พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติ

การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔)

พ.ศ. ๒๕๓๕

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                 มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๔  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

                 มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๓๘ จัตวา  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๘ ตรี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง”

                     มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของมาตรา ๔๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “เจ้าของหรือผู้ครอบครองคนใดใช้เอง หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ หรือแพ ซึ่งเจ้าท่า มีคำสั่งห้ามใช้ และยังไม่ได้เพิกถอนคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๕๑  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือหรือแพผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ หรือมาตรา ๔๙ ถ้าเป็นเรือกำปั่นต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องถ้าเป็นเรือเล็กหรือแพ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าสิบบาท  จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง”

                 มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๕๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกำหนดทางเดินเรือหรือประกาศควบคุมการเดินเรือตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน

                 นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือที่ถูกยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือตามวรรคสองมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งคำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังไม่ได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้”

                  มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๕๒ ตรี  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือซึ่งถูกยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือผู้ใด ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ประกาศนียบัตรควบคุมเรือถูกยึดตามมาตรา ๕๒ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท”

                    มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๔  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

                   มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๖  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

                   มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖๐  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๕๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

                   มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖๗  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ หรือมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

                   มาตรา ๑๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖๙  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๘ หรือข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๕  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ หรือมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท”

มาตรา ๑๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๐ และมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๙๐  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องและให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ บังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่ หรือเรือนปักเสาลงในชายฝั่งน้ำโดยให้ผู้เป็นเจ้าของเสียค่ารื้อถอนนั้นเอง

ในกรณีที่เจ้าของไม่รื้อถอนภายในกำหนดเวลาที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ กำหนด ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน

                  ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน

                  ในกรณีที่เจ้าของไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสามภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี ให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากแพคนอยู่หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้นให้นำไปชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการจัดการรื้อถอน และถ้ามีเงินเหลือจากการชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้เจ้าท่าเก็บรักษาเงินนั้นไว้ ถ้าเจ้าของมิได้เรียกร้องเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าท่าได้เก็บรักษาไว้ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

มาตรา ๙๑  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ หรือมาตรา ๘๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

มาตรา ๑๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๕  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ หรือมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”

มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๖ หรือมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”

                   มาตรา ๑๘  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๑๐๑  เรือที่จะเข้าเทียบหรือจอดยังท่า นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือต้องใช้ความเร็วต่ำและด้วยความระมัดระวัง เรือที่เดินอยู่ในแม่น้ำหรือลำคลอง ต้องใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่เจ้าท่ากำหนด และห้ามมิให้แล่นตัดหน้าเรือกลที่กำลังเดินขึ้นล่องอยู่ในระยะสองร้อยเมตร ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือหรือประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน”

มาตรา ๑๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐๓  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๙ มาตรา ๑๐๐ หรือมาตรา ๑๐๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองร้อยบาทถึงสองพันบาท”

มาตรา ๒๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๑๑๐  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๘ หรือมาตรา ๑๐๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๒๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๑๒  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

มาตรา ๒๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๑๖  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ หรือมาตรา ๑๑๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จะสั่งให้รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือนั้นด้วยก็ได้”

                 มาตรา ๒๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๑๗  ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

                   หลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องระบุลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ไว้ให้ชัดแจ้งพร้อมทั้งระยะเวลาที่จะต้องพิจารณาอนุญาตให้แล้วเสร็จด้วย

เมื่อผู้ขออนุญาตยื่นคำขอถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงตามวรรคสองแล้ว เจ้าท่าต้องอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว”

มาตรา ๒๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

                 “มาตรา ๑๑๗ ทวิ  ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดตามมาตรา ๑๑๗ ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าสิบบาท และถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจให้เสียเป็นสองเท่าของอัตราดังกล่าว ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวถูกปลูกสร้างขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตให้เสียค่าตอบแทนเป็นสามเท่าของอัตราดังกล่าว

การกำหนดค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสภาพของแต่ละท้องที่และประโยชน์ที่ผู้ปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองพึงได้รับ

                  ค่าตอบแทนที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แล้วแต่กรณี ที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นอยู่ในเขต

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร จะออกกฎกระทรวงยกเว้นหรือลดหย่อนค่าตอบแทนให้หน่วยงานหรือบุคคลใดก็ได้”

                  มาตรา ๒๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๑๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ หรือผู้ใดได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ แล้วปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท”

มาตรา ๒๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๘ ทวิ และมาตรา ๑๑๘ ตรี แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

                 “มาตรา ๑๑๘ ทวิ  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ หรือผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ให้เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นโดยถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นและจะห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือแก้ไขเสร็จด้วยก็ได้

                 ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และเจ้าท่าได้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นครบสิบห้าวันแล้วให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น ถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ จริง ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใด ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้รื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่รื้อถอนตามกำหนดเวลาในคำสั่งศาล หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน

                  ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสามให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

                   ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสี่ภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครองครองให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากอาคารหรือสิ่งอื่นใดส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นให้นำไปชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการจัดการรื้อถอนและค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๑๘ และถ้ามีเงินเหลือจากการชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เจ้าท่าเก็บรักษาไว้ เพื่อคืนให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่มารับคืนภายในหนึ่งปีให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ในกรณีที่เจ้าท่าจะดำเนินการตามวรรคหนึ่งและอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวมีลักษณะซึ่ง

                  อาจอนุญาตได้และเจ้าของหรือผู้ครอบครองยอมชำระค่าปรับตามที่เจ้าท่ากำหนดตามอัตราในมาตรา ๑๑๘ แล้ว เจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ได้และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้เสียค่าตอบแทนเป็นสองเท่าของมาตรา ๑๑๗ ทวิ

มาตรา ๑๑๘ ตรี  ในกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๑๗ ทวิ ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินค่าตอบแทนที่ค้างชำระ”

                  มาตรา ๒๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๑๙  ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้หิน กรวด ทราย ดิน โคลน อับเฉา สิ่งของหรือสิ่งปฏิกูลใด ๆ ยกเว้นน้ำมันและเคมีภัณฑ์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันจะเป็นเหตุให้เกิดการตื้นเขิน ตกตะกอนหรือสกปรก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย”

มาตรา ๒๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

                  “มาตรา ๑๑๙ ทวิ  ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือ

                  ต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย”

                  มาตรา ๒๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๒๐  ให้เจ้าท่ามีหน้าที่ดูแล รักษาและขุดลอกร่องน้ำ  ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย

                   ห้ามมิให้ผู้ใดขุดลอก แก้ไข หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาทและให้เจ้าท่าสั่งให้หยุดกระทำการดังกล่าว”

มาตรา ๓๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๒๖  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ มาตรา ๑๒๔ หรือมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท”

มาตรา ๓๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๓๐  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๗ มาตรา ๑๒๘ หรือมาตรา ๑๒๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท”

มาตรา ๓๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๕๒  ผู้ใดเป็นผู้ควบคุมเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใดที่มีใบอนุญาตหรือยังไม่มีใบอนุญาตก็ดี ถ้าและผู้นั้นรู้อยู่แล้วนำเอาใบอนุญาตสำหรับเรือลำอื่นออกแสดงและใช้เป็นใบอนุญาตสำหรับเรือลำที่ตนเป็นผู้ควบคุม หรือผู้ใดจัดหาใบอนุญาตมาเพื่อใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๓๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๕ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๕  ห้ามมิให้เรือกลไฟหรือเรือยนต์ลำใดบรรทุกผู้โดยสารมากกว่าจำนวนที่แจ้งในใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้น”

มาตรา ๓๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๑๖๑  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๗ มาตรา ๑๕๐ มาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๕๖ มาตรา ๑๕๗ มาตรา ๑๕๙ มาตรา ๑๖๒ ทวิ มาตรา ๑๖๒ ตรี มาตรา ๑๖๖ มาตรา ๑๖๗ มาตรา ๑๖๘ มาตรา ๑๗๑ หรือมาตรา ๑๗๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท”

มาตรา ๓๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๖๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

“มาตรา ๑๖๑ ทวิ  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือกลไฟหรือเรือยนต์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

                    มาตรา ๓๖  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ผู้ใดใช้เรือที่เจ้าท่าสั่งห้ามใช้ตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”

                   มาตรา ๓๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๗๕ และมาตรา ๑๗๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๗๕  ผู้ใดใช้เรือผิดจากเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

                     มาตรา ๑๗๖  เรือลำใดบรรทุกเกินกว่าที่กำหนดในใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุก เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกักเรือลำนั้นไว้ และสั่งให้นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือจัดการให้เรือลำนั้นบรรทุกให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

ถ้านายเรือหรือผู้ควบคุมเรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”

                  มาตรา ๓๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙๐ มาตรา ๑๙๑ มาตรา ๑๙๒ มาตรา ๑๙๓ มาตรา ๑๙๔ มาตรา ๑๙๕ และมาตรา ๑๙๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๙๐  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็น และการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ในการขนส่งตามหมวดนี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

                  มาตรา ๑๙๑  การขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ จากเรือลำหนึ่งไปยังเรืออีกลำหนึ่ง การขนถ่ายจากเรือขึ้นบก หรือการขนถ่ายจากบกลงเรือ นายเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือต้องแจ้งให้เจ้าท่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงก่อนการขนถ่าย และห้ามมิให้ขนถ่ายจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

                 ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นเรือชนิดใดหรือการขนถ่ายประเภทใดที่จะไม่ต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งได้

                  มาตรา ๑๙๒  ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เรือชนิดหนึ่งชนิดใดที่บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องชักธงหรือแสดงเครื่องหมายหรือต้องให้สัญญาณใด ๆ ตามที่กำหนดได้

                 มาตรา ๑๙๓  ในการส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้โดยทางเรือผู้ส่งต้องจัดให้มีฉลากแสดงสภาพอันตรายของสิ่งของนั้นให้ชัดเจนที่หีบห่อ และต้องแจ้งเป็นหนังสือเกี่ยวกับสภาพอันตรายของสิ่งของนั้น ตลอดจนชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งให้นายเรือทราบในขณะหรือก่อนการนำสิ่งของนั้นขึ้นเรือ

ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือรับขนโดยทางเรือซึ่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ที่มิได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง หรือมีการปฏิบัติตามแต่มีข้อความอันเป็นเท็จ

มาตรา ๑๙๔  นายเรือต้องตรวจสอบอย่างระมัดระวังตามควรแก่กรณีมิให้มีการนำสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขึ้นบนเรือโดยฝ่าฝืนกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๑๙๐

ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการลักลอบนำสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขึ้นบนเรือ นายเรืออาจปฏิเสธที่จะรับหีบห่อนั้นได้ เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองจะให้เปิดหีบห่อเพื่อตรวจดู

มาตรา ๑๙๕  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙๒ หรือมาตรา ๑๙๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๙๖  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙๐ มาตรา ๑๙๑ หรือมาตรา ๑๙๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๓๙  ให้ยกเลิกมาตรา ๑๙๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

มาตรา ๔๐  ให้ยกเลิกมาตรา ๑๙๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

มาตรา ๔๑  ให้ยกเลิกมาตรา ๒๐๑ มาตรา ๒๐๒ และมาตรา ๒๐๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

มาตรา ๔๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๒๐๔  ผู้ใดเท ทิ้ง หรือปล่อยให้น้ำมันปิโตรเลียมหรือน้ำมันที่ปนกับน้ำรั่วไหลด้วยประการใด ๆ ลงในเขตท่า แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๔๓  ให้ยกเลิกมาตรา ๒๐๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

มาตรา ๔๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๐๘  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙๙ มาตรา ๒๐๐ มาตรา ๒๐๕ หรือมาตรา ๒๐๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๔๕  ให้ยกเลิกความซึ่งเป็นชื่อของหมวดที่ ๓ ในภาคที่ ๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“หมวดที่ ๓

ข้อบังคับว่าด้วยการทอดสมอใกล้เคียงหรือเกาสมอข้ามสาย

ท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ”

                  

มาตรา ๔๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐๙ และมาตรา ๒๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๒๐๙  สายโทรเลข สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้าหรือสายอื่นใด หรือท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ ในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ให้เจ้าท่าจัดให้มีเครื่องหมายแสดงไว้ ณ ที่ซึ่งสายท่อหรือสิ่งก่อสร้างนั้นทอดลงน้ำ เครื่องหมายนั้นให้ทำเป็นเสาสูงมีป้ายใหญ่สีขาวรูปกลมติดที่ปลายเสาในกลางป้ายมีข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “สาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำ ห้ามทอดสมอและเกาสมอ” และในกรณีที่เห็นสมควร เจ้าท่าจะจัดให้มีการวางทุ่นหรือเครื่องหมายอื่นใดแสดงไว้ด้วยก็ได้

ห้ามมิให้เรือลำใดทอดสมอภายในระยะข้างละหนึ่งร้อยเมตรนับจากที่ซึ่งสายท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำทอดอยู่ หรือเกาสมอข้ามสาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำนั้น

                   มาตรา ๒๑๐  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดทอดสมอเรือภายในเขตที่ต้องห้ามตามความในหมวดนี้ หรือเกาสมอ หรือลากแห อวน เครื่องจับสัตว์น้ำ หรือเครื่องมือใด ๆ ข้ามเขตเหล่านั้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามร้อยบาทถึงสามพันบาท และถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สาย ท่อ หรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ที่ทอดใต้น้ำด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมสายท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำที่เสียหายเนื่องจากการที่ได้ทอดสมอหรือเกาสมอ หรือลากของข้ามสาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างนั้นด้วย

                 ในระหว่างการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกักเรือที่เกี่ยวข้องไว้ได้ จนกว่าจะมีประกันมาวางสำหรับเงินค่าปรับหรือค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตามที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี”

มาตรา ๔๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๑๖  นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดพยายามจะนำเรือไปจากน่านน้ำไทย โดยไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๒๑๒ หรือไม่ยอมให้วัดขนาดเรือที่ตนเป็นผู้ควบคุมเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

มาตรา ๔๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๒๔๘  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๒๐ มาตรา ๒๒๒ มาตรา ๒๒๓ มาตรา ๒๒๕ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๗ มาตรา ๒๒๙ มาตรา ๒๓๑ มาตรา ๒๓๓ มาตรา ๒๓๔ มาตรา ๒๓๕ มาตรา ๒๓๖ มาตรา ๒๓๗ มาตรา ๒๓๘ มาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๑ มาตรา ๒๔๓ หรือมาตรา ๒๔๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”

                  มาตรา ๔๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๘๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๘๒  ผู้ใดทำการในเรือในตำแหน่งที่กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือกำหนดให้ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ โดยมิได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถอันถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าทำการในเรือในขณะที่ประกาศนียบัตรสิ้นอายุแล้ว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท”

มาตรา ๕๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๘๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๘๓  ผู้ใดนำประกาศนียบัตรของผู้อื่นมาใช้หรือแสดงว่าเป็นประกาศนียบัตรของตน หรือผู้ใดจัดหาประกาศนียบัตรมาเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

                    มาตรา ๕๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๙๐  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๘๔ มาตรา ๒๘๕ มาตรา ๒๘๗ มาตรา ๒๘๘ หรือมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท”

มาตรา ๕๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๙๔  ผู้ใดถูกเจ้าท่ายึดหรือเรียกคืนประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และสั่งให้นำประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตนั้นส่งเจ้าท่าถ้าไม่ส่งภายในเวลาที่เจ้าท่ากำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท”

มาตรา ๕๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๙๗  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                    ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้นกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๕๔  ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๓๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “(๑) ถ้ามีความผิดอย่างใดต่อกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกันเกิดขึ้นเพราะความละเมิดของนายเรือ ผู้ที่ควบคุมเรือหรือเจ้าของเรือผู้ใด อันเป็นละเมิดที่กระทำด้วยความจงใจ นายเรือ ผู้ที่ควบคุมเรือ หรือเจ้าของเรือผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๕๕  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๓๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรานี้โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งงดใช้ประกาศนียบัตรสำหรับทำการในหน้าที่เช่นนั้น มีกำหนดไม่เกินสองปี หรือสั่งห้ามใช้ประกาศนียบัตรนั้นตลอดไปก็ได้”

                   มาตรา ๕๖  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “เรือใดที่ถูกสั่งงดการเดินเรือ หรือถูกยึดใบอนุญาตแล้วยังขืนเดิน หรือเรือใดกระทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร หรือสินค้าหรือจูงเรือเป็นการประจำทางโดยมิได้รับใบอนุญาต นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือ หรือเจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”

                   มาตรา  ๕๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๑๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๓  บรรดาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่มีโทษปรับสถานเดียวไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ให้เจ้าท่ามีอำนาจเปรียบเทียบผู้ต้องหาได้เมื่อผู้เสียหายยินยอมและผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของเจ้าท่าแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกันตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา”

มาตรา ๕๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๓  ผู้นำร่องคนใดทำการนำร่องนอกเหนือใบอนุญาตหรือโดยไม่ได้รับใบอนุญาตทำการนำร่องในระหว่างที่ใบอนุญาตถูกเรียกคืน ถูกงดใช้หรือถูกยึด หรือไม่ยอมไปทำการนำร่องเรือลำใดลำหนึ่งที่ได้ให้สัญญาณขอให้ตนไปทำการนำร่องโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควรหรือละทิ้งการนำร่องไปกลางคันจากเรือลำใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือโดยนายเรือไม่ยินยอมหรือนำเรือหรือวัตถุเครื่องใช้ในการนำร่องที่เจ้าพนักงานสั่งให้ซ่อมแซมตามมาตรา ๙ มาใช้ก่อนซ่อมแซมเสร็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”

มาตรา ๕๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๑๖  ผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำร่อง แสดงตนว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้นำร่องได้ โดยเอาใบอนุญาตของผู้อื่นออกแสดง หรือโดยใช้เครื่องหมายสัญญาณใด ๆ สำหรับใช้ในการนำร่องเพื่อขอทำการนำร่อง หรือผู้ใดจัดหาใบอนุญาตหรือเครื่องหมายสัญญาณให้ผู้อื่นใช้เพื่อกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

                   มาตรา ๖๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๙  ผู้ใดใช้เรือที่มิได้รับใบอนุญาตใช้เรือ หรือใช้เรือที่ใบอนุญาตใช้เรือสิ้นอายุแล้ว หรือใช้เรือผิดไปจากเขตหรือตำบลการเดินเรือที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้เรือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และเจ้าท่าจะสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือนด้วยก็ได้

                  เจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือที่ถูกยึดใบอนุญาตใช้เรือตามวรรคหนึ่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งคำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้

เรือใดถูกยึดใบอนุญาตใช้เรือแล้วยังขืนเดินหรือกระทำการ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือ เจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการเดินเรือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท”

                  มาตรา ๖๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ หรือผู้ใดได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ ดังกล่าวแล้วปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าได้แจ้งให้เจ้าท่าทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและชำระค่าตอบแทนตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับแล้วให้พ้นจากความผิด แต่ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวมีลักษณะหรือสภาพเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรืออาจทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เจ้าท่ามีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดได้และให้นำมาตรา ๑๑๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คิดตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

มาตรา ๖๒  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์  ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำได้ใช้อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำนั้นประกอบธุรกิจ สมควรแก้ไขอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวต้องชำระค่าตอบแทนเป็นรายปีตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยได้พัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นเป็นผลให้มีการนำเคมีภัณฑ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากกว่าที่เป็นมาในอดีต หากไม่มีการควบคุมการนำเข้ามาโดยทางเรือให้เหมาะสมแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างกว้างขวางแก่บุคคล สัตว์ สิ่งของ และสิ่งแวดล้อม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของกรมเจ้าท่าในการควบคุมการขนส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ และเนื่องจากอัตราโทษสำหรับผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังไม่เหมาะสม  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

วศิน/แก้ไข

๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๔/หน้า ๖/๙ เมษายน ๒๕๓๘