พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ณ วันที่ 24/08/2550)

พระราชบัญญัติ

การประปาส่วนภูมิภาค

พ.ศ. ๒๕๒๒

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒

เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการประปาส่วนภูมิภาค

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค

“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค

“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของการประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ว่าการ

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของการประปาส่วนภูมิภาค

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๑

การจัดตั้ง ทุน และทุนสำรอง

                  

              มาตรา ๕  ให้จัดตั้งการประปาขึ้นเรียกว่า “การประปาส่วนภูมิภาค” เรียกโดยย่อว่า “กปภ.” และให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมธุรกิจการประปาโดยการสำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบ และจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบ เพื่อใช้ในการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปา รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับธุรกิจการประปา เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การให้บริการสาธารณูปโภค โดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ และสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นสำคัญ

              มาตรา ๖  กปภ. มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และจะตั้งสำนักงานสาขา หรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดในและนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่การตั้งสำนักงานสาขานอกราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน

มาตรา ๗  ให้ กปภ. มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

                (๑) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองหรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๒) สำรวจ วางแผน และพัฒนาแหล่งน้ำดิบ ตลอดจนจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบ

(๓) สำรวจ วางแผน และสร้างระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา

(๔) กำหนดราคาจำหน่ายน้ำประปา อัตราค่าบริการ ค่าเครื่องอุปกรณ์ และค่าสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนวิธีการและเงื่อนไขในการชำระราคาและค่าตอบแทนดังกล่าว

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้น้ำประปา เพื่อประโยชน์ในการให้บริการสาธารณูปโภค

(๖) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ และบำรุงรักษาทรัพย์สินของ กปภ.

(๗) กู้หรือยืมเงินภายในและภายนอกราชอาณาจักร

(๘) ให้กู้หรือให้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่การประกอบและส่งเสริมธุรกิจของ กปภ.

(๙) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๑๐) ถือหุ้น หรือเข้าเป็นหุ้นส่วน หรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่การประกอบและส่งเสริมธุรกิจของ กปภ.

              มาตรา ๘  ให้ กปภ. มีอำนาจดำเนินการเพื่อจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่ซึ่งอยู่นอกเขตที่การประปานครหลวงมีอำนาจดำเนินการ แต่ กปภ. อาจดำเนินการจำหน่ายน้ำประปาในเขตที่การประปานครหลวงมีอำนาจดำเนินการได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากการประปานครหลวงแล้ว

มาตรา ๙  ทุนของ กปภ. ประกอบด้วย

(๑) เงินและทรัพย์สินที่โอนมาตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ เมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว

(๒) เงินที่ได้รับการจัดสรรให้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เพื่อดำเนินงานหรือขยายกิจการ

(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

                 มาตรา ๑๐  เงินสำรองของ กปภ. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดา ซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ เงินสำรองเพื่อการไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ ตามความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

มาตรา ๑๑  ทรัพย์สินของ กปภ.ซึ่งใช้หรือจะใช้ในการดำเนินการเพื่อประสิทธิภาพแห่งระบบการประปา ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

หมวด ๒

คณะกรรมการและผู้ว่าการ

                  

                 มาตรา ๑๒  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง* อธิบดีกรมอนามัย ผู้ว่าการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ

ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการอื่น

ให้ผู้ว่าการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ

มาตรา ๑๓  เพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ กปภ. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดของ กปภ. แล้วรายงานต่อคณะกรรมการ

มาตรา ๑๔  ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ต้อง

(๑) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง

(๒) ไม่มีส่วนได้เสียในธุรกิจที่กระทำกับ กปภ. หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของ กปภ.  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

(๓) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

มาตรา ๑๕  ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี

               ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน หรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

                เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา ๑๖  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๕ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๔) ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๕) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก

(๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔

มาตรา ๑๗  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของ กปภ. อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) วางข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๕ และมาตรา ๗

(๒) วางข้อบังคับว่าด้วยการประชุม และการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

(๓) วางข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานของ กปภ. และวางข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานต่าง ๆ ของ กปภ.

(๔) วางข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของผู้ว่าการ และการมอบให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการ

(๕) วางข้อบังคับกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่น ๆ ของพนักงานและลูกจ้าง

(๖) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง การถอดถอน ระเบียบวินัย การลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง

(๗) วางข้อบังคับว่าด้วยการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง

(๘) วางข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัว โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

(๙) วางข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าทำงานล่วงเวลา เบี้ยประชุม และการจ่ายเงินอื่น ๆ

(๑๐) วางข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง

(๑๑) กำหนดราคาจำหน่ายน้ำประปา และอัตราค่าบริการ ตลอดจนวิธีการและเงื่อนไขในการชำระราคาและค่าบริการ

(๑๒) วางข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ และรักษาทรัพย์สินของ กปภ.

มาตรา ๑๘  ในข้อบังคับตามมาตรา ๑๗ ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๙  ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้ง และกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา ๒๐  ผู้ว่าการ ต้อง

(๑) ไม่มีส่วนได้เสียในธุรกิจที่กระทำกับ กปภ. หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของ กปภ.  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

(๒) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

มาตรา ๒๑  ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการมีมติให้ออก

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสองครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐

มติของคณะกรรมการให้ผู้ว่าการออกจากตำแหน่งตาม (๓) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง นอกจากผู้ว่าการ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

                มาตรา ๒๒  ผู้ว่าการมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของ กปภ. ให้เป็นไปตามกฎหมายตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ กปภ. และตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด กับมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง

ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ กปภ.

มาตรา ๒๓  ผู้ว่าการมีอำนาจ

               (๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัย พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่งตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

(๒) กำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง และออกระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติงานของ กปภ. โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๒๔  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ กปภ. และเพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

นิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามมาตรา ๑๘ ย่อมไม่ผูกพัน กปภ. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

                มาตรา ๒๕  ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตำแหน่งผู้ว่าการว่างลง และยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการ

ให้ผู้รักษาการแทนผู้ว่าการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกันกับผู้ว่าการ

มาตรา ๒๖  ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๗  ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงานอาจได้รับเงินรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๘  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด ๓

การสร้างและบำรุงรักษาระบบการผลิต การส่ง

และการจำหน่ายน้ำประปา

                  

                มาตรา ๒๙  เพื่อประโยชน์ในการสร้างและบำรุงรักษาระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา เช่น แหล่งน้ำดิบ ท่อน้ำ โรงสูบน้ำ เครื่องวัดปริมาณน้ำ ถังพักน้ำ โรงกรองน้ำ ถังตกตะกอน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พนักงานและลูกจ้างมีอำนาจใช้สอย หรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใด ๆ เป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

               (๑) การใช้สอยหรือครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจเพื่อสร้างหรือบำรุงรักษาระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา หรือเป็นการจำเป็นสำหรับการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา

              (๒) กปภ. ได้บอกกล่าวให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบล่วงหน้าแล้วโดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบภายในเวลาอันสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ถ้าไม่อาจติดต่อกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้ ให้ประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน การประกาศให้ทำเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่ซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่และ ณ ที่ว่าการเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ ให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และการที่จะกระทำนั้นไว้ด้วย

ในการปฏิบัติตามมาตรานี้ พนักงานหรือลูกจ้างต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

                ในกรณีที่การปฏิบัติของพนักงาน หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานตามมาตรานี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่น บุคคลนั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจาก กปภ. ได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันในจำนวนค่าทดแทน ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ[๒]

มาตรา ๓๐  ในการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา ให้ กปภ. มีอำนาจเดินท่อน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์ไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ ในเมื่อที่ดินนั้นมิใช่ที่ตั้งโรงเรือนสำหรับอยู่อาศัย

               ให้ กปภ. มีอำนาจกำหนดบริเวณที่ดินที่เดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์โดยมีความกว้างจากท่อน้ำด้านละไม่เกินสองเมตรห้าสิบเซนติเมตรสำหรับท่อน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่แปดสิบเซนติเมตรขึ้นไป และให้ กปภ. ทำเครื่องหมายแสดงเขตไว้ในบริเวณดังกล่าวตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

              ในบริเวณที่กำหนดตามวรรคสอง ให้ กปภ. มีอำนาจรื้อถอนสิ่งที่สร้างหรือทำขึ้น หรือตัดฟัน ต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ หรือพืชผลอย่างใด ๆ ได้โดยต้องจ่ายค่าทดแทนในการที่ใช้ที่ดิน และในการรื้อถอนหรือตัดฟัน แล้วแต่กรณี ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองด้วยจำนวนเงินอันเป็นธรรม เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นอยู่ด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทดแทน ให้นำมาตรา ๒๙ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อได้มีการชดใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวแล้ว หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองเต็มใจไม่รับ หรือไม่มีสิทธิรับค่าทดแทน ต่อไปจะเรียกร้องค่าทดแทนอีกมิได้

               ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้ กปภ. แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ และให้นำมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

                มาตรา ๓๑  ในบริเวณที่กำหนดตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ปลูกต้นไม้ หรือกระทำการใด ๆ อันอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคต่อระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กปภ. เป็นหนังสือ ในการอนุญาตนั้นจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้ บรรดาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ต้นไม้ หรือสิ่งอื่นใดที่ปลูกขึ้น หรือทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กปภ. ให้ กปภ. มีอำนาจรื้อถอน ขนย้าย ตัดฟัน หรือกระทำการใด ๆ ได้ตามควรแก่กรณี โดยไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย และผู้ฝ่าฝืนต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้นด้วย

              มาตรา ๓๒  ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายพนักงานและลูกจ้างอาจเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจ ซ่อมแซมหรือแก้ไขระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปาได้ แต่ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ก็ให้พนักงานหรือลูกจ้างแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบก่อน

การเข้าดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองก่อน แต่ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่อยู่ ณ ที่นั้นด้วย ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นก่อน

มาตรา ๓๓  เมื่อ กปภ. มีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการวางหรือจัดสร้างระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา ถ้าไม่สามารถตกลงในเรื่องการโอนกันได้ ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

มาตรา ๓๔  ผู้ใดขัดขวางการกระทำของ กปภ. หรือพนักงานหรือลูกจ้างซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมวด ๔

การร้องทุกข์ และการสงเคราะห์

                  

มาตรา ๓๕  พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ได้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๖  ให้ กปภ. จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัวในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ตาย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์

การจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่นตามวรรคหนึ่ง การออกเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ การกำหนดประเภทของผู้ซึ่งพึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ การจ่ายเงินสงเคราะห์ และการจัดการกองทุนสงเคราะห์ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๕

การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ

                  

               มาตรา ๓๗  กปภ. ต้องทำงบประมาณประจำปี โดยให้แยกเป็นงบลงทุน และงบทำการ สำหรับงบลงทุนนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

                 มาตรา ๓๘  รายได้ที่ กปภ. ได้รับจากการดำเนินงานในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของ กปภ. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสำรองตามมาตรา ๑๐ และเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่นตามมาตรา ๓๖ และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

ถ้ารายได้มีไม่เพียงพอสำหรับรายจ่ายตามวรรคหนึ่ง นอกจากเงินสำรองตามมาตรา ๑๐ และ กปภ. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐบาลพึงจ่ายเงินให้แก่ กปภ. เท่าจำนวนที่จำเป็น

มาตรา ๓๙  กปภ. ต้องเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

               มาตรา ๔๐  กปภ. ต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร ตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

มาตรา ๔๑  กปภ. ต้องจัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

มาตรา ๔๒  ทุกปีให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของ กปภ.

มาตรา ๔๓  ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุด บัญชี และเอกสารหลักฐานของ กปภ. เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ พนักงานและลูกจ้างของ กปภ.

มาตรา ๔๔  ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงินเสนอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีเพื่อคณะกรรมการเสนอต่อรัฐมนตรี

                 มาตรา ๔๕  ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของ กปภ. ในปีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

ให้ กปภ. โฆษณารายงานประจำปีที่สิ้นไป โดยแสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว รวมทั้งรายงานสรุปผลงานในปีที่ล่วงมาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของ กปภ.

หมวด ๖

การกำกับและควบคุม

                  

               มาตรา ๔๖  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กปภ. เพื่อการนี้จะสั่งให้ กปภ. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของ กปภ. ที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการได้

มาตรา ๔๗  ในกรณีที่ กปภ. จะต้องเสนอเรื่องใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ กปภ. นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

มาตรา ๔๘[๓]  กปภ. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการ ดังต่อไปนี้ได้

(๑) เพิ่มหรือลดทุน

(๒) กู้ยืมเงินมีจำนวนเกินห้าสิบล้านบาท หรือให้กู้ยืมเงินมีจำนวนเกินห้าล้านบาท

(๓) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๔) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินห้าล้านบาท

(๕) ถือหุ้น หรือเข้าเป็นหุ้นส่วน หรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่การประกอบและส่งเสริมธุรกิจของ กปภ.

บทเฉพาะกาล

                  

               มาตรา ๔๙  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณ และทุนหมุนเวียนการจำหน่ายน้ำประปาในส่วนภูมิภาคของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประปา ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ กปภ. จะได้ตกลงกันไปเป็นของ กปภ.  ทั้งนี้ ภายในเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๕๐  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประปา ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ กปภ. จะได้ตกลงกันไปเป็นของ กปภ.  ทั้งนี้ ภายในเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๕๑  สิทธิตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ให้หมายความรวมถึงสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย หรือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แล้วแต่กรณีด้วย  ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการ และทรัพย์สินที่โอนไป

               มาตรา ๕๒  ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย และของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการที่โอนไปตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ แล้วแต่กรณี ถ้าสมัครใจจะโอนไปปฏิบัติงานกับ กปภ. และได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่ออธิบดีเจ้าสังกัดภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนข้าราชการหรือลูกจ้างผู้นั้นไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ กปภ. แล้วแต่กรณี

ลูกจ้างตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงลูกจ้าง เงินทุนหมุนเวียน การจำหน่ายน้ำประปาในส่วนภูมิภาคของกรมโยธาธิการด้วย

               ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ กปภ. ตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้

มาตรา ๕๓  การโอนข้าราชการตามมาตรา ๕๒ ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากประจำการเพราะเลิก หรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

การโอนลูกจ้างตามมาตรา ๕๒ ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง

              เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญตามข้อบังคับของ กปภ. (ถ้ามี) ข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนไปตามมาตรา ๕๒ ผู้ใดประสงค์จะให้นับเวลาราชการหรือเวลาทำงานในขณะที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างก่อนที่มีการโอนเป็นเวลาการทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างของ กปภ. แล้วแต่กรณี ก็ให้มีสิทธิกระทำได้โดยการบอกเลิกรับบำเหน็จบำนาญ

              การบอกเลิกรับบำเหน็จบำนาญตามวรรคสาม จะต้องกระทำภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่โอน สำหรับกรณีของข้าราชการ ให้ดำเนินการบอกเลิกตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับกรณีของลูกจ้าง ให้ดำเนินการบอกเลิกโดยกระทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานยื่นต่อผู้ว่าจ้างเพื่อส่งต่อไปให้กระทรวงการคลังเพื่อทราบ

               มาตรา ๕๔  ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่าการ คณะกรรมการจะแต่งตั้งให้กรรมการ หรือพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการก็ได้ โดยให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ว่าการ และเพื่อการนี้มิให้นำมาตรา ๑๔ มาใช้บังคับในการแต่งตั้งดังกล่าว

               มาตรา ๕๕  ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนผู้หนึ่งผู้ใดไปปฏิบัติงานใน กปภ. อีกตำแหน่งหนึ่งได้ เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของผู้นั้น โดยให้ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นมีสิทธิที่จะขอรับเงินเดือนในตำแหน่งเดิม หรือเงินเดือนในตำแหน่งใน กปภ. เพียงแห่งเดียวก็ได้ และเพื่อการนี้มิให้นำข้อบังคับตามมาตรา ๑๗ (๕) มาตรา ๒๐ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนผู้นั้น

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส.  โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับปรุง และขยายกิจการประปาในส่วนภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น  ในการนี้ สมควรโอนกิจการประปาในส่วนภูมิภาค และหน่วยงานก่อสร้างประปาภูมิภาคของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย กิจการประปาชนบท และหน่วยก่อสร้างประปาชนบทของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ไปจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจเรียกว่า “การประปาส่วนภูมิภาค” สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาในส่วนภูมิภาค  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐[๔]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ มีบทบัญญัติให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย และให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไปแล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สอดคล้องกันด้วย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕[๕]

 

มาตรา ๒๖  ในพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แก้ไขคำว่า “อธิบดีกรมโยธาธิการ” เป็น “อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง”

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหาร และอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่ง หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย  ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติ และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการ หรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่ง หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐[๖]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการปรับปรุง และขยายกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อให้การประปาส่วนภูมิภาคสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวยืดหยุ่น สามารถดำเนินกิจการ และบริการให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง สมควรแก้ไขให้การประปาส่วนภูมิภาคสามารถขยายโครงการเดิม หรือริเริ่มโครงการใหม่ กำหนดอัตราราคาจำหน่ายน้ำประปา และจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ตลอดจนให้การประปาส่วนภูมิภาคสามารถเพิ่มทุนหรือลดทุน และกู้ยืมเงินหรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้เป็นจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พรพิมล/แก้ไข

๑๒ กันยายน ๒๕๔๔

อมราลักษณ์/แก้ไข

๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๗

วศิน/แก้ไข

๘ เมษายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๕

พจนา/ตรวจ

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๒๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒

[๒] มาตรา ๒๙ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐

[๓] มาตรา ๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

[๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๑๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๕๖/๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๐

[๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๐๒/หน้า ๖๖/๘ ตุลาคม ๒๕๔๕

[๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๔๖ ก/หน้า ๑/๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐