช้ที่ดิน และในการตัดฟัน แล้วแต่กรณี ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองด้วยจำนวนเงินอันเป็นธรรม เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นอยู่ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทดแทน ให้นำมาตรา ๓๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อได้มีการชดใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวแล้ว หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองเต็มใจไม่รับหรือไม่มีสิทธิรับค่าทดแทน ต่อไปในภายหน้าผู้ใดจะมาเรียกร้องค่าทดแทนอีกมิได้
ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้การประปานครหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๙ ในบริเวณที่กำหนดตามมาตรา ๓๘ ให้การประปานครหลวงจัดทำเครื่องหมายแสดงเขตไว้และห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือปลูกต้นไม้ขึ้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวงเป็นหนังสือ ในการอนุญาตนั้นจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือต้นไม้ที่ปลูกขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวง การประปานครหลวงมีอำนาจรื้อถอนหรือตัดฟันโดยไม่จำต้องชดใช้ค่าทดแทน
มาตรา ๔๐ ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหาย พนักงานอาจเข้าไปในสถานที่ของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจ ซ่อมแซมหรือแก้ไขระบบการส่งและการจำหน่ายน้ำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เมื่อได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบแล้ว
มาตรา ๔๐ ทวิ[๙] เพื่อประโยชน์ในการผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ใดประสงค์จะดำเนินการสร้างระบบประปาเอกชน หรือขยายระบบประปาเอกชนที่มีอยู่ในเขตท้องที่ตามมาตรา ๖ (๒) จะต้องได้รับความเห็นชอบของการประปานครหลวงและจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ)
ในกรณีที่การประปานครหลวงไม่ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ผู้ซึ่งประสงค์จะดำเนินการสร้างระบบประปาเอกชน หรือขยายระบบประปาเอกชนที่มีอยู่มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของการประปานครหลวง แจ้งการไม่ให้ความเห็นชอบ
ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา ๔๑ ผู้ใดขัดขวางการกระทำของการประปานครหลวง หรือพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ หรือมาตรา ๔๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๑ ทวิ[๑๐] ผู้ใดดำเนินการตามมาตรา ๔๐ ทวิ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากการประปานครหลวง หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หมวด ๔
ความสัมพันธ์กับรัฐบาล
มาตรา ๔๒ ในการดำเนินกิจการของการประปานครหลวง ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน
มาตรา ๔๓[๑๑] การประปานครหลวงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้
(๑) เพิ่มหรือลดทุน
(๒) กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินสิบล้านบาท
(๓) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินห้าแสนบาท
(๔) จำหน่ายทรัพย์สินอันมีราคาเกินห้าแสนบาทจากบัญชีเป็นศูนย์
(๕) กำหนดอัตราราคาขายน้ำประปาของการประปานครหลวง
(๖) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
มาตรา ๔๔ ให้การประปานครหลวงจัดทำงบประมาณประจำปี แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๔๕[๑๒] รายได้ที่การประปานครหลวงได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของการประปานครหลวง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการ ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา กองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานและการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวตามมาตรา ๒๔ ประโยชน์ตอบแทนตามมาตรา ๒๗ โบนัสตามมาตรา ๓๕ เงินสำรองตามมาตรา ๑๖ และเงินลงทุนตามงบลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๔๔
รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระดังกล่าวในวรรคหนึ่งแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าภาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง นอกจากโบนัสตามมาตรา ๓๕ และเงินสำรองตามมาตรา ๑๖ และการประปานครหลวงไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่การประปานครหลวงเท่าจำนวนที่ขาด
มาตรา ๔๖ ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วของการประปานครหลวง และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า
หมวด ๕
การร้องทุกข์และการสงเคราะห์
มาตรา ๔๗ ให้พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
มาตรา ๔๘[๑๓] ให้การประปานครหลวงจัดให้มีกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานและการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวงและครอบครัวตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
หมวด ๖
การบัญชี การสอบและการตรวจ
มาตรา ๔๙ ให้การประปานครหลวงวางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ
(๑) การรับและจ่ายเงิน
(๒) สินทรัพย์และหนี้สิน
ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ
มาตรา ๕๐ ทุกปีให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรวมทั้งการเงินของการประปานครหลวง
มาตรา ๕๑ ผู้ตรวจสอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของการประปานครหลวง เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้างและผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของการประปานครหลวง
มาตรา ๕๒ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชีของการประปานครหลวง ให้การประปานครหลวงโฆษณารายงานประจำปีของปีที่สิ้นสุดไปนั้น แสดงบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน พร้อมกับรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีตามมาตรา ๕๑
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๕๓ นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ให้ข้าราชการและลูกจ้างของกองประปากรุงเทพ และการประปานนทบุรี กรมโยธาเทศบาล ซึ่งต้องออกจากราชการเพราะการยุบเลิกกองประปากรุงเทพและการประปานนทบุรี กรมโยธาเทศบาล และพนักงานและลูกจ้างของการประปาเทศบาลนครธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งต้องออกจากงานเพราะการยุบเลิกการประปาเทศบาลนครธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี และหมวดการประปาเทศบาลเมืองสมุทรปราการ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของการประปานครหลวง โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง แล้วแต่กรณี รวมทั้งเงินเพิ่มเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน จนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งพนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าวตามมาตรา ๓๓ (๑)
สำหรับข้าราชการที่กรมโยธาเทศบาลได้สั่งให้มาปฏิบัติราชการในกองประปากรุงเทพ ถ้าประสงค์จะทำงานในการประปานครหลวง ให้กรมหรือกระทรวงเจ้าสังกัดสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ เพื่อไปปฏิบัติงานในการประปานครหลวง และให้ผู้ว่าการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานของการประปานครหลวงโดยให้ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม
มาตรา ๕๔ ในวาระเริ่มแรกภายในสี่ปี กระทรวงมหาดไทยอาจสั่งให้ข้าราชการผู้หนึ่งผู้ใดไปปฏิบัติงานในการประปานครหลวงอีกตำแหน่งหนึ่งก็ได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การประปาในเขตจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบันได้แยกดำเนินการเป็นสี่แห่ง ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและบริการการประปาไม่ดีพอ ฉะนั้นเพื่อเป็นการประหยัดและให้มีบริการการประปาที่ดียิ่งขึ้น จึงสมควรที่จะปรับปรุงการประปาในเขตจังหวัดดังกล่าวเสียใหม่โดยรวมการดำเนินการการประปาทั้งสี่แห่งนี้ เป็นการประปานครหลวง
พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖[๑๔]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการประปานครหลวงยังมีโครงการปรับปรุงและขยายกิจการประปาอยู่อีกหลายโครงการที่จะต้องดำเนินการ สมควรให้อำนาจแก่การประปานครหลวงออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน สำหรับจัดหาทุนมาใช้ดำเนินการตามโครงการปรับปรุงและขยายกิจการประปาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒[๑๕]
มาตรา ๑๓ ผู้ที่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๔๐ ทวิ อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มาแจ้งต่อการประปานครหลวงภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อแจ้งแล้วให้ถือว่าผู้นั้นได้รับความเห็นชอบจากการประปานครหลวงสำหรับการดำเนินการดังกล่าว และในกรณีที่การดำเนินการของบุคคลดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่การประปานครหลวงประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขให้การดำเนินการของบุคคลนั้นเป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ตามที่การประปานครหลวงเห็นสมควร
มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติงานของการประปานครหลวง และในปัจจุบันเอกชนในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ได้ดำเนินการสร้างระบบการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาหรือขยายระบบดังกล่าวที่มีอยู่โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สมควร ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำประปานั้นได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวให้การประปานครหลวงสามารถปฏิบัติงานได้โดยคล่องตัวในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และให้การประปานครหลวงสามารถควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาของเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐[๑๖]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ มีบทบัญญัติให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย และให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไปแล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ ให้สอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พรพิมล/แก้ไข
๒๙ ส.ค ๒๕๔๔
A+B (C)
พัชรินทร์/แก้ไข
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
วศิน/แก้ไข
๘ เมษายน ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๕/ตอนที่ ๗๕/หน้า ๖๐๑/๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๐
[๒] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ประปาเอกชน” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๓] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๔] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖
[๕] มาตรา ๑๓ (๔ ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๖] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๗] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๘] มาตรา ๓๖ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐
[๙] มาตรา ๔๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๑๐] มาตรา ๔๑ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๑๑] มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๑๒] มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๑๓] มาตรา ๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐/ตอนที่ ๗๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖
[๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๕๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕/๒๐ เมษายน ๒๕๒๒
[๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๑๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๗/๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๐