พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
พระราชบัญญัติ
การเดินเรือในน่านน้ำไทย
พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่ได้ตราขึ้นไว้เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ นั้น ยังมีบกพร่องอยู่หลายประการ สมควรจะเปลี่ยนแก้ให้สมกับกาลสมัย เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้แทน ดังต่อไปนี้
ความเบื้องต้น
และอธิบายบางคำที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖”
มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นไป
มาตรา ๓[๒] ในพระราชบัญญัตินี้
“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะใช้เพื่อบรรทุกลำเลียง โดยสาร ลาก จูง ดัน ยก ขุดหรือลอก รวมทั้งยานพาหนะอย่างอื่นที่สามารถใช้ในน้ำได้ทำนองเดียวกัน
“เรือกำปั่น” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกลหรือด้วยใบ และไม่ได้ใช้กรรเชียง แจวหรือพาย
“เรือกำปั่นไฟ” หรือ “เรือกลไฟ” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรจะใช้ใบด้วยหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือกำปั่นยนต์ด้วย
“เรือกำปั่นยนต์” หรือ “เรือยนต์” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องยนต์จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“เรือกำปั่นใบ” หรือ “เรือใบ” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยใบและไม่ใช้เครื่องจักรกล
“เรือกล” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกล และใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“เรือกลไฟเล็ก” หมายความว่า เรือที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบตันกรอสส์ที่เดินด้วยเครื่องจักร
“เรือเดินทะเล” หรือ “เรือทะเล” หมายความว่า เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเล ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
“เรือเล็ก” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยกรรเชียง แจวหรือพาย
“เรือโป๊ะ” หรือ “เรือโป๊ะจ้าย” หมายความว่า เรือทะเลที่มีรูปร่างแบบยุโรปและเครื่องเสาเพลาใบอย่างแบบจีน หรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย
“เรือเป็ดทะเลและอื่น ๆ” หรือ “เรือเป็ดทะเลและเรืออื่น ๆ” หมายความว่า เรือที่ใช้ใบในเวลาเดินทะเล และใช้ใบหรือกรรเชียงหรือแจวในเวลาเดินในลำแม่น้ำ และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือฉลอมทะเล เรือเท้งฉลอมท้ายญวน หรือเรือสามก้าวด้วย
“เรือสำเภา” หมายความว่า เรือเดินทะเลต่ออย่างแบบจีน หรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย
“เรือบรรทุกสินค้า” หมายความว่า เรือที่ไม่มีดาดฟ้าหรือมีไม่ตลอดลำ เดินด้วยกรรเชียง แจว หรือพาย หรือบางทีใช้ใบ และใช้สำหรับบรรทุกสินค้า
“เรือลำเลียง” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือกล และใช้สำหรับลำเลียง หรือขนถ่ายสินค้าจากเรือกำปั่น หรือบรรทุกสินค้าส่งเรือกำปั่น
“เรือลำเลียงทหาร” หมายความว่า เรือที่ใช้ในการลำเลียงทหาร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรือของทางราชการทหารหรือไม่ก็ตาม
“เรือโดยสาร” หมายความว่า เรือที่บรรทุกคนโดยสารเกินสิบสองคน
“เรือสินค้า” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือโดยสาร
“เรือประมง” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับการจับสัตว์น้ำ หรือทรัพยากรที่มีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเล
“เรือสำราญและกีฬา” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ และไม่ได้ใช้เพื่อการค้า การทหาร หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
“เรือไม้ที่ต่อแบบโบราณ” หมายความว่า เรือใบเสาเดียว เรือสำเภาหรือเรือไม้ ที่ต่อตามแบบเรือที่ใช้อยู่ในสมัยโบราณ
“แพ” หมายความรวมตลอดถึงโป๊ะ อู่ลอย และสิ่งลอยน้ำอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
“แพคนอยู่” หมายความว่า เรือนที่ปลูกอยู่บนแพ และลอยอยู่ในลำแม่น้ำหรือลำคลอง
“ตันกรอสส์” หมายความว่า ขนาดของเรือที่คำนวณได้ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓
“น่านน้ำไทย”[๓] หมายความว่า บรรดาน่านน้ำที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย และในกรณีตามมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๑๙ ทวิ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๓๓ มาตรา ๒๐๔ และมาตรา ๒๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ให้หมายความรวมถึงน่านน้ำที่อยู่ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยด้วย
“เมืองท่า” หมายความว่า ทำเล หรือถิ่นที่จอดเรือเพื่อขนถ่ายคนโดยสารหรือของ
“นายเรือ” หมายความว่า ผู้ควบคุมเรือกำปั่น หรือเรืออื่น ๆ แต่ไม่รวมถึงผู้นำร่อง
“คนประจำเรือ” หมายความว่า คนที่มีหน้าที่ทำการประจำอยู่ในเรือ
“ลูกเรือ” หมายความว่า คนประจำเรือนอกจากนายเรือ
“คนโดยสาร” หมายความว่า คนที่อยู่ในเรือ เว้นแต่
(๑) คนประจำเรือ หรือผู้อื่นที่รับจ้างทำงานในเรือนั้น
(๒) เด็กที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งปี
“เจ้าท่า” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*มอบหมาย
“เจ้าพนักงานออกใบอนุญาต” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*มอบหมายให้ทำการออกใบอนุญาต
“เจ้าพนักงานตรวจเรือ” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจเรือตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔[๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๕[๕] (ยกเลิก)
มาตรา ๖[๖] (ยกเลิก)
มาตรา ๗[๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๘[๘] ในพระราชบัญญัตินี้แห่งใดมีบัญญัติว่าด้วยการออกอนุญาตอย่างใด ๆ ตามซึ่งเจ้าท่าเห็นจำเป็นจะต้องออกเป็นหนังสือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจเรียกค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตเช่นนั้นตามอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวงแต่ไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
มาตรา ๙[๙] พระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ ประกาศลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ว่าด้วยการตั้งศาลทะเล ประกาศลงวันที่ ๑๙ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ว่าด้วยการออกใบอนุญาตสำหรับเรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็ก และประกาศลงวันที่ ๒๒ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ว่าด้วยเรือกลไฟที่ใช้สำหรับรับจ้างนั้น ท่านให้ยกเลิกเสีย แต่การที่ยกเลิกนี้ท่านว่ามิได้เกี่ยวแก่การอย่างใดที่ได้มีผู้กระทำไว้แต่ก่อน หรือแก่ความผิดอย่างใดซึ่งได้กระทำไว้แต่ก่อนเวลาประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๐ กฎสำหรับป้องกันมิให้เรือโดนกัน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ นั้น ท่านว่ามิใช่สำหรับแต่เรือกำปั่นไทยฝ่ายเดียว ให้ใช้ได้ตลอดถึงเรือกำปั่นทั้งหลายที่เดินในบรรดาเขตท่า และเขตที่ทอดจอดเรือของราชอาณาจักรไทย แต่อย่าให้ขัดกับพระราชบัญญัตินี้ เมื่อจะต้องเป็นการขัดเช่นนั้นไซร้ ต้องให้ถือเอาข้อบังคับในพระราชบัญญัตินี้เป็นใหญ่ ดังได้ว่าไว้ในข้อ ๓๐ แห่งกฎนั้น และท่านว่าผู้เป็นเจ้าของและเป็นนายเรือทุกลำต้องถือและกระทำตามกฎนั้นจงทุกประการ
มาตรา ๑๑ การลงโทษจำคุกหรือปรับนั้น ถ้าจำเลยเป็นคนในบังคับต่างประเทศซึ่งมีกงสุลผู้แทนที่มีอำนาจฝ่ายตุลาการสำหรับประเทศนั้นตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย ท่านว่าต้องเป็นหน้าที่ของศาลกงสุลนั้นบังคับให้เป็นไปตามโทษานุโทษ
ภาค ๑
ข้อบังคับทั่วไป
หมวดที่ ๑
ทางเดินเรือ เขตท่าเรือ เขตจอดเรือ และเขตควบคุมการเดินเรือ[๑๐]
มาตรา ๑๒[๑๑] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดแนวแม่น้ำลำคลองหรือทะเลอาณาเขตแห่งใดเป็นเขตท่าเรือและเขตจอดเรือ
(๒) กำหนดทางเดินเรือทั่วไปและทางเดินเรือในเขตท่าเรือนอกจากทางเดินเรือในเขตท่าเรือกรุงเทพฯ
(๓)[๑๒] กำหนดแนวทะเลแห่งใดภายในน่านน้ำไทยเป็นเขตควบคุมการเดินเรือ
มาตรา ๑๓[๑๓] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๔[๑๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๕[๑๕] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๖[๑๖] (ยกเลิก)
หมวดที่ ๒
หน้าที่นายเรือเมื่อเวลาเรือเข้ามาหรือออกจากน่านน้ำไทย[๑๗]
มาตรา ๑๗[๑๘] เรือกำปั่นตามประเภทที่เจ้าท่าประกาศกำหนดลำใด เมื่อเข้ามาในน่านน้ำไทย นายเรือต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) แจ้งต่อเจ้าท่า
(๒) ชักธงสำหรับเรือนั้นขึ้นไว้ให้ปรากฏ
(๓) ติดตั้งและเปิดใช้โคมไฟตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
การปฏิบัติตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เจ้าท่าประกาศกำหนด
มาตรา ๑๘[๑๙] เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเล และเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป และเรือกำปั่นต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องรายงานการเข้ามาถึงต่อเจ้าท่าตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จอดเรือเรียบร้อย
มาตรา ๑๙[๒๐] เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป และเรือกำปั่นต่างประเทศที่เตรียมจะออกไปจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องชักธงลา (คือธงที่เรียกว่าบลูปีเตอร์) ถ้าเรือกำหนดออกในเวลาบ่ายให้ชักธงขึ้นในเวลาเช้า ถ้าเรือกำหนดออกในเวลาเช้าให้ชักธงขึ้นในเวลาบ่ายของวันก่อน
มาตรา ๒๐[๒๑] เรือกำปั่นต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในเมืองท่าของประเทศไทย ซึ่งมิได้กำหนดเป็นเขตท่าเรือ นายเรือต้องรายงานการเข้ามาหรือออกไปต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือเข้ามาหรือก่อนเรือออกไป และต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าท่า
มาตรา ๒๑[๒๒] เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องแจ้งกำหนดออกเรือต่อเจ้าท่าก่อนออกเรือเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง เพื่อให้เจ้าท่าตรวจสอบว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เสียก่อน เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้ว จึงอนุญาตให้ออกเรือได้
มาตรา ๒๒[๒๓] เรือกำปั่นที่ใช้เดินทะเลระหว่างประเทศลำใดที่ต้องมีใบสำคัญตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓ เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องแจ้งกำหนดออกเรือต่อเจ้าท่าก่อนออกเรือเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง เพื่อให้เจ้าท่าตรวจใบอนุญาตใช้เรือและใบสำคัญดังกล่าว ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ให้ถูกต้องและใช้การได้
มาตรา ๒๓[๒๔] เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทย และเรือกำปั่นต่างประเทศที่ต้องมีใบสำคัญตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับ สำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓ เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทยยังเมืองท่าต่างประเทศ นายเรือจะต้องได้รับใบอนุญาตเรือออกจากท่าจากเจ้าท่าเสียก่อน
มาตรา ๒๔[๒๕] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
มาตรา ๒๕[๒๖] เพื่อการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ห้ามมิให้นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือเดินเรือเข้าไปในเขตควบคุมการเดินเรือ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือ มีกำหนดไม่เกินหกเดือน
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือตามวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๒๖[๒๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๗[๒๘] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๘[๒๙] (ยกเลิก)
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยทำเลทอดจอดเรือ
มาตรา ๒๙ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าเรือกำปั่นลำใดที่มิได้ผูกจอดเทียบท่าเรือหรือท่าโรงพักสินค้า เรือกำปั่นลำนั้นต้องทอดสมอจอดอยู่กลางลำน้ำด้วยสมอสองตัว มีสายโซ่ให้พอทั้งสองตัวเพื่อกันมิให้เรือเกาสมอเคลื่อนจากที่นั้นได้
มาตรา ๓๐ เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบน และเรือใด ๆ ที่ทอดจอดประจำอยู่นั้น ต้องผูกจอดอยู่กับสมอทุ่นอย่างมั่นคงสมกับกำลังของสายโซ่ที่ทอดอยู่นั้น
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้เรือกำปั่น เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบนอย่างใด ๆ ทอดสมอ หรือผูกจอดอยู่ในทางเรือเดินในลำแม่น้ำเป็นอันขาด
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดที่ผูกจอดเทียบท่าเรือ ท่าพักสินค้า หรือเทียบฝั่งนั้น ทอดสมอลงไปในแม่น้ำห่างจากหัวเรือเกินกว่าสามสิบเมตร
มาตรา ๓๓ เรือลำใดที่เจ้าท่าไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ หรือเรียกคืน หรือยึดใบอนุญาตไว้ โดยเรือนั้นมีความไม่สมประกอบสำหรับเดินทะเลนั้น ต้องให้ผูกจอดทอดไว้ในที่ใดที่หนึ่งซึ่งเจ้าท่าจะกำหนดให้
มาตรา ๓๔ เรือโป๊ะ หรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ต้องจอดทอดสมอกลางแม่น้ำ และถ้าไม่เป็นการขัดขวางก็ให้ทอดจอดซ้อนข้างฝั่งตะวันตก แต่ต้องไว้ช่องทางเรือเดินไม่น้อยกว่าร้อยเมตรในระหว่างเรือกับฝั่งตะวันตก หรือกับบรรดาเรือที่จอดเทียบฝั่งตะวันตก หรือกับแพคนอยู่ที่ผูกเทียบอยู่กับฝั่งตะวันตก
มาตรา ๓๕ บรรดาเรือโป๊ะหรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้การนั้น ต้องให้ถอยไปอยู่ที่ทำเลสำหรับทอดจอดเรือ แห่งใดแห่งหนึ่งในเขตท่าตามที่เจ้าท่าเห็นสมควรจะกำหนดตามครั้งคราว และประกาศให้ทราบทั่วกันในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุในท้องที่ตั้งแต่สองรายขึ้นไป
มาตรา ๓๖ ห้ามมิให้เรือกำปั่นเดินทะเลลำใดจอดทอดสมอตามลำแม่น้ำในระหว่างคลองสะพานหันกับคลองบางลำภูบน เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น เพราะในระหว่างสองตำบลนั้นเป็นที่ทอดจอดเรือรบไทยและบรรดาเรือกำปั่นเดินทะเลหรือเรือรบต่างประเทศจะแล่น หรือมีเรืออื่นจูงผ่านคลองสะพานหันขึ้นไปตามลำแม่น้ำนั้น ให้ถือว่าเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตพิเศษจากเจ้าท่า และโดยอาศัยข้อบังคับกำกับอนุญาตนั้นอยู่ด้วยตามซึ่งเจ้าท่าจะเห็นสมควร
มาตรา ๓๗[๓๐] ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉินอันจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดจอดทอดสมอในลำแม่น้ำระหว่างวัดบุคคโลกับในระยะทางสองร้อยเมตรใต้ปากคลองบางปะแก้ว และระหว่างปากคลองผดุงกับคลองสำเพ็ง เพราะในระหว่างตำบลเหล่านี้เป็นทำเลยกเว้นไว้สำหรับทางให้เรือเดินขึ้นล่อง
มาตรา ๓๘[๓๑] เรือกำปั่นทุกลำที่บรรทุกคนโดยสารหรือของจากเมืองท่าหรือตำบลใด ๆ ในต่างประเทศเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเรือใด ๆ ที่เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยขนถ่ายคนโดยสารหรือของจากเรือกำปั่นที่มาจากต่างประเทศ เมื่อผ่านด่านสมุทรปราการแล้ว ถ้าจะส่งคนโดยสารหรือของที่บรรทุกมานั้นขึ้นบก ต้องจอด ณ ที่จอดเรือ หรือเทียบท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เว้นไว้แต่เมื่อที่จอดเรือหรือท่าเทียบเรือไม่ว่างพอจะจอดหรือเทียบได้ หรือเพราะเหตุจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งถ้าตรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้ และอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ลงนามอนุญาตแล้ว จึงจะเข้าจอดหรือเทียบในที่ที่ได้รับอนุญาตได้
คณะกรรมการดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้มีจำนวนห้าคน ประกอบด้วยอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมศุลกากรและผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และบุคคลอื่นอีกสองคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง
มาตรา ๓๘ ทวิ[๓๒] การประชุมของคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามความในมาตรา ๓๘ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่สามารถมาประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน
การลงมติวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้นั่งเป็นประธานออกเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๘ ตรี[๓๓] ภายใต้บังคับมาตรา ๓๘ ให้เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกำหนดที่ทอดจอดเรือสำหรับเรือกำปั่นและเรือเล็กทุกลำ และนายเรือต้องเอาเรือไปทอดจอดตามที่เจ้าท่าจะชี้ให้ และห้ามมิให้เอาเรือไปจากที่นั้น หรือย้ายไปทอดจอดที่อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นซึ่งเจ้าท่าจะพิเคราะห์เห็นสมควร
เมื่อเรือกำปั่นลำใดกำลังเข้ามา นายเรือจะต้องยอมให้เจ้าท่าขึ้นไปบนเรือ และถ้าจำเป็นจะหยุดเรือรอรับก็ต้องหยุด
มาตรา ๓๘ จัตวา[๓๔] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๘ ตรี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๓๙ เรือกำปั่นลำใดเมื่อเข้ามาถึงในเขตท่าแล้ว มิได้กระทำการถ่ายสินค้าหรือขนสินค้าขึ้นเรืออย่างหนึ่งอย่างใด นับตั้งแต่ ๑๐ วันขึ้นไปก็ดี ท่านว่าถ้าจะต้องการเอาที่ซึ่งเรือลำนั้นจอดอยู่ให้เรืออื่นที่ใช้ในการค้าขายทอดจอด ก็ให้ถอยเรือที่ไม่ได้ทำการเช่นว่านั้น ไปทอดจอดในที่อื่นภายในเขตท่าตามที่เจ้าท่าจะกำหนดให้
มาตรา ๔๐ เรือกำปั่นลำใดต้องการจะเปลี่ยนที่ทอดจอด หรือเรือกำปั่นลำใดที่เทียบท่าเรือหรือท่าสินค้าต้องการจะหาที่ทอดจอดในลำแม่น้ำก็ให้ชักธงสัญญาณอักษร “B.A.Z.” (บี เอ แซด) ตามแบบข้อบังคับระหว่างนา ๆ ประเทศสำหรับการใช้ธงสัญญาณ แล้วเจ้าท่าจะได้ขึ้นไปบนเรือลำนั้นและชี้ให้ทอดจอด
[คำว่า “B.A.Z.” (บี เอ แซด) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗]
มาตรา ๔๑ เรือกำปั่นลำใดต้องการให้กองตระเวนมาช่วยก็ให้ชักธงสัญญาณหมายอักษร “S.T.” (เอส ที) ตามแบบข้อบังคับระหว่างนา ๆ ประเทศสำหรับการใช้ธงสัญญาณ ถ้ามีเหตุสำคัญขัดขืนต่อการบังคับบัญชาเกิดขึ้นในเรือฉะนั้นแล้ว ให้ชักธงสัญญาณหมายอักษร “R.X.” (อาร์ เอกซ์)
[คำว่า “S.T.” (เอส ที) และคำว่า “R.X.” (อาร์ เอกซ์) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗]
มาตรา ๔๒ ก่อนที่เรือกำปั่นไฟหรือเรือกำปั่นใบเดินทะเลลำใดจอดทอดหรือผูกจอดเป็นปรกตินั้น ห้ามมิให้เรืออื่นเข้าไปเทียบข้าง ให้เข้าเทียบได้แต่เฉพาะเรือไฟเล็กและเรือเล็กของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* หรือของเจ้าพนักงานแพทย์ศุขา หรือของกรมศุลกากร หรือของผู้นำร่อง หรือเรือของกระทรวงทหารเรือซึ่งจะมีหน้าที่พิเศษ
ในเวลาที่เรือกำปั่นลำใดที่กำลังแล่นขึ้น หรือล่องในลำแม่น้ำนั้น ห้ามเป็นอันขาดมิให้เรือจ้าง เรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็ก หรือเรืออย่างใด ๆ เข้าไปเกี่ยวพ่วงข้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษของนายเรือลำนั้น
มาตรา ๔๓ เมื่อจะทอดจอดเรือกำปั่นลำใด นายเรือหรือผู้นำร่องต้องทอดจอดเรือนั้น โดยให้กินเนื้อที่อย่างน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ และความบังคับข้อนี้ เจ้าท่าต้องระวังเป็นธุระอยู่เสมอให้มีผู้ปฏิบัติตามโดยถูกต้อง
มาตรา ๔๔ ตามลำแม่น้ำเล็ก และในคลองต่าง ๆ นั้นอนุญาตให้จอดเรือต่าง ๆ ได้ทั้งสองฟาก แต่อย่าให้เป็นที่กีดแก่ทางเรือขึ้นล่องที่กลางลำน้ำ และห้ามไม่ให้จอดซ้อนลำหรือจอดขวางหรือตรงกลางลำน้ำลำคลองเป็นอันขาด
มาตรา ๔๕ เรือกำปั่นเรือเล็กและแพต่าง ๆ ที่จอดเทียบฝั่งแม่น้ำ หรือเทียบท่าสินค้า หรือท่าเรือนั้น ห้ามมิให้จอดขวางลำน้ำ ต้องจอดให้หัวเรือท้ายเรือ หัวแพท้ายแพหันตามยาวของทางน้ำ
มาตรา ๔๕/๑[๓๕] ให้เจ้าท่าโดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจประกาศกำหนดแนวแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ หรือทะเลอาณาเขต เป็นเขตห้ามจอดเรือหรือแพ
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือตามวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท
ความในวรรคสองให้ใช้กับผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมแพและแพคนอยู่ด้วย
มาตรา ๔๖ ตามท่าขนสินค้าและท่าขึ้นทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือตามสองข้างเรือกำปั่นก็ดี ห้ามมิให้เรือบรรทุกสินค้า เรือไฟเล็ก เรือเป็ดทะเลและเรืออื่น ๆ จอดหรือผูกเทียบซ้อนกันเกินกว่าสองลำ ถ้าเป็นแพคนอยู่ห้ามมิให้จอดเทียบหน้าแพเกินกว่าลำหนึ่ง
มาตรา ๔๖ ทวิ[๓๖] ให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งห้ามใช้และให้แก้ไขท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ และแพในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ซึ่งมีสภาพไม่ปลอดภัยในการใช้ หรืออาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือแก่การเดินเรือ โดยแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบเป็นหนังสือ ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้ปิดคำสั่งไว้ ณ ท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ หรือแพนั้น และให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับคำสั่งนั้นแล้ว
เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าท่าตามความในวรรคหนึ่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งห้ามใช้นั้นมีผลบังคับได้ ในกรณีไม่มีอุทธรณ์คำสั่ง หรือมีอุทธรณ์แต่รัฐมนตรีสั่งให้ยกอุทธรณ์ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายในเวลาที่เจ้าท่ากำหนดหรือภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เจ้าท่ามีอำนาจจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามคำสั่ง โดยคิดค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือผู้ครอบครอง
เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยตามคำสั่งแล้ว ให้เจ้าท่าเพิกถอนคำสั่งห้ามใช้ ในกรณีที่เจ้าท่าจัดการแก้ไขเอง จะรอการเพิกถอนคำสั่งห้ามใช้ไว้จนกว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะชำระค่าใช้จ่ายให้เจ้าท่าก็ได้
เจ้าของหรือผู้ครอบครองคนใดใช้เอง หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ หรือแพ ซึ่งเจ้าท่ามีคำสั่งห้ามใช้ และยังไม่ได้เพิกถอนคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง[๓๗]
มาตรา ๔๗ ห้ามมิให้แพไม้ซุงที่กว้างกว่ายี่สิบต้นซุงจอดผูกเทียบข้างเรือกำปั่น หรือเทียบท่าขนสินค้าหรือท่าขึ้น และห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง หรือเรือสำเภาผูกจอดผูกเทียบข้างเรือกำปั่นมากกว่าข้างละหนึ่งลำ และห้ามมิให้เรือเช่นว่ามานี้จอดผูกเทียบท่าขนสินค้าหรือท่าขึ้นมากกว่าสองลำ
มาตรา ๔๘ ห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือกลไฟเล็ก และเรือและแพไม้ต่าง ๆ จอดผูกกับฝั่งแม่น้ำมากลำหรือโดยอย่างที่ให้ล้ำออกมาในทางเรือเดิน หรือจนเป็นที่กีดขวางแก่การเดินเรือ
มาตรา ๔๙ เรือกำปั่น หรือเรือเล็กที่จอดมากกว่าสองลำในแม่น้ำนอกแนวเรืออื่น ๆ หรือนอกแนวแพคนอยู่ ซึ่งจอดอยู่ในท้องที่เดียวกันนั้น ท่านให้ถือว่าเรือกำปั่นหรือเรือเล็กนั้นเท่ากับจอดล้ำออกมาในทางเรือเดิน
มาตรา ๕๐ ข้อห้ามต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วในมาตรา ๔๖ และ ๔๗ นั้น เจ้าท่าจะเห็นสมควรลดหย่อนโดยให้อนุญาตพิเศษก็ได้
มาตรา ๕๑[๓๘] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือหรือแพผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ หรือมาตรา ๔๙ ถ้าเป็นเรือกำปั่นต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเป็นเรือเล็กหรือแพ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าสิบบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยทางเดินเรือในลำแม่น้ำ
มาตรา ๕๒ ในเขตท่ากรุงเทพฯ นั้น ให้มีทางเดินเรือสองสาย ดังนี้ คือ
(๑) สายตะวันออกเรียกว่าสายใหญ่ สายนี้มีเขตโดยกว้างตั้งแต่เรือกำปั่นที่ทอดอยู่กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันออก หรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพคนอยู่ที่จอดเทียบฝั่งตะวันออก
(๒) สายตะวันตก สายนี้มีเขตโดยกว้างตั้งแต่เรือกำปั่นที่ทอดอยู่กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันตก หรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพคนอยู่ที่จอดเทียบฝั่งตะวันตก
มาตรา ๕๒ ทวิ[๓๙] เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัยแก่การเดินเรือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดทางเดินเรือและควบคุมการเดินเรือในเขตท่ากรุงเทพฯ และในแม่น้ำลำคลองเป็นการเฉพาะคราวได้
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกำหนดทางเดินเรือหรือประกาศควบคุมการเดินเรือตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน[๔๐]
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือที่ถูกยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือตามวรรคสองมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้[๔๑]
มาตรา ๕๒ ตรี[๔๒] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือซึ่งถูกยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ประกาศนียบัตรควบคุมเรือถูกยึดตามมาตรา ๕๒ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
มาตรา ๕๓ แนวลำแม่น้ำทั้งสองฟากภายในระยะสามสิบเมตรห่างจากฝั่ง หรือจากแคมเรือกำปั่นที่จอดผูกเทียบฝั่ง หรือจากแพคนอยู่ที่จอดผูกเทียบฝั่งนั้น ให้หวงห้ามไว้สำหรับเป็นทางเดินเรือเล็ก
ห้ามมิให้เรือกำปั่นใช้แนวนั้นเป็นอันขาด นอกจากเป็นเวลาจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เรือโดนกัน หรือเพื่อกลับหรือเคลื่อนเรือจากที่จอด
มาตรา ๕๔[๔๓] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
(ก) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันออกหรือสายใหญ่
มาตรา ๕๕ เรือกำปั่นไฟทุกขนาด (นอกจากที่ว่าไว้ในมาตรา ๕๘) และเรือกำปั่นใบทุก ๆ อย่างที่มีขนาดเกินกว่าห้าสิบตัน เมื่อขึ้นล่องในลำแม่น้ำต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันออก เว้นไว้แต่เมื่อมีเหตุจำเป็น เรือเพื่อจะเข้าจอด หรือออกจากท่าหรือฝั่ง จึงเดินนอกสายนั้นได้
และบรรดาเรือที่ว่ามานี้ ต้องเดินโดยช้าที่สุดที่พอสมควรแก่การเดินเรืออย่างระวัง และเพื่อป้องกันอันตรายแก่เรือ และอันตรายที่อาจเกิดจากละลอกคลื่นของเรือนั้น
มาตรา ๕๖[๔๔] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
(ข) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันตก
มาตรา ๕๗ บรรดาเรือใบขนาดต่ำกว่าห้าสิบตันและเรือทุกอย่างนอกจากได้กล่าวไว้ในมาตรา ๕๕ นั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก
มาตรา ๕๘[๔๕] บรรดาเรือกำปั่นไฟที่จูงเรืออื่นที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบห้าตันเกินกว่าลำหนึ่งขึ้นไป ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก
ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดจูงเรือกำปั่น หรือเรืออย่างอื่นในเขตท่ากรุงเทพฯ มากลำจนเกินกว่ากำลังของเรือกำปั่นไฟลำนั้นจะจูงไปได้ระยะทางชั่วโมงละสองไมล์เป็นอย่างน้อย และห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดที่จูงเรืออยู่นั้นเดินไปโดยระยะทางเกินกว่าชั่วโมงละหกไมล์ในเวลาทวนน้ำ หรือเดินเร็วกว่าชั่วโมงละสี่ไมล์ในเวลาตามน้ำ
ห้ามเป็นอันขาด มิให้จูงเรือเล็กเกินกว่าคราวละสามสิบสองลำเป็นอย่างมาก และห้ามมิให้เรือที่ถูกจูงนั้นผูกเทียบซ้อนลำกันเกินกว่าตับละสี่ลำ
มาตรา ๕๙ ในเวลาที่กำลังจะโยงหรือผูกเรือบรรทุกเข้ากับสายโยงนั้น ห้ามมิให้เรือไฟลาก หรือเรือไฟเล็กที่เป็นเรือจูงนั้นแล่นรออยู่ในสายทางเรือเดินเป็นอันขาด ถ้าจะใช้สายทางเรือเดินในการจูง เรือจูงเหล่านั้นต้องแล่นอยู่เสมอให้ได้ระยะทางไม่น้อยกว่าชั่วโมงละสองไมล์
มาตรา ๖๐[๔๖] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๕๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
(ค) ว่าด้วยส่วนของทางเรือเดินทั้งสองสายที่หวงไว้
สำหรับให้เรือเล็กเดิน
มาตรา ๖๑ เรือเล็กทั้งหลาย เดินในทางเรือเดินได้ทั้งสองสาย
มาตรา ๖๒ นอกจากมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่าหรือที่ฝั่ง บรรดาเรือเล็กต้องเดินอยู่ในแนวน้ำ ในระหว่างระยะสามสิบเมตร จากฝั่งหรือจากเรือกำปั่นที่จอดเทียบฝั่ง หรือจากแพคนอยู่ที่ผูกจอดกับฝั่งแม่น้ำ
มาตรา ๖๓ เรือบรรทุกเข้าต้องเดินได้แต่ในแนวน้ำที่กำหนดไว้สำหรับเป็นทางเดินของเรือเล็กในทางเรือเดินสายตะวันตก และห้ามมิให้ไปเดินในทางเรือเดินสายตะวันออกในตอนหนึ่งตอนใดเป็นอันขาด
มาตรา ๖๔ เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่าหรือที่ฝั่ง และเรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กจะต้องทำนอกเหนือที่บังคับไว้ในมาตรา ๖๒ และ ๖๓ ฉะนั้น ก็ให้ทำโดยความระวังทุกอย่างที่จะมิให้เป็นการกีดขวางแก่การเดินเรือได้
มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้เรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กผ่านหน้าเรือกำปั่นไฟที่กำลังแล่นขึ้นหรือล่องในลำแม่น้ำนั้นใกล้กว่าระยะร้อยเมตร และถ้าจะข้ามฟากไปยังท่าหรือโรงสีห้ามมิให้ตัดข้ามเหนือแห่งที่จะไปนั้นเกินกว่าที่ควร
มาตรา ๖๖ บรรดาเรือยนตร์ที่ยาวไม่เกินกว่าหกเมตรนั้น ยอมให้เดินได้ในแนวลำแม่น้ำทั้งสองสายที่กำหนดไว้สำหรับให้เรือเล็กเดิน แต่ถ้าจะเดินห่างจากฝั่งภายในระยะสามสิบเมตร ต้องเดินโดยช้าที่สุดพอสมควรแก่การควรระวังเหตุในการเดินเรือ และการควรระวังมิให้เป็นเหตุอันตรายแก่เรือเล็กที่ใช้กรรเชียงหรือแจวพาย
มาตรา ๖๗[๔๗] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ หรือมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
(ฆ) ว่าด้วยทางคลองต่าง ๆ
มาตรา ๖๘[๔๘] ในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ นอกเขตท่า บรรดาเรือที่เดินตามน้ำให้เดินกลางลำแม่น้ำหรือลำคลอง เรือที่เดินทวนน้ำให้เดินแอบฝั่ง ถ้าไม่สามารถจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังว่ามานี้ ให้เดินกลางร่องน้ำ และให้ปฏิบัติตามข้อบังคับการเดินเรือแห่งท้องถิ่นซึ่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเดินเรือในลำแม่น้ำหรือคลองนั้น ๆ ด้วย
ให้เจ้าท่าหรือข้าหลวงประจำจังหวัดในท้องถิ่นที่ไม่มีเจ้าท่า มีอำนาจออกข้อบังคับควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำและลำคลองใด ๆ ซึ่งอยู่ในเขตท้องถิ่นของตนได้ ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๖๙[๔๙] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๘ หรือข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
หมวดที่ ๕
ว่าด้วยแพไม้ แพคนอยู่ ฯลฯ
(ก) แพไม้
มาตรา ๗๐ แพไม้ต่าง ๆ ต้องมีคนประจำให้พอแก่การที่จะควบคุมรักษาแพโดยเรียบร้อย และคนประจำแพต้องระวังอย่างที่สุดที่จะเป็นได้เพื่อไม่ให้แพกีดขวางแก่การเดินเรือ หรือโดนกับแพคนอยู่หรือเรือที่ทอดจอดอยู่ในลำแม่น้ำ แพไม้ทุก ๆ แพต้องชักธงเครื่องหมายของเจ้าของแพ และธงสำหรับเช่นนี้ต้องจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* แพใดมีซุงกี่ต้นและกำหนดจะมาถึงเขตท่ากรุงเทพฯ ได้เมื่อใดนั้น เจ้าของแพต้องทำหนังสือแจ้งความล่วงหน้าให้เจ้าท่าทราบ
มาตรา ๗๑ ห้ามมิให้แพไม้จอดผูกกับเรือกำปั่นหรือหลักหรือแพคนอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายเรือหรือเจ้าของหลักเจ้าของแพนั้น ๆ
มาตรา ๗๒ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ แพไม้ต่าง ๆ ที่จะล่องหรือจูงลงมานั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ถ้าจะเดินในสายตะวันออก ต้องเดินได้แต่แพไม้ที่มีเรือจูง แพไม้แพหนึ่งต้องมีซุงไม่เกินกว่าสองร้อยต้น หรือกว้างเกินกว่ายี่สิบเมตร
มาตรา ๗๓ ห้ามมิให้ล่องแพไม้ขึ้นลงในลำแม่น้ำในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
มาตรา ๗๔ ในคลอง ห้ามไม่ให้ล่องแพไม้ที่มีซุงผูกเทียบกันเกินกว่าสี่ต้นและที่ผูกติดต่อกันยาวเกินกว่าสองชั่วซุง และส่วนแพไม้ไผ่นั้นไม่ให้ยาวเกินกว่าสิบหกเมตร และกว้างเกินกว่าที่พอจะให้แพนั้นเดินในคลองได้โดยไม่กีดแก่การเดินเรือ
แต่ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่าในคลองใดหรือในคลองตอนใดซึ่งใช้เรือกลไฟหรือเรือยนตร์ลากจูงแพเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในวรรคก่อนโดยไม่เป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำ ก็อาจผ่อนผันให้ผูกติดต่อกันได้ไม่เกิน ๓๐ เมตร[๕๐]
เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้ผ่อนผันให้ตามวรรคก่อนแล้ว ภายหลังปรากฏว่าเป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำ จะถอนเสียก็ได้[๕๑]
มาตรา ๗๕[๕๒] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ หรือมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
(ข) แพคนอยู่
มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้จอดแพคนอยู่ในลำแม่น้ำห่างจากฝั่งเกินกว่าพอดีสำหรับมิให้แพนั้นค้างแห้งในเวลาน้ำลงงวด
มาตรา ๗๗ เสาหลักสำหรับผูกแพคนอยู่นั้นห้ามมิให้ปักพ้นแนวหน้าแพออกไปมากกว่าหนึ่งเมตรครึ่ง
มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้ปลูกเรือนที่ปักเสาลงเลนตามฝั่งแม่น้ำห่างออกมาจากฝั่งจนเกินกว่าพอดีสำหรับไม่ให้มีน้ำค้างอยู่ใต้เรือนเมื่อเวลาน้ำลงงวด
มาตรา ๗๙ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาดกว้างหรือยาวเกินกว่าสิบหกเมตรนับรวบทั้งชานและแพเล็กที่เป็นส่วนติดต่อกับแพนั้นด้วย
มาตรา ๘๐ ตามลำคลองห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาดกว้างเกินกว่าสิบสองเมตร และห้ามมิให้แพใดที่ผูกจอดกับฝั่งยื่นล้ำออกมาจนอาจเป็นที่กีดขวางแก่การเดินเรือ
มาตรา ๘๑ ห้ามมิให้จูงแพคนอยู่ขึ้นล่องในตอนใต้หลักเขตเหนือของท่ากรุงเทพฯ ในระหว่างตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
มาตรา ๘๒ แพคนอยู่ที่จะจูงขึ้นล่องในลำแม่น้ำนั้นต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นจึงให้เดินในทางเดินสายตะวันออกได้
มาตรา ๘๓ ห้ามมิให้จอดผูกแพคนอยู่แพใดกับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาภายในเขตท่ากรุงเทพฯ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
มาตรา ๘๔ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าแพคนอยู่แพใดยื่นออกมาในลำแม่น้ำ จนอาจเป็นเหตุน่ากลัวอันตรายแก่การเดินเรือในเวลากลางคืนได้ ให้เจ้าท่ามีอำนาจบังคับให้แพนั้นจุดโคมไฟสีขาวไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เรือใหญ่เล็กแล่นมาโดนแพนั้น
มาตรา ๘๕ ตั้งแต่วันที่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ถ้าจะจอดแพคนอยู่หรือปลูกเรือนมีเสาปักเลนตามฝั่งแม่น้ำภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ก็ดี หรือตามลำคลองในแขวงกรุงเทพฯ ก็ดี ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าก่อนจึงทำได้
มาตรา ๘๖ คำขออนุญาตนั้นต้องเป็นหนังสือและมีแผนที่ฝั่งน้ำแพคนอยู่หรือเรือนปักเสาลงเลนที่ข้างเคียงและทำเลที่จะจอดแพและปักหลักผูกแพนั้นด้วย
มาตรา ๘๗ เมื่อรับคำขออนุญาตแล้ว เจ้าท่าต้องตรวจภายในเวลาเดือนหนึ่ง และถ้าเห็นว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับในมาตรา ๘๕ และ ๘๖ ทุกอย่างแล้วก็ให้ออกอนุญาตให้ตามที่ขอ
มาตรา ๘๘ ห้ามมิให้ลงมือทำการปลูกสร้างก่อนที่ได้รับอนุญาตตามที่ร้องขอนั้นเป็นอันขาด
มาตรา ๘๙ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ให้เจ้าท่ามีอำนาจและภายนอกเขตนั้นให้เจ้าพนักงานท้องที่มีอำนาจที่จะบังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่หรือหลักผูกแพ หรือเรือนที่ปักเสาลงชายฝั่งน้ำ ที่จอดหรือปักหรือสร้างผิดต่อข้อบังคับในมาตราตั้งแต่ ๗๖ ถึง ๗๙ จะเป็นแพหรือหลักหรือเรือนที่ตั้งอยู่นั้นเมื่อก่อนหรือในภายหลังเวลาใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ตาม และให้มีอำนาจบังคับให้รื้อถอนบรรดาแพคนอยู่หรือหลักผูกแพ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งน้ำ ซึ่งได้ปลูกขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง หรือที่ปลูกโดยไม่ถูกต้องตามข้อความในอนุญาตที่ได้ออกให้นั้นด้วย
มาตรา ๙๐[๕๓] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องและให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ บังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งน้ำโดยให้ผู้เป็นเจ้าของเสียค่ารื้อถอนนั้นเอง
ในกรณีที่เจ้าของไม่รื้อถอนภายในกำหนดเวลาที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ กำหนด ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน
ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
ในกรณีที่เจ้าของไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสามภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี ให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากแพคนอยู่หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้นให้นำไปชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการจัดการรื้อถอน และถ้ามีเงินเหลือจากการชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้เจ้าท่าเก็บรักษาเงินนั้นไว้ ถ้าเจ้าของมิได้เรียกร้องเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าท่าได้เก็บรักษาไว้ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
มาตรา ๙๑[๕๔] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ หรือมาตรา ๘๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
(ค) ว่าด้วยเรือจับสัตว์น้ำและโพงพางที่ขวางแม่น้ำ
มาตรา ๙๒ การจับสัตว์น้ำด้วยอวนแหโดยทอดสมอจอดเรือเรียงรายลำติดกันขวางลำน้ำหรือทอดทุ่นหรือปักหลักโพงพางเป็นแถวจากฝั่งถึงกลางลำน้ำนั้น การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีเหล่านี้ห้ามมิให้กระทำในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าพ้นเขตท่ากรุงเทพฯ ออกไปจะทำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก็ได้
มาตรา ๙๓ ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เจ้าของเรือจับสัตว์น้ำหรือทุ่นหรือหลักโพงพางเช่นว่ามาแล้ว ต้องจุดไฟเป็นแสงโพลงไว้บนฝั่งตรงกับแถวเรือหรือทุ่นหรือหลักเหล่านั้น และต้องจุดโคมไฟไว้บนเรือหรือทุ่นหรือหลักโพงพาง ที่ห่างที่สุดออกมาจากฝั่งนั้นด้วย และต้องเป่าเขากระบือหรือแตรเสียงก้อง สำหรับให้เรือที่เดินขึ้นล่องรู้ว่ามีของกีดกั้นเช่นนั้นอยู่ในลำน้ำด้วย
รั้วหรือหลักที่ปักเรียงรายตามแนวชายฝั่งทะเลที่ปากน้ำหรือที่ใกล้ทางจะเข้าปากน้ำนั้น ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น ต้องจุดโคมให้เห็นแสงไฟสีขาวที่ปลายรั้วหรือหลักสุดแถวทั้งสองข้าง
มาตรา ๙๔ ทุ่นหรือหลักสำหรับจับสัตว์น้ำนั้น ห้ามมิให้ผูกโยงถึงกันด้วยลำไม้ไผ่ ให้ใช้ผูกด้วยเชือกอย่างเดียวตามธรรมเนียมที่เคยทำกันอยู่ และห้ามมิให้ผูกโยงจากฝั่งด้วยเชือกหรือด้วยไม้ยาวให้เป็นที่กีดขวางแก่ทางเดินของเรืออื่น
มาตรา ๙๕[๕๕] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ หรือมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
หมวดที่ ๖
ข้อบังคับเบ็ดเตล็ด
(ก) ว่าด้วยผูกเรือกับฝั่งด้วยเชือกลวดและเชือกต่าง ๆ
มาตรา ๙๖ ในแม่น้ำหรือเขตท่าใด ๆ ถ้านอกจากเรือที่จอดผูกเทียบท่าขนสินค้าท่าขึ้นหรือเทียบฝั่ง ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดผูกโยงกับฝั่งด้วยเชือกลวดหรือเชือกอย่างอื่นจนไม่เหลือช่องน้ำในระหว่างเรือลำนั้นกับฝั่งสำหรับให้เรืออื่นเดินได้
มาตรา ๙๗ ห้ามมิให้เอาเชือกอย่างใด ๆ ทอดจากเรือกำปั่นลำใดที่จอดเทียบท่าไปผูกกับทุ่นโยงในลำน้ำหรือเขตท่า จนกว่าจะถึงเวลาที่เรือเตรียมออกจากท่าที่จอดเทียบอยู่นั้นจึงให้ทำเช่นนั้นได้
มาตรา ๙๘[๕๖] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๖ หรือมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
(ข) ว่าด้วยฝีเท้าเรือ-เกิดเหตุอันตราย-โคมไฟ
มาตรา ๙๙ ห้ามมิให้นายเรือกลับเรือกำปั่นในลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือในสายทางเรือเดิน เว้นไว้แต่ในเวลาที่ทางน้ำนั้น ๆ ว่างไม่มีเรืออื่นแล่นเข้าออก และห้ามมิให้นายเรือกำปั่นลำใดที่จอดเทียบท่าขนสินค้าหรือท่าขึ้นเคลื่อนเรือออกจากท่า เว้นไว้แต่ในเวลาที่ลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือสายทางเรือเดินอันเป็นท้องที่นั้นว่างไม่มีเรืออื่นแล่นเข้าออก
มาตรา ๑๐๐ นายเรือกำปั่นลำใดที่กำลังเข้าหรือออกที่เขตท่าหรือช่องแคบ ต้องลดฝีเท้าเรือให้เดินช้าลงพอสมควรแก่การเดินเรืออย่างระวัง และอย่างป้องกันเหตุอันตรายแก่เรือนั้นเอง
มาตรา ๑๐๑[๕๗] เรือที่จะเข้าเทียบหรือจอดยังท่า นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือต้องใช้ความเร็วต่ำและด้วยความระมัดระวัง เรือที่เดินอยู่ในแม่น้ำหรือลำคลอง ต้องใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่เจ้าท่ากำหนด และห้ามมิให้แล่นตัดหน้าเรือกลที่กำลังเดินขึ้นล่องอยู่ในระยะสองร้อยเมตร ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือหรือประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน[๕๘]
เจ้าของเรือหรือผู้ถือประกาศนียบัตรควบคุมเรือที่ถูกยึดใบอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้
มาตรา ๑๐๒[๕๙] นายเรือที่ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้ทุกคน ต้องใช้ความระมัดระวังในการควบคุมเรือโดยเต็มความสามารถ เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายอย่างใด ๆ และถ้ามีเหตุอย่างใด ๆ เกิดขึ้นในหน้าที่ขณะที่ตนกระทำการควบคุมเรือนั้นอยู่ นายเรือลำนั้นต้องรายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๑. สำหรับเรือที่ยังไม่ออกจากเขตท่าไปทะเลในทันทีทันใด ถัดเวลาที่เกิดเหตุให้ยื่นรายงานต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ถ้าเรือลำนั้นกำลังจะออกจากท่าไปสู่ทะเลก็ให้ส่งรายงานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในโอกาสแรกที่จะส่งได้ หรือแวะแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียง หรือฝากรายงานนั้นไว้แก่เจ้าพนักงานศุลกากร ณ ตำบลใกล้เคียงเพื่อส่งให้เจ้าท่าต่อไป
รายงานนั้นต้องแจ้งให้ชัดเจนถึงข้อเหล่านี้
(๑) ตำบลที่เกิดเหตุพร้อมทั้งแผนที่สังเขปถ้าสามารถจะทำได้
(๒) วัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุ
(๓) ชื่อเจ้าของเรือ หรือตัวแทน และเลขทะเบียนเรือ
(๔) สาเหตุที่เกิดและกรณีแวดล้อม
(๕) ความเสียหายที่ได้รับ
(๖) ถ้าเป็นเรือที่มีสมุดปูม ก็ให้คัดข้อความประจำวันที่จดไว้ในสมุดปูม ทั้งปากเรือและท้องเรือแนบมาด้วย
๒. สำหรับเรืออื่น ๆ นอกจากในอนุมาตรา ๑ ให้รายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าท่า หรือแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียงภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง
๓. กรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ เมื่อได้รับแจ้งความแล้วให้ไต่สวนและจัดการไปตามหน้าที่ และให้รีบส่งสำเนาการไต่สวนนั้นไปให้เจ้าท่าท้องถิ่น หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ทราบ
มาตรา ๑๐๓[๖๐] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๙ มาตรา ๑๐๐ หรือมาตรา ๑๐๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองร้อยบาทถึงสองพันบาท
มาตรา ๑๐๔ เรือกลไฟเล็กและเรือยนตร์ทุกลำ เมื่อเวลาเดินต้องมีโคมไฟสีเขียวไว้ข้างแคมขวาดวงหนึ่ง โคมไฟสีแดงข้างแคมซ้ายดวงหนึ่ง และโคมไฟสีขาวอย่างแจ่มแขวนไว้ในที่เด่นสูงจากดาดฟ้า ให้ถูกต้องตามที่จะกำหนดไว้ในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
มาตรา ๑๐๕ เรือทุกลำและแพไม้ทุกแพที่ทอดสมอหรือผูกอยู่กับหลัก หรือกำลังเดินหรือล่องอยู่นั้น ต้องแขวนโคมไฟสีขาวดวงหนึ่งไว้ในที่เด่นให้เป็นที่แลเห็นได้จากทุกทิศ แต่ถ้าจอดผูกเทียบอยู่กับฝั่งแม่น้ำไม่จำเป็นต้องมีโคมไฟไว้เช่นนี้ก็ได้
มาตรา ๑๐๖ เรือลำเลียงและเรือโป๊ะจ้ายทุกลำถ้าเป็นเรือที่เดินด้วยเครื่องจักรอย่างเรือไฟ ต้องมีโคมไฟเหมือนอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือกลไฟ ถ้าเป็นเรือเดินด้วยใบฉะนั้นต้องใช้โคมไฟตามอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือใบที่กำลังเดิน
มาตรา ๑๐๗ เรือทุกลำที่อยู่ในพ่วงที่กำลังเดินหรือทอดสมออยู่ก็ดี ต้องจุดโคมไฟสีขาวไว้ในที่เด่นแลเห็นง่าย ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ชัดว่าหมู่เรือที่พ่วงนั้นยาวและกว้างเท่าใด
มาตรา ๑๐๘ ที่ตำบลสำเภาจมปากน้ำเจ้าพระยานั้น เมื่อมีเรือกำปั่นสองลำแล่นมาจะสวนกัน ถ้าเห็นว่าจะสวนกันที่ตรงหรือเกือบตรงข้างเรือทุ่นไฟหมายตำบลสำเภาจม ก็ให้เรือลำที่ทวนน้ำนั้นหยุดหรือรอแล่นช้า ๆ จนกว่าเรืออีกลำหนึ่งจะได้แล่นพ้นเรือทุ่นไฟนั้นโดยเรียบร้อยแล้ว
มาตรา ๑๐๙ เรือโป๊ะจ้ายและเรือใบทุกอย่าง เมื่อแล่นก้าวขึ้นล่องตามลำแม่น้ำหรือตามช่องแคบ ถ้ามีเรือกลไฟลำใดเดินอยู่ในฟากน้ำหรือร่องที่ไม่ผิดหรือเดินแอบฝั่งอย่างใกล้พอสมควรแก่ที่จะไม่ให้เป็นอันตรายแก่เรือลำนั้น ห้ามมิให้เรือที่แล่นก้าวนั้นแล่นผ่านตัดหน้าเรือหรือแล่นก้าวใกล้ถัดหน้าเรือกลไฟนั้นเป็นอันขาด
ในแม่น้ำหรือในช่องน้ำที่แคบ ห้ามมิให้เรือกลไฟเล็กหรือเรือยนตร์พยายามแล่นผ่านหน้าเรือกำปั่นไฟโดยอย่างที่อาจให้เกิดโดนกันขึ้นได้
มาตรา ๑๑๐[๖๑] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๘ หรือมาตรา ๑๐๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(ค) ว่าด้วยเรือถอยออกจากอู่
มาตรา ๑๑๑ ในตอนลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งเรือเดินทะเลเดินได้นั้น เมื่อมีเรือลำใดกำลังถอยออกจากอู่หรือถอยลงจากท่าลาดในเวลากลางวัน ต้องมีทุ่นรูปกลมสีดำลูกหนึ่งชักขึ้นไว้ที่เสา หรือที่เด่นแห่งหนึ่งที่ปากอู่หรือท่าลาดนั้น ให้เรือต่าง ๆ ที่เดินขึ้นล่องในแม่น้ำแลเห็นได้ชัด เมื่อก่อนหน้าจะถอยออกจากอู่หรือท่าลาดให้ชักลูกทุ่นขึ้นไว้เพียงครึ่งเสา เมื่อกำลังถอยออก ให้ชักขึ้นถึงปลายเสา ถ้าเป็นเวลาค่ำคืนให้ใช้โคมไฟสีแดงแทน และทำอย่างวิธีเดียวกันกับลูกทุ่นสีดำ
มาตรา ๑๑๒[๖๒] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
(ฆ) ว่าด้วยทุ่นและเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ
มาตรา ๑๑๓ ห้ามมิให้ผู้ใดมีหรือวางทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือในน่านน้ำ แม่น้ำหรือทำเลทอดสมอจอดเรือใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ และโดยต้องถือและกระทำตามข้อบังคับกำกับอนุญาต และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้นจะกำหนด แต่บัญญัติที่ว่านี้ไม่ใช้ตลอดถึงทุ่นและเครื่องหมายหรือเครื่องผูกจอดเรือของกระทรวงทหารเรือ ซึ่งจอดไว้ชั่วคราวในลำน้ำสำหรับการตรวจเซอร์เวย์ทำแผนที่
มาตรา ๑๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดเอาเรือเก็บสินค้าหรือเรือชนิดใด ๆ ที่คล้ายเรือเก็บสินค้าซึ่งใช้เป็นเรือทุ่นหรือสำหรับบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ทอดสมออยู่เป็นการประจำในน่านน้ำ ลำแม่น้ำ หรือทำเลทอดสมอจอดเรือตำบลใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ และโดยต้องถือและกระทำตามข้อบังคับกำกับอนุญาต และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้นจะกำหนด
มาตรา ๑๑๕ ทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ ซึ่งจะได้อนุญาตตามความในมาตรา ๑๑๓ นั้น ให้ใช้สำหรับเรือของผู้ที่ได้รับอนุญาตฝ่ายเดียว ถ้าเรืออื่นจะอาศัยใช้ผูกจอด ต้องได้รับอนุญาตของผู้นั้นก่อนจึงทำได้
มาตรา ๑๑๖[๖๓] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ หรือมาตรา ๑๑๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จะสั่งให้รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือนั้นด้วยก็ได้
(ค) ว่าด้วยการล่วงล้ำลำแม่น้ำ
มาตรา ๑๑๗[๖๔] ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
หลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องระบุลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ไว้ให้ชัดแจ้งพร้อมทั้งระยะเวลาที่จะต้องพิจารณาอนุญาตให้แล้วเสร็จด้วย
เมื่อผู้ขออนุญาตยื่นคำขอถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงตามวรรคสองแล้ว เจ้าท่าต้องอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว
มาตรา ๑๑๗ ทวิ[๖๕] ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดตามมาตรา ๑๑๗ ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าสิบบาท และถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจให้เสียเป็นสองเท่าของอัตราดังกล่าว ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวถูกปลูกสร้างขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตให้เสียค่าตอบแทนเป็นสามเท่าของอัตราดังกล่าว
การกำหนดค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสภาพของแต่ละท้องที่และประโยชน์ที่ผู้ปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองพึงได้รับ
ค่าตอบแทนที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แล้วแต่กรณี ที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นอยู่ในเขต
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร จะออกกฎกระทรวงยกเว้นหรือลดหย่อนค่าตอบแทนให้หน่วยงานหรือบุคคลใดก็ได้
มาตรา ๑๑๘[๖๖] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ หรือผู้ใดได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ แล้วปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๑๑๘ ทวิ[๖๗] ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ หรือผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ให้เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นโดยถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นและจะห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือแก้ไขเสร็จด้วยก็ได้
ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และเจ้าท่าได้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นครบสิบห้าวันแล้วให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น ถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ จริง ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใด ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้รื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่รื้อถอนตามกำหนดเวลาในคำสั่งศาล หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน
ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสามให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสี่ภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากอาคารหรือสิ่งอื่นใดส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นให้นำไปชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการจัดการรื้อถอนและค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๑๘ และถ้ามีเงินเหลือจากการชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เจ้าท่าเก็บรักษาไว้ เพื่อคืนให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่มารับคืนภายในหนึ่งปีให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่เจ้าท่าจะดำเนินการตามวรรคหนึ่งและอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวมีลักษณะซึ่งอาจอนุญาตได้และเจ้าของหรือผู้ครอบครองยอมชำระค่าปรับตามที่เจ้าท่ากำหนดตามอัตราในมาตรา ๑๑๘ แล้ว เจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ได้และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้เสียค่าตอบแทนเป็นสองเท่าของมาตรา ๑๑๗ ทวิ
มาตรา ๑๑๘ ตรี[๖๘] ในกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๑๗ ทวิ ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินค่าตอบแทนที่ค้างชำระ
(ฆ) ว่าด้วยการทิ้งอับเฉาลงในลำแม่น้ำ, เขตท่า,
หรือในทำเลทอดสมอจอดเรือ
มาตรา ๑๑๙[๖๙] ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้หิน กรวด ทราย ดิน โคลน อับเฉา สิ่งของหรือสิ่งปฏิกูลใด ๆ ยกเว้นน้ำมันและเคมีภัณฑ์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันจะเป็นเหตุให้เกิดการตื้นเขิน ตกตะกอนหรือสกปรก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย
มาตรา ๑๑๙ ทวิ[๗๐] ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย
มาตรา ๑๒๐[๗๑] ให้เจ้าท่ามีหน้าที่ดูแล รักษาและขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย
ห้ามมิให้ผู้ใดขุดลอก แก้ไข หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาทและให้เจ้าท่าสั่งให้หยุดกระทำการดังกล่าว
มาตรา ๑๒๐/๑[๗๒] ให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมีอำนาจปักหลักเขตควบคุมทางน้ำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้ใดยักย้าย ทำให้เสียหาย หรือทำลายหลักเขตควบคุมทางน้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(ง) ว่าด้วยเรือที่เป็นอันตรายลง ฯลฯ
มาตรา ๑๒๑[๗๓] เมื่อมีเรือไทย เรือต่างประเทศหรือสิ่งอื่นใดจมลงหรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือในน่านน้ำไทย ให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นจัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายโดยพลัน ด้วยเครื่องหมายตามที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เห็นสมควร สำหรับเป็นที่สังเกตในการเดินเรือทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน จนกว่าเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นจะได้กู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เรือหรือสิ่งอื่นใดซึ่งได้จมลงหรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือออกจากที่นั้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนด
ถ้ามิได้จัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายหรือกู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่มีอำนาจจัดทำเครื่องหมายแสดงอันตราย หรือกู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เรือหรือสิ่งอื่นใด และทรัพย์สินที่อยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดให้พ้นจากสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือ โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น
ถ้าเรือไทย เรือต่างประเทศหรือสิ่งอื่นใดตามวรรคหนึ่ง มีสิ่งซึ่งก่อหรืออาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นขจัดหรือป้องกันมลพิษให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนด หากไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่มีอำนาจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อขจัดหรือป้องกันมลพิษนั้นได้โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสองหรือวรรคสามภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี หรือไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น ให้เจ้าท่าด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำเรือหรือสิ่งอื่นใดและทรัพย์สินที่อยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น
ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นยังไม่เพียงพอชดใช้ค่าใช้จ่าย เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นต้องชดใช้ส่วนที่ยังขาด แต่ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าใดให้คืนเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นหรือเจ้าของทรัพย์สิน เว้นแต่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นหรือเจ้าของทรัพย์สิน ให้เงินที่เหลือนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
(จ) ว่าด้วยแตรหวีดเป่าด้วยแรงสติม
มาตรา ๑๒๒ ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟหรือเรือกลไฟเล็กที่ทอดสมออยู่ก็ดี หรือกำลังเดินอยู่ก็ดี เป่าแตรหวีดนอกจากเฉพาะสำหรับความสะดวกในการเดินเรือ หรือเพื่อป้องกันมิให้โดนกันกับเรืออื่น และเสียงแตรที่เป่าขึ้นนั้นห้ามมิให้เป่านานเกินกว่าสมควร ข้อบังคับที่ว่านี้ให้ใช้ได้สำหรับแตรเรือยนตร์เหมือนกัน
มาตรา ๑๒๓ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ห้ามมิให้เรือลำใดใช้แตรที่มีเสียงห้าวหรือเสียงครางครวญ เว้นไว้แต่เรือมาจากต่างประเทศที่ไม่มีแตรอย่างอื่นนอกจากอย่างนั้น
ว่าด้วยการยิงปืน
มาตรา ๑๒๔ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ นอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า หรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดยิงปืนจากเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใดเป็นอันขาด เว้นไว้แต่สำหรับเป็นเครื่องสัญญาณว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นแก่เรือ
ว่าด้วยการตีกลองตีฆ้องและจุดดอกไม้เพลิง
มาตรา ๑๒๕ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ และนอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดตีกลอง ตีฆ้อง ปล่อยหรือจุดดอกไม้เพลิงในระหว่างเวลาตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึงเวลาย่ำรุ่งเป็นอันขาด
มาตรา ๑๒๖[๗๔] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ มาตรา ๑๒๔ หรือมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
(ฉ) ว่าด้วยทรัพย์สิ่งของที่ลืมไว้ในเรือ
และทรัพย์สิ่งของที่ลอยพลัดอยู่ในแม่น้ำ
มาตรา ๑๒๗ เมื่อมีทรัพย์สิ่งของอย่างใดของคนโดยสารหรือของคนอื่นลืมไว้ในเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใด และนายเรือลำนั้นไม่สามารถที่จะคืนให้แก่เจ้าของได้ ท่านว่าให้เอาไปส่งไว้ยังโรงพักกองตระเวนที่ตั้งอยู่ใกล้ และทำคำชี้แจงเหตุที่เกี่ยวข้องยื่นไว้ด้วย
มาตรา ๑๒๘ ผู้ใดพบและเก็บทรัพย์สิ่งของในแม่น้ำ อันเป็นของ ๆ คนอื่นที่หายไป เช่น ไม้ซุงหรือไม้กระดานที่เป็นของพลัดจากแพ หรือเรือ หรือสิ่งของอย่างอื่น ท่านว่าต้องนำส่งไว้ยังโรงพักกองตระเวนที่ตั้งอยู่ใกล้
มาตรา ๑๒๙ เมื่อมีทรัพย์สิ่งของมาส่งไว้ดังนั้น กองตระเวนต้องคืนให้แก่เจ้าของ ถ้าหากรู้จักตัว ถ้าหาเจ้าของไม่ได้ ก็ให้ประกาศโฆษณาไว้ เมื่อพ้นกำหนดเวลา ๓ เดือนไปแล้ว ท่านว่าให้ขายทรัพย์สิ่งของนั้นโดยวิธีขายทอดตลาด ขายได้เงินเท่าใด ให้ชักไว้ร้อยละสิบสำหรับผู้ที่พบและเก็บทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ เหลือจากนั้นให้ส่งไว้เป็นของรัฐบาล แต่ในการที่จะคืนเจ้าของก็ดี หรือจะขายทอดตลาดก็ดี ท่านให้กองตระเวนสืบให้ทราบเสียก่อนว่าทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ จะต้องเสียภาษีศุลกากรหรือไม่
มาตรา ๑๓๐[๗๕] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๗ มาตรา ๑๒๘ หรือมาตรา ๑๒๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
(ช) ว่าด้วยคำเตือนสำหรับนายเรือกำปั่น
มาตรา ๑๓๑ เมื่อเวลาอนุญาตให้ลูกเรือลาพัก นายเรือควรชี้แจงแก่ลูกเรือให้ทราบว่าเวลาขึ้นบกอย่าให้มีมีดที่มีฝักหรืออาวุธที่อาจทำอันตรายได้อย่างอื่น ๆ เช่น ลูกดิ่ง ฯลฯ ติดตัวไปด้วยเป็นอันขาด
ตามความในมาตรา ๓๓๕ ข้อ ๒ แห่งประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ท่านว่าถ้าผู้ใดมีอาวุธอย่างใดเช่นว่ามานั้น เข้าไปในถนนหรือสาธารณสถาน กองตระเวนมีอำนาจที่จะจับกุมผู้นั้นได้ และถ้าพิจารณาเป็นสัตย์ต่อหน้าศาล ให้ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสิบสองบาท และให้ริบอาวุธนั้นเสียด้วย
มาตรา ๑๓๒ นายเรือกำปั่นทุกคนต้องกระทำตามบังคับและคำสั่งที่สมควรทุกอย่างของเจ้าท่า ในการที่จะให้เคลื่อนหรือย้ายเรือที่ตนควบคุมอยู่นั้นไปยังที่ใด ๆ
มาตรา ๑๓๓ ห้ามมิให้พาเอาศพเข้ามาในน่านน้ำไทยจากเมืองท่าต่างประเทศ นอกจากศพที่มีหีบหรือเครื่องหุ้มห่ออย่างมิดชิดแน่นหนารั่วไม่ได้ และมีหนังสือใบพยานกำกับศพมาด้วยฉบับหนึ่งชี้แจงว่าตายด้วยเหตุอะไร เป็นหนังสือใบพยานที่แพทย์ซึ่งมีวุฒิสมควรตามกฎหมายได้ทำให้ และกงสุลไทยในเมืองท่าที่มาจากนั้นได้ลงชื่อเป็นพยาน หรือถ้าไม่มีกงสุลไทย เจ้าพนักงานฝ่ายตุลาการได้ลงชื่อเป็นพยาน เมื่อศพมาถึงน่านน้ำไทย นายเรือต้องรีบแจ้งความให้ผู้นำร่อง เจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานแพทย์ศุขาทราบโดยพลัน
ภาคที่ ๒
ข้อบังคับสำหรับออกใบอนุญาต
การใช้และการควบคุมเรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ
หมวดที่ ๑
ว่าด้วยข้อบังคับทั่วไป
มาตรา ๑๓๔[๗๖] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๓๕[๗๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๓๖[๗๘] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๓๗[๗๙] เรื่องราวขอรับใบอนุญาตหรือขอต่ออายุใบอนุญาตนั้น ให้ยื่นต่อเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อการจดทะเบียนและต้องเขียนด้วยกระดาษแบบพิมพ์ของราชการ เวลาที่ยื่นเรื่องราวผู้ขอใบอนุญาตต้องนำเงินไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนเงินค่าธรรมเนียมสำหรับออกใบอนุญาตนั้นมาวางไว้ด้วย
ถ้าเป็นเรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่ประสงค์จะเดินรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือ ผู้ยื่นเรื่องราวต้องแจ้งมาให้ชัดเจน ถ้าจะเดินรับจ้างเป็นการประจำทางจะต้องระบุด้วยว่า ตนจะนำเรือนั้นไปเดินจากตำบลใดถึงตำบลใด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ เรือกลไฟหรือเรือยนต์ลำใดเดินรับจ้างเป็นการประจำระหว่างตำบลใด ๆ มีกำหนดตั้งแต่ ๓ เดือนขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นเรือเดินประจำทาง
เรือกลไฟหรือเรือยนตร์ที่ได้รับอนุญาตให้เดินรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือตามความประสงค์ในวรรคก่อนนี้แล้ว ต่อมาถ้าจะขอแก้ทะเบียนเปลี่ยนความประสงค์ที่ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิมนั้นก็ได้
มาตรา ๑๓๘ เมื่อเจ้าพนักงานออกใบอนุญาตวินิจฉัยโดยเหตุอันสมควรเห็นว่าเรือกำปั่นและเรือเล็กลำใดมีความพิทักษ์รักษาและความสะอาดเรียบร้อยไม่พอเพียงสำหรับการที่ใช้กันอยู่หรือที่คิดจะใช้นั้นก็ดี หรือว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตหรือคนประจำเรือลำใดได้ประพฤติไม่เรียบร้อยอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าถ้าเป็นเรือที่ยังไม่มีใบอนุญาตเจ้าพนักงานผู้นั้นมีอำนาจที่จะไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ ถ้าเป็นเรือที่มีใบอนุญาตแล้ว เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะเรียกคืนและริบใบอนุญาตนั้นได้
มาตรา ๑๓๙[๘๐] เมื่อเจ้าท่าตรวจพบว่าเรือกำปั่นลำใดที่ใช้ในทะเลหรือเรือที่ใช้ในแม่น้ำไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย หรือไม่เหมาะสมสำหรับการใช้ ให้เจ้าท่ามีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือถึงนายเรือห้ามใช้เรือนั้นและสั่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เรียบร้อยจนเป็นที่ปลอดภัยหรือมีสภาพเหมาะสมสำหรับการใช้
ถ้านายเรือนำเรือตามวรรคหนึ่งมาใช้โดยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าที่สั่งตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าท่ามีอำนาจกักเรือนั้นไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่ง
มาตรา ๑๔๐[๘๑] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๔๑[๘๒] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๔๒[๘๓] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดแบบใบอนุญาตใช้เรือ ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตใช้เรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือ
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๔๓[๘๔] การออกใบอนุญาต หรือการออกใบอนุญาตใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุ สำหรับเรือที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ ๓ หมวดที่ ๔ และหมวดที่ ๕ ในภาคที่ ๒ ให้เรียกค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินฉบับละสองพันบาท
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจกำหนดเรือที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในวรรคหนึ่งไว้ในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๔๔[๘๕] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๔๕[๘๖] ใบอนุญาตนั้นจะสับเปลี่ยนกันใช้ไม่ได้ แต่ถ้าในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ เรือนั้นได้เปลี่ยนเจ้าของกันไปแล้วก็ให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์กันได้ แต่ต้องแจ้งความให้เจ้าท่าทราบด้วย เพื่อเจ้าท่าจะได้แก้ใบอนุญาตเปลี่ยนชื่อในบัญชีทะเบียนไว้เป็นสำคัญ โดยเรียกค่าธรรมเนียม ถ้าเป็นเรือเล็ก เรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเป็ดทะเล ฯลฯ เป็นเงินสองบาท ถ้าเป็นเรือนอกจากที่ว่ามานี้เป็นเงินยี่สิบบาท
มาตรา ๑๔๖ เมื่อยังไม่ได้จัดการโอนในทะเบียนและในใบอนุญาตตามที่บังคับไว้ในมาตรา ๑๔๕ ท่านว่าผู้ที่จะโอนนั้น ต้องคงเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ก่อนตามบัญญัติในมาตรา ๒๙๘ และ ๒๙๙ และให้ถือว่าการโอนนั้นยังใช้โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้สำหรับคนผู้อื่นที่ยังไม่รู้ในเรื่องการโอนนั้น
มาตรา ๑๔๗ ถ้าในระหว่างอายุใบอนุญาตฉบับใด กระดาษใบอนุญาตนั้นลบเลือนจนอ่านไม่ชัดก็ดี หรือสูญหายไปก็ดี ท่านห้ามมิให้ใช้เรือลำนั้น จนกว่าเจ้าท่าจะได้ออกสำเนาใบอนุญาตฉบับใหม่ให้ ถ้าเป็นการที่สูญหายจะขอใหม่ ให้ยื่นเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร
มาตรา ๑๔๘ ใบอนุญาตฉบับใหม่ที่ออกให้แทนเช่นว่ามานั้น ให้มีอักษรว่า “สำเนาใบอนุญาต” เขียนลงไว้เป็นสำคัญ และให้ใช้ได้ชอบด้วยกฎหมายเพียงกำหนดเวลาที่ฉบับเดิมยังไม่หมดอายุ
มาตรา ๑๔๙[๘๗] การออกสำเนาใบอนุญาต ให้เรียกค่าธรรมเนียมกึ่งอัตราค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาต แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
มาตรา ๑๕๐ ผู้ที่ควบคุมเรือกำปั่นและเรือเล็กลำใด ที่ได้จดทะเบียนแล้ว ต้องรักษาใบอนุญาตไว้ในเรือนั้นเสมอ
มาตรา ๑๕๑ ผู้ที่ควบคุมเรือกำปั่นและเรือเล็กลำใดที่เป็นเรือต้องจดทะเบียนนั้น เมื่อเจ้าพนักงานออกใบอนุญาต หรือเจ้าพนักงานกองตระเวน หรือเจ้าพนักงานกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* หรือผู้ที่เช่าเรือลำนั้นมีความประสงค์จะขอตรวจดูใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้นแล้ว ผู้ควบคุมต้องนำมาแสดงให้เห็นปรากฏ
มาตรา ๑๕๒[๘๘] ผู้ใดเป็นผู้ควบคุมเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใดที่มีใบอนุญาตหรือยังไม่มีใบอนุญาตก็ดี ถ้าและผู้นั้นรู้อยู่แล้วนำเอาใบอนุญาตสำหรับเรือลำอื่นออกแสดงและใช้เป็นใบอนุญาตสำหรับเรือลำที่ตนเป็นผู้ควบคุม หรือผู้ใดจัดหาใบอนุญาตมาเพื่อใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๕๓ ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดเอาชื่อของเรือลำอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมาใช้ ถ้าและเรือกำปั่นลำใดที่ขอรับใบอนุญาตมีชื่อพ้องกันกับเรือลำอื่น เจ้าท่าต้องขอให้ผู้ที่ยื่นเรื่องราวขอรับใบอนุญาตนั้นเปลี่ยนชื่อเรือเป็นอย่างอื่น และให้ยับยั้งการออกใบอนุญาตไว้จนกว่าจะได้เปลี่ยนชื่อเรือนั้น
มาตรา ๑๕๔[๘๙] เจ้าของเรือกำปั่นลำใดจะเปลี่ยนชื่อเรือที่จดทะเบียนไว้แล้ว ต้องนำชื่อใหม่ไปจดทะเบียนทันที และเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนครั้งละห้าสิบบาท
มาตรา ๑๕๕[๙๐] ห้ามมิให้เรือกลไฟหรือเรือยนต์ลำใดบรรทุกผู้โดยสารมากกว่าจำนวนที่แจ้งในใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้น
มาตรา ๑๕๖ เรือกำปั่นลำใดจะใช้ธงพิเศษสำหรับเป็นเครื่องหมายของเจ้าของ หรือใช้เครื่องหมายอย่างใดที่ปล่องเรือก็ดี ต้องได้จดทะเบียนธงหรือเครื่องหมายนั้นไว้ ณ ที่ว่าการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* และอธิบายลงไว้ในใบอนุญาตสำหรับเรือเสียก่อนจึงให้ใช้ได้
มาตรา ๑๕๗ ตัวเลขและตัวอักษรที่เป็นส่วนของชื่อและเลขลำดับที่พระราชบัญญัตินี้บังคับให้เขียนด้วยสี หรือให้ติดหรือสลักลงไว้ที่เรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ นั้น จะต้องเป็นเลขหรืออักษรขนาดเท่าใด ต้องแล้วแต่เจ้าท่าจะเห็นสมควร
มาตรา ๑๕๘ เจ้าท่า, เจ้าพนักงานกองตระเวน, เจ้าพนักงานกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* คนใดก็ดี ย่อมมีอำนาจโดยพระราชบัญญัตินี้ ที่จะขึ้นไปและตรวจบนเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใด ๆ ได้ทุกลำ เพื่อให้ทราบว่าเรือนั้นได้รับอนุญาตสำหรับเรือแล้วหรือไม่ และเพื่อให้ทราบว่าได้มีความละเมิดต่อข้อบังคับในพระราชบัญญัตินี้ หรือในกฎข้อบังคับอย่างใด ๆ ซึ่งเจ้าท่าได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่
มาตรา ๑๕๙ สิ่งของอย่างใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้แม้จะเป็นจำนวนอย่างน้อยสักเพียงใดก็ดี ท่านห้ามมิให้บรรทุกไปในเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใดพร้อมกันกับคนโดยสาร เว้นไว้แต่เรือลำนั้น ๆ ได้จัดที่ไว้เป็นพิเศษในตอนใต้ดาดฟ้าสำหรับบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันเบนซิน และถ้าเจ้าท่าเห็นเป็นการสมควรแล้ว จึงให้บรรทุกของสองอย่างนั้นไปด้วยได้ แต่ข้อบังคับในมาตรานี้ท่านว่าไม่ต้องถือเป็นการห้ามคนโดยสารคนใดที่จะพาอาวุธปืนของตนกับเครื่องกระสุนปืนมีจำนวนอันสมควรสำหรับใช้เองไปด้วยในเรือได้
มาตรา ๑๖๐[๙๑] เมื่อปรากฏว่าเรือไทยที่ได้รับใบอนุญาตใช้เรือมีอุปกรณ์ และเครื่องใช้ประจำเรือไม่ถูกต้องหรือไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ตามใบสำคัญที่ออกตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓ ให้เจ้าท่ามีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้นายเรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
ถ้านายเรือนำเรือตามวรรคหนึ่งมาใช้โดยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าที่สั่งตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตใช้เรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่ง
เมื่อได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เจ้าท่าออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตใช้เรือโดยพลัน
เมื่อเจ้าท่าตรวจพบว่าเรือต่างประเทศที่เข้ามาในเขตท่าเรือของประเทศไทยมีอุปกรณ์และเครื่องใช้ประจำเรือไม่ถูกต้องหรือไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ตามใบสำคัญตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓ ให้เจ้าท่ามีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้นายเรือแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้ว จึงจะอนุญาตให้ออกเรือได้
มาตรา ๑๖๑[๙๒] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๕๐ มาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๕๖ มาตรา ๑๕๗ มาตรา ๑๕๙ มาตรา ๑๖๒ ทวิ มาตรา ๑๖๒ ตรี มาตรา ๑๖๖ มาตรา ๑๖๗ มาตรา ๑๖๘ มาตรา ๑๗๑ หรือมาตรา ๑๗๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
มาตรา ๑๖๑ ทวิ[๙๓] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือกลไฟหรือเรือยนต์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวดที่ ๒
การตรวจเซอร์เวย์เรือ
มาตรา ๑๖๒[๙๔] เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตจะออกใบอนุญาตใช้เรือหรือเปลี่ยนใบอนุญาตใช้เรือแทนฉบับเดิมให้แก่เรือลำใด ให้กระทำได้ต่อเมื่อมีใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือซึ่งเจ้าพนักงานตรวจเรือได้ออกให้ไว้ แสดงว่าเรือลำนั้นได้รับการตรวจตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และปรากฏว่า เป็นเรือที่อยู่ในสภาพปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการใช้นั้นในช่วงระหว่างเวลาสิบสองเดือน หรือน้อยกว่านั้น
มาตรา ๑๖๒ ทวิ[๙๕] เรือที่เป็นเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ต้องมีใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ตามมาตรา ๑๖๓ (๓) เว้นแต่
(๑) เรือของทางราชการทหารไม่ว่าจะเป็นของประเทศไทยหรือของต่างประเทศ หรือเรือลำเลียงทหารไม่ว่าจะเป็นเรือไทยหรือเรือต่างประเทศ
(๒) เรือสินค้าขนาดต่ำกว่าห้าร้อยตันกรอสส์
(๓) เรือที่มิใช่เรือกล
(๔) เรือไม้ที่ต่อแบบโบราณ
(๕) เรือสำราญและกีฬา
(๖) เรือประมง
มาตรา ๑๖๒ ตรี[๙๖] เรือทุกลำต้องมีใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุกตามมาตรา ๑๖๓ (๔) เว้นแต่
(๑) เรือของทางราชการทหาร ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไทยหรือของต่างประเทศ
(๒) เรือที่วางกระดูกงูในวันหรือหลังวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ที่มีความยาวฉากน้อยกว่ายี่สิบสี่เมตร
(๓) เรือที่วางกระดูกงูก่อนวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ที่มีขนาดต่ำกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสส์
(๔) เรือสำราญและกีฬา
(๕) เรือประมง
มาตรา ๑๖๓[๙๗] ให้เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือ
(๒) ใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทย
(๓) ใบสำคัญรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล
(๔) ใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุก
(๕) ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือเพื่อการอื่น ๆ
กฎข้อบังคับนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๖๔[๙๘] ผู้ยื่นเรื่องราวขอรับใบสำคัญตามมาตรา ๑๖๓ ต้องเตรียมเรือไว้ให้เจ้าพนักงานตรวจเรือตรวจตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
มาตรา ๑๖๔ ทวิ[๙๙] ผู้ยื่นเรื่องราวตามมาตรา ๑๖๔ ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตรวจเรือตรวจเรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ นอกจากต้องเสียค่าธรรมเนียมการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๕ แล้ว ให้เสียค่าเดินทางและค่าธรรมเนียมสำหรับการเดินทางไปตรวจเรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าเดินทางและค่าธรรมเนียมสำหรับการเดินทางไปตรวจเรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๖๕ ค่าธรรมเนียมการตรวจนั้น ต้องเสียตามพิกัดที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยเรือกลไฟทุกอย่าง
มาตรา ๑๖๖ เรือกลไฟทุกลำต้องมีชื่อเรือเป็นอักษรไทยและอักษรฝรั่งเขียนหรือติดไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายที่หัวเรือทั้งสองแคม ถ้าเป็นเรือกลไฟเดินทะเลต้องเขียนหรือติดชื่อเรือและชื่อเมืองที่ได้จดทะเบียนเรือนั้นไว้ที่ท้ายเรือด้วย ถ้าเป็นเรือไม่มีชื่อฉะนั้นต้องเขียนหรือติดเลขลำดับของใบอนุญาตสำหรับเรือเป็นเลขไทยและเลขฝรั่งไว้ที่หัวเรือทั้งสองแคม และห้ามมิให้เอาสิ่งใดปิดบังชื่อหรือเลขที่ว่านี้เป็นอันขาด
มาตรา ๑๖๗ บรรดาเรือกลไฟสำหรับให้เช่าต้องเอาใบอนุญาตสำหรับเรือและสำเนาข้อบังคับที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้และในหมวดที่ ๑ ใส่กรอบแขวนไว้ในที่เด่นในเรือที่คนทั้งหลายอ่านได้ง่าย
มาตรา ๑๖๘ บรรดาเรือกลไฟสำหรับให้เช่า ซึ่งมิใช่เรือกลไฟเดินทะเล ต้องเขียนเลขลำดับของใบอนุญาตสำหรับเรือเป็นเลขไทยและเลขฝรั่งที่หัวเรือขนาบข้างชื่อเรือ และต้องเขียนชื่อและเลขเช่นนั้นไว้ที่ท้ายเรือด้วย จำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้น ต้องเขียนหรือติดไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายจากภายนอกทั้งสองข้างลำเรือ และห้ามมิให้เอาสิ่งไรปิดบังชื่อหรือเลขเช่นว่ามานี้เป็นอันขาด
มาตรา ๑๖๙ เนื้อที่ในเรือสำหรับให้คนโดยสารคนหนึ่ง ๆ จะต้องมีขนาดเท่าไรนั้น จะได้กำหนดไว้โดยชัดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และเรือลำใดจะยอมให้บรรทุกคนโดยสารได้กี่คนนั้นจะได้กำหนดไว้ในใบอนุญาตสำหรับเรือ
มาตรา ๑๗๐[๑๐๐] เมื่อเจ้าท่าตรวจพบว่าเรือที่ได้รับอนุญาตให้บรรทุกคนโดยสาร บรรทุกสินค้า หรือบรรทุกคนโดยสารและสินค้าลำใดอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยต่อคนโดยสารมีสภาพไม่เหมาะสมกับการใช้ ให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งห้ามใช้เรือลำนั้นจนกว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้แก้ไขให้เรียบร้อย
ผู้ใดใช้เรือที่เจ้าท่าสั่งห้ามใช้ตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท[๑๐๑]
มาตรา ๑๗๑ ในเรือลำใดถ้าใช้เนื้อที่ที่กำหนดสำหรับคนโดยสารเป็นที่วางสิ่งของกินเนื้อที่มากน้อยเท่าคนโดยสารกี่คน ต้องลดจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้นลงไปให้สมกัน
มาตรา ๑๗๒ ในใบอนุญาตต้องกล่าวว่า แรงสติมที่หม้อน้ำของเรือนั้นควรมีหรืออนุญาตให้มีได้เพียงใดเป็นอย่างมากที่สุด ถ้าเจ้าของหรือผู้ใช้จักรหรือนายเรือ ๆ กลไฟลำใดใช้แรงสติมเกินกว่าที่อนุญาตให้ใช้ก็ดี หรือเอาของหนักหรือสิ่งใดถ่วงหรือกดที่ (เซฟติแวลฟ์) คือเครื่องสำหรับให้พ่นสติมไอน้ำเพื่อป้องกันอันตรายไว้โดยมิควรก็ดี ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท
มาตรา ๑๗๓ ถ้ามีอุบัติเหตุอันตรายเกิดขึ้นในเรือกลไฟลำใดแก่ลำเรือ หรือหม้อน้ำ หรือเครื่องจักร หรือแก่คนโดยสาร หรือบุคคลใด ๆ ก็ดี หรือมีอุบัติเหตุอันตราย ซึ่งเรือลำนั้นเป็นต้นเหตุก็ดี ท่านว่าต้องแจ้งความไปยังเจ้าท่าโดยพลัน
มาตรา ๑๗๔[๑๐๒] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๗๕[๑๐๓] ผู้ใดใช้เรือผิดจากเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๑๗๖[๑๐๔] เรือลำใดบรรทุกเกินกว่าที่กำหนดในใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุก เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกักเรือลำนั้นไว้ และสั่งให้นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือจัดการให้เรือลำนั้นบรรทุกให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
ถ้านายเรือหรือผู้ควบคุมเรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยเรือใบ, เรือโป๊ะจ้าย,
เรือลำเลียง, เรือเป็ดทะเลและอื่น ๆ และเรือสำเภา
มาตรา ๑๗๗ ในใบอนุญาตทุกฉบับสำหรับเรือใบ, เรือโป๊ะจ้าย, เรือลำเลียง, เรือเป็ดทะเล, และอื่น ๆ, และเรือสำเภานั้น ต้องชี้แจงขนาดกว้างยาว, ลึก, ของเรือ และเรืออาจบรรทุกของหนักได้เพียงใด
มาตรา ๑๗๘ เรือที่ว่ามาแล้วเช่นนั้นทุก ๆ ลำต้องมีเลขลำดับของใบอนุญาตสำหรับเรือเป็นเลขไทยและเลขฝรั่งเขียนด้วยสีให้อ่านได้ชัดไว้ที่หัวเรือทั้งสองแคมและที่ท้ายเรือ ห้ามมิให้เขียนเลขอื่นที่มิใช่เลขลำดับของใบอนุญาต และห้ามมิให้เอาสิ่งใดปิดบังเลขที่เขียนไว้นั้นเป็นอันขาด
มาตรา ๑๗๙ ห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย, เรือลำเลียง, เรือเป็ดทะเลและอื่น ๆ และเรือสำเภา มีท้องเรือปลอม หรือมีระวาง หรือที่ลับสำหรับซ่อนสินค้าหรือซ่อนบุคคล
มาตรา ๑๘๐[๑๐๕] (ยกเลิก)
หมวดที่ ๕
ว่าด้วยเรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็กต่าง ๆ
มาตรา ๑๘๑[๑๐๖] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๘๒[๑๐๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๘๓ เมื่อมีผู้ยื่นเรื่องราวขอรับใบอนุญาต หรือขอเปลี่ยนใบอนุญาตใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุ สำหรับเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็กลำใด ๆ ถ้าเจ้าท่ามีเหตุอันสมควรที่จะสงสัยว่าได้มีการละเมิดที่เกี่ยวด้วยเรือนั้นเอง หรือเกี่ยวด้วยใบอนุญาตใด ๆ สำหรับเรือนั้นไซร้ ท่านว่าเจ้าท่ามีอำนาจที่จะรอการออกใบอนุญาตตามที่ขอนั้นและกักเรือลำนั้น ๆ ไว้เพื่อไต่สวนต่อไป ถ้าและไต่สวนตกลงในชั้นที่สุดว่าไม่ควรออกใบอนุญาตให้ฉะนั้น ให้ถือว่าเรือลำนั้นดุจทรัพย์สมบัติที่เก็บได้ ตามความมุ่งหมายของบัญญัติในมาตรา ๑๒๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๘๔ ในใบอนุญาตสำหรับเรือบรรทุกสินค้า ต้องชี้แจงขนาดกว้างยาวและลึกของลำเรือและจำนวนน้ำหนักที่เรือนั้นมีกำลังบรรทุกได้เพียงใด
มาตรา ๑๘๕ ในใบอนุญาตสำหรับเรือเล็กต่าง ๆ ที่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องชี้แจงจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้เรือนั้นบรรทุกได้ ถ้าเป็นเรือที่ใช้ทั้งสำหรับบรรทุกสินค้าและรับจ้างบรรทุกคนโดยสารฉะนั้น ในใบอนุญาตต้องชี้แจงขนาดกว้างยาวและลึกของลำเรือและกำลังของเรือที่บรรทุกของหนักได้เพียงใด และจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้นด้วย
มาตรา ๑๘๖ เรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็กต่าง ๆ ทุกลำ ที่ใช้สำหรับให้เช่าหรือรับจ้างและได้รับใบอนุญาตสำหรับเรือแล้วนั้น ต้องมีเลขลำดับของใบอนุญาตเป็นเลขไทยที่เขียนด้วยสีอ่านได้ชัดไว้ที่หัวเรือทั้งสองแคม ห้ามไม่ให้มีเลขอย่างอื่นเขียนไว้ในที่นั้นเป็นอันขาด และต้องสลักเลขลำดับนั้นลงไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายในลำเรือนั้น ๆ ด้วย ถ้าเป็นเรือสำหรับรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องเขียนจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้น ด้วยสีลงไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายในลำเรือนั้นเป็นอักษรเลขไทยและเลขฝรั่ง และที่เขียนไว้เช่นนี้ห้ามมิให้เอาสิ่งใดปิดบังไว้เป็นอันขาด
มาตรา ๑๘๗ ห้ามมิให้เรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็ก ๆ ลำใด ๆ มีท้องเรือปลอมหรือมีที่ลับอย่างใด ๆ สำหรับซ่อนสิ่งของหรือบุคคล
มาตรา ๑๘๘[๑๐๘] (ยกเลิก)
ภาคที่ ๓
ข้อบังคับพิเศษ
หมวดที่ ๑
ข้อบังคับสำหรับเรือกำปั่นและเรือต่าง ๆ
ที่บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
มาตรา ๑๘๙[๑๐๙] ให้เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้
มาตรา ๑๙๐[๑๑๐] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็น และการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ในการขนส่งตามหมวดนี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๙๑[๑๑๑] การขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ จากเรือลำหนึ่งไปยังเรืออีกลำหนึ่ง การขนถ่ายจากเรือขึ้นบก หรือการขนถ่ายจากบกลงเรือ นายเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือต้องแจ้งให้เจ้าท่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงก่อนการขนถ่าย และห้ามมิให้ขนถ่ายจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นเรือชนิดใดหรือการขนถ่ายประเภทใดที่จะไม่ต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งได้
มาตรา ๑๙๒[๑๑๒] ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เรือชนิดหนึ่งชนิดใดที่บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องชักธงหรือแสดงเครื่องหมายหรือต้องให้สัญญาณใด ๆ ตามที่กำหนดได้
มาตรา ๑๙๓[๑๑๓] ในการส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้โดยทางเรือผู้ส่งต้องจัดให้มีฉลากแสดงสภาพอันตรายของสิ่งของนั้นให้ชัดเจนที่หีบห่อ และต้องแจ้งเป็นหนังสือเกี่ยวกับสภาพอันตรายของสิ่งของนั้น ตลอดจนชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งให้นายเรือทราบในขณะหรือก่อนการนำสิ่งของนั้นขึ้นเรือ
ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือรับขนโดยทางเรือซึ่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ที่มิได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง หรือมีการปฏิบัติตามแต่มีข้อความอันเป็นเท็จ
มาตรา ๑๙๔[๑๑๔] นายเรือต้องตรวจสอบอย่างระมัดระวังตามควรแก่กรณีมิให้มีการนำสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขึ้นบนเรือโดยฝ่าฝืนกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๑๙๐
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการลักลอบนำสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขึ้นบนเรือ นายเรืออาจปฏิเสธที่จะรับหีบห่อนั้นได้ เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองจะให้เปิดหีบห่อเพื่อตรวจดู
มาตรา ๑๙๕[๑๑๕] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙๒ หรือมาตรา ๑๙๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๙๖[๑๑๖] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙๐ มาตรา ๑๙๑ หรือมาตรา ๑๙๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวดที่ ๒
ข้อบังคับว่าด้วยน้ำมันปิโตรเลียม
อย่างบรรทุกในถังระวาง
มาตรา ๑๙๗[๑๑๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๙๘[๑๑๘] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๙๙ เรือกำปั่นถังทุกลำที่เข้ามาถึงในเขตท่าหรือลำแม่น้ำใด ๆ ในประเทศไทย และมีน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางมาในเรือ ท่านว่าเรือนั้นต้องรีบไปยังที่ท่าขนสินค้าซึ่งได้รับอนุญาตสำหรับขนน้ำมันปิโตรเลียมอย่างนั้นโดยพลัน และห้ามมิให้เรือลำนั้นถอยไปจากที่นั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
มาตรา ๒๐๐ ในระหว่างเวลาที่เรือกำปั่นถังลำใด ซึ่งมีน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางอยู่ในเรือยังพักอยู่ในเขตท่าหรือลำแม่น้ำตำบลใด ๆ ในประเทศไทย ท่านห้ามมิให้ใช้ไฟหรือโคมนอกจากโคมไฟฟ้าบนเรือหรือในที่ใกล้ชิดกับเรือลำนั้น ในขณะที่ถังระวางหรือห้องบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมยังเปิดอยู่หรือกำลังถ่ายหรือรับน้ำมันปิโตรเลียมหรือในขณะที่ฝาครอบปากระวางยังเปิดอยู่ และห้ามบรรดาคนในเรือนั้นทุกคนมิให้สูบยาหรือมีไม้ขีดไฟอยู่กับตัว แต่ที่บังคับไว้เหล่านี้ ต้องถือว่าไม่เป็นการห้ามไฟครัว หรือไฟในห้องเครื่องจักรสำหรับให้เกิดสติมพอให้เรือถอยเข้าหรือถอยออกที่ท่าขนสินค้าเช่นว่ามาแล้ว หรือออกไปยังทะเล หรือเพื่อให้มีแรงสติมสำหรับทำการถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ยังมีอยู่นั้นออกจากเรือ
มาตรา ๒๐๑[๑๑๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๐๒[๑๒๐] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๐๓[๑๒๑] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๐๔[๑๒๒] ผู้ใดเท ทิ้ง หรือปล่อยให้น้ำมันปิโตรเลียมหรือน้ำมันที่ปนกับน้ำรั่วไหลด้วยประการใด ๆ ลงในเขตท่า แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๐๕ ในไม่ว่าเวลาใด ห้ามมิให้เรือกำปั่นถังเข้าไปยังท่าหรือเข้าจอดเทียบท่ามากกว่าลำหนึ่ง และในขณะที่เรือกำปั่นถังลำใดกำลังถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมจากเรือ หรือรับน้ำมันปิโตรเลียมลงบรรทุกในเรือ ห้ามมิให้เรือกำปั่นหรือเรือลำอื่นหรือเรือสำเภาลำหนึ่งลำใดอยู่เทียบท่าเดียวกัน หรือเทียบกับกำปั่นถังลำนั้นเป็นอันขาด
มาตรา ๒๐๖ เรือกำปั่นถังลำใดที่บรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในถังระวางเรือ หรือที่เพิ่งจะเสร็จการถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่บรรทุกมาเช่นนั้นจากเรือก็ดี ท่านห้ามมิให้เคลื่อนจากที่ ๆ จอดอยู่นั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ถ้าและเจ้าท่าเห็นเป็นที่พอใจว่าเรือกำปั่นถังลำใดไม่มีน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในเรือ และได้ล้างชำระเปิดให้อากาศเข้าออกในถังระวางเรือโดยสะอาดสนิทแล้ว เจ้าท่าอนุญาตให้เรือลำนั้นเลื่อนไปจอดยังที่ใดตามที่จะกำหนดให้ไว้นั้นก็ได้
มาตรา ๒๐๗[๑๒๓] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๐๘[๑๒๔] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙๙ มาตรา ๒๐๐ มาตรา ๒๐๕ หรือมาตรา ๒๐๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวดที่ ๓
ข้อบังคับว่าด้วยการทอดสมอใกล้เคียงหรือเกาสมอข้ามสาย
ท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ[๑๒๕]
มาตรา ๒๐๙[๑๒๖] สายโทรเลข สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้าหรือสายอื่นใด หรือท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ ในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ให้เจ้าท่าจัดให้มีเครื่องหมายแสดงไว้ ณ ที่ซึ่งสายท่อหรือสิ่งก่อสร้างนั้นทอดลงน้ำ เครื่องหมายนั้นให้ทำเป็นเสาสูงมีป้ายใหญ่สีขาวรูปกลมติดที่ปลายเสาในกลางป้ายมีข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “สาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำ ห้ามทอดสมอและเกาสมอ” และในกรณีที่เห็นสมควรเจ้าท่าจะจัดให้มีการวางทุ่นหรือเครื่องหมายอื่นใดแสดงไว้ด้วยก็ได้
ห้ามมิให้เรือลำใดทอดสมอภายในระยะข้างละหนึ่งร้อยเมตรนับจากที่ซึ่งสายท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำทอดอยู่ หรือเกาสมอข้ามสาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำนั้น
มาตรา ๒๑๐[๑๒๗] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดทอดสมอเรือภายในเขตที่ต้องห้ามตามความในหมวดนี้ หรือเกาสมอ หรือลากแห อวน เครื่องจับสัตว์น้ำ หรือเครื่องมือใด ๆ ข้ามเขตเหล่านั้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามร้อยบาทถึงสามพันบาท และถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สาย ท่อ หรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ที่ทอดใต้น้ำด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมสายท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำที่เสียหายเนื่องจากการที่ได้ทอดสมอหรือเกาสมอ หรือลากของข้ามสาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างนั้นด้วย
ในระหว่างการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกักเรือที่เกี่ยวข้องไว้ได้ จนกว่าจะมีประกันมาวางสำหรับเงินค่าปรับหรือค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตามที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี
มาตรา ๒๑๑ ตามความในหมวดนี้ เมื่อเรือลำใดแล่นข้ามเขตอันต้องห้ามดังที่ว่ามาแล้วแห่งใด ถ้ามิได้ชักสมอขึ้นพ้นจากน้ำจนแลเห็นได้ ท่านให้ถือว่าเรือลำนั้นเท่ากับได้เกาสมอข้ามเขตที่ต้องห้าม
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยค่าธรรมเนียมประภาคาร
มาตรา ๒๑๒[๑๒๘] ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๑๓ เรือเดินในทะเลที่เข้ามาในน่านน้ำไทย หรือที่เดินจากท่าหนึ่งถึงอีกท่าหนึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ แก่เจ้าพนักงานที่ได้แต่งตั้งไว้เพื่อการนั้นตามอัตราและวิธีการที่จะได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นครั้งคราว
มาตรา ๒๑๓[๑๒๙] เรือต่อไปนี้ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ ตามมาตรา ๒๑๒ คือ
(๑) เรือของรัฐบาลไทย
(๒) เรือยอชต์ของเอกชน
(๓) เรือของรัฐบาลต่างประเทศ
(๔) เรือที่ใช้เฉพาะขนถ่ายสินค้าหรือคนโดยสารไปมาภายในเขตท่าเดียวกัน หรือระหว่างท่ากับที่ทอดจอดเรือภายนอกแห่งท่านั้น
(๕) เรือค้าชายฝั่งขนาดบรรทุกต่ำกว่า ๘๐๐ หาบ
(๖) เรือเดินทางซึ่งมีแต่อับเฉาไม่ได้ค่าระวางบรรทุกและไม่มีคนโดยสาร
(๗) เรือที่เข้ามาเฉพาะจัดหาเชื้อเพลิง เครื่องพัสดุ หรือเสบียงสำหรับเรือลำนั้นเท่านั้น
(๘) เรือที่เข้ามาเพราะถูกพายุ หรือเพื่อทำการซ่อมแซม หรือเพราะเกิดเสียหาย แต่เรือที่ว่านี้จะต้องไม่ขนถ่ายสินค้าลงหรือขึ้นนอกจากสินค้าที่จำต้องขนลง เพื่อการซ่อมแซมที่ว่านี้ และภายหลังได้ขนสินค้านั้นคืนขึ้นเรือ
มาตรา ๒๑๔[๑๓๐] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๑๕[๑๓๑] เรือลำใดซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ มาขอใบปล่อยเรือ ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานศุลกากรหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีหน้าที่ออกใบปล่อยเรือขอตรวจดูใบเสร็จค่าธรรมเนียมนั้น ถ้าปรากฏว่าได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว จึงให้ออกใบปล่อยเรือให้
มาตรา ๒๑๖[๑๓๒] นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดพยายามจะนำเรือไปจากน่านน้ำไทย โดยไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๒๑๒ หรือไม่ยอมให้วัดขนาดเรือที่ตนเป็นผู้ควบคุมเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
หมวดที่ ๕
ข้อบังคับสำหรับการป้องกันโรคภยันตราย
มาตรา ๒๑๗ เมื่อได้รับข่าวว่ามีไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้กาฬโรค ไข้จับ หรือโรคร้ายต่าง ๆ ที่มีอาการติดกันได้ เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในเมืองท่าหรือตำบลใด ๆ ภายนอกพระราชอาณาเขตไทย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนครบาลมีอำนาจชอบด้วยกฎหมาย ออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และแจ้งประกาศไปยังกงสุลต่างประเทศทั่วกันว่า เมืองท่าหรือตำบลนั้น ๆ มีโรคร้ายที่ติดกันได้ แล้วให้บังคับบรรดาเรือที่จะมาจากเมืองท่าหรือตำบลนั้นให้ไปอยู่ที่สถานีหรือทำเลทอดสมอเพื่อป้องกันโรคภยันตราย และให้กักอยู่ที่นั้น จนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์กระทรวงนครบาลหรือเจ้าพนักงานรองซึ่งต่อไปจะเรียกว่าเจ้าพนักงานแพทย์นั้น จะอนุญาตปล่อยให้ไปได้
[คำว่า “รัฐมนตรีว่าการ” แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งรัฐมนตรีกับตำแหน่งเสนาบดีแต่ก่อน พุทธศักราช ๒๔๗๕]
มาตรา ๒๑๘ ทำเลสำหรับทอดสมอเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายในน่านน้ำไทยนั้น คือ :-
(๑) ที่เกาะพระ หน้าสถานีป้องกันโรคภยันตราย
(๒) ที่เกาะสีชัง หน้าด่านศุลกากร
(๓) ที่อ่างศิลา หน้าด่านศุลกากร
(๔) ที่เมืองสมุทรปราการ ในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าด่านศุลกากร
(๕) ที่กรุงเทพฯ ในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าโรงพักกองตระเวนตำบลบางคอแหลม
มาตรา ๒๑๙ สถานีป้องกันโรคภยันตรายนั้นตั้งอยู่ที่เกาะพระ หรือ ณ ตำบลใด ๆ อีกสุดแล้วแต่จะกำหนดต่อภายหลัง
มาตรา ๒๒๐ ถ้าเรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาถึงน่านน้ำไทยมีคนเป็นไข้กาฬโรค ไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้จับ หรือโรคร้ายอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ติดกันได้มาในเรือก็ดี หรือเป็นมาแล้วภายใน ๑๔ วันก่อนวันที่เรือมาถึงก็ดี นายเรือหรือผู้ที่บังคับการในเรือลำนั้น ต้องชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้ายขึ้นไว้ และต้องทอดสมอจอดเรืออยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตราย จนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะอนุญาตปล่อยให้ไปจึงไปได้ ถ้าเป็นเรือที่จอดอยู่แล้วในน่านน้ำไทย นายเรือหรือผู้บังคับการในเรือนั้น ต้องชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้ายขึ้นทันที และต้องถอยเรือไปจอดอยู่ยังตำบลที่เจ้าพนักงานแพทย์เห็นสมควร
มาตรา ๒๒๑ เจ้าพนักงานแพทย์ต้องรีบไปไต่สวนเหตุการณ์ที่เรือนั้น และถ้าเห็นเป็นการจำเป็นสำหรับความป้องกันโรคภยันตรายแก่บ้านเมืองที่จะต้องกักเรือและบรรดาคนในเรือลำนั้นไว้ที่ด่านป้องกันโรคภยันตราย ก็ให้มีคำสั่งแก่นายเรือหรือผู้ที่บังคับการในเรือนั้น ให้พาเรือและคนในเรือไปอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตราย
มาตรา ๒๒๒ เมื่อมีคำสั่งดังนั้น เป็นหน้าที่ของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือนั้นจะต้องเอาเรือนั้นไปยังตำบลที่เจ้าพนักงานจะชี้ให้จอด และต้องจอดกักด่านอยู่ที่นั้นจนกว่าจะมีอนุญาตปล่อยให้ไปได้ตามข้อบังคับในกฎหมายนี้
มาตรา ๒๒๓[๑๓๓] บรรดาเรือที่ต้องกักด่านสำหรับป้องกันโรคภยันตรายตามคำสั่งนั้น ในเวลากลางวันให้ชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้าย คือ ธงสีเหลือง มีธงประมวลอาณัติสัญญาณสากลอยู่ข้างล่าง และในเวลากลางคืนให้ชักโคมไฟสีแดงไว้ที่ปลายเสาหน้า
มาตรา ๒๒๔ บรรดากองเรือรักษาที่เฝ้าอยู่นั้น ในเวลากลางวันให้ชักธงสีเหลืองอย่างเดียวนั้นไว้ที่ท้ายเรือ และในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนพระอาทิตย์ขึ้นให้มีโคมไฟไว้ทั้งที่หัวเรือและท้ายเรือ
มาตรา ๒๒๕ ห้ามไม่ให้เรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายถอยไปจากที่ โดยมิได้รับหนังสืออนุญาตของเจ้าพนักงานแพทย์
มาตรา ๒๒๖ ห้ามไม่ให้เรือทั้งหลาย นอกจากเรือของเจ้าพนักงานแพทย์เข้าเทียบข้างเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย และห้ามไม่ให้คนผู้ใดไปมาติดต่อกับเรือที่ต้องกักนั้น และห้ามไม่ให้คนผู้ใดในเรือที่ต้องกักนั้นไปมาติดต่อกับบนฝั่ง เว้นแต่การที่อาศัยฝากธุระโดยทางเจ้าพนักงานแพทย์นั้น ยอมให้กระทำได้
มาตรา ๒๒๗ เมื่อเรือลำใดที่มาถึงเมืองท่าใด ๆ ในประเทศไทยกำลังมีโรคร้ายที่ติดต่อกันได้ในเรือหรือได้มีมาแล้วภายใน ๑๔ วันก่อนเวลาที่เรือมาถึงนั้นก็ดี ให้ส่งห่อและถุงหนังสือไปรษณีย์แก่เจ้าพนักงานแพทย์ และเมื่อเจ้าพนักงานแพทย์ได้เอารมยาหรือทำตามวิธีป้องกันโรคร้ายอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรแก่การแล้ว ก็ให้ส่งห่อและถุงหนังสือไปรษณีย์ไปยังที่ว่าการกรมไปรษณีย์ในเมืองนั้นได้
มาตรา ๒๒๘ เมื่อมีวิธีสำหรับป้องกันความติดต่อของโรคร้ายได้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนครบาลยอมเห็นชอบด้วยตามคราวที่สมควรแก่การแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจชอบด้วยกฎหมายอนุญาตให้เรือกลไฟลำใด ๆ ผ่านทางเขตท่ารับถ่ายน้ำและเสบียง และขนสินค้าขึ้นบกได้
[คำว่า “รัฐมนตรีว่าการ” แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งรัฐมนตรีกับตำแหน่งเสนาบดีแต่ก่อน พุทธศักราช ๒๔๗๕]
มาตรา ๒๒๙ เมื่อเห็นเป็นการสมควร ให้เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจบังคับให้เอาคนในเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายทั้งหมด หรือแต่บางคนขึ้นไปไว้ที่โรงพยาบาลหรือโรงพักที่สถานีป้องกันโรคของเมืองท่านั้นให้พักอาศัยและรักษาอยู่ที่นั้นจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะเห็นสมควรให้กลับไปที่เรือหรือย้ายไปลงเรืออื่นทำการติดต่อกับฝั่งได้
มาตรา ๒๓๐ เมื่อเวลามีคนที่ต้องกักอยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตราย ในเวลากลางวันให้ชักธงสีเหลือง และเวลากลางคืนให้ชักโคมไฟสีแดงขึ้นไว้เป็นสำคัญในที่ ๆ แลเห็นได้ง่าย
มาตรา ๒๓๑ เมื่อมีธงหรือโคมไฟเป็นเครื่องหมายความกักด่านป้องกันโรคภยันตรายชักขึ้นไว้เช่นนั้น ห้ามไม่ให้คนผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานแพทย์ หรือคนที่เจ้าพนักงานแพทย์ให้อนุญาตนั้นไปขึ้นบกที่โรงพักด่านป้องกันโรคภยันตรายเป็นอันขาด
มาตรา ๒๓๒ เมื่อเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องการกองรักษาสำหรับการป้องกันรักษาด่านที่ป้องกันโรคภยันตรายให้การเป็นไปตามข้อบังคับการป้องกันโรคภยันตราย ก็ให้ผู้บังคับการกองตระเวนจัดให้ตามที่ต้องการ
มาตรา ๒๓๓ ห้ามไม่ให้คนผู้ใดที่ต้องกักอยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายไปจากที่นั้นโดยอ้างเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนที่ได้รับอนุญาตปล่อยจากเจ้าพนักงานแพทย์นั้นเป็นอันขาด
มาตรา ๒๓๔ ถ้าคนผู้ใดขึ้นไปบนเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย หรือเข้าไป หรือจอดเรือขึ้นที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแพทย์ คนผู้นั้นจะต้องถูกกักด่านป้องกันโรคภยันตราย มีกำหนดเวลาตามที่เจ้าพนักงานแพทย์จะเห็นสมควร
มาตรา ๒๓๕ ถ้าเจ้าพนักงานแพทย์มีความต้องการให้นายเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายจัดหาเรือและเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อส่งคนโดยสารและลูกเรือของเรือนั้นขึ้นไปไว้ยังโรงพักสถานีป้องกันโรคภยันตราย นายเรือต้องปฏิบัติตามทุกประการ
มาตรา ๒๓๖ ถ้ามีคนตายในเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย หรือตายในเรือที่บังคับให้ไปอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตรายก็ดี ต้องจัดการปลงศพผู้ตายตามวิธีที่เจ้าพนักงานแพทย์จะสั่งให้ทำ และผู้เป็นนายเรือลำนั้นจะต้องเป็นธุระจัดการนั้นให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานแพทย์ทุกประการ
มาตรา ๒๓๗ บรรดาเรือต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายนั้น เมื่อได้ส่งคนโดยสารขึ้นไว้ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายแล้วต้องล้างและชำระเรือด้วยน้ำยากันโรคร้ายให้เป็นที่พอใจเจ้าพนักงานแพทย์ และเมื่อทำดังนั้นแล้วก็อนุญาตปล่อยเรือลำนั้นไปจากความกักด่านได้
มาตรา ๒๓๘ ผู้แทนเจ้าของเรือจะต้องรับใช้ค่าเลี้ยงดูคนที่ต้องส่งขึ้นจากเรือนั้นไปไว้ที่ด่านป้องกันโรคภยันตรายที่รัฐบาลได้ใช้จ่ายออกไปแล้วตามใบพยานของเจ้าพนักงานแพทย์ และต้องรับใช้ค่าชำระล้างเรือและค่าพยาบาลคนโดยสารและของอื่นด้วยยากันโรคร้ายนั้นด้วย
มาตรา ๒๓๙ เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องรีบแจ้งรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนครบาลในทุกครั้งที่มีเหตุสมควรต้องเอาคนโดยสารในเรือใด ๆ ที่พึ่งเข้ามาถึงนั้นกักด่านป้องกันโรคภยันตราย และเมื่อต้องกักเรือใด ๆ เพื่อตรวจโรคร้าย และเวลาที่อนุญาตปล่อยเรือนั้นก็ต้องรายงานด้วยเหมือนกัน
[คำว่า “รัฐมนตรีว่าการ” แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งรัฐมนตรีกับตำแหน่งเสนาบดีแต่ก่อน พุทธศักราช ๒๔๗๕]มาตรา ๒๔๐ เมื่อมีเรือเข้ามาจากเมืองท่าหรือตำบลใดที่มีโรคภยันตรายที่ติดกันได้ หรือที่ชักธงบอกว่ามีโรคร้ายอยู่ในเรือก็ดี ถ้าเป็นการจำเป็นเพื่อการเดินเรือไม่ให้เป็นอันตราย ผู้นำร่องจะขึ้นบนเรือนั้นเพื่อพามายังที่ทอดสมอด่านตรวจโรคภยันตรายก่อนได้รับอนุญาตแพทย์ก็ได้ แต่ถ้าภายหลังเจ้าพนักงานแพทย์ตรวจเห็นเป็นที่สมควรว่าต้องกักเรือลำนั้นที่ด่านป้องกันโรคภยันตราย ผู้นำร่องผู้นั้นก็จะต้องถูกกักด้วย ตามลักษณะในมาตรา ๒๗๒ ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๔๑ นายเรือหรือแพทย์ในเรือลำใดที่เข้ามาถึงจากตำบลใดที่มีไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ หรือโรคร้ายที่ติดต่อกันได้กำลังแพร่หลายอยู่ก็ดี หรือในลำเรือนั้นได้มีคนป่วยเป็นโรคอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่าง ๑๔ วันก่อนวันที่เข้ามาถึงนั้นก็ดี นายเรือหรือแพทย์ผู้นั้นมีหน้าที่จำเป็นต้องแจ้งเหตุเหล่านั้นโดยถ่องแท้แก่ผู้นำร่อง และแก่เจ้าพนักงานแพทย์ที่จะมาจอดเทียบข้างหรือขึ้นบนเรือนั้นให้ทราบ
มาตรา ๒๔๒ เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจที่จะขึ้นบนเรือใด ๆ ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย และตรวจคนในเรือนั้นได้ทุกคน และถ้าเห็นสมควรแก่การจะเรียกดูสมุดและหนังสือสำคัญสำหรับเรือด้วยก็ได้ และเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องพยายามทุกอย่างในทางที่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จะเห็นสมควรแก่การสำหรับที่จะให้ทราบได้ว่าเรือตลอดทั้งคนในเรือนั้นมีความสะอาดเรียบร้อยปราศจากไข้เจ็บเพียงไร
มาตรา ๒๔๓ บรรดาคนที่ส่งขึ้นไว้ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายนั้น ต้องอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตราย ตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ คือ :-
ไข้กาฬโรค ไม่เกิน ๑๐ วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลง หรือหายสนิท หรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น
ไข้ทรพิษ ไม่เกิน ๑๔ วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลง หรือหายสนิท หรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น
ไข้อหิวาตกโรค ไม่เกิน ๑๐ วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลง หรือหายสนิท หรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น
มาตรา ๒๔๔ ห้ามมิให้เอาสิ่งของอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากหนังสือและเงินตราออกจากที่ใด หรือเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแพทย์เป็นอันขาด และบรรดาสิ่งของทุกอย่างที่เอาออกมาแล้วนั้นต้องชำระด้วยเครื่องยาป้องกันโรคร้ายตามวิธีที่เจ้าพนักงานแพทย์จะสั่งให้ทำนั้นเสียก่อนจึงส่งต่อไปได้
มาตรา ๒๔๕ บรรดาหนังสือและห่อสิ่งของทางไปรษณีย์ (ไปรษณีย์วัตถุ) สำหรับส่งถึงคนที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายนั้นให้ส่งไว้ยังที่ว่าการกรมไปรษณีย์เพื่อให้รีบส่งต่อไปในโอกาสแรกที่จะส่งได้
มาตรา ๒๔๖ เจ้าพนักงานแพทย์ได้ตรวจบนเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย หรือไปตรวจที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายในเวลาที่มีคนต้องกักด่านอยู่นั้นก็ดี เมื่อเวลากลับต้องชำระตนเองด้วยเครื่องยาป้องกันโรคร้ายให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงขึ้นบกได้
มาตรา ๒๔๗ ในคราวที่เจ้าพนักงานแพทย์ของรัฐบาลไทยแจ้งความแก่นายเรือในบังคับต่างประเทศลำใดว่าจะต้องจัดการตามลักษณะในมาตรา ๒๒๐ มาตรา ๒๒๑ มาตรา ๒๒๙ มาตรา ๒๓๖ และมาตรา ๒๔๒ นั้น เมื่อก่อนจะได้ลงมือจัดการ นายเรือลำนั้นย่อมมีอำนาจชอบธรรมที่จะไปแจ้งเหตุต่อกงสุลของประเทศนั้นได้ และกงสุล (ถ้าเห็นสมควรแก่การ) ก็มีอำนาจที่จะมาดูในเวลาที่ตรวจเรือต่างประเทศนั้น และจะยอมหรือไม่ยอมให้เจ้าพนักงานจัดการตามข้อบังคับในมาตราต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ได้
มาตรา ๒๔๘[๑๓๔] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๒๐ มาตรา ๒๒๒ มาตรา ๒๒๓ มาตรา ๒๒๕ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๗ มาตรา ๒๒๙ มาตรา ๒๓๑ มาตรา ๒๓๓ มาตรา ๒๓๔ มาตรา ๒๓๕ มาตรา ๒๓๖ มาตรา ๒๓๗ มาตรา ๒๓๘ มาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๑ มาตรา ๒๔๓ หรือมาตรา ๒๔๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
หมวดที่ ๖
ข้อบังคับสำหรับผู้นำร่อง[๑๓๕]
มาตรา ๒๔๙ ถึง มาตรา ๒๗๖ (ยกเลิก)
หมวดที่ ๗
ว่าด้วยการจ้างและการเลิกจ้างคนสำหรับเรือต่าง ๆ
และการสอบไล่ความรู้เพื่อรับประกาศนียบัตรสำหรับทำการตามหน้าที่ได้
มาตรา ๒๗๗[๑๓๖] ห้ามมิให้ผู้ใดทำการในเรือกลไฟ เรือยนต์ เรือเดินทะเล เรือบรรทุกสินค้าขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ หาบขึ้นไปซึ่งทำการติดต่อกับเรือเดินทะเลหรือเรือซึ่งใช้เป็นเรือชูชีพประจำเรือเดินทะเล ในตำแหน่งที่กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือกำหนดให้ต้องมีประกาศนียบัตร เว้นแต่เป็นผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถให้ทำการเช่นนั้นได้
มาตรา ๒๗๘[๑๓๗] เมื่อจะออกประกาศนียบัตรเช่นว่ามาแล้วให้แก่ผู้ใดสำหรับทำการเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย หรือต้นกล คนใช้เครื่อง ท่านว่าผู้นั้นต้องสอบความรู้ได้แล้ว และเมื่อยื่นใบสมัครสอบนั้นต้องมีพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจถึงเรื่องไม่เป็นคนประพฤติเสเพลติดสุรายาเมา หรือติดยาเสพติดให้โทษ ความชำนาญการงานที่ได้ทำมา และความประพฤติทั่วไปนั้นด้วย แต่ถ้าผู้นั้นเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง และนายท้าย จะต้องแสดงว่ามีสายตาดีด้วย
ในมาตรานี้ คำว่า
“สรั่ง” หมายความถึงผู้ทำการควบคุมเรือลำเลียง
“ไต้ก๋ง” หมายความถึงผู้ควบคุมเรือใบเดินทะเลที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ ๘๐๐ หาบ ขึ้นไป
“คนถือท้าย” หมายความถึงผู้ควบคุม หรือผู้ถือท้าย หรือคนแจวท้ายของเรือบรรทุกสินค้าที่ทำการติดต่อกับเรือเดินทะเล
มาตรา ๒๗๙[๑๓๘] ให้เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทำการในเรือในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การแบ่งชั้นความรู้
(๒) วิธีการสอบความรู้
(๓) หลักสูตร
(๔) คุณสมบัติของผู้สมัครสอบ
(๕) ค่าธรรมเนียมในการสอบ
(๖) การออกประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ
(๗) รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการสอบความรู้
ข้อบังคับนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๒๘๐[๑๓๙] ประกาศนียบัตรแสดงความรู้นั้นต้องระบุชื่อ อายุ และตำหนิรูปพรรณของผู้ถือประกาศนียบัตร และข้อความอื่น ๆ ตามที่จำเป็น และต้องมีรูปถ่ายของผู้ถือประกาศนียบัตรปิดไว้ด้วย
ประกาศนียบัตรสำหรับคนถือท้ายให้มีอายุสามปี นอกนั้นให้มีอายุห้าปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ถือต้องนำมาเปลี่ยนใหม่ ให้เรียกค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนประกาศนียบัตรกึ่งหนึ่งแห่งอัตราค่าธรรมเนียมเดิม และถ้าเจ้าท่าจะต้องการให้แสดงพยานหลักฐานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๘ ก็ทำได้
มาตรา ๒๘๑ บรรดาประกาศนียบัตรสำหรับความรู้ที่ได้ออกให้ไปแล้วก่อนเวลาประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้นั้น ให้เป็นอันใช้ได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ออกประกาศนียบัตรให้ไปแล้ว
มาตรา ๒๘๒[๑๔๐] ผู้ใดทำการในเรือในตำแหน่งที่กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือกำหนดให้ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ โดยมิได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถอันถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าทำการในเรือในขณะที่ประกาศนียบัตรสิ้นอายุแล้ว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๒๘๓[๑๔๑] ผู้ใดนำประกาศนียบัตรของผู้อื่นมาใช้หรือแสดงว่าเป็นประกาศนียบัตรของตน หรือผู้ใดจัดหาประกาศนียบัตรมาเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๘๔[๑๔๒] ผู้ทำการในเรือในตำแหน่งที่กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือกำหนดให้ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถต้องเก็บประกาศนียบัตรของตนไว้ในเรือเพื่อให้เจ้าท่าตรวจดูได้ในขณะที่ทำการ
ถ้าเจ้าท่าหรือตัวแทนเจ้าของเรือประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ทำการในเรือลำใด ให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือนำใบอนุญาตใช้เรือลำนั้นพร้อมทั้งประกาศนียบัตรของผู้ที่จะทำการในเรือลำนั้นไปให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตบันทึกการเปลี่ยนตัวผู้ทำการในเรือไว้ในใบอนุญาตใช้เรือ ณ ที่ทำการเจ้าท่าท้องถิ่นที่เรือนั้นขึ้นทะเบียน ภายในกำหนดสิบห้าวัน
มาตรา ๒๘๕ คนรับจ้างสำหรับทำการในเรือเดินทะเลคนใด จะเข้าทำการงานหรือมีผู้จ้างทำการงานในเรือกำปั่นชาติไทย หรือเรือกำปั่นต่างประเทศชาติใดที่ไม่มีกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตเจ้าท่าก่อนจึงทำได้ และเจ้าท่าต้องเรียกใบพยานเลิกจ้างที่ผู้นั้นได้รับจากเรือที่ตนได้ทำการงานมาแล้วในหนหลังมาเก็บรักษาไว้ด้วย ถ้าและผู้นั้นนำใบพยานเช่นนั้นมาส่งไม่ได้ ท่านว่าผู้นั้นจำเป็นต้องชี้แจงว่าเป็นด้วยเหตุใดให้เป็นที่พอใจเจ้าท่า
มาตรา ๒๘๖ ค่าธรรมเนียมซึ่งรัฐบาลไทยจะได้กำหนดตามครั้งคราวนั้น ให้เรียกเก็บสำหรับการว่าจ้างและการเลิกจ้างทุกครั้ง ให้เจ้าท่าจัดระเบียบพิกัดค่าธรรมเนียมเช่นนี้ปิดประกาศไว้ในที่แลเห็นง่าย ณ ที่ว่าการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* และให้มีอำนาจไม่ยอมเป็นธุระจัดการว่าจ้างหรือการเลิกจ้างรายใด ๆ ก่อนได้รับค่าธรรมเนียมในส่วนนั้น
มาตรา ๒๘๗ เจ้าของเรือหรือนายเรือกำปั่นจะว่าจ้างหรือเลิกจ้างคนการสำหรับเรือเดินทะเล ณ ที่ว่าการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมตามพิกัดที่ตั้งไว้สำหรับการว่าจ้างหรือเลิกจ้างนั้นทุกครั้ง
มาตรา ๒๘๘ เมื่อคนทำการในเรือเดินทะเลคนใดเลิกรับจ้างจากเรือกำปั่นไทยลำหนึ่งลำใดภายในพระราชอาณาเขต นายเรือกำปั่นลำนั้นต้องทำใบพยานการเลิกจ้างให้ผู้นั้นไปฉบับหนึ่งเป็นคู่มือ ให้ทำให้ในเวลาที่เลิกจ้าง และให้เขียนความลงไว้ในนั้นว่าผู้นั้นได้รับจ้างช้านานเท่าใด ประเภทการที่ได้ใช้ให้ทำ และเลิกจ้างเมื่อวันใด และลงลายมือนายเรือเป็นสำคัญ ถ้าและผู้เลิกรับจ้างจะขอร้องให้ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมว่าได้ให้ค่าจ้างและได้หักเงินค่าจ้างอย่างไร นายเรือต้องทำให้ตามประสงค์ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ร้องขอ
มาตรา ๒๘๙ การเลิกจ้างคนทำการในเรือเดินทะเลจากเรือกำปั่นชาติไทย หรือจากเรือกำปั่นต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทยนั้นห้ามมิให้ทำในที่อื่น นอกจากที่ว่าการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*
มาตรา ๒๙๐[๑๔๓] ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๘๔ มาตรา ๒๘๕ มาตรา ๒๘๗ มาตรา ๒๘๘ หรือมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
หมวดที่ ๘
ว่าด้วยการใช้อำนาจทำโทษสำหรับความผิด
มาตรา ๒๙๑[๑๔๔] ผู้นำร่อง นายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย ต้นกล หรือคนใช้เครื่อง ที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตผู้ใดหย่อนความสามารถ หรือประพฤติไม่สมควรแก่หน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวแก่การเดินเรือหรือหน้าที่ของตน ให้เจ้าท่ามีอำนาจที่จะสั่งงดไม่ให้ใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินสองปี แต่ไม่เป็นการลบล้างโทษอย่างอื่นซึ่งผู้นั้นจะพึงได้รับ
ถ้าผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาต ให้ผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้น เป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีผลบังคับได้
มาตรา ๒๙๒ เจ้าท่าทุกตำบลมีอำนาจหน้าที่ที่งดหรือเรียกคืนประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาตใด ๆ ได้ตามลักษณะมาตรา ๒๙๑ และเพื่อประกอบกับการเช่นนั้นให้เจ้าท่ามีอำนาจทำการไต่สวนและหมายเรียกพยานและสืบพยานได้ทุกอย่าง ถ้าพยานคนใดไม่มาเบิกพยานหรือขัดขืนไม่ยอมเบิกพยานก็ดี ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษต่อหน้าศาลธรรมดา ตามโทษานุโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดเช่นนั้น
ในการไต่สวนอย่างใดตามที่ว่ามาแล้วเจ้าท่าจะมีผู้ช่วยวินิจฉัยสองนาย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนครบาลจะเลือกจากจำพวกคนที่มีความรอบรู้ชำนาญในการเดินเรือทะเลมานั่งพร้อมด้วยก็ได้
ถ้าผู้ต้องคดีคนใดไม่มีความพอใจและจะขอให้ตรวจคำตัดสินของคณะที่ไต่สวนเช่นว่ามานี้เสียใหม่ ท่านว่าจะฟ้องอุทธรณ์เจ้าท่าต่อศาลอันมีหน้าที่ก็ฟ้องได้
[คำว่า “รัฐมนตรีว่าการ” แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งรัฐมนตรีกับตำแหน่งเสนาบดีแต่ก่อน พุทธศักราช ๒๔๗๕]
มาตรา ๒๙๓ การใช้อำนาจปรับโทษที่ให้ไว้แก่เจ้าท่าตามพระราชบัญญัตินี้นั้น ไม่เกี่ยวข้องอย่างใดกับคดีทางอาญาหรือทางแพ่งซึ่งอาจฟ้องร้องจำเลยในความผิดอันเดียวนั้นต่อศาล ซึ่งมีหน้าที่เพื่อให้ลงโทษหรือให้ปรับจำเลยใช้ค่าเสียหาย ตามลักษณะที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นสำหรับความผิดนั้น
มาตรา ๒๙๔[๑๔๕] ผู้ใดถูกเจ้าท่ายึดหรือเรียกคืนประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และสั่งให้นำประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตนั้นส่งเจ้าท่า ถ้าไม่ส่งภายในเวลาที่เจ้าท่ากำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๒๙๕ ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตใด ๆ ที่ถูกเรียกคืนนั้น ท่านให้ยกเลิกเป็นอันใช้ไม่ได้ต่อไปทุกฉบับ
มาตรา ๒๙๖ บรรดาใบอนุญาตหรือประกาศนียบัตรที่ถูกยึดไว้ชั่วคราวนั้น ให้รักษาไว้ ณ ที่ว่าการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* เมื่อครบกำหนดเวลาที่ให้ยึดแล้วให้ส่งคืนแก่ผู้ถือรับไปตามเดิม แต่ต้องจดความที่ได้ยึดนั้นลงไว้ในฉบับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตนั้นด้วยเป็นสำคัญ
หมวดที่ ๙
ลักษณะโทษและลักษณะรับผิดชอบทางแพ่ง
มาตรา ๒๙๗[๑๔๖] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้นกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๙๘ ในความผิดอย่างใด ๆ ต่อพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ที่ควบคุมเรือหรือควบคุมเครื่องจักรของเรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ ลำใดซึ่งเป็นจำเลยนั้น หลบหนีตามตัวไม่ได้ ท่านว่าศาลมีอำนาจลงโทษปรับแก่เจ้าของเรือหรือแก่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้นได้ตามที่กฎหมายนี้บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
มาตรา ๒๙๙ เจ้าของเรือหรือผู้ที่รับใบอนุญาตสำหรับเรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ ทุกลำ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งนายเรือ, ต้นกล, ต้นหน หรือลูกเรือลำนั้นถูกปรับโดยกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๐๐ เจ้าของแพไม้ทุกแพต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ควบคุมแพหรือคนประจำการในแพนั้นถูกปรับโดยกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๐๑ ลักษณะโทษต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าไม่เกี่ยวข้องอย่างใดกับความรับผิดชอบซึ่งจำเลยจะพึงถูกปรับในคดีส่วนแพ่ง เพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้
หมวดที่ ๑๐
ข้อบังคับทั่วไปสำหรับเมื่อมีเหตุเรือโดนกัน
มาตรา ๓๐๒ ถ้ามีเหตุเรือโดนกันครั้งใด เป็นโดยความไม่ได้แกล้ง หรือเป็นโดยเหตุใด ๆ ซึ่งเหลือความสามารถของมนุษย์จะป้องกันได้ก็ดี ท่านว่าอันตรายและความเสียหายที่ได้มีขึ้นแก่เรือลำใดมากน้อยเท่าใดต้องเป็นพับกับเรือลำนั้นเองทั้งสิ้น
มาตรา ๓๐๓ ถ้ามีเหตุเรือโดนกันครั้งใด เป็นด้วยความผิดหรือความละเลย ท่านว่าอันตรายและความเสียหายที่ได้มีขึ้นมากน้อยเท่าใด ให้ปรับเอาแก่เรือลำที่มีความผิดหรือมีความละเลยนั้น
มาตรา ๓๐๔ ถ้าเรือที่โดนกันนั้น ต่างมีความผิดหรือความละเลยทั้งสองลำ ท่านว่าไม่ต้องปรับให้ฝ่ายใดใช้ค่าเสียหายอันตรายซึ่งได้มีแก่ลำใดหรือทั้งสองลำเว้นไว้แต่ถ้าพิจารณาได้ความปรากฏว่า มูลเหตุที่โดนกันได้เกิดจากฝ่ายใดโดยมากฉะนั้น จึงให้ศาลซึ่งมีหน้าที่ตัดสินกำหนดจำนวนเงินที่ฝ่ายนั้นจะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
มาตรา ๓๐๕ เมื่อมีความผิดหรือความละเลยเกิดขึ้นอย่างใดอันเรือที่เกี่ยวข้องมีความผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย ท่านว่าเจ้าของหรือนายเรือทั้งสองลำนั้น หรือลำใดแต่ลำเดียว ต้องรับผิดชอบใช้ค่าอันตรายหรือความเสียหายที่ได้มีขึ้นแก่สิ่งของที่บรรทุกในเรือหรือแก่บุคคล เพราะความผิดหรือความละเลยที่ได้กระทำนั้น
ถ้าและการต้องใช้ค่าอันตรายหรือความเสียหายนั้นตกหนักแก่เรือที่ต้องคดีนั้นแต่ลำเดียว ท่านว่าเรือลำนั้นย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องร้องให้เรืออีกลำหนึ่งที่ต้องคดีด้วยกันช่วยใช้เงินที่ได้เสียไปแล้วนั้นกึ่งหนึ่ง
ถ้าและทางพิจารณาตามกฎหมายได้พิพากษาว่าความรับผิดชอบนั้นควรแบ่งกันเป็นอย่างอื่นนอกจากที่ว่ามาแล้วฉะนั้น ท่านว่าการที่จะต้องใช้เงินค่าอันตรายหรือความเสียหายต้องเป็นไปตามคำพิพากษานั้น
มาตรา ๓๐๖ การร้องเอาค่าเสียหายนั้นท่านว่ากัปตันหรือนายเรือลำใดที่เกี่ยวในคดีย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์แทนบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นได้
มาตรา ๓๐๗ ถ้าการที่เรือโดนกันเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือเกิดบาดเจ็บแก่บุคคล ท่านว่าเงินค่าเสียหายที่ตัดสินให้เสียในส่วนนี้ต้องใช้ก่อนค่าเสียหายอย่างอื่น ๆ
มาตรา ๓๐๘ คำร้องเอาค่าเสียหายอย่างใด ๆ ที่เนื่องจากเหตุเรือโดนกันนั้น ท่านว่าต้องยื่นภายในหกเดือนนับจากวันที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นโจทก์ได้ทราบเหตุอันนั้น
มาตรา ๓๐๙ เมื่อได้มีคำฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากเหตุเรือโดนกันยื่นต่อศาล ถ้าผู้ใดที่เกี่ยวในคดีร้องขอขึ้น ท่านว่าผู้พิพากษาที่มีหน้าที่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้มีการอายัติแก่เรือลำเดียวหรือหลายลำอันต้องหาว่าเป็นต้นเหตุในการที่เรือโดนกันนั้นได้
มาตรา ๓๑๐ (๑)[๑๔๗] ถ้ามีความผิดอย่างใดต่อกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกันเกิดขึ้นเพราะความละเมิดของนายเรือ ผู้ที่ควบคุมเรือ หรือเจ้าของเรือผู้ใด อันเป็นละเมิดที่กระทำด้วยความจงใจ นายเรือ ผู้ที่ควบคุมเรือ หรือเจ้าของเรือผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒) ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคล หรือทรัพย์สมบัติเพราะเหตุเรือลำใดไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ในกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน ท่านว่าให้ถือว่าความเสียหายอันนั้นเท่ากับได้มีขึ้นจากความละเมิดอันจงใจของผู้ควบคุมการอยู่บนดาดฟ้าเรือลำนั้นในขณะที่เกิดเหตุ เว้นไว้แต่ถ้าพิสูจน์ให้ศาลเห็นเป็นที่พอใจว่ามีเหตุอันจำเป็นในขณะนั้นที่จะต้องประพฤติให้ผิดไปจากกฎข้อบังคับที่ว่ามาแล้ว
(๓) ในคดีเรื่องเรือโดนกัน ถ้าปรากฏขึ้นต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีนั้นว่าได้มีความละเมิดเกิดขึ้นต่อข้อบังคับข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน ท่านให้ถือว่าความผิดที่เป็นมูลแห่งคดีนั้นตกอยู่กับเรือลำที่ได้มีความละเมิดอันนั้น เว้นไว้แต่ถ้าพิสูจน์ให้ศาลเห็นเป็นที่พอใจว่าได้มีเหตุอันจำเป็นที่จะต้องประพฤติให้ผิดไปจากกฎข้อบังคับที่ว่ามาแล้ว
มาตรา ๓๑๑ เมื่อเจ้าของเรือหรือนายเรือลำใดต้องการกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน ก็ให้เจ้าท่าจ่ายให้ตามความประสงค์
มาตรา ๓๑๒ เมื่อเกิดเหตุเรือสองลำโดนกันขึ้นเวลาใด นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือทั้งสองฝ่าย เมื่อเห็นว่าจะกระทำได้เพียงใดโดยไม่เป็นที่น่ากลัวอันตรายจะมีขึ้นแก่เรือ หรือลูกเรือ หรือคนโดยสาร (ที่หากจะมี) ในเรือของตน ท่านว่าเป็นหน้าที่ของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือควรจะกระทำดังต่อไปนี้ คือ
(ก) ต้องช่วยเหลือตามความสามารถที่จะกระทำได้เพียงใดแก่เรืออีกลำหนึ่งที่โดนกัน และแก่นายเรือ, ลูกเรือและคนโดยสาร (ถ้าหากมี) ของเรือลำนั้น เพื่อป้องกันให้พ้นจากอันตรายที่จะพึงเกิดจากเหตุที่เรือโดนกันนั้น และต้องรอเรืออยู่ใกล้กับเรือลำนั้นจนกว่าจะเป็นที่แน่ใจว่าไม่ต้องการให้ช่วยเหลืออีกต่อไป
(ข) ต้องแจ้งชื่อเรือ ชื่อเมืองท่าที่เป็นสำนักนี้ของเรือของตน และมาจากเมืองท่าใด จะไปเมืองท่าใด แก่นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรืออีกลำหนึ่งที่โดนกันนั้นให้ทราบ
ถ้านายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดละเลยไม่กระทำตามข้อปฏิบัติที่ว่าไว้ในมาตรานี้ และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะแก้ตัวได้ว่าเป็นด้วยเหตุใด ท่านว่าถ้าไม่มีสักขีพยานแน่นอนว่าเป็นอย่างอื่น ต้องถือว่าเหตุเรือโดนกันนั้นได้เกิดขึ้นเพราะความประพฤติผิด หรือความละเลย หรือความประพฤติละเมิดฉะนั้น
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรานี้โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งงดใช้ประกาศนียบัตรสำหรับทำการในหน้าที่เช่นนั้น มีกำหนดไม่เกินสองปี หรือสั่งห้ามใช้ประกาศนียบัตรนั้นตลอดไปก็ได้[๑๔๘]
พระราชบัญญัติตราไว้ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นวันที่ ๙๗๙ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
แบบที่ ๑
แบบคำถามซึ่งนายเรือ
ต้องชี้แจงในเวลาที่เรือเข้ามาถึง
(๑) วันที่เรือมาถึง...............................................................................................
(๒) ชื่อเรือ...........................................................................................................
(๓) ธงชาติของเรือ.............................................................................................
(๔) ประเภทของเรือ..........................................................................................
(๕) เรือขนาดกี่ตัน..............................................................................................
(๖) ชื่อนายเรือ...................................................................................................
(๗) เรือมาขึ้นแก่ผู้ใด..........................................................................................
(๘) เรือมาจากไหน............................................................................................
(๙) ได้ออกเรือจากนั่นเมื่อวันใด......................................................................
(๑๐) ประเภทสินค้าที่บรรทุกมาในเรือ..........................................................
(๑๑) มียาฝิ่นบรรทุกมาเท่าไร..........................................................................
(๑๒) มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์มาเท่าไร........................................................
(๑๓) มีเครื่องอาวุธอย่างไรเท่าไร....................................................................
(๑๔) มีเครื่องกระสุนปืนและเครื่องระเบิดอย่างไรเท่าไร.............................
(๑๕) มีโรคร้ายที่ติดกันได้หรือไม่.....................................................................
(๑๖) ได้มีคนตายในเรือหรือไม่........................................................................
(๑๗) จำนวนคนประจำเรือ..............................................................................
(๑๘) จำนวนคนโดยสารชั้นมีห้องให้พัก........................................................
(๑๙) จำนวนคนโดยสารที่อาศัยพักบนดาดฟ้า.............................................
(๒๐) จดหมายเหตุ.............................................................................................
แบบที่ ๒
พิกัดค่าจ้างนำร่อง[๑๔๙]
(ยกเลิก)
แบบที่ ๓
พิกัดค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟ[๑๕๐]
(ยกเลิก)
ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖[๑๕๑]
ประกาศเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔[๑๕๒]
พระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งรัฐมนตรีกับตำแหน่งเสนาบดีแต่ก่อน พุทธศักราช ๒๔๗๕[๑๕๓]
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัติและกฎหมายอื่นใด ซึ่งประกาศใช้อยู่ในเวลานี้ คำว่า เสนาบดี ให้อ่านเป็นรัฐมนตรี คำที่กล่าวถึงเสนาบดีกระทรวงใด ๆ ให้หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ และคำว่า กฎเสนาบดี ให้อ่านเป็นกฎกระทรวง
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๑๕๔]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗[๑๕๕]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ เป็นต้นไป
มาตรา ๔ เรือเดินสมุทรบรรทุกนักท่องเที่ยวรอบโลกชั่วครั้งคราว ให้เก็บค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำและโคมไฟ กึ่งอัตราปกติ
มาตรา ๕[๑๕๖] ในการพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับเรือกลไฟและเรือยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือนั้น ถ้าเป็นเรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำการจดทะเบียนมีอำนาจที่จะ
(๑) กำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขเกี่ยวกับเขตหรือทางที่จะใช้เรือนั้นเดิน
(๒) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวน ขนาด ชนิดและกำลังเครื่องจักรของเรือที่จะใช้เดินจากตำบลหนึ่งถึงตำบลหนึ่ง ตลอดจนถึงการสับเปลี่ยนเรือใช้แทนกันชั่วคราวด้วย
(๓) กำหนดท่าเรือต้นทางและปลายทาง
(๔) สั่งงดอนุญาตเรือลำใด ๆ หรือของเจ้าของใด ๆ มิให้เดินประจำทางที่เห็นว่ามีเรืออื่นเดินอยู่เพียงพอแล้ว หรือเมื่อเห็นว่าถ้าให้อนุญาตจะมีการแข่งขันกันจนจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียความปลอดภัยของประชาชน
(๕) ตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นครั้งคราว เพื่อกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าจูงเรือ ค่าบริการอื่น จำนวนเรือที่จะใช้เดิน เวลาออกเรือ และเวลาเรือถึงท่าเรือปลายทาง คณะกรรมการนั้นให้รวมทั้งเจ้าของเรือหรือผู้แทนด้วย
ถ้าไม่ใช่เรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานซึ่งได้แต่งตั้งขึ้น มีอำนาจที่จะห้ามหรือจำกัดมิให้เดินเรือรับจ้างในเขตใด ๆ ในเมื่อเห็นว่าการเดินเรือรับจ้างในเขตนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน
มาตรา ๖ เรือกลไฟ และเรือยนตร์ที่ทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือเป็นการประจำทางที่ยังมิได้แจ้งความจำนงว่าจะนำเรือไปเดินจากตำบลใดถึงตำบลใดนั้น ให้นำใบอนุญาตสำหรับเรือมาขอแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสี่เดือน นับตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป การแก้ทะเบียนเช่นว่ามานี้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๗[๑๕๗] เรือกลไฟและเรือยนต์ที่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือลำใด ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้นตามมาตรา ๕ เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะสั่งงดการเดินเรือของเรือนั้น ๆ เสียชั่วคราว หรือจะสั่งยึดใบอนุญาตสำหรับเรือนั้นไว้มีกำหนดไม่เกินหกเดือนก็ได้
เจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือที่ถูกสั่งงดการเดินเรือหรือถูกยึดใบอนุญาต ตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งงดหรือยึดนั้นมีผลบังคับได้
เรือใดที่ถูกสั่งงดการเดินเรือ หรือถูกยึดใบอนุญาตแล้วยังขืนเดิน หรือเรือใดกระทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร หรือสินค้าหรือจูงเรือเป็นการประจำทางโดยมิได้รับใบอนุญาต นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือ หรือเจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท[๑๕๘]
มาตรา ๑๒ บรรดาธงสัญญาณที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังมิได้บังคับไว้นั้น ให้บรรดาเรือกลไฟที่เข้ามาในเขตท่าแห่งน่านน้ำไทยปฏิบัติตามประมวลสัญญาณสากลที่ใช้อยู่จงทุกประการ
มาตรา ๑๓[๑๕๙] บรรดาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่มีโทษปรับสถานเดียวไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ให้เจ้าท่ามีอำนาจเปรียบเทียบผู้ต้องหาได้เมื่อผู้เสียหายยินยอมและผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของเจ้าท่าแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกันตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการมีอำนาจหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม และให้มีอำนาจตั้งเจ้าพนักงาน ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หรือกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าและการตั้งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย และให้ระบุให้ชัดเจนว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นมีอำนาจปฏิบัติหน้าที่เพียงใด
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๒)[๑๖๐]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๔ การนำร่องนั้น ให้อยู่ในอำนาจและความควบคุมของรัฐบาล ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่กรมเจ้าท่าสังกัดเป็นเจ้าหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อการนั้น ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องต่อไปนี้ คือ
๑) กำหนดคุณสมบัติผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่อง กำหนดชั้นความรู้ผู้นำร่อง วิธีการที่จะสอบความรู้และออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง
๒) กำหนดหน้าที่และมรรยาทของผู้นำร่อง
๓) กำหนดจำนวนผู้นำร่องที่จะอนุญาตให้ทำการนำร่องและจำนวนผู้ฝึกการนำร่องประจำท่า หรือน่านน้ำแห่งใดแห่งหนึ่ง
๔) กำหนดค่าธรรมเนียมสอบไล่ผู้นำร่อง
๕) กำหนดวิธีการเก็บและแบ่งเงินผลประโยชน์ที่ได้มาเนื่องในการนำร่อง เป็นต้นว่าจะแบ่งให้แก่ผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่องเท่าใด แบ่งเป็นเงินสำรองหรือเงินทุนตั้งไว้เพื่อการใด และเก็บไว้ ณ ที่ใดเท่าใด
๖) กำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใด ๆ ให้มีการนำร่องโดยใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล หรือของเทศบาล หรือหุ้นส่วนบริษัท หรือเอกชน ทำการนำร่อง ตลอดถึงวางข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยการนั้น
๗) กำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใด ๆ ซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง ตลอดถึงวางข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยขนาดและชนิดของเรือที่ยกเว้นไม่ต้องบังคับใช้ผู้นำร่อง การเพิ่มหรือลดหย่อนค่าจ้างนำร่องแก่เรือบางประเภท
๘) กำหนดขนาดเรือที่จะต้องเสียค่าจ้างนำร่อง และพิกัดค่าจ้างนำร่อง
๙) กำหนดการลงทัณฑ์และจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการลงทัณฑ์แก่ผู้นำร่อง เมื่อผู้นำร่องกระทำผิดกฎข้อบังคับซึ่งว่าด้วยหน้าที่และมรรยาทของผู้นำร่อง
ทัณฑ์ที่จะลงได้นั้นมี ๒ สถาน คือ
ก. ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร
ข. ปรับเป็นเงินไม่เกินร้อยบาท หรือลดชั้นเงินเดือน หรือตัดเงินเดือน แล้วแต่กรณี
๑๐) กำหนดแบบบัญชีและรายงานสำหรับให้ผู้นำร่อง หรือห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือเทศบาลที่ทำการนำร่อง ทำยื่นต่อกรมเจ้าท่าเป็นครั้งคราวตามที่เห็นสมควร
กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๕ เมื่อได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใด ๆ บังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่องเรือกลไฟและเรือเดินทะเลที่เคลื่อนเดิน หรือเข้าออกในเขตท่าหรือน่านน้ำนั้น ๆ ให้มีการนำร่องเว้นแต่จะมีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา ๔
มาตรา ๖ บุคคลใดจะรวมแรงรวมทุนกันตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอันมีวัตถุประสงค์เพื่อจะหาประโยชน์ในทางรับจ้างนำร่องจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่กรมเจ้าท่าสังกัดเสียก่อน จึงจะตั้งได้
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่กรมเจ้าท่าสังกัดตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นผู้สอดส่องกิจการและมรรยาทของผู้นำร่อง หรือของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อทำการนำร่อง หรือของเทศบาลเฉพาะที่เกี่ยวกับการนำร่อง
มาตรา ๘ เจ้าหน้าที่ซึ่งตั้งขึ้นตามความในมาตรา ๗ นั้น ให้อยู่ในบังคับบัญชาของกรมเจ้าท่าและมีอำนาจ
๑) เข้าไปในสถานที่และตรวจดูสมุดบัญชีสรรพเอกสารและวัตถุเครื่องใช้ที่เกี่ยวหรือใช้ในการนำร่องได้ในเวลาทำงานทุกเมื่อ
๒) เรียกผู้นำร่อง หรือลูกจ้างของผู้นำร่อง หรือเจ้าหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือเทศบาลที่ทำการนำร่องมาสอบถามถึงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการนำร่อง หรือถึงความประพฤติความเป็นไปของผู้นำร่อง หรือของบุคคลนั้น ๆ เพียงเท่าที่เกี่ยวกับกิจการนำร่อง
๓) สั่งให้ผู้นำร่องคนใดไปให้แพทย์ทหารเรือ หรือแพทย์สาธารณสุขตรวจร่างกาย หรือตรวจสายตาเป็นครั้งคราวตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๙ ถ้าเจ้าพนักงานผู้สอดส่องกิจการและมรรยาทของผู้นำร่องตรวจเห็นเรือหรือวัตถุเครื่องใช้ใด ๆ ที่ใช้ในการนำร่องชำรุดบุบสลาย ไม่เป็นที่ปลอดภัยที่จะใช้ในการนำร่อง ให้มีอำนาจสั่งเจ้าของจัดการซ่อมแซม ในระหว่างที่ยังซ่อมแซมไม่เสร็จ ห้ามมิให้นำเรือ หรือวัตถุเครื่องใช้นั้น ๆ มาใช้ในการนำร่อง
มาตรา ๑๐ เมื่อปรากฏขึ้นว่าผู้นำร่องคนใดมีโรคภัย ร่างกายไม่สมประกอบไม่สมควรให้ทำการเป็นผู้นำร่องต่อไปก็ดี หรือทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือทำผิดกฎข้อบังคับซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ถึงแม้ว่าผู้นำร่องนั้นจะได้รับโทษอย่างอื่นแล้วก็ดี กรมเจ้าท่ามีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นำร่องนั้น หรือลดชั้นใบอนุญาตเสีย หรือจะสั่งให้ยึดใบอนุญาตไว้เป็นเวลาไม่เกินสองปี แล้วแต่จะเห็นสมควร
ถ้าผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของกรมเจ้าท่า ให้มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ภายใน ๑ เดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้นเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งของกรมเจ้าท่ามีผลบังคับได้
มาตรา ๑๑ ความผิดหรือละเมิดที่ผู้นำร่องได้กระทำนั้นไม่เป็นข้อแก้ตัวของเจ้าของเรือหรือนายเรือในอันที่จะทำให้ตนพ้นความรับผิดตามกฎหมาย ในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการเดินเรือ
วรรคสอง[๑๖๑] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๒ บุคคลผู้รับผิดในการชำระเงินค่าจ้างนำร่องตามพิกัด ได้แก่
๑. เจ้าของหรือนายเรือ หรือ
๒. ตัวแทนเจ้าของเรือในขณะที่มีการนำร่อง
ในกรณีค้างชำระเงินค่าจ้างนำร่อง เจ้าท่าจะกักเรือ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกใบปล่อยเรือจะยึดใบปล่อยเรือไว้ก่อน จนกว่าจะได้ชำระเงินค่าจ้างนำร่องกันเสร็จแล้ว หรือมีค้ำประกันมาให้จนเป็นที่พอใจก็ได้ ถ้ามีคดีฟ้องเรียกค่าจ้างนำร่อง ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ยึดเรือหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับเรือตามบทแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งไว้จนกว่าจะได้ชำระเงินค่าจ้าง
มาตรา ๑๓[๑๖๒] ผู้นำร่องคนใดทำการนำร่องนอกเหนือใบอนุญาตหรือโดยไม่ได้รับใบอนุญาตทำการนำร่องในระหว่างที่ใบอนุญาตถูกเรียกคืน ถูกงดใช้หรือถูกยึด หรือไม่ยอมไปทำการนำร่องเรือลำใดลำหนึ่งที่ได้ให้สัญญาณขอให้ตนไปทำการนำร่องโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร หรือละทิ้งการนำร่องไปกลางคันจากเรือลำใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือโดยนายเรือไม่ยินยอม หรือนำเรือหรือวัตถุเครื่องใช้ในการนำร่องที่เจ้าพนักงานสั่งให้ซ่อมแซมตามมาตรา ๙ มาใช้ก่อนซ่อมแซมเสร็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๑๔ นายเรือคนใดใช้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือผู้ที่ทำการนำร่องนอกเหนือใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง หรือใช้ผู้ที่ถูกเรียกใบอนุญาตคืน หรือผู้ที่ใบอนุญาตถูกงดใช้หรือถูกยึดให้เป็นผู้นำร่องเรือของตน หรือนายเรือคนใดเดินเรือในเขตท่าที่บังคับให้มีการนำร่องโดยไม่ใช้ผู้นำร่อง นายเรือผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสองเท่าจำนวนค่าจ้างนำร่องตามพิกัดที่ตั้งไว้สำหรับเรือลำนั้น
แต่ถ้าในขณะที่กระทำการนั้น มีการจำเป็นโดยในขณะนั้นไม่มีผู้นำร่องที่ได้รับอนุญาตถูกต้องมาขอร้อง หรือให้สัญญาณขอเป็นผู้นำร่องก็ดี หรือเรืออยู่ในความอันตราย หรือความลำบากที่นายเรือต้องแสวงหาความช่วยเหลืออย่างดีตามที่จะหาได้ในระหว่างนั้นก็ดี นายเรือและผู้ที่ทำการนำร่องไม่มีความผิด
มาตรา ๑๕ ผู้นำร่องคนใดเรียกเงินค่านำร่องเกินกว่าพิกัดที่ตั้งไว้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าสิบบาท ถ้าได้รับเงินมาด้วยแล้ว ให้คืนเงินจำนวนที่เรียกเกินมานั้นให้แก่นายเรือหรือเจ้าของเรือนั้นด้วย
มาตรา ๑๖[๑๖๓] ผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำร่อง แสดงตนว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้นำร่องได้โดยเอาใบอนุญาตของผู้อื่นออกแสดง หรือโดยใช้เครื่องหมายสัญญาณใด ๆ สำหรับใช้ในการนำร่องเพื่อขอทำการนำร่อง หรือผู้ใดจัดหาใบอนุญาตหรือเครื่องหมายสัญญาณให้ผู้อื่นใช้เพื่อกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗ ขณะที่ผู้นำร่องอยู่ในเรือลำใด ถ้าไม่มีเจ้าพนักงานศุลกากรอยู่ในเรือลำนั้นด้วยให้ผู้นำร่องผู้นั้นทำการเป็นเจ้าพนักงานศุลกากรในเหตุที่จะมีการกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากรเกิดขึ้น
ถ้าปรากฏว่าได้มีการที่จะขนถ่ายสินค้าใด ๆ ออกจากเรือหรือบรรทุกขึ้นเรือโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นำร่องบอกกล่าวแก่นายเรือถึงการกระทำผิดเช่นนั้น เมื่อได้บอกกล่าวแล้ว นายเรือผู้นั้นยังพยายามกระทำฝ่าฝืน ผู้นำร่องมีอำนาจกักเรือนั้นไว้รอคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต่อไป
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๓)[๑๖๔]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๔๗๙[๑๖๕]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑[๑๖๖]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เรือ”[๑๖๗] หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดไม่ว่าจะใช้เพื่อบรรทุก ลำเลียง ลาก จูง ดัน ยก ขุด หรือลอก รวมทั้งยานพาหนะอย่างอื่นที่สามารถใช้ในน้ำได้ทำนองเดียวกัน
“เรือกล” หมายความถึงเรือที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
มาตรา ๕ นอกจากจะมีความตกลงกับต่างประเทศเป็นอย่างอื่น เรือที่ใช้ในน่านน้ำไทยต้องรับใบอนุญาตใช้เรือ เว้นแต่
๑. เรือของราชนาวีไทย
๒. เรือของรัฐบาลต่างประเทศซึ่งเข้ามาในน่านน้ำไทยชั่วครั้งคราว
๓. เรือต่างประเทศซึ่งเข้ามาในน่านน้ำไทยชั่วครั้งคราวและใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ
๔. เรือที่มิใช่เรือกลขนาดต่ำกว่ายี่สิบห้าหาบ
๕. เรือซึ่งต้องมีประจำเรือใหญ่ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
มาตรา ๖[๑๖๘] การรับใบอนุญาตตามมาตรา ๕ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๑๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
มาตรา ๗ ใบอนุญาตใช้เรือทุกชนิดให้มีอายุใช้ได้ฉบับหนึ่งไม่เกินสิบสองเดือน นับแต่วันออกใบอนุญาต ส่วนวันสิ้นอายุของใบอนุญาตให้กำหนดไว้ในใบอนุญาต
มาตรา ๘ ถ้านายทะเบียนเรือประจำท้องที่หรือนายทะเบียนเรือ ซึ่งกรมเจ้าท่าส่งไปทำการออกใบอนุญาตใช้เรือตามท้องที่ประจำปี พิจารณาเห็นว่าเรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็กลำใดใช้ได้ไม่เกินหกเดือน ก็อาจผ่อนผันให้เจ้าของเรือรับใบอนุญาตใช้เรือแต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่เกินหกเดือนได้ในเมื่อเจ้าของเรือร้องขอ ใบอนุญาตชนิดนี้ให้มีอายุใช้ได้ไม่เกินหกเดือน โดยเรียกค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตเพียงกึ่งอัตราปกติ
มาตรา ๙[๑๖๙] ผู้ใดใช้เรือที่มิได้รับใบอนุญาตใช้เรือ หรือใช้เรือที่ใบอนุญาตใช้เรือสิ้นอายุแล้ว หรือใช้เรือผิดไปจากเขตหรือตำบลการเดินเรือที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้เรือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และเจ้าท่าจะสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือนด้วยก็ได้
เจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือที่ถูกยึดใบอนุญาตใช้เรือตามวรรคหนึ่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้
เรือใดถูกยึดใบอนุญาตใช้เรือแล้วยังขืนเดินหรือกระทำการ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือ เจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๐[๑๗๐] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมอันเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
บทบัญญัติเฉพาะกาล
มาตรา ๑๑ เรือซึ่งจะต้องรับใบอนุญาตก่อนใช้พระราชบัญญัตินี้ที่ได้ใช้อยู่โดยมิได้รับใบอนุญาตก็ดี หรือที่ใบอนุญาตได้สิ้นอายุเสียแล้วก็ดี ถ้าเจ้าของมาขอรับใบอนุญาต หรือขอต่ออายุใบอนุญาตเสียก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้ว จะไม่ต้องรับโทษสำหรับการที่ได้ใช้เรือโดยมิได้รับใบอนุญาตหรือโดยมิได้ต่ออายุใบอนุญาตมาแล้วนั้น
รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒[๑๗๑]
มาตรา ๒ ให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ นามประเทศนี้ให้เรียกว่า ประเทศไทย และบทแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า สยาม ให้ใช้คำว่า ไทย แทน
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๓[๑๗๒]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓[๑๗๓] ค่าธรรมเนียมตรวจเรือซึ่งจะต้องเสียตามมาตรา ๑๖๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ นั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นสมควรผ่อนผันลดอัตราก็ดี หรือจะงดเว้นไม่เก็บก็ดี สำหรับเรือชนิดใด เพื่อใช้ในท้องที่ใด เป็นกำหนดเวลาเท่าใด ก็ให้ทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๓ นี้ มีหลักการ แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ พิจารณาผ่อนผันลดอัตราค่าธรรมเนียมลงหรืองดเว้นไม่เก็บสำหรับเรือชนิดใด เพื่อใช้ในท้องที่ใด เป็นกำหนดเวลาเท่าใดได้
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐[๑๗๔]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๓[๑๗๕]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐[๑๗๖]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในส่วนที่เกี่ยวกับ ทางเดินเรือ เขตท่าเรือ เขตจอดเรือ ค่าปรับและค่าธรรมเนียมที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕[๑๗๗]
ข้อ ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ ๙ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
โดยที่คณะปฏิวัติได้พิจารณาเห็นว่า พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ จนบัดนี้เป็นเวลาถึง ๕๙ ปี มีบทบัญญัติบางมาตราไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน บางเรื่องไม่มีบัญญัติไว้หรือบัญญัติไว้ไม่ชัดเจน เป็นอุปสรรคขัดขวางแก่การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ นอกจากนั้นปรากฏว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดบางอย่างตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เพียงพอแก่การป้องกันและปราบปราม สมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐[๑๗๘]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรให้เจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดเส้นทางเดินเรือและควบคุมการเดินเรือในเขตท่ากรุงเทพฯ และในแม่น้ำลำคลองเป็นการเฉพาะคราวได้ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือในเขตท่ากรุงเทพฯ และในแม่น้ำลำคลอง อีกทั้งอัตราโทษที่จะลงแก่ผู้ฝ่าฝืนที่มีอยู่เดิมในหมวดที่ ๔ ของภาคที่ ๑ ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรแก้ไขปรับปรุงอัตราโทษดังกล่าวเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๒๒[๑๗๙]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๔ ให้นำมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่เรือไทย เรือต่างประเทศ หรือสิ่งอื่นใดที่จมลงหรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือในน่านน้ำไทยอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันกฎหมายให้อำนาจเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำการขจัดสิ่งกีดขวางได้เฉพาะการเดินเรือในเขตท่า หรือในแม่น้ำที่เรือเดินได้ตำบลใด ๆ เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีเรือหรือสิ่งอื่นใดจมลงหรืออาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือนอกเขตท่าและไม่ใช่ในแม่น้ำที่เรือเดินได้ เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จึงไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะทำการขจัดสิ่งกีดขวางนั้นได้ทันท่วงที อันจะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการค้าทางทะเลของประเทศ จำเป็นต้องให้อำนาจแก่เจ้าท่าและเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำการขจัดสิ่งกีดขวางดังกล่าวได้ตามควรแก่กรณี และให้มีอำนาจขายทอดตลาดเรือหรือสิ่งอื่นใดและทรัพย์สินที่อยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดที่จมลงหรืออาจเป็นอันตรายได้ รวมทั้งให้มีการขจัดหรือป้องกันสิ่งซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นได้ด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕[๑๘๐]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๒๔ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวง กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ข้อบังคับหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ข้อบังคับหรือประกาศที่ใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๖๐ แต่กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว ประกอบกับบทบัญญัติบางมาตราในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย เพื่ออนุวัตการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าวข้างต้นและเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕[๑๘๑]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ หรือผู้ใดได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ ดังกล่าวแล้วปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าได้แจ้งให้เจ้าท่าทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและชำระค่าตอบแทนตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ให้พ้นจากความผิด แต่ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวมีลักษณะหรือสภาพเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรืออาจทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เจ้าท่ามีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดได้และให้นำมาตรา ๑๑๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คิดตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
มาตรา ๖๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำได้ใช้อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำนั้นประกอบธุรกิจ สมควรแก้ไขอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวต้องชำระค่าตอบแทนเป็นรายปีตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยได้พัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นเป็นผลให้มีการนำเคมีภัณฑ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากกว่าที่เป็นมาในอดีต หากไม่มีการควบคุมการนำเข้ามาโดยทางเรือให้เหมาะสมแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างกว้างขวางแก่บุคคล สัตว์ สิ่งของ และสิ่งแวดล้อม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของกรมเจ้าท่าในการควบคุมการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ และเนื่องจากอัตราโทษสำหรับผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ.๒๕๔๐[๑๘๒]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เพื่อขยายอำนาจบังคับการตามกฎหมายดังกล่าวบางประการไปใช้ในบริเวณน่านน้ำดังกล่าวด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕
มาตรา ๑๖ ในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ให้แก้ไขคำว่า “กรมเจ้าท่า” เป็น “กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี” และคำว่า “อธิบดีกรมเจ้าท่า”เป็น “อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐[๑๘๓]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งมีผู้ประกอบการและประชาชนบุกรุกแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ ทะเลภายใน และทะเลอาณาเขตเพิ่มมากยิ่งขึ้นอันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายทางน้ำ หรือทำให้ทางน้ำได้รับความเสียหายจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ หรือเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ ดังนั้น เพื่อให้มีการกำหนดเขตควบคุมการเดินเรือ และให้อำนาจเจ้าท่าในการกำหนดเขตห้ามจอดเรือหรือแพ รวมทั้งให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมีอำนาจปักหลักเขตควบคุมทางน้ำที่ชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
กมลฤทัย/หยก/แก้ไข
วศิน/ตรวจ
๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐/-/หน้า ๗๔/๕ สิงหาคม ๒๔๕๖
[๒] มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๓] มาตรา ๓ นิยามคำว่า “น่านน้ำไทย” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๐
[๔] มาตรา ๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๕] มาตรา ๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๖] มาตรา ๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๗] มาตรา ๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๘] มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๙] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
[๑๐] ชื่อหมวดที่ ๑ ทางเดินเรือ เขตท่าเรือ เขตจอดเรือ และเขตควบคุมการเดินเรือ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๑๑] มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๒] มาตรา ๑๒ (๓) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๑๓] มาตรา ๑๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๔] มาตรา ๑๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๕] มาตรา ๑๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๖] มาตรา ๑๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๗] หมวดที่ ๒ หน้าที่นายเรือเมื่อเวลาเรือเข้ามาหรือออกจากน่านน้ำไทย มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๑๘] มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๐
[๑๙] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๐] มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๑] มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๒] มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๓] มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๔] มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๕] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๒๖] มาตรา ๒๕ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๒๗] มาตรา ๒๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๘] มาตรา ๒๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๙] มาตรา ๒๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๓๐] มาตรา ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
[๓๑] มาตรา ๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๓๒] มาตรา ๓๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๓
[๓๓] มาตรา ๓๘ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๓
[๓๔] มาตรา ๓๘ จัตวา แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๓๕] มาตรา ๔๕/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๓๖] มาตรา ๔๖ ทวิ เพิ่มโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕
[๓๗] มาตรา ๔๖ ทวิ วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๓๘] มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๓๙] มาตรา ๕๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐
[๔๐] มาตรา ๕๒ ทวิ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๔๑] มาตรา ๕๒ ทวิ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๔๒] มาตรา ๕๒ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๔๓] มาตรา ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๔๔] มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๔๕] มาตรา ๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
[๔๖] มาตรา ๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๔๗] มาตรา ๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๔๘] มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๔๙] มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๕๐] มาตรา ๗๔ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๓)
[๕๑] มาตรา ๗๔ วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๓)
[๕๒] มาตรา ๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๕๓] มาตรา ๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๕๔] มาตรา ๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๕๕] มาตรา ๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๕๖] มาตรา ๙๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๕๗] มาตรา ๑๐๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕
[๕๘] มาตรา ๑๐๑ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๕๙] มาตรา ๑๐๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๖๐] มาตรา ๑๐๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๑] มาตรา ๑๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๒] มาตรา ๑๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๓] มาตรา ๑๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๔] มาตรา ๑๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๕] มาตรา ๑๑๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๖] มาตรา ๑๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๗] มาตรา ๑๑๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๘] มาตรา ๑๑๘ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๖๙] มาตรา ๑๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๗๐] มาตรา ๑๑๙ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๗๑] มาตรา ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๗๒] มาตรา ๑๒๐/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๗๓] มาตรา ๑๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๒๒
[๗๔] มาตรา ๑๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๗๕] มาตรา ๑๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๗๖] มาตรา ๑๓๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑
[๗๗] มาตรา ๑๓๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑
[๗๘] มาตรา ๑๓๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑
[๗๙] มาตรา ๑๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๘๐] มาตรา ๑๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๘๑] มาตรา ๑๔๐ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๘๒] มาตรา ๑๔๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๘๓] มาตรา ๑๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๘๔] มาตรา ๑๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๘๕] มาตรา ๑๔๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑
[๘๖] มาตรา ๑๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๙๐
[๘๗] มาตรา ๑๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๘๘] มาตรา ๑๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๘๙] มาตรา ๑๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๙๐] มาตรา ๑๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๙๑] มาตรา ๑๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๙๒] มาตรา ๑๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๙๓] มาตรา ๑๖๑ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๙๔] มาตรา ๑๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๙๕] มาตรา ๑๖๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๙๖] มาตรา ๑๖๒ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๙๗] มาตรา ๑๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๙๘] มาตรา ๑๖๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๙๙] มาตรา ๑๖๔ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๑๐๐] มาตรา ๑๗๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๑๐๑] มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๐๒] มาตรา ๑๗๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๐๓] มาตรา ๑๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๐๔] มาตรา ๑๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๐๕] มาตรา ๑๘๐ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๐๖] มาตรา ๑๘๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑
[๑๐๗] มาตรา ๑๘๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑
[๑๐๘] มาตรา ๑๘๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๐๙] มาตรา ๑๘๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๑๑๐] มาตรา ๑๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๑] มาตรา ๑๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๒] มาตรา ๑๙๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๓] มาตรา ๑๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๔] มาตรา ๑๙๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๕] มาตรา ๑๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๖] มาตรา ๑๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๗] มาตรา ๑๙๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๘] มาตรา ๑๙๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑๙] มาตรา ๒๐๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๐] มาตรา ๒๐๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๑] มาตรา ๒๐๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๒] มาตรา ๒๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๓] มาตรา ๒๐๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๔] มาตรา ๒๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๕] ชื่อหมวดที่ ๓ ข้อบังคับว่าด้วยการทอดสมอใกล้เคียงหรือเกาสมอข้ามสายท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๖] มาตรา ๒๐๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๗] มาตรา ๒๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒๘] มาตรา ๒๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๒๙] มาตรา ๒๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๓๐] มาตรา ๒๑๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๓๑] มาตรา ๒๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๓๒] มาตรา ๒๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๓๓] มาตรา ๒๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
[๑๓๔] มาตรา ๒๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๓๕] ภาคที่ ๓ หมวดที่ ๖ ข้อบังคับสำหรับผู้นำร่อง มาตรา ๒๔๙ ถึงมาตรา ๒๗๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๒)
[๑๓๖] มาตรา ๒๗๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๑๓๗] มาตรา ๒๗๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๓๘] มาตรา ๒๗๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๑๓๙] มาตรา ๒๘๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๔๐] มาตรา ๒๘๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔๑] มาตรา ๒๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔๒] มาตรา ๒๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๑๔๓] มาตรา ๒๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔๔] มาตรา ๒๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๔๕] มาตรา ๒๙๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔๖] มาตรา ๒๙๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔๗] มาตรา ๓๑๐ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔๘] มาตรา ๓๑๒ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔๙] พิกัดค่าจ้างนำร่องตามแบบที่ ๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๒)
[๑๕๐] พิกัดค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟแบบที่ ๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
[๑๕๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐/-/หน้า ๓๐๐/๒๑ กันยายน ๒๔๕๖
[๑๕๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๘/-/หน้า ๕๕๗/๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔
[๑๕๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๙/-/หน้า ๕๗๗/๒๕ ธันวาคม ๒๔๗๕
[๑๕๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๘๔๒/๑๔ มกราคม ๒๔๗๖
[๑๕๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๑/-/หน้า๘๐๗/๒๘ ตุลาคม ๒๔๗๗
[๑๕๖] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๕๗] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๕๘] มาตรา ๗ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๕๙] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๖๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒/-/หน้า ๑๒๑/๒๘ เมษายน ๒๔๗๘
[๑๖๑] มาตรา ๑๑ วรรคสอง ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉะบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๔๗๙
[๑๖๒] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๖๓] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๖๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒/-/หน้า ๑๓๑/๒๘ เมษายน ๒๔๗๘
[๑๖๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓/-/หน้า ๗๑๙/๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๙
[๑๖๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖/-/หน้า ๒๗๒/๑๐ เมษายน ๒๔๘๒
[๑๖๗] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “เรือ” แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕
[๑๖๘] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๖๙] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๗๐] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๗๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖/-/หน้า ๙๘๐/๖ ตุลาคม ๒๔๘๒
[๑๗๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗/-/หน้า ๔๔๐/๑ ตุลาคม ๒๔๘๓
[๑๗๓] มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๗๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๔/ตอนที่ ๓/หน้า ๖๗/๑๔ มกราคม ๒๔๙๐
[๑๗๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗/ตอนที่ ๕๘/หน้า ๙๗๐/๒๔ ตุลาคม ๒๔๙๓
[๑๗๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๓๐/หน้า ๑๕๘/๔ เมษายน ๒๕๑๐
[๑๗๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๑๙ มกราคม ๒๕๑๕
[๑๗๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔/ตอนที่ ๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗/๑๙ กันยายน ๒๕๒๐
[๑๗๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑/๑ มีนาคม ๒๕๒๒
[๑๘๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๘๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๕
[๑๘๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๔/หน้า ๑๖/๙ เมษายน ๒๕๓๕
[๑๘๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑๘/๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
[๑๘๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๑/๒๗ กันยายน ๒๕๕๐